🙏 พระพุทธดำรัส 🙏
🔅 เตือนใจพระทุศีล
ปัญหา กุลบุตรที่บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ประพฤติล่วงละเมิดพุทธบัญญัติมีธรรมอันลามก หลอกลวงชาวบ้าน จะมีโทษอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรก น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดกล้าเป็นดังหยากเยื่อ บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาลหรือคฤหบดีมหาศาลจะดีอย่างไร การที่บุรุษมีกำลังเอาขอเหล็กแดงไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงเกี่ยวปากอ้าไว้ แล้วกรอกก้อนเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วงเข้าในปาก ก้อนเหล็กแดงนั้นจะพึงไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก ไหม้ลิ้น ไหม้คอ ไหม้อก ไหม้เรื่อยไปถึงไส้ใหญ่ไส้น้อย แล้วออกทางทวารเบื้องต่ำ นี้ดีกว่าข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นพึงถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเห็นเหตุ แต่ผู้นั้นเมื่อตายไปไม่พึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย
“ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก..... เป็นดังหยากเยื่อ บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์ มหาศาล... ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น และบุคคลผู้ทุศีลนั้น เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก....ฯ”
อัคคิขันธูปมสูตร
🔅 พระธรรมวินัยแท้และของปลอม
ปัญหา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมายเหลือหลาย อาจจะมีคำสอนของศาสนาอื่นหรือคนอื่นแทรกแซงอยู่บ้าง เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าอันไหนเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันไหนไม่ใช่?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอุบาลี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นไป เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว เธอพึงทรงธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่เป็นคำสั่งสอนของพระศาสนา ส่วนธรรมเหล่าใด.... เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว.... นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา”
วินัยวรรค
🔅 วิธีสร้างปัญญา
ปัญหา วิธีปฏิบัติในหลักศีลและสมาธิปรากฏว่า มีแจ่มแจ้งอยู่แล้ว แต่วิธีเจริญหลักที่ ๓ คือ ปัญญา ยังไม่แจ่มแจ้งพอ ขอได้โปรดแนะวิธีเจริญปัญญาด้วย ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรักและความเคารพไว้อย่างแรงกล้า นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑
“เธออาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์..... ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู.... นั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถามเป็นครั้งคราวว่า.... ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผยทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันน่าสงสัยแก่เธอ.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒
“เธอฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือความสงบกายและความสงบจิต ให้ถึงพร้อมนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓
“เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔
“เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมากทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น... ท่ามกลาง... ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕
“เธอย่อมปรารถนาความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระกุศลธรรม นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖
"เธอย่อมเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่มีประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญให้ผู้อื่นแสดงบ้าง ไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างอริยเจ้า นี้เป็นเหตุปัจจัยข้อที่ ๗"
“เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่ารูป.... ความเกิดขึ้นแห่งรูป ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนา... สัญญา.... สังขาร... วิญญาณ.... ความดับแห่งวิญญาณดังนี้.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ เพื่อได้ปัญญา...ฯ”
ปัญญาสูตร
🔅 พุทธศาสนาเป็นคำสอนแบบลบจริงหรือ
ปัญหา ชาวยุโรปบางคนเห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนแบบลบ (Negative) ประกาศการไม่กระทำ (อกริยวาท) ไม่ส่งเสริมการสร้างสรรค์ไม่สู้กับโลก มีแต่สอนให้หนีจากโลก เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวการไม่กระทำดังนี้ เชื่อว่ากล่าวชอบนั้นมีอยู่ เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำซึ่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวการไม่กระทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว
“.....ดูก่อนพราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ เชื่อว่ากล่าวชอบนั้นมีอยู่ เพราะเรากล่าวความขาดสูญ แห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญ แห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าวฯ”
เวรัญชสูตร
🔅 การตรัสรู้โดยฉับพลันมีได้หรือไม่
ปัญหา มีพระพุทธศาสนาบางนิกายถือว่า การบรรลุมรรคผล อาจเกิดขึ้นได้โดยแบพลัน เช่นเดียวกับแสงสว่างวาบขึ้นทันทีทันใด ขับไล่ความมืดให้หมดสิ้นไป การบรรลุมรรคผลโดยฉับพลันดังกล่าวจะมีได้หรือไม่?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับไม่โกรกชันเหนือเหวฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยตรง...ฯ”
มหาปราทสูตร
🔅 การกำหนดรู้จิตใจของคนอื่น
ปัญหา มีตามตำรากล่าวว่า ถ้าเราสามารถฝึกฝนจิตจนได้เจโตปริยญาณแล้ว เราจะสามารถรู้ความคิดของคนอื่นดังนี้ มีเรื่องใดหรือไม่ในพระไตรปิฎกที่แสดงให้เห็นตัวอย่างการรู้จิตใจคนอื่น ?
