🔅 วิธีพิสูจน์พระอรหันต์
ปัญหา เราจะมีวิธีพิสูจน์ได้อย่างไร ว่าภิกษุรูปใดเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ เพราะเราไม่อาจจะทราบได้ด้วยเครื่องหมายภายนอกใด ๆ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่างเพิ่งยินดี อย่าเพิ่งคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พึงถามปัญหาเธอว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบนี้มี ๔ ประการ คือ คำกล่าวว่าเห็นอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้?
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พ้นกิเลสแล้วเพราะรู้ชอบจึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพันพ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้เห็น มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ยิน พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ทราบ พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้ารู้ชัด จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้นพวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาสาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุอุปาทานขันธ์อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบ มี ๕ ประการ แล คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ก็จิตของท่านผู้มีอายุผู้รู้อยู่เห็นอยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้?
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พ้นกิเลสแล้วเพราะรู้ชอบจึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูป และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในรูปได้ ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนา รู้แจ้งสัญญา รู้แจ้งสังขาร รู้แจ้งวิญญาณแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว ดูก่อนท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้า ผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ธาตุอันพระผู้มีพระภาคนั้น ตรัสไว้ชอบมี ๖ ประการ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พ้นกิเลสแล้วเพราะรู้ชอบจึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ข้าพเจ้าครองปฐวีธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยปฐวีธาตุเลย ข้าพเจ้าครองอาโปธาตุ โดยความเป็นอนัตตา ครองเตโชธาตุโดยความเป็นอนัตตา ครองวาโยธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยวิญญาณธาตุเลย จึงทราบชัดว่าจิตของเราพ้นแล้ว จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายในอายตนะภายนอก อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบนี้ มีอย่างละ ๖ แล คือจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่นชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ ก็จิตของท่านผู้มีอายุรู้อยู่เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายในอายตนะภายนอก อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบนี้ มีอย่างละ ๖ แล คือจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่นชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ ก็จิตของท่านผู้มีอายุรู้อยู่เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ?
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พ้นกิเลสแล้วเพราะรู้ชอบจึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นสำรอก ดับสละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทาน ที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจ และความปักใจมั่น
ในจักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ
ในโสต ในเสียง ในโสตวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ
ในฆาน ในกลิ่น ในฆานวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณ
ในชิวหา ในรส ในชิวหาวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณ
ในกาย ในโผฏฐัพพะ ในกายวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณ
ในมโน ในธรรมารมณ์ ในมโนวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ
จิตของข้าพเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖ เหล่านี้”
ฉวิโสธนสูตร
🔅 หญิงที่ไม่ควรละเมิด
ปัญหา ในฝ่ายหญิงนั้น หญิงมีลักษณะเช่นไรบ้างที่ชายไม่พึงละเมิด ถ้าละเมิด จะเป็นการล่วงละเมิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร?
พุทธดำรัสตอบ “ไม่เป็นผู้ละเมิดจารีตในหญิงที่มารดารักษาบ้าง หญิงที่บิดารักษาบ้าง หญิงที่ทั้งมารดาทั้งบิดารักษาบ้าง หญิงที่พี่ชายรักษาบ้างหญิงที่พี่สาวรักษาบ้าง หญิงที่ญาติรักษาบ้าง หญิงที่ยังมีสามีอยู่บ้าง หญิงที่มีสินไหมติดตัวอยู่บ้าง ที่สุดแม้หญิงที่ชายคล้องพวงดอกไม้หมั้นไว้....ฯ”
เสวิตัพพาเสวิตัพพ
🔅 สัมมาทิฐิเป็นประธาน
ปัญหา ในบรรดาองค์ ๘ ประการของมรรค ๘ นั้น องค์ไหนจัดว่าสำคัญที่สุด ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๘ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือเ
มื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้
เมื่อสัมมาญาณะ สัมมาวิมุติจึงพอเหมาะได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐”
มหาจัตตารีสกสูตร
🔅 ความสัมพันธ์ของโพชฌงค์ ๗
ปัญหา ธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการที่เรียกว่าโพชฌงค์ ๗ นั้น มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นภายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัวมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้าไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้าไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญธรรม วิจยสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อเธอค้นคว้าไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุ ปรารภแล้ว ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุ ปรารภแล้ว ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุ ปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว ย่อมมีจิตตั้งมั่น
