เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆ กว้างๆ ในเบื้องต้น เห็นว่า ควรแสดงความหมายของปฏิจจสมุปบาทไว้โดยสรุปครั้งหนึ่งก่อน
คำสรุปของปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นว่าหลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด เป็นกระบวนการเกิดดับของทุกข์ หรือหลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด มีความมุ่งหมายเพื่อแสดงความเกิด-ดับของทุกข์เท่านั้นเอง คำว่าทุกข์ มีความสำคัญและมีบทบาทมากในพุทธธรรม แม้ในหลักธรรมสำคัญอื่นๆ เช่น ไตรลักษณ์และอริยสัจ ก็มีคำว่าทุกข์เป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงควรเข้าใจคำว่าทุกข์กันให้ชัดเจนก่อน ในตอนต้น เมื่อพูดถึงไตรลักษณ์ ได้แสดงความหมายของทุกข์ไว้สั้นๆ ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ในที่นี้ควรอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งเมื่อศึกษาคำว่า “ทุกข์” ในพุทธธรรม ให้สลัดความเข้าใจแคบๆ ในภาษาไทยทิ้งเสียก่อน และพิจารณาใหม่ตามความหมายในพุทธพจน์ ที่แบ่งทุกขตา (ภาวะแห่งทุกข์) เป็น ๓ อย่าง (ในพระไตรปิฎก แสดงไว้เพียงชื่อข้อธรรม ไม่ได้แสดงความหมาย) พร้อมด้วยคำอธิบายดังนี้
๑. ทุกขทุกขตา ทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ คือ ความทุกข์กายทุกข์ใจ ไม่สบาย เจ็บปวด เมื่อยขบโศกเศร้า เป็นต้น อย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญ ตรงตามชื่อ ตามสภาพ ที่เรียกกันว่า ทุกขเวทนา (ความทุกข์อย่างปกติที่เกิดขึ้น เมื่อประสบอนิฏฐารมณ์ หรือสิ่งกระทบกระทั่งบีบคั้น)
๒. วิปริณามทุกขตา ทุกข์เนื่องด้วยความผันแปร หรือทุกข์ที่แฝงอยู่ในความผันแปรของสุข คือความสุขที่กลายเป็นความทุกข์ หรือทำให้เกิดทุกข์ เพราะความแปรปรวนกลับกลายของมันเอง (ภาวะที่ตามปกติ ก็สบายดีเฉยอยู่ ไม่รู้สึกทุกข์อย่างใดเลย แต่ครั้นได้เสวยความสุขบางอย่าง พอสุขนั้นจางลงหรือหายไป ภาวะเดิมที่เคยรู้สึกสบายเป็นปกตินั้น กลับกลายเป็นทุกข์ไป เสมือนเป็นทุกข์แฝง ซึ่งจะแสดงตัวออกมาในทันทีที่ความสุขนั้นจืดจางหรือเลือนลางไป ยิ่งสุขมากขึ้นเท่าใด ก็กลับกลายเป็นทุกข์รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น เสมือนว่าทุกข์ที่แฝงขยายตัวตามขึ้นไป ถ้าความสุขนั้นไม่เกิดขึ้น ทุกข์เพราะสุขนั้นก็ไม่มี แม้เมื่อยังเสวยความสุขอยู่ พอนึกว่าสุขนั้นอาจจะต้องสิ้นสุดไป ก็ทุกข์ด้วยหวาดกังวล ใจหายไหวหวั่น ครั้นกาลเวลาแห่งความสุขผ่านไปแล้ว ก็หวนระลึกด้วยความละห้อยหาว่า เราเคยมีสุขอย่างนี้ๆ บัดนี้ สุขนั้นไม่มีเสียแล้วหนอ)
๓. สังขารทุกขตา ทุกข์ตามสภาพสังขาร คือ สภาวะของตัวสังขารเอง หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากเหตุปัจจัยได้แก่ ขันธ์ ๕ (รวมถึง มรรค ผล ซึ่งเป็นโลกุตรธรรม) เป็นทุกข์ คือ เป็นสภาพที่ถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยที่ขัดแย้ง มีการเกิดขึ้น และการสลายหรือดับไป ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่ในกระแสแห่งเหตุปัจจัย จึงเป็นสภาพซึ่งพร้อมที่จะก่อให้เกิดทุกข์ ความรู้สึกทุกข์หรือทุกขเวทนา แก่ผู้ไม่รู้เท่าทันต่อสภาพและกระแสของมัน และเข้าไปในกระแสอย่างซื่อๆ ด้วยความอยากความยึด (ตัณหาอุปาทาน) อย่างโง่ๆ (อวิชชา) ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิบัติต่อมันด้วยปัญญา
ทุกข์ข้อสำคัญ คือข้อที่ ๓ แสดงถึงสภาพของสังขารทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเอง แต่สภาพนี้จะก่อให้เกิดความหมายเป็นภาวะในทางจิตวิทยาขึ้นได้ ในแง่ที่ว่า มันไม่อาจให้ความพึงพอใจโดยสมบูรณ์และสามารถก่อให้เกิดทุกข์ได้เสมอ ๆ แก่ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทาน ความที่กล่าวมาตอนนี้ก็คือบอกให้รู้ว่า ทุกข์ข้อที่ ๓ นี้ กินความกว้างขวางครอบคลุมตรงตามความหมายของทุกข์ในไตรลักษณ์ (ที่ว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์) ซึ่งอาจจะโยงต่อไปเป็นทุกข์ในอริยสัจ โดยเป็นที่ก่อให้เกิดผลของอวิชชาตัณหาอุปาทาน ที่ทำให้ขันธ์ ๕ ในธรรมชาติ กลายเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ ของคนขึ้นมา
