พระพุทธดำรัส (๑๑)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏




🔅 คนฟังธรรม ๓ ประเภท
ปัญหา คนที่ไปฟังเทศน์ ฟังธรรมอยู่ตามวัดเป็นประจำนั้น มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก.... คือ บุคคลมีปัญญาคว่ำ ๑ บุคคลมีปัญญาเช่นกับตัก ๑ บุคคลมีปัญญากว้างขวาง ๑

“บุคคลมีปัญญาคว่ำ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิงแก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นไม่ได้ เปรียบเหมือนหม้อคว่ำ ถึงจะเอาน้ำรดลงที่หม้อนั้นย่อมราดไปหาขังอยู่ไม่..... นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญาคว่ำ

“บุคคลมีปัญญาเช่นกับตักเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรม..... แก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ครั้นลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็ทรงจำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นไม่ได้ เปรียบเหมือนบนตักของบุรุษมีของเคี้ยวนานาชนิด คือ งา ข้าวสาร ขนมต้ม พุทรา เกลื่อนกลาด เขาลุกจากอาสนะนั้น พึ่งทำเรี่ยราดเพราะเผลอสติ..... ที่เรียกว่า บุคคลมีปัญญาเหมือนตัก

“บุคคลมีปัญญากว้างขวางเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรม..... แก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นได้
แม้ลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นได้ เปรียบเหมือนหม้อหงาย เอาน้ำเทใส่ไปในหม้อนั้น ย่อมขังอยู่ หาไหลไปไม่... นี้เรียกว่า บุคคลมีปัญญากว้างขวาง”

อวกุชชิตาสูตร



🔅 ควรให้ทานแก่คนเช่นไร
ปัญหา มีบางคนกล่าวหาพระพุทธองค์ว่า ทรงสรรเสริญเฉพาะท่านที่เขาถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ทรงส่งเสริมสนับสนุนทานที่เขาให้แก่นักบวชอื่นๆ ดังนี้จริงหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนวัจฉะ ผู้ใดพูดว่าพระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ พึงให้ทานแก่สาวกของเรานี้แหละ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ .. ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่าไม่พูดตามที่เราพูดทั้งกล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง”

     “... ดูก่อนวัจฉะ ผู้ใดแลห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง วัตถุ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ย่อมทำอันตรายแก่บุญของทายก ๑ ย่อมทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหก ๑ ตนของบุคคลนั้นย่อมเป็นอันถูกกำจัดและถูกทำลายก่อนทีเดียวแล ๑...”

     “... ดูก่อนวัจฉะ ก็เราพูดเช่นนี้ว่า ผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะหรือน้ำล้างขันไปแม้ที่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำคลำ หรือที่บ่อโสโครกข้างประตูบ้าน ด้วยตั้งใจว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นจงยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้นเถิดดังนี้ ดูก่อนวัจฉะ เรากล่าวกรรมซึ่งมีการราดล้างน้ำภาชนะนั้นเป็นเหตุว่า เป็นที่มาแห่งบุญ จะป่วยการกล่าวไปไย ถึงในสัตว์มนุษย์เล่า”

     “... อีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่า ทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก ที่ให้ในคนทุศีลหาเหมือนเช่นนั้นไม่ ทั้งท่านผู้มีศีลนั้น เป็นผู้ละองค์ ๕ ได้ แล้ว... คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑... ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ประกอบด้วยศัลขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติญาณทัสสนขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑... เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านที่ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ที่กล่าวมา มีผลมากฯ”

ชัปปสูตร


🔅 ข้อตอบโต้ลัทธิต่างๆ
ปัญหา สมณพราหมณ์บางพวกยืนยันว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี ที่บุคคลได้รับเสวยอยู่นั้น ล้วนแต่มีกรรมที่ทำไว้ก่อนเป็นเหตุ คือ เป็นผลแห่งกรรมเก่านั้นทั้งสิ้น ดังนี้ พระพุทธองค์ทรงแก้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่มีว่าวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีกรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเป็นเหตุ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วถามอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าท่านทั้งหลายมีว่าวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้.... จริงหรือ ถ้าสมณพราหมณ์พวกนั้น.... ปฏิญญาว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะกรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเป็นเหตุ ท่านทั้งหลายจักต้องฆ่าสัตว์ จักต้องลักทรัพย์ จักต้องประพฤติกรรมเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ จักต้องพูดเท็จ จักต้องพูดคำส่อเสียด จักต้องพูดคำหยาบ จักต้องพูดคำเพ้อเจ้อ จะต้องมากไปด้วยอภิชฌา จักต้องมีจิตพยาบาท จักต้องมีความเห็นผิด
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลยึดถือ กรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนว่าเป็นสาระสำคัญแล้ว ความพอใจหรือความพยายามว่า กิจนี้ควรทำหรือไม่ว่ากิจนี้ไม่ควรทำ ย่อมจะมีไม่ได้.....ฯ”