ตอบ “.....มี ในอุโบสถสูตร มีเรื่องเล่าไว้ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ ณ บุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับนั่งแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เตรียมจะทรงแสดงปาติโมกข์ ในอุโบสถสังฆกรรมคราวหนึ่ง เมื่อปฐมยามผ่านไป พระอานนท์พุทธอุปัฆฐากได้กราบทูลให้ทรงแสดงปาติโมกข์ แต่พระพุทธองค์ก็ทรงนั่งอยู่ แม้เมื่อมัชฌิชยามล่วงไป พระอานนท์กราบทูลอีก พระองค์ก็ทรงนิ่ง เมื่อปัจฉิมยามล่วงไป แสงเงินแสงทองขึ้นแล้ว พระอานนท์ได้กราบทูลอีก พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ บริษัทคือหมู่ภิกษุที่ประชุมกันอยู่ไมบริสุทธิ์ (เมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์ก็แสดงปาติโมกข์ไม่ได้)
“ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้มีความดำริอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ทรงหมายเอาบุคคลไหนหนอ ลำดับนั้น พระมหาโมคคัลลานะกำหนดใจด้วยใจ กระทำจิตภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไว้ในใจแล้ว ได้เห็นบุคคลทุศีลมีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว.... นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้น กล่าวกะบุคคลนั้นว่า อาวุโส จงลุกไป พระผู้มีพระภาคทรงเห็นเธอแล้ว เธอไม่มีสังวาส (ฐานะที่จะอยู่ร่วม) กับภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านพระโมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้แล้ว บุคคลนั้นนิ่งเฉยเสีย แม้พระมหาโมคคัลลานะ ได้บอกอีกเป็นครั้งที่ ๒ ที่ ๓ บุคคลนั้นก็นิ่งเฉยเสีย ลำดับนั้นพระมหาโมคคัลลานะจับแขนบุคคลนั้นฉุดออกมาให้พ้นซุ้มประตูด้านนอกแล้วใส่ดาล กลับไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงแสดงปาติโมกข์ต่อไปฯ”
อุโปสถสูตร
🔅 จะรู้ได้อย่างไรว่าอาสวะสิ้นแล้ว
ปัญหา สมมติว่าบุคคลปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นพระขีฌาสพ หมดสิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวง ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านสิ้นอาสวะ มีอะไรเป็นนิมิตเป็นเครื่องหมายให้ทราบบ้าง?
พระสารีบุตรตอบ “.....ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กำลังของภิกษุผู้ขีณาสพ ๘ ประการ ที่เป็นเหตุให้ท่านผู้ประกอบแล้วปฏิญาณความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลายได้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว (มีดังต่อไปนี้)
๑. ภิกษุผู้ขีณาสพ ในธรรมวินัยนี้ เห็นสังขารทั้งปวงแจ่มแจ้ง โดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง....
๒. ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นกามทั้งหลายว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง แจ่มแจ้งด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริง....
๓. ภิกษุผู้ขีณาสพ มีจิตน้อมไป โน้มไปโอนไปในวิเวก ตั้งอยู่ในวิเวกยินดีแล้วในเนกขัมมะ ปราศจากธรรมอันจะเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง.....