ถ้าจับเอาเวทนา ๓ (สุข ทุกข์ อุเบกขา) ซึ่งเป็นเรื่องของความสุข ความทุกข์อยู่แล้ว มาจัดเข้าในทุกขตา ๓ ข้อนี้ บางคนจะเข้าใจชัดขืนหรือง่ายขึ้น ดังจะเห็นว่า ทุกขเวทนานั้นเข้าตั้งแต่ข้อแรก คือเป็นทุกขทุกข์ สุขเวทนาเจอตั้งแต่ข้อ ๒ คือเป็นวิปริณามทุกข์ ส่วนอุเบกขาเวทนารอดมาได้สองข้อ แต่ก็มาจอดที่ข้อ ๓ คือเป็นสังขารทุกข์ หมายความว่า แม้แต่อุเบกขาก็คงอยู่เรื่อยไปไม่ได้ ต้องแปรปรวนผันแปร ขึ้นต่อเหตุปัจจัยของมัน ถ้าใครชอบใจติดใจอยากเพลินอยู่กับอุเบกขา ก็พ้นทุกข์ไปไม่ได้ เพราะมาเจอข้อที่ ๓ คือ สังขารทุกขตานี้ (อรรถกถาไขความว่า อุเบกขาเวทนา และบรรดาสังขารในไตรภูมิ เป็นสังขารทุกข์ เพราะถูกบีบคั้นด้วยการเกิดสลาย) เป็นอันว่า เวทนาทั้ง ๓ ไม่ว่าสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นทุกข์ในความหมายนี้ หมดทั้งนั้น
หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นอาการที่กระบวนการของธรรมชาติ เกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่คน เพราะอวิชชาตัณหาอุปาทาน ได้อย่างไร และในเวลาเดียวกัน กระบวนการของธรรมชาตินั้น ก็แสดงให้เห็นอาการที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อกันเป็นรูปกระแสซึ่งไหลวนในภาวะที่เป็นกระแสนี้ ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่างๆ ได้ คือ สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์ สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิม แม้แต่ขณะเดียว สิ่งทั้งหลาย ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือต้นกำเนิดเดิมสุด พูดอีกนัยหนึ่งว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายปรากฏรูปเป็นต่างๆ มีความเจริญความเสื่อมเป็นไปต่างๆ
แสดงถึงสภาวะที่แท้จริงของมันว่าเป็นกระแส ความเป็นกระแสแสดงถึงการประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่างๆ รูปกระแสปรากฏเพราะองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน กระแสดำเนินไปแปรรูปได้เพราะองค์ประกอบต่างๆ ไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียว องค์ประกอบทั้งหลายไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียวเพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน ตัวตนที่แท้จริงของมันไม่มี มันจึงขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ เหตุปัจจัยต่างๆ สัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยกัน จึงคุมรูปเป็นกระแสได้ ความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องอาศัยกัน แสดงถึงความไม่มีต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย พูดในทางกลับกันว่า ถ้าสิ่งทั้งหลายมีตัวตนแท้จริง ก็ต้องมีความคงที่ ถ้าสิ่งทั้งหลายคงที่แม้แต่ขณะเดียว ก็เป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ เมื่อเป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ ก็ประกอบกันขึ้นเป็นกระแสไม่ได้ เมื่อไม่มีกระแสแห่งปัจจัย ความเป็นไปในธรรมชาติก็มีไม่ได้ และถ้ามีตัวตนที่แท้จริงอย่างใดในท่ามกลางกระแส ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแท้จริงก็เป็นไปไม่ได้ กระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งทั้งหลายปรากฏโดยเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ดำเนินไปได้ ก็เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน และสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน
- ภาวะที่ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป เรียกว่า อนิจจตา
- ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยเกิดสลาย มีความกดดันขัดแย้งแฝงอยู่ ไม่สมบูรณ์ในตัว เรียกว่า ทุกขตา
- ภาวะที่ไร้อัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่ว่าข้างในหรือข้างนอกของมัน ที่จะเป็นตัวแกนตัวกุมสิงสู่อยู่ครองเป็นเจ้าของควบคุมสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ปรารถนาได้ เรียกว่า อนัตตตา