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉย จิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้”
อานาปานสติสูตร
🔅 พระอริยะกับคนธรรมดา
ปัญหา คฤหัสถ์บางคนไม่เชื่อว่า ภิกษุที่ออกบรรพชาอุสมบทประพฤติพรหมจรรย์จะได้รู้ได้เห็น ได้เสวยธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เห็นคุณค่าของการประพฤติพรหมจรรย์ ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ข้อที่ความข้อนั้นเขา (สมณะ) รู้ เขาเห็น เขาบรรลุ เขาทำให้แจ้งกันได้ด้วยเนกขัมมะ แต่พระราชกุมารชยเสนะยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกกิน ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากาม จักทรงรู้ หรือจักทรง หรือจักทรงเห็น หรือจักทรงทำให้แจ้ง ความข้อนั้นได้ นั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
“ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนภูเขาใหญ่ไม่ห่างไกลบ้านหรือนิคมสหายสองคนออกจากบ้านหรือนิคมนั้น ไปยังภูเขาลูกนั้นแล้ว สหายคนหนึ่งยืนที่เชิงภูเขาเบื้องล่าง อีกคนหนึ่งขึ้นไปข้างบนภูเขา สหายที่ยืนตรงเชิงภูเขาข้างล่าง เอ่ยถามสหายผู้ยืนบนภูเขานั้นอย่างนี้ว่า แนะเพื่อน เท่าที่เพื่อนยืนบนภูเขานั้น เพื่อนเห็นอะไร สหายคนนั้นตอบอย่างนี้ว่า เพื่อนเอ๋ย เรายืนบนภูเขาแล้ว เห็นสวนป่าไม้ภูมิภาคและสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์
“สหายข้างล่างกล่าวอย่างนี้ว่า แนะเพื่อน ข้อที่เพื่อนยืนบนภูเขาแล้ว เห็น สวน ป่าไม้ ภูมิภาค และสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสเลย
“สหายที่ยืนบนภูเขาจึงลงมายังเชิงเขาข้างล่าง แล้วจูงแขนสหายคนนั้นให้ขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ให้สบายใจครู่หนึ่งแล้ว เอ่ยถามสหายนั้นว่า แนะเพื่อน เท่าที่เพื่อนยืนบนภูเขาแล้ว เพื่อนเห็นอะไร?
“สหายคนนั้นตอบอย่างนี้ว่า แนะเพื่อ เรายืนบนภูเขาแล้ว แลเห็นสวน ป่าไม้ ภูมิภาค และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์.....”
ทันตภูมิสูตร
🔅 ทำดีด้วยความหวังและไม่หวัง
ปัญหา บางคนกล่าวว่าในการทำความดีไม่ควรตั้งความหวังไว้ จึงจะได้ผล แต่อีกคนหนึ่งกล่าวว่าควรตั้งความหวังไว้จึงจะได้ผล พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรในเรื่องนี้?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภูมิชะ ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่มีทิฐิผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด ถ้าแม้ทำความหวังแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ไม่ทำความหวังแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถสามารถจะบรรลุมรรคผล ถ้าแม้ทำความหวังและไม่ทำความหวังประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผล..... นั่นเพราะอะไร ดูก่อนภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย
“ดูก่อนภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน เกลี่ยทรายลงในรางแล้วคั้นไป เอาน้ำพรมไปๆ ถ้าแม้ทำความหวัง เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน ถ้าแม้ไม่ทำความหวัง เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน
“ดูก่อนภูมิชะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่มีทิฐิชอบมีสังกัปปะชอบ มีวาจาชอบ มีกัมมันตะชอบ มีอาชีวะชอบ มีวายามะชอบมีสติชอบ มีสมาธิชอบ ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล ถ้าแม้ไม่ทำความหวังประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
“ดูก่อนภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน เกลี่ยงาป่นลงในรางแล้วคั้นไป ถ้าแม้ทำความหวัง เขาก็สามารถได้น้ำมัน ถ้าแม้ไม่ทำความหวัง เขาก็สามารถได้น้ำมัน.....”
ภูมิชสูตร
🔅 อันตรายของสมาธิ
ปัญหา ในการเจริญสมาธิ บางครั้งเกิดนิมิตเห็นรูปแล้ว หรือเกิดโอภาสแสงสว่างแล้ว แต่ในไม่ช้าก็หายไป ทั้งนี้เพราะเหตุไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอนุรุท เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ เราย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุเห็นปัจจัยได้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้ ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่าวิจิกิจฉา (ความสงสัยลังเล) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เราก็วิจิกิจฉาเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้วิจิกิจฉาไม่เกิดขึ้นแก่เราได้อีก
“.....ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่าอมนสิการ (การไม่ใส่ใจ) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เราก็อมนสิการ เป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน ถีนมิทธะ (ความง่วงงุน) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความหวาดเสียว...... แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความตื่นเต้น แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความชั่วหยาบ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความเพียรที่ปรารภเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความเพียรที่หย่อนเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ตัณหาที่คอยกระซิบ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้วิจิกิจฉาอมนสิการ ถีนมิทธะความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก.....