ติตถสูตร

🔅 พรหมลิขิตมีหรือไม่
ปัญหา สมณพราหมณ์บางพวกยืนยันว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี ที่บุคคลได้รับเสวยอยู่นั้น ล้วนแต่มีการสร้างสรรค์ ของเทพเจ้าอยู่ยิ่งใหญ่เป็นเหตุดังนี้ พระพุทธองค์ทรงเห็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์..... พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีการสร้างสรรค์ ของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุจริงหรือ ถ้าสมณพราหมณ์พวกนั้น.... ปฏิญญาว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะการสร้างสรรค์ ของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ ท่านทั้งหลายจักต้องฆ่าสัตว์.... จักต้องลักทรัพย์...... จักต้องประพฤติกรรมเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์..... จักต้องพูดเท็จ..... จักต้องพูดคำส่อเสียด.... จักต้องพูดคำหยาบ..... จักต้องพูดคำเพ้อเจ้อ..... จะต้องมากไปด้วยอภิชฌา...... จักต้องมีจิตพยาบาท..... มิจฉาทิฏฐิ.....

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลยึดถือการสร้างสรรค์ ของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นสำคัญ ความพอใจหรือความพยายามว่า กิจนี้ควรทำหรือไม่ว่ากิจนี้ไม่ควรทำ ย่อมจะมีไม่ได้.....ฯ”

🔅 เหตุเกิดอกุศลมูล ๓
ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้เกิด ราคะ โทสะ โมหะ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ราคะ มีโทษน้อยคลายช้า โทสะ มีโทษมากคลายเร็ว โมหะ มีโทษมากคลายช้า.....

“สุภนิมิตคือความกำหนดหมายว่างาม เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคายถึงสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง

“.....อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น.... ปฏิฆนิมิต คือความกำหนดหมายว่ากระทบกระทั่ง (จิต) เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายถึงปฏิฆนิมิต โทสะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง.....” (ในทางตรงกันข้าม ดับราคะได้ด้วย อสุภนิมิต ดับโทสะได้ด้วยเมตตาเจโตวิมุติ ดับโมหะได้ด้วย โยนิโสมนสิการ)

ติตถิยสูตร


🔅 ศีลอุโบสถของศาสนาเชน
ปัญหา ได้ทราบว่าศาสนาเชน ของศาสดามหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร ศาสนาที่มีอยู่ในช่วงพุทธกาล จนถึงปัจจุบัน ศาสนาเชนมีหลักปฏิบัติอย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนนางวิสาขา มีสมณะนิกายหนึ่งมีนามว่านิครนถ์ นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า... ท่านจงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศบูรพา.... ทางทิศปัจฉิม... ทางทิศอุดร..... ทางทิศทักษิณ ในที่เลยร้อยโยชน์ไป นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ไม่ชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ด้วยประการฉะนี้

“นิครนถ์เหล่านั้น ชักชวนสาวกในวันอุโบสถเช่นนั้นอย่างนี้ว่า.... ท่านจงทิ้งผ้าเสียทุกชิ้นแล้วพูดอย่างนี้ว่า เราไม่เป็นที่กังวลของใคร ๆ ในที่ไหนๆ และตัวเราก็ไม่มีความกังวลในบุคคลและสิ่งของใด ๆ ในที่ไหนๆ ดังนี้.... แต่ว่า มารดาและบิดาของเขารู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรของเรา แม้เขาก็รู้อยู่ว่า ท่านเหล่านี้เป็นมารดาบิดาของเรา อนึ่ง บุตรและภรรยาของเขาก็รู้อยู่ว่า นี้เป็นบิดาเป็นสามีของเรา แม้เขาก็รู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรภรรยาของเรา พวกทาสและคนงานของเขารู้อยู่ว่า ท่านผู้นี้เป็นนายของเรา ถึงตัวเขาก็รู้ว่า คนเหล่านี้เป็นทาสและคนงานของเรา เขาชักชวนในการพูดเท็จ ในสมัยที่ควรชักชวนในคำสัตย์ ด้วยประการฉะนี้.....”