ปฏิจจสมุปบาทแสดงให้เห็นภาวะทั้ง ๓ นี้ในสิ่งทั้งหลาย และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนปรากฏรูปออกมาเป็นต่างๆ ในธรรมชาติ ภาวะและความเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ มีแก่สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรม คือ ธรรมนิยาม กฎความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล อุตุนิยาม กฎธรรมชาติฝ่ายอนินทรียวัตถุ พีชนิยาม กฎทั้งในโลกฝ่ายวัตถุ ทั้งแก่ชีวิตที่ประกอบพร้อมด้วยรูปธรรมนามธรรม โดยแสดงตัวออกเป็นกฎธรรมชาติต่างๆ ธรรมชาติฝ่ายอินทรียวัตถุรวมทั้งพันธุกรรม จิตนิยาม กฎการทำงานของจิต และกรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องความสุขความทุกข์ของชีวิต และเป็นเรื่องที่จริยธรรมจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรง
เรื่องที่ควรย้ำเป็นพิเศษ เพราะมักขัดกับความรู้สึกสามัญของคน คือ ควรย้ำว่า กรรมก็ดี กระบวนการแห่งเหตุผลอื่นๆ ทุกอย่างในธรรมชาติก็ดี เป็นไปได้ก็เพราะสิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง (เป็นอนิจจัง) และไม่มีตัวตนของมันเอง (เป็นอนัตตา) ถ้าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยง มีตัวตนจริงแล้ว กฎธรรมชาติทั้งมวลรวมทั้งหลักกรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น กฎเหล่านี้ยังยืนยันด้วยว่า ไม่มีมูลการณ์หรือต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น สิ่งทั้งหลาย ไม่มีตัวตนแท้จริง เพราะเกิดขึ้นด้วยอาศัยปัจจัยต่างๆ และมีอยู่อย่างสัมพันธ์กัน ตัวอย่างง่ายๆ หยาบๆ เช่น เตียงเกิดจากนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามรูปแบบที่กำหนด ตัวตนของเตียงที่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้นไม่มี เมื่อแยกส่วนประกอบต่างๆ หมดสิ้นแล้ว ก็ไม่มีเตียงอีกต่อไปเหลืออยู่แต่บัญญัติว่าเตียงที่เป็นความคิดในใจ แม้บัญญัตินั้นเองที่มีความหมายอย่างนั้น ก็ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง แต่ต้องสัมพันธ์เนื่องอาศัยกับความหมายอื่นๆ เช่น บัญญัติว่าเตียง ย่อมไม่มีความหมายของมันเอง โดยปราศจากความสัมพันธ์กับ การนอน แนวระนาบ ที่ตั้ง ช่องว่าง เป็นต้น
ทุกสรรพสิ่งเมื่อเกิดขึ้นก็ต่างบ่ายหน้าสู่ความดับ หามีสิ่งใดเป็นตัวตนที่คงที่ |
ในความรู้สึกสามัญของมนุษย์ ความรู้ในบัญญัติต่างๆ เกิดขึ้นโดยพ่วงเอาความเข้าใจในปัจจัยและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยเหมือนกัน แต่เมื่อเกิดความกำหนดขึ้นแล้ว ความเคยชินในการยึดติดด้วยตัณหา อุปาทาน ก็เข้าเกาะกับสิ่งในบัญญัตินั้น จนเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นอย่างหนาแน่น บังความสำนึกรู้และแยกสิ่งนั้นออกจากความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ทำให้ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น อหังการและมมังการจึงแสดงบทบาทได้เต็มที่ อนึ่ง ธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ย่อมไม่มีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้า หรือต้นกำเนิดเดิมสุด เมื่อหยิบยกสิ่งใดก็ตามขึ้นมาพิจารณา ถ้าสืบสาวหาเหตุต่อไปโดยไม่หยุด จะไม่สามารถค้นหาเหตุดั้งเดิมสุดของสิ่งนั้นได้ แต่ในความรู้สึกสามัญของมนุษย์ มักคิดถึงหรือคิดอยากให้มีเหตุต้นเค้าสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ขัดกับธรรมดาของธรรมชาติ แล้วกำหนดหมายสิ่งต่างๆ คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เรียกได้ว่าเป็นสัญญาวิปลาสอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เหตุเพราะความเคยชินของมนุษย์ เมื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งใดและคิดสืบสวนถึงมูลเหตุของสิ่งนั้นความคิดก็จะหยุดจับติดอยู่กับสิ่งที่พบว่าเป็นเหตุแต่อย่างเดียว ไม่สืบสาวต่อไปอีก ความเคยชินเช่นนี้ จึงทำให้ความคิดสามัญของมนุษย์ในเรื่องเหตุผล เป็นไปในรูปชะงักติดตัน และคิดในด้านที่ขัดกับกฎธรรมดา โดยคิดว่าต้องมีเหตุต้นเค้าของสิ่งทั้งหลายอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าคิดตามธรรมดาแล้ว ก็ต้องสืบสาวต่อไปว่า อะไรเป็นเหตุของเหตุต้นเค้านั้น ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะสิ่งทั้งหลายมีอยู่อย่างสัมพันธ์ เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยสืบต่อกัน จึงย่อมไม่มีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้าเป็นธรรมดา ควรตั้งคำถามกลับไปว่า ทำไมสิ่งทั้งหลายจะต้องมีเหตุต้นเค้าด้วยเล่า?
ความคิดในธรรมดาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความเคยชินของมนุษย์ และสัมพันธ์กับความคิดว่ามีเหตุต้นเค้า คือ ความคิดว่า เดิมทีเดียวนั้น ไม่มีอะไรอยู่เลย ความคิดนี้เกิดจากความเคยชินในการยึดถืออัตตาโดยกำหนดขึ้นมาในส่วนประกอบที่คุมเข้าเป็นรูปลักษณะแบบหนึ่ง แล้ววางความคิดหมายจำเพาะลงเป็นบัญญัติ ยึดเอาบัญญัตินั้นเป็นหลัก เกิดความรู้สึกคงที่ลงว่าเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเห็นไปว่าเดิมสิ่งนั้นไม่มีแล้วมามีขึ้น ความคิดแบบชะงักที่อติดอยู่กับสิ่งหนึ่งๆ จุดหนึ่งๆ แง่หนึ่งๆ ไม่แล่นเป็นสายเช่นนี้ เป็นความเคยชิน ในทางความคิดอย่างที่เรียกว่าติดสมมติ หรือไม่รู้เท่าทันสมมติ จึงกลายเป็นไม่รู้ตามที่มันเป็น เป็นเหตุให้ต้องคิดหาเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีอยู่เป็นนิรันดรขึ้นมาเป็นเหตุต้นเค้า เป็นที่มาแห่งการสำแดงรูปเป็นต่างๆ หรือเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งหลาย ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นต่างๆ เช่น สิ่งนิรันดรจะเป็นที่มาหรือสร้างสิ่งไม่เป็นนิรันดรได้อย่างไร ถ้าสิ่งเป็นนิรันดรเป็นที่มาของสิ่งไม่เป็นนิรันดร สิ่งไม่เป็นนิรันดร จะไม่เป็นนิรันดรได้อย่างไร เป็นต้น แท้จริงแล้ว ในกระบวนการอันเป็นกระแสแห่งความเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันนี้ ย่อมไม่มีปัญหาแบบบ่งตัวตนว่ามีอะไรหรือไม่มีอะไรอยู่เลย ไม่ว่าเดิมทีเดียว หรือบัดนี้ เว้นแต่จะพูดกันในขั้นสมมติสัจจะเท่านั้น ควรย้อนถามให้คิดใหม่ด้วยซ้ำไปว่า ทำไมจะต้องไม่มีก่อนมีด้วยเล่า
แม้ความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมีผู้สร้าง ซึ่งปรกติถือกันว่าเป็นความคิดธรรมดานั้น แท้จริงก็เป็นความคิดขัดธรรมดาเช่นกัน ความคิดเชื่อเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะมองดูตามข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งเห็นและเข้าใจกันอยู่สามัญว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ ศิลปวัตถุ ฯลฯ ขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะการสร้างของมนุษย์ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายทั้งโลกก็ต้องมีผู้สร้างด้วยเหมือนกัน ในกรณีนี้ มนุษย์พรางตนเอง ด้วยการแยกความหมายของการสร้าง ออกไปเสียจากความเป็นเหตุเป็นปัจจัยตามปรกติ จึงทำให้เกิดการตั้งต้นความคิดที่ผิด ความจริงนั้น การสร้างเป็นเพียงความหมายส่วนหนึ่งของการเป็นเหตุปัจจัย การที่มนุษย์สร้างสิ่งใด ก็คือการที่มนุษย์เข้าไปร่วมเป็นเหตุปัจจัยส่วนหนึ่ง ในกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้ผลรวมที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น แต่มีพิเศษจากกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยฝ่ายวัตถุล้วนๆ ก็เพียงที่ในกรณีนี้ มีปัจจัยฝ่ายนามธรรมที่ประกอบด้วยเจตนาเป็นลักษณะพิเศษเข้าไปร่วมบทบาทด้วย ดังเช่นที่เรียกว่าความต้องการ แต่ถึงอย่างนั้น มันก็มีฐานะเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งร่วมกับปัจจัยอื่นๆ และต้องดำเนินไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย จึงจะเกิดผลที่ต้องการ
ดังตัวอย่างเช่นว่า เมื่อมนุษย์จะสร้างตึก ก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นเหตุเป็นปัจจัยช่วยผลักดันเหตุปัจจัยต่างๆ ให้ดำเนินไปตามสายของมันจนเกิดผลสำเร็จ ถ้าการสร้างเป็นการบันดาลผลได้อย่างพิเศษกว่าการเป็นเหตุปัจจัย มนุษย์ก็เพียงอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แล้วคิดบันดาลให้เรือนหรือตึกเกิดขึ้นในที่ปรารถนาตามต้องการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ การสร้างจึงมิได้มีความหมายนอกเหนือไปจากการเป็นเหตุปัจจัยแบบหนึ่ง และในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันอยู่ตามวิถีของมันเช่นนี้ ปัญหาเรื่องผู้สร้าง ย่อมไม่อาจมีได้ในตอนใดๆ ของกระบวนการ อย่างไรก็ดี การพิจารณาเหตุผลในปัญหาเกี่ยวกับเหตุต้นเค้า และผู้สร้าง เป็นต้นนี้ ถือว่ามีคุณค่าน้อยในพุทธธรรม เพราะไม่มีความจำเป็นต่อการประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในชีวิตจริง แม้ว่าจะช่วยให้เกิดโลกทัศน์และชีวทัศน์กว้างๆ ในทางเหตุผล อย่างที่กล่าวข้างต้น ก็อาจข้ามไปเสียได้ ด้วยว่าการพิจารณาคุณค่าในทางจริยธรรมอย่างเดียว มีประโยชน์ที่มุ่งหมายคุมถึงอยู่แล้ว ในที่นี้จึงควรพุ่งความสนใจไปในด้านที่เกี่ยวกับชีวิตในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ
