พระพุทธดำรัส (๑)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 ผลของศรัทธาในพระพุทธเจ้า
ปัญหา ในศาสนาฝ่ายเทวนิยม ผู้ใดมีความเชื่อและความรักในพระผู้เป็นเจ้า ผู้นั้นย่อมมีหวังเข้าสู่สวรรค์ ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ บุคคลใดมีเพียงความเชื่อ เพียงความรักเราบุคคลนั้นทั้งหมดเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า”

ผลแห่งการละกิเลส

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำต้องทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระ ปลงลงแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสัญโญชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่มีวัฏฏะ เพื่อจะบัญญัติต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใดละ👉โอรัมภาคิยสัญโญชน์ทั้ง ๕ ประการ ได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใดละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว กับมีราคะโทสะและโมหะบางเบา ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใดละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้วภิกษุเหล่าใด ผู้เป็นธัมมานุสารี เป็นสัทธานุสารี ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ดีเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว บุคคลเหล่าใด มีเพียงความเชื่อ เพียงความรักในเรา บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีสวรรค์ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

อลคัททูปมสูตร


🔅 โดยปรมัตถ์ ธาตุ ๔ ก็ไม่ควรยืดถือ
ปัญหา การที่พระพุทธองค์ตรัสถึงเรื่องธาตุ ๔ นั้น พระองค์ทรงเชื่อว่ามีธาตุ ๔ จริงๆ หรือเพราะทรงเรียกตามโวหารโลกที่คนเข้าใจกันอยู่ในสมัยนั้น? มีพระพุทธพจน์ตอนไหนบ้างที่แสดง ธาตุ ๔ เป็นแต่สิ่งสมมติ?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ธาตุดิน ย่อมรู้ธาตุน้ำ ย่อมรู้ธาตุไฟ ย่อมรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม ครั้นรู้ธาตุลมโดย ความเป็นธาตุลม แล้วย่อมสำคัญหมายธาตุลม ย่อมสำคัญหมายโดยความเป็นธาตุลม ย่อมสำคัญหมายธาตุลมว่าเป็นของเรา ย่อมยินดีธาตุลมข้อนั้นเพราะอะไร เรากล่าวว่า เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันต์ขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์เสร็จกิจแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ตนแล้ว สิ้นกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นด้วยปัญญาอันชอบแล้ว แม้ภิกษุนั้นย่อมรู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดิน ย่อมรู้ธาตุน้ำโดยความเป็นธาตุน้ำ ย่อมรู้ธาตุไฟโดยความเป็นธาตุไฟ  ย่อมรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม ครั้นรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลมแล้ว ย่อมสำคัญหมายธาตุลม ย่อมไม่สำคัญหมายโดยความเป็นธาตุลม ย่อมไม่สำคัญหมายธาตุลมว่าเป็นของเรา ย่อมไม่ยินดีในธาตุลม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอกำหนดรู้แล้วฯ”

มูลปริยายสูตร

🔅 ทิพยจักษุมีได้จริง 
ปัญหา ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระปัญจวัคคีย์ทั้งห้าได้ทอดทิ้งพระสมณศากยมุนี หนีไปก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นระยะทางไกลมาก พระองค์ทรงทราบได้อย่างไรว่า พระปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และเสด็จไปโปรดถูกที่?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจึงคิดว่า เราจะแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่ใครหนอ ใครจักทราบชัดธรรมนี้ได้โดยเร็ว เราจึงคิดว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้อุปัฎฐากเราผู้กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ เป็นผู้มีอุปการะแก่เรามากนัก ถ้าไฉน เราพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่พวกเธอ เราจึงคิดว่า บัดนี้ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ เราก็รู้ได้ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีด้วยทิพยจักษุที่บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ครั้นเราอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ออกจาริกไปเมืองพาราณสี ฯ