อุโปสกสูตร
(ศาสนาเชน มีหลักคำสอนที่เอียงสุด หรือสุตโต่งไปในข้างที่ทรมารตัวให้เปล่าประโยชน์)


🔅 ชาติหน้ามีจริงหรือไม่
ปัญหา ชาติหน้ามีจริงหรือไม่? ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริงหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....อริยสาวกนั้น มีจิตหาว่าเรามิได้อย่างนี้ มีจิตหาความเบียดเบียนมิได้อย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองแล้วอย่างนี้ มีจิตหมดจดแล้วอย่างนี้ เธอย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการในชาตินี้

“ความอุ่นใจที่หนึ่งว่า ถ้าโลกเบื้องหน้ามีอยู่ ผลแห่งกรรมมีสัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะซึ่งจะเป็นไปได้ คือเบื้องหน้าแต่กายแตกตายไปแล้ว เราจะได้เข้าไปถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่หนึ่ง

“ความอุ่นใจที่สองว่า ถ้าโลกเบื้องหน้าไม่มี ผลแห่งกรรมมีสัตว์ทำดีทำชั่วไม่มีเราก็จะรักษาตนเป็นคนไม่มีเวร ไม่มีความลำบาก ไม่มีทุกข์ มีแต่สุขในชาตินี้ ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สอง

“ความอุ่นใจที่สามว่า ถ้าเมื่อบุคคลทำบาป บาปชื่อว่าเป็นอันทำแล้ว (และจะนำผลคือทุกข์มาให้เรา) เราไม่ได้คิดบาปให้แก่ใครๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเรา ผู้ไม่ได้ทำบาป ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สาม

“ความอุ่นใจที่สี่ว่า ถ้าเมื่อบุคคลทำบาป บาปชื่อว่าเป็นอันทำแล้ว (และจะนำผลคือทุกข์มาให้เรา) เราก็ได้พิจารณาเห็นคนเป็นคนบริสุทธิแล้วทั้ง ๒ ส่วน ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สี่

“อริยสาวกมีจิตหาเวรมิได้ หาความเบียดเบียนมิได้ มีจิตไม่เศร้าหมอง มีจิตหมดจดแล้วอย่างนี้ ย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แล ในชาตินี้ฯ”

เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร) 


🔅 หลักในการนับถือศาสนา
ปัญหา ในโลกนี้ มีคำสอนในศาสนา ในลัทธิ และในปรัชญา เป็นอันมาก แม้คำสอนทางพระพุทธศาสนาเองก็มีมากมาย จนทำให้เกิดความสงสัยลังเลว่า อะไรควรเชื่อถือ อะไรไม่ควรเชื่อถือ อะไรควรปฏิบัติตามอะไร ไม่ควรปฏิบัติตาม ขอได้โปรดแนะแนวในการเชื่อถือและในการปฏิบัติด้วย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา
อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา
อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ๆ
อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา
อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา
อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเนอย่าได้ถือโดย
อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ
อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน
อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา

“เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั้นแล ว่าธรรมเหล่านี้ (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มทีแล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสียเมื่อนั้น

เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร)

🔅 ผลกรรมและผู้กระทำ
ปัญหา คน ๒ คน ทำกรรมอย่างเดียวกัน แต่ได้รับผลต่างกันมีหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำกรรมไว้อย่างไร? เขาจะต้องเสวยกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ของผู้นั้นย่อมมีไม่ได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมไม่ปรากฏ ส่วนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำกรรมที่จะต้องเสวยผลไว้ด้วยอาการใดๆ เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้นด้วยอาการนั้น ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมปรากฏ

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคลในโลกนี้ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแหละ บาปกรรมนั้นย่อมได้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะส่วนที่มา บุคคลเช่นไร ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา มีคุณน้อย มีอัตตภาพเล็ก มีอัตตภาพอยู่เป็นทุกข์เพราะวิบากเล็กน้อย บุคคลเห็นปานนี้ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเช่นไรเล่า ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้น เหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะส่วนมาก

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณไม่น้อย มีอัตตภาพใหญ่ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หาประมาณมิได้ บุคคลเช่นนี้ ทำบาปกรรมเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากกฎ ปรากฏเฉพาะแต่ส่วนมาก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในขันใบน้อย.... น้ำในขันเล็กน้อยนั้น พึงมีรสเค็ม ดื่มกินไม่ได้ (ส่วนบาปกรรมเล็กน้อยของบุคคลผู้อบรมกายเป็นต้นแล้วนั้น) เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในแม่น้ำคงคา (น้ำในแม่น้ำคงคาก็คงไม่เค็ม ดื่มกินได้ เพราะเป็นห้วงน้ำใหญ่....”