ดังได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า ชีวิตประกอบด้วยขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกนอกเหนือจากขันธ์ ๕ ไม่ว่าจะแฝงอยู่ในขันธ์ ๕ หรืออยู่ต่างหากจากขันธ์ ๕ ที่จะมาเป็นเจ้าของหรือควบคุมขันธ์ ๕ ให้ชีวิตดำเนินไป ในการพิจารณาเรื่องชีวิต เมื่อยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นเป็นตัวตั้งแล้ว ก็เป็นอันครบถ้วนเพียงพอ ขันธ์ ๕ เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตามกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท คือมีอยู่ในรูปเป็นกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยสืบต่อกัน ไม่มีส่วนใดในกระแสคงที่อยู่ได้ มีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายตัวไป พร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ ไปอีก ส่วนต่างๆ สัมพันธ์กัน เนื่องอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กัน จึงทำให้กระแสหรือกระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างมีเหตุผลและคุมเป็นรูปร่างต่อเนื่องกัน ในภาวะเช่นนี้ ขันธ์ ๕ หรือ ชีวิต จึงเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อยู่ในภาวะแห่ง
อนิจจตา ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดดับเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา
อนัตตตา ไม่มีส่วนใดที่มีที่เป็นตัวตนแท้จริง และไม่อาจยึดถือเอาเป็นตัว จะเข้ายึดครองเป็นเจ้าของ บังคับบัญชาให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนจริงจังไม่ได้
ทุกขตา ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัวอยู่ทุกขณะ และพร้อมที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ได้เสมอ ในกรณีที่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่รู้และยึดติดถือมั่น
กระบวนการแห่งขันธ์ ๕ หรือชีวิต ซึ่งดำเนินไปพร้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกขณะ โดยไม่มีส่วนที่เป็นตัวเป็นตนคงที่อยู่นี้ ย่อมเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์แก่กันล้วนๆ ตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน แต่ในกรณีของชีวิตมนุษย์ปุถุชน ความฝืนกระแสจะเกิดขึ้น โดยที่จะมีความหลงผิดเกิดขึ้น และยึดถือเอารูปปรากฏของกระแส หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของกระแส ว่าเป็นตัวตน และปรารถนาให้ตัวตนนั้นมีอยู่ หรือเป็นไปในรูปใดรูปหนึ่ง ในเวลาเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในกระแส ก็ขัดแย้งต่อความปรารถนา เป็นการบีบคั้นและเร่งเร้าให้เกิดความยึดอยากรุนแรงยิ่งขึ้น ความดิ้นรนหวังให้มีตัวตนในรูปใดรูปหนึ่งและให้ตัวตนนั้นเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ให้คงที่เที่ยงแท้ถาวรอยู่ในรูปที่ต้องการก็ดี ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อไม่เป็นไปตามที่ยึดอยาก ความบีบคั้นก็ยิ่งแสดงผลเป็นความผิดหวัง ความทุกข์ความคับแค้นรุนแรงขึ้นตามกัน พร้อมกันนั้น ความตระหนักรู้ในความจริงอย่างมัวๆ ว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน และตัวตนที่ตนยึดอยู่ อาจไม่มี หรืออาจสูญสลายไปเสีย ก็ยิ่งฝังความยึดอยากให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นพร้อมกับความกลัว ความประหวั่นพรั่นพรึง ก็เข้าแฝงตัวร่วมอยู่ด้วยอย่างลึกซึ้งและสลับซับซ้อน ภาวะจิตเหล่านี้ก็คือ อวิชชา ความไม่รู้ตามเป็นจริงหลงผิดว่ามีตัวตน ตัณหา ความอยากให้ตัวตนที่หลงว่ามีนั้นได้ เป็นหรือไม่เป็นต่างๆ อุปาทาน ความยึดถือผูกตัวตนในความหลงผิดนั้นไว้กับสิ่งต่างๆ กิเลสเหล่านี้แฝงลึกซับซ้อนอยู่ในจิตใจ และเป็นตัวคอยบังคับบัญชาพฤติกรรมทั้งหลายของบุคคลให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ตลอดจนเป็นตัวหล่อหลอมบุคลิกภาพ และมีบทบาทสำคัญในการชี้ชะตากรรมของบุคคลนั้นๆ กล่าวในวงกว้าง มันเป็นที่มาแห่งความทุกข์ของมนุษย์ปุถุชนทุกคน
โดยสรุป ข้อความที่กล่าวมานี้ แสดงการขัดแย้ง หรือปะทะกันระหว่างกระบวนการ ๒ ฝ่าย คือ
๑. กระบวนการแห่งชีวิต ที่เป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ อันเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอน คือ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ซึ่งแสดงอาการออกมาเป็น ชาติ ชรา มรณะ ทั้งในความหมายหยาบตื้น และลึกละเอียด
๒. ความไม่รู้จักกระบวนการแห่งชีวิต ตามความเป็นจริง หลงผิดว่าเป็นตัวตนและเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ จะให้มันเป็นไปตามที่ใจอยาก แฝงพร้อมด้วยความหวาดกลัวและความกระวนกระวาย
