พระพุทธดำรัส (๔)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 คุณของการกินแต่น้อย
ปัญหา พระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้รับอนุญาตให้บริโภคอาหารเพียงวันละ ๑ หรือ ๒ ครั้งเท่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นประโยชน์อย่างไร จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุบริโภคอาหารน้อย?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณคือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่าเมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหาร ในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบามีกำลัง และอยู่สำราญ”

ภัททาลิสูตร

🔅 การฉันวันละ ๒ ครั้ง
ปัญหา มีภิกษุบางรูปฉันอาหารวันละ ๒ ครั้ง พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ที่ไหน อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น (ถ้าเธอฉันหนเดียวไม่ได้) เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้”

ภัททาลิสูตร

🔅 ทำผิดแล้วยอมรับผิด
ปัญหา การกระทำความผิดแล้วยอมรับผิด ผู้กระทำความผิดจะได้รับอภัยโทษหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรมเราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปนี้ เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”

ภัททาลิสูตร

🔅 เหตุให้พระธรรมวินัยเสื่อม
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า การมีกฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ มาก ๆ นั้น แสดงว่าศีลธรรมของชุมนุมชนนั้นเสื่อมลง จริงหรือไม่ ? พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ ข้อนี้เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อม พระสัทธรรมกำลังอันตรธาน สิกขาบทมีอยู่มากมาย แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตตผลน้อยนัก พระศาสดายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรม (ธรรมอันก่อให้เกิดอาสวะ) บางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าปรากฏขึ้นในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น อาสวัฏฐานิยธรรมธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในพระธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเห็นหมู่ใหญ่  อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในพระธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ  ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูตร ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู (มีประสบการณ์มาก) ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นรัตตัญญู เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น ฯ ”

ภัททาลิสูตร 


🔅 คุณธรรมสำหรับพระสงฆ์
ปัญหา พระสังฆรัตนะพุทธศาสนิกชนควรถือเป็นสรณะที่พึ่งนั้นต้องประกอบด้วยคุณธรรมกี่ประการ ? อะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรมเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน? ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ ”

ภัททาลิสูตร


🔅 พุทธทำนาย
ปัญหา ตามเรื่องในพระคัมภีร์ มีปรากฏอยู่เสมอว่า เมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ อุบาสิกา คนใดคนหนึ่งตายลง พระผู้มีพระภาคมักจะตรัสว่า เขาได้ไปเกิดใหม่ในภพนั้นๆ การที่พระพุทธองค์ทรงทำนายเช่นนี้ มีพระพุทธประสงค์อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอนุรุทธะ ตถาคตย่อมพยากรณ์สาวกทั้งหลายผู้ทำกาละไปแล้ว ในภพที่เกิดทั้งหลายว่า สาวกชื่อโน้นเกิดแล้วในภพโน้นสาวกชื่อโน้นเกิดแล้วในภพโน้นดังนี้ เพื่อให้คนพิศวงก็หามิได้ เพื่อเกลี้ยกล่อมคนก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์ คือลาภสักการะและความสรรเสริญก็หามิได้ ด้วยความประสงค์ว่าคนจงรู้จักเรานี้ก็หามิได้ ดูก่อนอนุรุทธะ กุลบุตรทั้งหลายผู้มีศรัทธา มีความยินดีมาก มีปราโมทย์มากมีอยู่ กุลบุตรเหล่านั้นได้ฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว จะน้อมจิตไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง ข้อนั้นย่อมมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กุลบุตรเหล่านั้น สิ้นกาลนาน”

นฬกปานสูตร

🔅 ความหมายของสัพพัญญู
ปัญหา คำว่า “สัพพัญญู” ผู้รู้สิ่งทั้งปวง ซึ่งเป็นพระนามประการหนึ่งของพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่า พระองค์ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาลทั้งเวลาหลับและเวลาตื่น หรือหมายความแค่ไหนแน่?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนวัจฉะ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญาณญาณทัสสนะไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไปดังนี้ ไม่เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้วและชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำที่ไม่มี ไม่เป็นจริง “ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓ ) ดังนี้แล เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง ชื่อว่าพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรม

“ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง..... ตลอดสังวัฎวิวัฎกัปเป็นอันมาก ในภพโน้นเรามีชื่อย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น... เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศด้วยประการฉะนี้

“ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ซึ่งเป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิฉาทิฐิ เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมทิฐิ..... เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

“ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง...”

จูฬวัจฉโคคตสูตร 


🔅 พระอรหันต์นิพพานแล้วไปไหน
ปัญหา คนธรรมดาตายแล้วย่อมเกิดในภพต่างๆ ตามกรรม ส่วนพระอรหันต์ผู้สิ้นกรรมแล้ว จะไปเกิดที่ไหน?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนวัจฉะ คำว่า จะเกิดดังนี้ไม่ควรเลย คำว่า ไม่เกิดดังนี้ก็ไม่ควร คำว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ก็ไม่ควร คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ก็ไม่ควร ธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเป็น ยากที่จะรู้ สงบระงับประณีตไม่ใช่ธรรมที่จะหลั่งถึงได้ด้วยความตรึกละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยาก ดูก่อนวัจฉะ เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านท่านจะพึงรู้หรือไม่ว่าไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”

วัจฉะ “ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”

พุทธะ “ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้อาศัยอะไรจึงลุกเล่า ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

วัจฉะ “.ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้จึงลุกอยู่”

พุทธะ “ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้จะดับไปต่อหน้าเราแล้ว?”