๔. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญสติปัฏฐาน ๔ อบรมบริบูรณ์ดีแล้ว
๕. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญอิทธิบาท ๔ อบรมดีแล้ว
๖. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญอินทรีย์ ๕ อบรมดีแล้ว
๗. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญโพชฌงค์ ๗ อบรมดีแล้ว
๘. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อบรมดีแล้ว..
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กำลังของภิกษุผู้ขีณาสพ ๘ ประการนี้แล ที่เป็นเหตุให้ท่านผู้ประกอบแล้ว ปฏิญาณความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายได้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้วฯ”
พลสูตร ที่ ๒
ปัญหา มีคนประเภทไหนบ้าง ที่ไม่มีโชคได้พบพระพุทธศาสนา ได้ประพฤติพรหมจรรย์ และได้ลิ้มรสความสุขอันเกิดจากการปฏิบัติธรรม?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรม.... และธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง นำความสงบมาให้.... แต่บุคคลผู้นี้เขาถึงนรกเสีย...
“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรมและธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมแสดง นำความสงบมาให้ .... แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเสีย....
“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรมและธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมแสดง นำความสงบมาให้ .... แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงเปตติวิสัยเสีย....
“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรมและธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมแสดง นำความสงบมาให้ .... แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงเทพนิกายผู้มีอายุยืนชั้นใดชั้นหนึ่งเสีย....
“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรม..... นำความสงบมาให้ .... แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท และอยู่ในพวกมิลักขะไม่รู้ดีรู้ชอบ.... อันเป็นสถานที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไปมา....
“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขาเป็นมิจฉาทิฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มีโลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่ผุดเกิดขึ้น (โอปปาติก) ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มีในโลก
“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขามีปัญญาทราม บ้าใบ้ ไม่สามารถรู้อรรถแห่งสุภาษิต และทุภาษิต
“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรม.... แต่พระตถาคตมิได้แสดง ถึงบุคคลผู้นี้จะเกิดในมัชฌมิชนบท และมีปัญญาไม่บ้าใบ้ ทั้งสามารถจะรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุภาษิต....”
อักขณสูตร
🔅 ทำไมสตรีจึงไม่ควรบวช
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีก็จริงแต่ทรงบัญญัติข้อปฏิบัต ิอันยิ่งยวดไว้ให้ภิกษุณีปฏิบัติ จนในที่สุดก็ปรากฏว่าภิกษุณีได้หายสาบสูญไปจากวงการพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุผลแสดงว่าพระพุทธองค์ไม่ประสงค์จะให้สตรีได้บวชในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงมีเหตุผลอย่างไรจึงไม่ประสงค์ให้สตรีบวช?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอานนท์ หากมาตุคาม (สตรี) จักไม่ได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์ก็ยังจะตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมพึงดำรงอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี แต่เพราะมาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จะไม่ตั้งอยู่นาน ทั้งสัทธรรมก็จักดำรงอยู่เพียง ๕๐๐ ปี
“.....ดูก่อนอานนท์ ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ที่มีหญิงมากชายน้อย ตระกูลนั้นถูกพวกโจรกำจัดง่าย แม้ฉันใด มาตุคามได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด พรหมจรรย์ในธรรมวินัยนั้น จักไม่ตั้งอยู่นานฉันนั้นเหมือนกัน อนึ่ง ขยอกลงในนาข้าวที่สมบูรณ์ นาข้าวนั้นย่อมตั้งอยู่นาน เพลี้ยลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นย่อมตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด มาตุคามได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด พรหมจรรย์ในธรรมวินัยนั้น ย่อมไม่ตั้งอยู่นาน ฉันนั้นเหมือนกัน
“อนึ่ง บุรุษกั้นคันสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลออกแม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการ ไม่ให้ภิกษุณีก้าวล่วงตลอดชีวิตเสียก่อน ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ”
โคตมีสูตร
🔅 ก้าวแรกในการปฏิบัติธรรม
ปัญหา ธรรมข้อไหนจำเป็นในการปฏิบัติธรรมเบื้องต้น?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์.. เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ อินทรีย์สังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่ออินทรีย์สังวรมีอยู่ ศีลชื่อว่ามีเหตุอันสมบูรณ์... เมื่อศีลมีอยู่ สัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุอันสมบูรณ์ .... เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะชื่อวามีเหตุสมบูรณ์.... เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์.... เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุติญาณทัสสนะชื่อว่ามีเหตุอันสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ แม้เปลือก แม้กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ฉะนั้น ฯ”
สติสูตร
🔅 แม้โจรก็ต้องมีธรรมะ
ปัญหา มีผู้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้สำหรับคนทุกจำพวก แม้กระทั่งโจร จริงหรือไม่? ถ้าจริง พระองค์ทรงแดสงธรรม ของโจรไว้อย่างไรบ้าง?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการย่อมพลันเสื่อม ตั้งอยู่ไม่นาน องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือประหารคนที่ไม่ประหารตอบ ๑ ถือเอาสิ่งของไม่เหลือ ๑ ลักพาสตรี ๑ ประทุษร้ายกุมารี ๑ ปล้นบรรพชิต ๑ ปล้นราชทรัพย์ ๑ ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป ๑ ไม่ฉลาดในการเก็บ ๑....