ปาสราสิสูตร

🔅 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ
ปัญหา เท่าที่ได้สดับมานั้น เราจะละอาสวะได้โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญาอย่างเคร่งครัดเท่านั้น มีวิธีใดอีกบ้างหรือไม่ที่เราจะละอาสวะได้?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่ ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี ที่จะพึงละได้เพราะการเว้นรอบก็มี ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี ที่จะพึงละได้เพราะการบรรเทาก็มี ที่จะพึงละได้เพราะการอบรมก็มี”

ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นนั้นหมายถึงอาสวะประเภทไหน และการเห็นนั้นเห็นอย่างไร? 👉 ขอยกการละอาสวะทั้งหมดมาอธิบายที่นี่ 

สัพพาสวสังวรสูตร 

🔅 ไม่ควรคำนึงอดีตหรืออนาคต
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นนั้นหมายถึงอาสวะประเภทไหน และการเห็นนั้นเห็นอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น ปุถุชนมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า”

“เราได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ เราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักมีหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักไม่มีหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไร แล้วจึงจักเป็นอะไรหนอ หรือว่าปรารภกาลปัจจุบัน ในบัดนี้ มีความสงสัยขึ้นภายในว่าเรามีอยู่หรือเราไม่มีหรือ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ และมักจักไป ณ ที่ไหน

ดูการละอาสวะด้วยการเห็น ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ


🔅 ทิฐิเกี่ยวกับอัตตา และอนัตตา
ปัญหา ทิฐิเกี่ยวกับอัตตา และอนัตตา?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาทิฐิ ๖ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้นว่า
(๑) อัตตาของเรามีอยู่
(๒) อัตตาของเราไม่มี
(๓) เราย่อมรู้อัตตาด้วยอัตตา
(๔) เราย่อมรู้อนัตตาด้วยอัตตา
(๕) เราย่อมรู้อัตตาด้วยอนัตตา
(๖) อัตตาของเรานี้ได้เป็นผู้เสวย (ในอดีต) ย่อมเสวย (ในปัจจุบัน) วิบากของกรรมทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้นๆ ก็ตนของเรานี้นั้นเป็นของเที่ยง ยั่งยืนติดต่อ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดาจักตั้งอยู่อย่างนั้น เสมอด้วยสิ่งยั่งยืนแท้

ข้อนี้เรากล่าวว่าทิฐิ ชัฏคือทิฐิ ทางกันดารคือทิฐิ เสี้ยนหนามคือทิฐิ ความดิ้นรนคือทิฐิ สิ่งที่ประกอบสัตว์ไว้ คือทิฐิ เรากล่าวว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ผู้ประกอบด้วย ทิฐิ สังโยชน์ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส

ดูทิฐิ ๖ ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ


🔅 ธรรมที่ควรมนสิการคืออริยสัจ ๔
ปัญหา ธรรมที่ควรมนสิการคืออริยสัจ ๔

พุทธดำรัสตอบ “อริยสาวกนั้นย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการเห็น”
ดูการละอาสวะด้วยการเห็น ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ , อธิบายอริยสัจ

🔅 การละอาสวะด้วยการสังวร
ปัญหา ข้อที่ว่า อาสวะ อาจละได้ด้วยการสังวรนั้นหมายความว่าอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในจักขุนทรีย์ ในโสตินทรีย์ ในฆานินทรีย์ ในชิวหินทรีย์ ในมนินทรีย์  ก็อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใดพึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมในมนินทรีย์อยู่ อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมในมนินทรีย์อยู่อย่างนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะถึงละได้เพราะการสังวรฯ”


ดูการละอาสวะด้วยการสังวร ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยการพิจารณาเสพ
ปัญหา ข้อที่ว่า อาจจะละอาสวะได้ด้วยการพิจารณาเสพนั้นหมายความว่าอย่างไร ? พิจารณาอะไร? เสพอะไร?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัดความหนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาต มิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่เพื่อให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่าจะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วยจะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษและความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เรา ฉะนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมเสพเสนาสนะเพียงเพื่อกำจัด หนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดูเพื่อรื่นรมย์ในการออกเร้นอยู่ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขารคือยา อันเป็นปัจจัยแก่คนไข้เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิด แต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง ฯ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนี้ ผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้ด้วยการพิจารณาเสพฯ”