โสณกสูตร


🔅 บำเพ็ญสมาธิทำไม
ปัญหา การบำเพ็ญสมาธินั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำลายกิเลส แล้วบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์เท่านั้นหรือ? หรือว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างอื่นด้วย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนามีอยู่ ๔ ประการ คือ สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญแล้วเพิ่มพูนแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑.... ย่อมเป็นไปเพื่อให้เกิดจากเป็นแจ้งด้วยญาณ ๑.... ย่อมเป็นไปเพื่อ (ความสมบูรณ์แห่ง) สติสัมปชัญญะ ๑.... ย่อมเป็นไปเพื่อความหมดสิ้นแห่งอาสวะ ๑.....”

สมาธิสูตร

🔅 สมาธิเพื่ออยู่เป็นสุข
ปัญหา การบำเพ็ญสมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันคืออย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (มีจิต) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วบรรลุฌานที่หนึ่ง อันประกอบด้วยความตรึก ความครอง ความอิ่มเอิบใจ และความสุขที่เกิดแต่ความสงบดำรงในฌานนั้น

“แล้วบรรลุถึงฌานที่สอง ซึ่งจิตมีความเป็นหนึ่งแน่วแน่ ผ่องใสอยู่ภายใน ไม่มีความตรึกความตรอง เพราะความตรึกความตรองระงับไป มีแต่ความอิ่มเอิบใจ และความสุขที่เกิดแต่สมาธิ ดำรงอยู่ในฌานนั้น

“ต่อจากนั้นก็มีใจสงบนิ่ง เพราความอิ่มเอิบใจระงับไว้ มีความตื่นตัว ความรู้ตัว เสวยสุขด้วยนามกาย แล้วบรรลุฌานที่สาม ที่พระอริยสรรเสริญรู้ได้ฌานนี้ ย่อมมีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขเป็นประจำ

“ต่อจากนั้นก็บรรลุฌานที่สี่ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ได้ และดับโสมนัสโทมนัสเดิมได้ มีแต่อุเบกขาและสติอันบริสุทธิ์ ดำรงอยู่ในฌานนั้น

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน”

สมาธิสูตร

🔅 สมาธิเพื่อให้เกิดฌาณ
ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิแบบไหน อย่างไร จึงจะเป็นเหตุให้เกิดการเห็นแจ้งด้วยฌาน ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาให้เกิดความเข้าใจหมายรู้ว่ามีแสงสว่างภายในใจ (อาโลกสัญญา) พยายามสร้างความจำหมายว่าเป็นกลางวัน (ทิวาสัญญา) ให้เกิดขึ้นในใจ คิดว่า กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจสงบระงับปราศจากเครื่องผูกมัด อบรมจิตให้มีความสว่างไสวอยู่.... “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้.... ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดการเห็นแจ้งด้วยญาณทัศนะ.....”

สมาธิสูตร

🔅 สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ
ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาแบบไหน อย่างไร จึงจะเป็นเหตุให้สติสัมปชัญญะเจริญไพบูลย์ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้แจ้งเวทนาที่กำลงเกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่กำลังตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่กำลังดับไป รู้แจ้งสัญญาที่กำลังเกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่กำลังตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่กำลังดับไป รู้แจ้งวิตกที่กำลังเกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่กำลังตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่กำลังดับไป

“..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้ ที่บุคคลเจริญพัฒนาแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ”

สมาธิสูตร


🔅 สมาธิเพื่อดับอาสวะ
ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาแบบไหน อย่างไร จึงจะทำให้อาสวะดับได้ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ห้าอยู่เป็นประจำว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้

“เวทนา.... ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา.... ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้
“สัญญา.... ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา.... ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้
“สังขาร.... ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร.... ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้
“วิญญาณ.... ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ.... ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้

“..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้..... ย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ....”