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการย่อมไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือไม่ประหารคนที่ไม่ประหารตอบ ๑ ไม่ถือเอาสิ่งของจนไม่เหลือ ๑ ไม่ลักพาสตรี ๑ ไม่ประทุษร้ายกุมารี ๑ ไม่ปล้นบรรพชิต ๑ ไม่ปล้นราชทรัพย์ ๑ ไม่ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป ๑ ฉลาดในการเก็บ ๑....”
โจรสูตร ที่ ๑-๒
🔅 สมาธิกับฌาน
ปัญหา การบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน จะเป็นเหตุละอาสวะได้หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง ฯลฯ เพราะอาศัยแนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง....
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาหร เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุ นั้นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละ คือ อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้นย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย....”
ฌานสูตร
🔅 พระพุทธเจ้าในฐานะคนธรรมดา
ปัญหา เท่าที่ศึกษาจากพุทธประวัติ รู้สึกว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นบุคคลพิเศษ เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ผิดสามัญมนุษย์ มีลักษณะอะไรบ้างที่แสดงว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดา?
คำตอบ “.....ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา (ซึ่งพระนันทกะกำลังแสดงธรรมอยู่) ประทับยืนรอจนจบการแสดง ณ ซุ้มประตุด้านอก ครั้นทรงทราบว่าการแสดงจบแล้วทรงกระแอมไอและทรงเคาะที่ลิ่มประตู ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูให้พระผู้มีพระภาคลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้วตรัสกะพระนันทกะว่า ดูก่อนนัทกะ ธรรมบรรยายของเธอที่ยาวมาก แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ เรายืนฟังจนจบ การแสดงที่ซุ้มประตูด้านนอก หลังของเราย่อมเมื่อย ....”
นันทกสูตร
🔅 ศีลกับอรหัตตผล
ปัญหา การรักษาศีล จะสามารถนำไปสู่การบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อน) เป็นผล.... อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล.... ปราโมทย์มีปีติเป็นผล.... ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล.... ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล... สุขมีสมาธิเป็นผล.... สมาธิมียถาภูฌาณทัสสนะเป็นผล... ยถาภูฌานทัสสนะมีนิพพิทาวิราคะเป็นผล.. นิพพิทาวิราคะมีวิมุตฌาณทัสสนะเป็นผล ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตตผลโดยลำดับด้วยประการดังนี้แล ฯ”
กิมัตถิยสูตร
🔅 เหตุแห่งสังฆเภท
ปัญหา ได้ทราบว่า การทำลายสงฆ์ให้แตกกันเป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่ง อยากทราบว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้สงฆ์แตกแยกกัน?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอุบาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าเป็นธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าไม่ใช่ธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัยว่าเป็นวินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่าไม่ใช่วินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ (แต่)ได้บอกไว้ว่าตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้ บอกไว้ว่าตถาคตไม่ได้กล่าวไว้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่เคยประพฤติมาว่า ตถาคตเคยประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตประพฤติมา ว่าตถาคตไม่เคยประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตเคยบัญญัติไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ ว่าตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ๑ ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกันแยกจากกัน ทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกันด้วยสัตถุ ๑๐ ประการนี้ ดูก่อนอุบาลี สงฆ์ จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ”