ดูการละอาสวะด้วยการเสพ ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยความอดกลั้น
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะด้วยความอดกลั้น นั้น หมายถึงความอดกลั้นต่ออะไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย สัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้มีชาติของผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าว ชั่ว ร้ายแรง ต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัว ซึ่งยังเกิดขึ้นเป็นทุกข์ กล้า แข็ง เผ็ด ร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อาจพร่าชีวิตเสียได้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะความอดกลั้น”

ดูการละอาสวะด้วยความอดกลั้น ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยการเว้นขาด
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะด้วยการเว้นขาดนี้ หมายถึงการเว้นจากอะไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นช้างที่ดุร้าย ม้าที่ดุร้าย โคที่ดุร้าย สุนัขที่ดุร้าย งู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหว ที่เต็มด้วยของไม่สะอาดโสโครก เพื่อพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พึงกำหนดลงซึ่งบุคคลผู้นั่ง ณ ที่มิใช่อาสนะเห็นปานใด ผู้เที่ยวไป ณ ที่มิใช่โคจรเห็นปานใด ผู้คบมิตรที่ลามกเห็นปานใด ในสถานที่ทั้งหลายอันลามก ภิกษุนั้นพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้น และมิตรผู้ลามกเหล่านั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจริงอยู่ อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่เว้นสถานที่หลักบุคคลอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนเหล่านั้น ย่อมมีแก่ภิกษุนั้นผู้เว้นขาดอยู่อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการเว้นขาด”

ดูการละอาสวะด้วยการเว้นขาด ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยการบรรเทา
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะด้วยการบรรเทานี้ หมายถึงการบรรเทาอะไรโดยวิธีใด ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทากามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้วทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาอันใดอันหนึ่ง อาสวะแล้วความเร่าร้อน เหล่านั้นย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความบรรเทาฯ”

ดูการละอาสวะด้วยการบรรเทา ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยการอบรม
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะด้วยการอบรมนั้น หมายถึงการอบรมอะไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะ และความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อน เหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อบรมอยู่อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการอบรม”

ดูการละอาสวะด้วยการอบรม ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 เหตุทำให้เกิดความกลัวป่าเปลี่ยว
ปัญหา เพราะเหตุใดผู้บำเพ็ญเพียรทางจิตใจบางท่าน เมื่อเข้าไปอยู่ในป่าเปลี่ยวจึงเกิดความหวาดกลัว แต่บางท่านก็ไม่หวาดกลัว?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ มีความอยากได้ มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจชั่ว อันถีนมิทธะกลุ้มรุมแล้ว ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบระงับ มีความสงสัยเคลือบแคลง ยกตนข่มผู้อื่น เป็นผู้หวาดหวั่น มีชาติแห่งคนขลาด ปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด มีปัญญาทราม เป็นใบ้ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเกิดมีความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะโทษของตนคือความเป็นผู้มีปัญญาทรามและเป็นคนบ้าใบ้เป็นเหตุ ฯ”

ภยเภรวสูตร

🔅 ความกลัวบางอย่างเกิดจากตนเป็นเหตุ
ปัญหา มีผู้กล่าวว่า ความหวาดกลัวบางอย่างเกิดจากความเข้าใจผิดของตนเอง มีความจริงเพียงใด และจะกำจัดความหวาดกลัวชนิดนี้ได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ไฉนหนอเราพึงอยู่ในราตรี ที่กำหนดกันว่า ที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักข์ พึงอยู่ในเสนาสนะคือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์ น่าสะพรึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า ถ้ากระไร เราพึงเห็นความกลัวและความขลาด ดังนี้ ดูก่อนพราหมณ์ ต่อมา เราอยู่ในราตรี เห็นปานนั้น อยู่ในเสนาสนะเห็นปานนั้น ก็เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะเห็นปานนั้น เนื้อมาก็ดี นกยูงทำไม้ให้ ตกลงมาก็ดี หรือว่าลมพัดใบไม้ให้ตกลงมาก็ดี เรานั้นได้มีความดำริอย่างนี้ว่าแน่นอน ความกลัวและความขลาดนั้นกำลังมา เราได้มีความดำริอย่างนี้ว่าไฉนหนอเราจึงเป็นผู้ปรารถนาภัยอยู่โดยแท้ ทำอย่างไรหนอเราจะพึงกำจัดให้ความหวาดกลัวและความขลาด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ?”