วัจฉะ “ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว”

พุทธะ “ไฟที่ดับไปต่อหน้าท่านแล้วนั้นไปยังทิศไหนจากทิศนี้ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?”

วัจฉะ “ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้จึงลุกแต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่า ไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว”

พุทธะ “ ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะรูปใด  เพราะเวทนาใด เพราะสัญญาใด เพราะสังขารใด เพราะวิญญาณใด รูป เวทนา  สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เห็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความมี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูป เวทนา สัญญา  สังขาร วิญญาณ มีคุณอันลึกอันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มีไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้”

อัคคิวัจฉโคตตสูตร

🔅 บุคคลผู้ที่ไม่เถียงกับใครๆ
ปัญหา คนเราที่ไม่รู้ความจริงแท้ ย่อมมีความเห็นแตกต่างกันและทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกัน มีคนประเภทใดบ้างที่ไม่ทุ่มเถียงกับใครๆ?

พุทธดำรัสตอบ “อัคคิเวสสนะ เวทนา ๓ อย่างนี้คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนาในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น

“อัคคิเวสสนะ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ไม่เที่ยงอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คล้ายไปดับไปเป็นธรรมดา “อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา ทั้งอทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใคร ๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกันก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฐิ”

ทีฆมขสูตร


🔅 ทำไมพระสาวกจึงเคารพพระศาสดา
ปัญหา เพราะเหตุไร บรรดาพระสาวกของพระพุทธเจ้า จึงมีความเคารพยำเกรงในพระพุทธองค์อย่างสูง นับว่าขณะที่พระองค์กำลังทรงแสดงธรรม ภิกษุแม้รูปเดียวจะไอหรือจามก็ไม่กล้า ?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราแล้ว พึ่งเราอยู่ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มีอาหารน้อย และทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรามีอาหารเพียงเท่าโกสะ (จุในผลกระเบา) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งโกสะก็มี เพียงเท่าเวลุวะ (จุในผลมะตูม) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งเวลุวะก็มี ส่วนเราและ บางครั้งบริโภคอาหารเสมอขอบปากบาตรนี้ก็มี ยิ่งกว่าก็มี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพ เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงมีอาหารน้อย บรรดาสาวกของเราผู้มีอาหารเพียงเท่าโกสะหนึ่งบ้าง เพียงกึ่งเวลุวะบ้าง ก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ อุทายี แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล ทรงจีวรเศร้าหมอง เธอเหล่านั้นเลือกเก็บเอาผ้าเก่าแต่ป่าช้าบ้าง แต่กองหยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ บ้าง มาทำเป็นสังฆาฎิ ส่วนเราแล บางคราวก็ใช้คหบดีจีวรที่เนื้อแน่น ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ทรงผ้าบังสุกุลก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร เธอเหล่านั้น เมื่อเข้าไปถึงละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดีมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็ฉันในที่นิมนต์ แต่ล้วนเป็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เขาเก็บเมล็ดดำออกแล้ว มีแกงกับหลายอย่าง ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตรก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร เธอเหล่านั้น ไม่เข้าสู่ที่มุงตลอดแปดเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งอยู่ในเรือนยอดที่ฉาบทาทั้งข้างในข้างนอก ลมเข้าไม่ได้ มีลิ่มชิดสนิท มีหน้าต่างเปิดปิดได้ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา เพราะเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือโคนต้นไม้เป็นวัตรก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัดและทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัด แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด ถือป่าชัฏอยู่ เธอเหล่านั้นย่อมมาประชุมในท่ามกลางสงฆ์ เฉพาะเวลาสวดปฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็อยู่เกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัดและทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัด บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตรก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี มีธรรม ๕ ประการอย่างอื่นอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะเคารพเรา ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน?

“ ดูก่อนอุทายี สาวกทั้งหลายของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญในพระอธิศีลว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีศีล ประกอบด้วยศีลขันธ์อย่างยิ่ง

“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเรา ย่อมสรรเสริญในเพราะความรู้ความเห็นที่แท้จริงว่า พระสมณโคดมเมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรงเห็นเองก็ตรัสว่าเห็น ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงธรรมเพื่อความไม่รู้ยิ่ง ทรงแสดงธรรมมีเหตุ มิใช่ทรงแสดงไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ มิใช่ทรงแสดงไม่มีความอัศจรรย์ สาวกทั้งหลายของเรา

“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเรา
ย่อมสรรเสริญในพระปัญญาอันยิ่งว่า พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยปัญญาขันธ์อย่างยิ่ง 

“ ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว อันทุกข์ครอบงำแล้ว เพราะทุกข์ใด เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเราแล้ว ถามถึงทุกขอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้น ถามถึงทุกขอริยสัจแล้วก็พยากรณ์ให้ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเรา แล้วถามถึงทุกขอริยสัจ ถามถึงทุกขสมุทัยอริยสัจ ถามถึงทุกขนิโรธอริยสัจ ถามถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้นถามถึงก็พยากรณ์ให้ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา

“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญสติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, อริยมรรคมีองค์ ๘, วิโมกข์ ๘, อภิภายตนะ ๘, กสิณายตนะ ๑๐, ณาน ๔

“ ดูก่อนอุทายี ธรรมห้าประการนี้แล เป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้วพึ่งเราอยู่”

มหาสกุลุทายิสูตร


วิกิ

ผลการค้นหา