สมาธิสูตร

🔅 คนกับสภาพแวดล้อม
ปัญหา ทางพระพุทธศาสนาเชื่อหรือไม่ว่า ความประพฤติดีหรือชั่วของมนุษย์ มีผลกระทบกระเทือนต่อการทำงานของธรรมชาติ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใดพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรมสมัยนั้น แม้พวกข้าราชการก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรมแม้พราหมณ์และคฤหบดีก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมโคจรไม่สม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์พระอาทิตย์โคจรไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรโคจรไม่สม่ำเสมอ วันและคืนย่อมหมุนเวียนโคจรไม่สม่ำเสมอ เมื่อวันและคืนหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ..... ฤดูและปีก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ... เทวดาย่อมกำเริบเมื่อเทวดากำเริบ ฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล... ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกัน ย่อมมีอายุสั้น มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีโรคภัยไข้เจ็บมาก....”

ธรรมิกสูตร

🔅 ใช้ตัณหาปราบตัณหา
ปัญหา มีบางท่านกล่าวว่า ความอยากถึงนิพพานก็จัดเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง และเป็นแรงผลักดันให้คนปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพาน เข้าทำนอง ใช้ตัณหาดับตัณหา คำกล่าวเช่นนี้ มีหลักฐานในพระไตรปิฎกยืนยันหรือไม่ ?

พระอานนท์ตอบ “.....ดูก่อนน้องหญิง คำที่เรากล่าวว่ากายนี้เกิดด้วยตัณหา อาศัยตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสียดังนี้ เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร

“ดูก่อนน้องหญิง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อได้ข่าวว่า ภิกษุชื่ออย่างนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง ในปัจจุบันนี้ ดังนี้ เธอเกิดความปรารถนา (ตัณหา) อย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุต ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ ในปัจจุบันชาตินี้ ดังนี้ ในเวลาต่อมา เธออาศัยตัณหานั้นแล้วละตัณหาเสียได้

“ดูก่อนน้องหญิง คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหาอาศัยตัณหาแล้วพึงละเสียดังนี้ เรากล่าวเพราะอาศัยความจริงข้อนี้......”

อินทริยวรรค


🔅 สิ่งที่ควรพูดและไม่ควรพูด
ปัญหา สิ่งใดก็ตามที่เราเห็นมาจริง ได้ฟังมาจริง ประสบมารู้แจ้งมาจริง เราควรพูดสิ่งนั้นออกมาได้ทันทีโดยไม่มีโทษใดๆ ได้หรือไม่ ?

พระอานนท์ตอบ “.....ดูก่อนพราหมณ์ เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่าควรกล่าวและไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่าไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมด ว่าควรกล่าว (หรือ).... ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ประสบมาทั้งหมดว่าควรกล่าว (หรือ).....ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งมาทั้งหมดว่าควรกล่าว (หรือ).....ไม่ควรกล่าว

“.....ดูก่อนพราหมณ์ แท้จริง เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด...... สิ่งที่ได้ฟังมาอันใด.... สิ่งที่ได้ประสบมาอันใด.... สิ่งที่ได้รู้แจ้งมาอันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นมา.. ได้ฟังมา.... ได้ประสบมา.... ได้รู้แจ้งมาเช่นนั้นว่า ไม่ควรกล่าว แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นมา.... ได้ฟังมา... ได้ประสบมา.... ได้รู้แจ้งมาอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็น... ได้ฟัง.... ได้ประสบ... ได้รู้แจ้งมาเช่นนั้น ว่าควรกล่าว”

โยธาชีวสูตร

🔅 เทวดาก็บรรลุมรรคผลได้
ปัญหา มีบางท่านกล่าวว่า มนุษย์เท่านั้นสามารถปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลได้ เทวดาไม่สามารถ เพราะเห็นที่เสวยสุขอันเป็นทิพย์อย่างเดียว จริงหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน.... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเธอฟังเสมอๆ คล่องปาก เพ่งพิจารณาด้วยใจ และกาย ตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ

"ต่อมา เธอมีสติเหลงลืมถึงแก่มรณะ ย่อมไปบังเกิดในเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง เมื่อเธอมีความสุขอยู่ในภพนั้น บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอ สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

“อีกประการหนึ่ง... บทแห่งธรรมย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีความชำนาญทางจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอตรึกตรองจนเห็นว่า ในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.... ดุจบุรุษผู้ฉลาดในเสียงกลอง เขาเดินทางไกล เมื่อได้ยินเสียงกลอง ไม่มีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า นั่นเสียงกลองหรือไม่ใช่....

“อีกประการหนึ่ง... บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอคิดได้ดังนี้ว่า นี้คือ นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.... ดุจบุรุษผู้ฉลาดในเสียงสังข์ สติบังเกิดขึ้นช้า เดินทางไกลได้ยินเสียงสังข์เข้า ไม่พึงมีความเคลือบแคลงสงสัย ว่านั่นเสียงสังข์หรือไม่ใช่....