ภยเภรวสูตร

🔅 ความเห็นอันถูกต้องของพระสาวก
ปัญหา สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องมีทรรศนะเกี่ยวกับชีวิตอย่างไร จึงจะถือว่าถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอัคคิเวสสะ สาวกของเราในพระธรรมวินัยนี้ย่อมเห็นเบญจขันธ์นั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึงทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเราดังนี้

“ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ด้วยเหตุเท่านี้แหละ สาวกของเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกตามโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากความแคลงใจอันเป็นเหตุให้กล่าวว่าข้อนี้เป็นอย่างไร ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดาตนฯ”

จูฬสัจจกสูตร

🔅 วิธีกำจัดความขลาด
ปัญหา ความกลัวก็ดี ความขลาดก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่เราเป็นครั้งคราว เราจะกำจัดความกลัวและความขลาดได้โดยวิธีใด?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงหวังว่าเราพึงเป็นผู้ข่มความกลัวและความขลาดได้ อนึ่ง ความกลัวและความขลาดอย่าพึงครอบงำเราได้เลย เราพึงครอบงำย่ำยีความกลัวและความขลาดที่เกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิดดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำตนให้เหินห่างจากฌาน พอกพูนสุญญาคาร (คือพยายามอยู่ในเรือนว่างหรือที่สงัดเงียบ บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ) ”

อากังเขยยสูตร

🔅 วิธีสร้างอิทธิฤทธิ์
ปัญหา อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เป็นสิ่งมีได้จริงหรือ? ถ้ามีจริงจะมีวิธีสร้างได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุ ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวพึงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนพึงเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝ่ากำแพง ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ พึงผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ พึงเดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ก็ได้”

“ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่าเราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ถ้าภิกษุจะถึงหวังว่าเราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่าเราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือพึงระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่อย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้... “ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้เถิด ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร(เรือนว่าง) ฯ”

อากังเขยยสูตร

🔅 การล้างบาปด้วยน้ำ
ปัญหา ลัทธิพราหมณ์ถือว่า กระทำบาปแล้วอาจจะชำระล้างให้หมดสิ้นไปด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา เป็นต้น ทางพระพุทธศาสนามีทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “คนพาล มีกรรมดำ (บาป) แล่นไปยังแม่น้ำพาหุกาท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคะยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดีแม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวรทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้นให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ผัคคุณฤกษ์ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ อุโบสถก็ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เขาไม่ให้เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านจักต้องไปยังท่าน้ำคะยาทำไม แม้การดื่มน้ำในท่าน้ำคะยาก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้ฯ

วัตถูปมสูตร
 

🔅 ความหมายของสัมมาทิฐิ
ปัญหา ข้อที่ว่าสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบนั้นหมายถึงเห็นอะไร ?

พุทธสารีบุตรตอบ “ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล และรากเหง้าของอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้าของกุศล รู้ชัดซึ่งอาหาร (๔ ประการ คือ อาหารคือคำข้าว อาหารคือผัสสะ อาหารคือความจงใจ และอาหารคือความรู้แจ้งทางทวาร ๖) เหตุเกิดแห่งอาหาร (ตัณหา) ความดับอาหาร และทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร (มรรคมีองค์ ๘) รู้ชัดซึ่งทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางให้พึงความดับทุกข์ รู้ชัดซึ่งชราและมรณะเหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับชราและมรณะ และทางที่จะให้ถึงความดับชราและมรณะ รู้ชัดซึ่งชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ อายตนะ ๖ นามรูป วิณญาณ สังขาร อวิชชา อาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะความดับแห่งอาสวะ และทางปฏิบัติเพื่อถึงความดับอาสวะแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฐิ”

สัมมาทิฐิสูตร



วิกิ

ผลการค้นหา