อุปักกิเลสสูตร
🔅 นรกมีจริงหรือ
ปัญหา มีบางคนยืนยันว่า นรกสวรรค์ไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้ ข้อนี้เป็นความจริงเพียงใด?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก......
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์โทมนัสที่บุรุษถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่มเป็นเหตุ กำลังเสวยอยู่นั้นเปรียบเทียบทุกข์ของนรก ยังไม่ถึงแม้ความคณนา ยังไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ยังไม่ถึงแม้การเทียบกันได้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะให้คนพาลนั้นกระทำเหตุชื่อการจำ ๕ ประการคือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลาง คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด.....
“เหล่านายนิรยบาล จะจับคนพาลนั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่งถาก คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า....
“.....เหล่านายนิรยบาล จะจับคนพาลนั้น เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วถากด้วยพร้า คนพาลนั้นจะเสวยเทวทนาอันเป็นทุกข์กล้า......
“.....เหล่านายนิรยบาล จะเอาพาลนั้นเทียมรถ แล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเสวยเทวทนาอันเป็นทุกข์กล้า......
“.....เหล่านายนิรยบาล จะให้คนพาลนั้นปีนขึ้นปีนลง ซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ ที่มีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเสวยเทวทนาอันเป็นทุกข์กล้า......
“.....เหล่านายนิรยบาล จะจับคนพาลนั้น เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดงที่ร้อน มีไฟติดทั่ง ลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเดือนเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เมื่อเขาเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวาครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาล จะจับโยนคนพาลนั้นเข้าไปในมหานรก ก็มหานรกนั่นแล มีสี่มุมสี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้น ล้วนแล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง ประกอบด้วยไฟแผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้น ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ”
พาลปัณฑิตสูตร
🔅 คนเกิดเป็นสัตว์ได้
ปัญหา มีพระพุทธพจน์ที่ไหนบ้าง ที่ยืนยันไว้อย่างแน่นอนว่าคนเราอาจจะไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานแม้ชั้นต่ำ ๆ เช่นไส้เดือนได้?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นภักษา คือ ม้า โค ลา แพะ เนื้อ หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ คนพาลนั่นแล ผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่มีหญ้าเป็นภักษาเหล่านั้น
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้นได้กลิ่นคูถแต่ไกร แล้วย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า จักกินตรงนี้ จักกินตรงนั้น คือ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขป่า หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่มีคูถเป็นภักษา คนพาลนั่นแล ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่มีมีคูถเป็นภักษา เหล่านั้น
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิด แก่ ตาย ในที่มืด คือ ตั๊กแตน มอด ไส้เดือน หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ คนพาลนั้นนั่นแล ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิด แก่ ตายในที่มืด
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิด แก่ ตายในน้ำ คือ ปลา เต่า จระเข้ หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ คนพาลนั้นแล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่ เกิด แก่ ตายในน้ำ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิด แก่ ตายในของโสโครก คือ เกิด แก่ ตายในปลาเน่าก็มี ในศพเน่าก็มี ในขนมกุมมาสเน่าก็มี ในน้ำครำก็มี ในหลุมโสโครกก็มี หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ คนพาลนั้นแล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าพึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิด แก่ ตายในของโสโครก ”
พาลปัณฑิตสูตร
🔅 คนพาลเกิดเป็นมนุษย์ได้ยาก
ปัญหา ได้ทราบว่า คนเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ได้โดยง่าย ยิ่งเป็นคนพาลสันดานชั่วด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์อีกน้อย ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนทุ่นมีบ่วงตาเดียวไปในมหาสมุทร ทุนนั้นถูกลมตะวันออกพัดไปทางทิศตะวันตก ถูกลมตะวันตกพัดไปทางทิศตะวันออก ถูกลมเหนือพัดไปทางทิศใต้ ถูกลมใต้พัดไปทางทิศเหนือ มีเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทรนั้น ล่วงไปร้อยปีจึงจะผุดขึ้นครั้งหนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? เต่าตาบอดตัวนั้น จะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้บ้างไหมหนอ ?
“ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลยพระพุทธเจ้าข้า ถ้าจะเป็นไปได้ในบางครั้งบางคราว ก็โดยล่วงระยะกาลนานแน่นอน
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้ ยังจะเร็วกว่า เรากล่าวความเป็นมนุษย์ที่คนพาลผู้ไปสู่วินิบาต คราวหนึ่งแล้วจะพึงได้ ยังยากกว่านี้ นั่นเพราะเหตุไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะในตัวคนพาลนี้ ไม่มีความประพฤติธรรม ความประพฤติสงบ การทำกุศล การทำบุญ มีแต่การกินกันเอง การเบียดเบียนคนอ่อนแอ......
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นแลถ้าจะมาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราว ไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนานย่อมเกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลคนจัณฑาล หรือสกุลพรานเนื้อ หรือสกุลคนจักสาน หรือสกุลช่างรถ หรือสกุลคนเทขยะเห็นปานนั้นในบั้นปลาย.......”
พาลปัณฑิตสูตร
🔅 ทำดีไปนรก-ทำชั่วไปสวรรค์
ปัญหา บุคคลกระทำบาปด้วยกาย วาจา ใจ แล้วจะได้ไปเกิดในทุคติเสมอไปหรือ ? และบุคคลกระทำบุญด้วย กาย วาจา ใจ ตายแล้วจะเข้าถึงสุคติสมอไปหรือ ? ถ้าไม่ เพราะเหตุไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอานนท์ เราไม่เห็นด้วยกับวาทะของสมณะ หรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ ท่านผู้เจริญเป็นอันว่า กรรมดีไม่มีวิบากของสุจริตไม่มี แต่วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเมรัย มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าพึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราเห็นด้วย
“ส่วนวาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่าผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เรายังไม่เห็นด้วย
“แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่เห็นด้วย
“แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไป ถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง นั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่านี้เราก็ยังไม่เห็นด้วย......
“.....ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงอุบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นเพราะว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน ๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่าในเวลาจะตาย มีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อมสมาทานแล้ว เพราะฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก......”
มหากัมมวิภังคสูตร
🔅 การตำหนิและการยกยอ
ปัญหา พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักในการตำหนิ หรือให้การยกยอบุคคลอื่นไว้อย่างไรหรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ “ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้การยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว?
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร เป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม? คือเมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด กระทำการประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส ของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง
“เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด ไม่กระทำการประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบดังนี้ ชื่อว่ายกยอคนพวกหนึ่ง
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลเป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้? คือ ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดกระทำการประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส...... ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์...... กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์..... ดังนี้ เชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
“ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดไม่กระทำการตามประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส ของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กาม..... ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อนใจ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ..... อย่างนี้แล ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้.....”
อรณวิภังคสูตร
🔅 นินทา-ว่าร้าย
ปัญหา ตามปกติ การนินทาลับหลังก็ดี การว่าร้ายต่อหน้าก็ดี ถือกันว่าเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำในเรื่องนี้ไว้อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่ถึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น พึงทราบว่า วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด แม้ทราบว่าวาทะลับหลังใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็พึงสำเนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น พึงทราบว่า คำล่วงเกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด แม้ทราบว่าคำล่วงเกินต่อหน้าใดจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเนียกเพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นและทราบว่า คำล่วงกินต่อหน้าใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น....”
อรณวิภังคสูตร
🔅 ไม่ควรพูดรีบร้อน
ปัญหา ในการพูด พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำเกี่ยวกับการพูดเร็วหรือช้าไว้อย่างไรบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วนนั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการแรก นั้น เมื่อรีบด่วนพูด กายก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูด ก็ไม่สละสลวย ไม่พึงรู้ชัดได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในประการหลังนั้น เมื่อไม่รีบด่วนพูด กายก็ไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ แม้คำพูดของผู้ที่ไม่รีบด่วนพูด ก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้.....”
อรณวิภังคสูตร
🔅 ภาษาท้องถิ่น
ปัญหา ภาษาท้องถิ่นย่อมแตกต่างกันไป ทั้งคำพูดและสำเนียง ก่อให้เกิดความลำบากในการประกาศพระศาสนา พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำให้พระสาวกปฏิบัติต่อภาษาท้องถิ่นอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสียนั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็อย่างไรเล่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ?
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภาชนะนั้นและในโลกนี้ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปาตี ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปัตตะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่าปิฏฐะในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า สระวะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หโลสะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หนะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปิปิละ ภิกษุพูดปรักปรำ โดยประการที่ชนทั้งหลาย หมายรู้เรื่องภาชนะนั้นกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ โดยกำลังและความแน่ใจว่านี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า อย่างนี้แลชื่อว่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ.....”
อรณวิภังคสูตร