พูดให้สั้นลงไปอีกว่า เป็นการขัดแย้งกันระหว่างกฎธรรมชาติ กับความยึดถือตัวตนไว้ด้วยความหลงผิดหรือให้ตรงกว่านั้นว่า การเข้าไปสร้างตัวตนขวางกระแสแห่งกฎธรรมชาติไว้ ความอยากในใจของคน เมื่อกระแสความอยากในใจไม่มั่นคงหรือพ่ายพังไป ก็กลายเป็นความทุกข์ในรูปลักษณาการต่างๆ นี้คือชีวิตที่เรียกว่า เป็นอยู่ด้วยอวิชชา อยู่อย่างยึดมั่นถือมั่น อยู่อย่างเป็นทาส อยู่อย่างขัดแย้งฝืนต่อกฎธรรมชาติ หรืออยู่อย่างเป็นทุกข์ การมีชีวิตอยู่เช่นนี้ ถ้าพูดในทางจริยธรรม ตามสมมติสัจจะ ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นการมีตัวตนขึ้น ๒ ตน คือ ตัวกระแสแห่งชีวิตที่ดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แม้จะไม่มีตัวตนแท้จริงแต่กำหนดแยกออกเป็นกระแสหรือกระบวนการอันหนึ่งต่างหากจากกระแสหรือกระบวนการอื่นๆ เรียกโดยสมมติสัจจะว่าเป็นตน และใช้ประโยชน์ในทางจริยธรรมได้ อย่างหนึ่ง กับตัวตนจอมปลอม ที่ถูกคิดสร้างขึ้นยึดถือเอาไว้อย่างมั่นคงด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดังกล่าวแล้ว อย่างหนึ่งตัวตนอย่างแรกที่กำหนดเรียกเพื่อความสะดวกในขั้นสมมติสัจจะ โดยรู้สภาพตามที่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นด้วยความหลงผิด แต่ตัวตนอย่างหลังที่สร้างขึ้นซ้อนไว้ในตัวตนอย่างแรก ย่อมเป็นตัวตนแห่งความยึดมั่นถือมั่น คอยรับกระทบกระเทือนจากตัวตนอย่างแรก จึงเป็นที่มาของความทุกข์
การมีชีวิตอยู่อย่างที่กล่าวข้างต้น นอกจากเป็นการแฝงเอาความกลัวและความกระวนกระวายไว้ในจิตใจส่วนลึกที่สุด เพื่อไว้บังคับบัญชาพฤติกรรมของตนเอง ทำให้กระบวนการชีวิตไม่เป็นตัวของมันเอง หรือทำตนเองให้ตกเป็นทาสไปโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังแสดงผลร้ายออกมาอีกเป็นอันมาก คือ ทำให้มีความอยากได้อย่างเห็นแก่ตัว ความแส่หาสิ่งต่างๆ ที่จะสนองความต้องการของตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และยึดอยากหวงแหนไว้กับตน โดยไม่คำนึงถึงผู้ใดอื่น (กามุปาทาน) ทีนี้ เพื่อให้ความอยากความต้องการนั้นมั่นคง มีที่อ้างอิง ก็ทำให้เกาะเหนี่ยวเอาความคิดเห็น ทิฏฐิ ทฤษฎีหรือทัศนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สนองหรือเข้ากับความอยาก เอามาหรือตั้งขึ้นมา ตีความเทิดค่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตนหรือเป็นของตน แล้วกอดรัดยึดมั่นทะนุถนอมความคิดเห็น ทิฏฐิ ทฤษฎีหรือทัศนะนั้นๆ ไว้เหมือนอย่างป้องกันรักษาตัวเอง เป็นการสร้างกำแพงขึ้นมากั้นบังตนเองไม่ให้ติดต่อกับความจริง หรือถึงกับหลบตัวปลีกตัวจากความจริง ทำให้เกิดความกระด้างที่อๆ ไม่คล่องตัวในการคิดเหตุผลและใช้วิจารณญาณ ตลอดจนเกิดความถือร้น การทนไม่ได้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น (ทิฏฐปาทาน) เมื่อคิดเห็น ยึดมั่น เชื่อถือ มีทิฏฐิว่าอะไรอย่างไรดี อะไรควรเอา ควรได้ ควรถึง และจะลุจะถึงได้อย่างไร ก็ประพฤติปฏิบัติ ดำเนินชีวิต ตลอดจนถือลัทธิธรรมเนียมพิธีต่างๆ ที่บอกที่ทำตามๆ กันไป แม้โดยงมงายไร้เหตุผล ทำไปเพียงด้วยความยึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติแบบแผนลัทธพิธีเหล่านั้น เพราะรู้เห็นความสัมพันธ์ในทางเหตุผลของสิ่งเหล่านั้นเพียงรางๆ มัวๆ ไม่มีความรู้เข้าใจที่จะมองเห็นความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยหรือความเป็นเหตุเป็นผลแน่ชัด
โดยยึดมั่นว่า ด้วยการบำเพ็ญพรตถือปฏิบัติอย่างนั้น จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ จะบรรลุจุดหมาย หรือตายแล้วเหมือนอย่างพวกถือพรตบำเพ็ญตบะ เอาเป็นเอาตายกับข้อปฏิบัติจุกจิกหยุมหยิมที่ทำต่อตามกันมาจะไปเกิดในสวรรค์ เป็นต้น แล้วก็ดูถูกดูหมิ่นขัดแย้งกันกับคนอื่นพวกอื่น เพราะลัทธิธรรมเนียมข้อยึดถือปฏิบัติเหล่านั้น (สีลัพพตุปาทาน) ในเวลาเดียวกัน ลึกลงไป ในที่สุด ก็คือความห่วงใยในความมีอยู่คงอยู่ของตัวตน ที่สร้างขึ้นมายึดมั่นถือมั่นไว้ อันเป็นตัวตนเลื่อนลอย ที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนเป็นอะไรแน่ ก็เลยจะต้องคอยยึดคอยถือ คอยแบกเอาไว้คอยรักษาทะนุถนอมป้องกัน และด้วยความกลัวว่าจะต้องสูญเสียตัวตนนั้นไป ก็ไขว่คว้ายึดฉวยเอาอะไรๆ พอจะหวังได้เอาไว้ยืนยันตัว แม้จะอยู่ในรูปที่รางๆ มืดมัวก็ตาม พร้อมกันนั้น ก็กลายเป็นการจำกัดตนเองให้แคบ ให้ไม่เป็นอิสระ และพลอยถูกกระทบกระแทกไปกับตัวตนที่สร้างขึ้นยึดถือแบกไว้นั้นเองด้วย (อัตตวาทุปาทาน) โดยนัยนี้ ความขัดแย้ง บีบคั้น และความทุกข์ จึงมิได้มีอยู่เฉพาะในตัวบุคคลผู้เดียวเท่านั้น แต่ยังขยายออกไปเป็นความขัดแย้ง บีบคั้น และความทุกข์แก่คนอื่นๆ และระหว่างกันในสังคมด้วย กล่าวได้ว่า ภาวะเช่นนี้เป็นที่มาแห่งความทุกข์ความเดือดร้อนและปัญหาทั้งปวงของสังคม ในฝ่ายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
หลักปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ แสดงการเกิดขึ้นของชีวิตแห่งความทุกข์ หรือการเกิดขึ้นแห่งการ (มีชีวิตอยู่อย่าง) มีตัวตน ซึ่งจะต้องมีทุกข์เป็นผลลัพธ์แน่นอน เมื่อทำลายวงจรในปฏิจจสมุปบาทลง ก็เท่ากับทำลายชีวิตแห่งความทุกข์ หรือทำลายความทุกข์ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจากการ (มีชีวิตอยู่อย่าง) มีตัวตน นี่ก็คือภาวะที่ตรงกันข้าม อันได้แก่ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา อยู่อย่างไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน อยู่อย่างอิสระ อยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ หรืออยู่อย่างไม่มีทุกข์ การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หมายถึง การอยู่อย่างรู้เท่าทันสภาวะและรู้จักถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติ การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ เป็นอย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ การอยู่ประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นการอยู่อย่างอิสระ การอยู่อย่างเป็นอิสระ ก็คือการไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของตัณหาอุปาทาน หรือการอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น การอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็คือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หรือการรู้และเข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามวิถีทางแห่งเหตุปัจจัย
มีข้อควรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอีกเล็กน้อย ตามหลักพุทธธรรม ย่อมไม่มีสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ หรือนอกเหนือธรรมชาติ ในแง่ที่ว่ามีอิทธิฤทธิ์บันดาลความเป็นไปในธรรมชาติได้ หรือแม้ในแง่ที่ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับความเป็นไปในธรรมชาติ สิ่งใดอยู่นอกเหนือธรรมชาติ สิ่งนั้นย่อมไม่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ คือย่อมพ้นจากธรรมชาติสิ้นเชิง สิ่งใดเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งนั้นไม่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ อนึ่ง กระบวนการความเป็นไปทั้งปวงในธรรมชาติย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีความเป็นไปลอยๆ และไม่มีการบันดาลให้เกิดขึ้นได้โดยปราศจากเหตุปัจจัย ความเป็นไปที่ประหลาดน่าเหลือเชื่อ ดูเป็นปัจจัยในเรื่องนั้นสลับซับซ้อนและยังไม่ถูกรู้เท่าทัน เรื่องนั้นก็กลายเป็นเรื่องประหลาดอัศจรรย์ แต่ความอิทธิปาฏิหาริย์ หรืออัศจรรย์ใดๆ ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่เหตุประหลาดอัศจรรย์จะหมดไปทันทีเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆ ในเรื่องนั้นถูกรู้เท่าทันหมดสิ้น ดังนั้น คำว่าสิ่งเหนือหรือนอกเหนือธรรมชาติตามที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นเพียงสำนวนภาษาเท่านั้น ไม่มีอยู่จริง
ในเรื่องมนุษย์กับธรรมชาติ ก็เช่นกัน การที่แยกออกมาเป็นคำต่างหากกันว่า มนุษย์กับธรรมชาติ ก็ดี มนุษย์สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็ดี เป็นเพียงสำนวนภาษา แต่ตามเป็นจริงแล้ว มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในธรรมชาติ ที่พูดกันว่ามนุษย์ควบคุมบังคับธรรมชาติได้ ก็เป็นเพียงการที่มนุษย์ร่วมเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งและผลักดันปัจจัยอื่นๆ ในธรรมชาติให้ต่อเนื่องสืบทอดกันไป จนบังเกิดผลอย่างนั้นๆ ขึ้น เป็นแต่ในกรณีของมนุษย์นี้ มีปัจจัยฝ่ายจิต อันประกอบด้วยเจตนา เข้าร่วมในกระบวนการด้วย จึงมีการกระทำและผลการกระทำอย่างที่เรียกว่าสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยล้วนๆ ทั้งสิ้น มนุษย์ไม่สามารถสร้าง ในความหมายที่ว่าให้มีให้เป็นขึ้นลอยๆ โดยปราศจากการเป็นเหตุปัจจัยกันตามวิถีทางของมัน ที่ว่ามนุษย์บังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็คือการที่มนุษย์รู้เหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะเป็นกระบวนการให้เกิดผลที่ต้องการแล้ว จึงเข้าร่วมเป็นปัจจัยผลักดันปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น ให้ต่อเนื่องสืบทอดกันจนเกิดผลที่ต้องการ ขั้นตอนในเรื่องนี้มี ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ คือรู้ จากนั้นจึงมีอย่างหรือขั้นที่ ๒ คืออื่นๆ ต่อๆ กันไปให้แก่ปัจจัย