มหาวรรคที่ ๕


🔅 คนดียิ่งกว่าดี
ปัญหา คนดีคือคนอย่างไร และคนดียิ่งกว่าดีคือคนอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็คนดีเป็นอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ มีการงานชอบ มีการเลี้ยงชีพชอบ มีความเพียรชอบ มีการระลึกชอบ มีการตั้งมั่นชอบ มีญาณชอบ มีความหลุดพ้นชอบ บุคคลนี้เราเรียกว่าคนดี

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็คนดีเป็นอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้

มีความเห็นชอบด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นมีความเห็นชอบอีกด้วย
มีความดำริชอบด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นให้ดำริชอบด้วย
มีการงานชอบด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นมีการงานชอบด้วย
มีการเลี้ยงชีพชอบด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นเลี้ยงชีพชอบด้วย
มีความเพียรชอบด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นมีความเพียรชอบด้วย
มีการระลึกชอบด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นมีการระลึกชอบด้วย
มีการตั้งจิตมั่นด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นตั้งจิตมั่นด้วย
มีการรู้แจ้งด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นรู้แจ้งด้วย
มีการหลุดพ้นชอบชอบด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นมีหลุดพ้นชอบด้วย.....

บุคคลนี้เราเรียกว่าคนดีที่ยิ่งกว่าคนดี...”

สัปปุริสวรรค


🔅 ทำไมคนจึงกลัวความตาย
ปัญหา คนเราทุกคนย่อมรู้ว่าความตายเป็นของธรรมดาที่จะหลักเลี่ยงไม่พ้น ถึงกระนั้น ก็ไม่วายที่จะหวาดกลัวความตาย อะไรเป็นเหตุทำให้คนหวาดกลัวความตาย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความกำหนัดยินดี... ชอบใจ.... รักใคร่.... กระหาย.... เร่าร้อน มีตัณหาในกามทั้งหลายยังไม่หมดสิ้น ครั้นโรคาพาธเจ็บไข้หนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องผู้นั้นเข้า ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า กายทั้งหลายซึ่งเป็นของรักจักละเราไปเสีย แลเราก็จักละกาย ทั้งหลายซึ่งเป็นที่รักไปหนอ ดังนี้.... เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตรีอกคร่ำครวญ... บุคคลนี้แล.. ย่อมกลัวต่อความตาย ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

“.....บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความกำหนัดยินดี... พอใจรักใคร่....ในกาย ครั้นโรคาพาธหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องผู้นั้นเข้า ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า กายทั้งหลายซึ่งเป็นของรักจักละเราไปเสีย แลเราก็จักละกาย ทั้งหลายซึ่งเป็นที่รักไปหนอ ดังนี้.... เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตรีอกคร่ำครวญ... บุคคลนี้แล.. ย่อมกลัวต่อความตาย ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

“.....บุคคลบางคนในโลกนี้ มีกรรมงามดีไม่ได้ทำไว้แล้ว มีกุศลไม่ได้ทำไว้แล้ว มีกรรมซึ่งจะเป็นที่พึ่งของคนขลาดไม่ได้ทำไว้แล้ว มีบาปได้ทำไว้แล้วมีกรรมของคนละโมบได้ทำไว้แล้ว มีกรรมหยาบได้ทำไว้แล้ว ครั้นโรคาพาธหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องผู้นั้นเข้า ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า

กรรมงามดีไม่ได้ทำไว้แล้ว..... ผู้มีกุศลไม่ได้ทำไว้แล้ว มีกรรมเป็นบาปอันได้ทำไว้แล้ว มีประมาณเพียงใด ตัวเราจะละโลกนี้ไปสู่คติมีประมาณเท่านั้น ดังนี้.... เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตรีอกคร่ำครวญ... ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

“.....บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความเคลือบแคลง... สงสัย ถึงความแน่ใจในพระสัทธรรม ครั้นโรคาพาธหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องผู้นั้นเข้า ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีความเคลือบแคลง... สงสัย ถึงความแน่ใจในพระสัทธรรมแล้ว ดังนี้.... เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตรีอกคร่ำครวญ... บุคคลนี้แล.. กลัวต่อความตาย สะดุ้งต่อความตาย

โยธาชีวรรค

วิกิ

ผลการค้นหา