อุปาลิสังฆเภทสูตร
🔅 เหตุแห่งความชั่ว
ปัญหา อะไรบ้างเป็นเหตุให้คนกระทำความชั่ว?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนมหาลี โลภะแล... โทสะแล... โมหะแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรมแห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม อโยนิโสมนสิการแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม... จิตอันบุคคลตั้งไว้ผิดแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม....ฯ”
มหาลิสูตร
🔅 อวิชชาก็มีเหตุ
ปัญหา ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น ทุกข์ทั้งหลายเมื่อไล่เลียงไปถึงที่สุดแล้วก็ไปหยุดแค่อวิชชา อยากทราบว่าอวิชชาเองมีอะไรเป็นเหตุหรือไม่?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่านิวรณ์ ๕ ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรจะกล่าวว่าทุจริต ๓ ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควรจะกล่าวว่าการไม่สำรวมอินทรีย์ ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรจะกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรจะกล่าวว่าความไม่มีศรัทธา ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรจะกล่าวว่าการไม่ฟังธรรม ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังธรรม ควรกล่าวว่าการไม่คบสัตบุรุษ การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ .......ฯ”
อวิชชาสูตร
🔅 เหตุให้พระพุทธเจ้าอุบัติ
ปัญหา อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้ว ไม่พึงรุ่งเรืองในโลก ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ชาติ ๑ ชรา๑ มรณะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แลไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก...ฯ”
อภัพพสูตร
🔅 ความหลุดพ้นผิด
ปัญหา ความหลุดพ้นหรือทางรอด ย่อมมีเฉพาะความหลุดพ้นที่ถูกต้องอย่างเดียว หรือความหลุดพ้นผิดก็มี?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ (การตั้งตนไว้ผิด) จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างไร... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งใจผิด ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ อย่างนี้แล จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล.....”
มิจฉัตตสูตร
🔅 เหตุให้เกิดภวตัณหา
ปัญหา ภวตัณหา คือ ความอยากเกิดในภพ มีอะไรเป็นเหตุ หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งภวตัณหาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อนแต่นี้ ภวตัณหาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวคำอย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ภวตัณหามีข้อนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวภวตัณหาว่ามีอาหารมิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของภวตัณหา ควรกล่าวว่าอวิชชา....ฯ”
ตัณหาสูตร
🔅 ปฏิปักษ์ของธรรมต่าง
ปัญหา ธรรมต่างๆ ย่อมจะมีธรรมเป็นคู่กัน โปรดแสดงให้เห็นว่าธรรมอะไรมีอะไรเป็นปฏิปักษ์บ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นผู้ยินดีในที่สงัด ๑ การประกอบสุภนิมิต เป็นปฏิปักษ์ต่ออสุภนิมิต ๑ การดูมหรสพที่เป็นข้าศึก เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้คุ้มครองอินทรีย์ในทวารทั้งหลาย ๑ การติดต่อกับมาตุคาม เป็นปฏิปักษ์ต่อพรหมจรรย์ ๑ เสียงเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌาน ๑ วิตกวิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อทุติยฌาน ๑ ปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อตติยฌาน ๑ ลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นปฏิปักษ์ต่อ จตุตถฌาน ๑ สัญญาและเวทนาเป็นปฏิปักษ์ต่อสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ๑ ราคะเป็นปฏิปักษ์ โทสะเป็นปฏิปักษ์ ๑....”