ใน ๒ อย่างนี้ อย่างที่สำคัญและจำเป็นก่อนคือ ต้องรู้ ซึ่งหมายถึงปัญญา เมื่อรู้หรือมีปัญญาแล้ว ก็เข้าร่วมในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อย่างที่เรียกว่าจัดการให้เป็นไปตามประสงค์ได้ การเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้หรือปัญญาเท่านั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ หรือจะเรียกตามสำนวนภาษาว่า สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้ และเรื่องนี้มีหลักการอย่างเดียวกันทั้งในกระบวนการฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม หรือทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ ฉะนั้น ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ เป็นอย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงของการเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันตามกฎธรรมดานี่เอง จะพูดเป็นสำนวนภาษาว่าสามารถบังคับควบคุมธรรมชาติฝ่ายนามธรรมได้ ควบคุมจิตใจของตนได้ ควบคุมตนเองได้ ก็ถูกต้องทั้งสิ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทั้งในฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ที่จะช่วยให้มนุษย์ถือเอาประโยชน์ได้ทั้งจากกระบวนการฝ่ายจิตและกระบวนการฝ่ายวัตถุ ชีวิตแห่งปัญญา จึงมองลักษณะได้ ๒ ด้าน คือ
ด้านภายใน มีลักษณะสงบเยือกเย็น ปลอดโปร่ง ผ่องใส ด้วยความรู้เท่าทัน เป็นอิสระ เมื่อเสวยสุข ก็ไม่หลงระเริงหรือสยบมัวเมา และไม่เหลิงละเลิงลืมตัว เมื่อขาดพลาด หรือพรากจากเหยื่อล่อสิ่งปรนหรือต่างๆ ก็มั่นคง ปลอดโปร่งอยู่ได้ ไม่หวั่นไหว ไม่หดหู ซึมเศร้า สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก ไม่ปล่อยตัวฝากสุขทุกข์ของตนไว้ในกำมือของอามิสภายนอกที่จะตัดสินให้เป็นไป
ด้านภายนอก มีลักษณะคล่องตัว ว่องไว พร้อมอยู่เสมอที่จะเข้าเกี่ยวข้องและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่มันควรจะเป็น โดยเหตุผลบริสุทธิ์ ไม่มีเงื่อนปม หรือความยึดติดภายใน ที่จะมาเป็นนิวรณ์เข้าขัดขวาง กั้นบัง ถ่วง ทำให้เขว ลำเอียง หรือทำให้พร่ามัว
มีพุทธพจน์บางตอนที่แสดงให้เห็นลักษณะบางอย่าง ที่แตกต่างกันระหว่างชีวิตแห่งความยึดมั่นถือมั่นกับชีวิตแห่งปัญญา เช่น “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนา (เฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข) บ้าง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่างระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้?”
“ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมเศร้าโศกครครวญ ไห้ รำพัน คือกร้องไห้ หลงใหลในเฟือนไป เขาย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยิงด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง ๒ ดอก คือ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทางกาย และทางใจ อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ เขาย่อมเกิดความขัดใจ เมื่อเขามีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาก็ย่อมนอนเนื่อง เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะอะไร? เพราะปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกไปจากกามสุข (สุขในการสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ ตัวอย่างในทางจริยธรรมขั้นต้น เช่น หันเข้าหาการพนัน การดื่มสุรา และสิ่งเริงรมย์ต่างๆ) และเมื่อเขาระเริงอยู่กับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดีข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเขาไม่รู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา (อุเบกขาเวทนา) ย่อมนอนเนื่อง ถ้าได้เสวยสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เรียกว่าปุถุชน ผู้มิได้เรียนรู้ ผู้ประกอบ ด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่าผู้ประกอบด้วยทุกข์”
“ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ตีอกร้องไห้ ไม่หลงใหลฝั้นเฟือน เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วยิ่งด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ฉันใด อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น เมื่อไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนเนื่อง เธอถูกทุกขเวทนากระทบ ก็ไม่หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะอะไร? เพราะอริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุขไปอีก เมื่อเธอไม่ระเริงกับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดี ข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเธอรู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่นอนเนื่อง ถ้าเสวยสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้ ผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์”
“ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้”
ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรกำจัดแก้ไข เมื่อกำจัดแก้ไขแล้วจะได้อะไร อะไรควรทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะได้อะไร ส่วนที่ว่า ในการกำจัดแก้ไขและทำให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องของจริยธรรม ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า