กัณฏกสูตร
🔅 ความเจริญ ๑๐ ประการ
ปัญหา มีหลักฐานอะไรบ้างที่แสดงว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิเสธโลกอย่างสิ้นเชิง ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ และเป็นผู้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ... ความเจริญ ๑๐ ประการเป็นไฉน คืออริยสาวก
ย่อมเจริญด้วยนาและสวน ๑
ย่อมเจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก๑
ย่อมเจริญด้วยบุตรและภรรยา ๑
ย่อมเจริญด้วยทาส กรรมการ และคนใช้ ๑
ย่อมเจริญด้วยสัตว์ ๔ เท้า ๑
ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ๑
ย่อมเจริญด้วยศีล ๑
ย่อมเจริญด้วยสุตะ ๑
ย่อมเจริญด้วยจาคะ ๑
ย่อมเจริญด้วยปัญญา ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการนี้ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ....ฯ”
วัฑฒิสูตร
🔅 คนใจไม่เป็นทุกข์และทุกข์ไปตามกาย
ปัญหา คนประเภทไหน เมื่อร่างกายเป็นทุกข์ จิตใจก็พลอยทุกข์ไปด้วย คนประเภทไหน แม้ร่างกายเป็นทุกข์ แต่จิตใจไม่พลอยทุกข์ไปด้วย ?
พระสารีบุตรตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดี ปุถุชนในโลกนี้ ผู้มิได้เรียนรู้ มิได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ย่อมเห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณว่าเป็นตน เห็นตนมี รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ย่อมเห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณในตน ย่อมเห็นตนในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เป็นผู้อยู่ด้วยความถือมั่นว่าเราเป็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณเป็นของเรา รูป (เป็นต้นนั้น) ย่อมแปรปรวนไปเป็นอย่างอื่นเมื่อรูป (เป็นต้นนั้น) แปรปรวนไปเป็นอย่างอื่นความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความขัดเคือง และความตรอมใจย่อมเกิดขึ้น... ดูก่อนคฤหบดี ด้วยเหตุอย่างนี้แล บุคคลจึงชื่อว่า มีกายกระสับกระส่าย และมีจิตกระสับกระส่าย
“.....ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ได้เรียนรู้แล้ว ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ย่อมไม่เห็นรูปในตน ว่าเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ย่อมไม่เห็นรูปในตน
ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ไม่อยู่ด้วยความถือมั่นว่า เราเป็นรูป รูปเป็นของเรา.... เมื่อรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ความโศก ..... ย่อมไม่เกิดขึ้น ดูก่อนคฤหบดี อย่างนี้แล บุคคลแม้จะมีกายกระสับกระส่าย แต่หามีจิตกระสับกระส่ายไม่....”
นกุลปิตาสูตร
🔅 สาระของพระพุทธโอวาท
ปัญหา ถ้ามีคนถามเราว่าพระศาสดาของท่านมีวาทะอย่างไร ตรัสสอนอย่างไร จะตอบว่าอย่างไรจึงจะถูกต้อง?
พระสารีบุตรตอบ “.....ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบอย่างนี้ว่า... พระศาสดาของเราตรัสสอนให้กำจัดความยินดีและความใคร่... ความยินดีและความใคร่ในอะไร ? ความยินดีและความใคร่ในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ.... ทรงเห็นโทษอะไรจึงตรัสสอนให้กำจัดความยินดีและความใคร่...เพราะว่า เมื่อบุคคลมีความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในรูป (เป็นต้น) ยังไม่หายขาด ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความขัดเคือง และความตรอมใจย่อมเกิดขึ้น... ในเมื่อรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ.... แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป”
เทวทหสูตร
🔅 เหตุเกิดและดับแห่งขันธ์ ๕
ปัญหา พระพุทธพจน์ที่ว่า ภิกษุมีจิตเป็นสมาธิแล้วย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง หมายความว่ารู้อะไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่ง รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความจริงแห่งรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ? “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ย่อมเพลิดเพลินหลงใหล ดื่มด่ำอยู่ในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เมื่อเพลิดเพลินหลงใหล ดื่มด่ำอยู่ในรูป ความยินดีพอใจก็เกิดขึ้น ความยินดีพอใจในรูป เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพระภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความขัดเคือง ความตรอมตรมใจ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความดับแห่งรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ?
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่หลงใหล ไม่ดื่มด่ำใน รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่หลงใหล....... ความยินดีในรูปย่อมดับไป เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ... จึงดับไป ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการฉะนี้”
สมาธิสูต