"เครื่องจองจำใด เกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้ และ เกิดแต่หญ้าปล้อง ผู้มีปัญญาทั้งหลาย หากล่าวเครื่องจองจำนั้น ว่าเป็นของมั่นคงไม่ ความกำหนัดใดของชนทั้งหลายผู้กำหนัด ยินดียิ่งนัก ในแก้วมณีและตุ้มหูทั้งหลาย และความเยื่อใยในบุตรแลในภรรยาทั้งหลายใด นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวความกำหนัดและความเยื่อใยนั่นว่า เป็นเครื่องจองจำอันมั่นคง มีปกติเหนี่ยวลง อันหย่อนเปลื้องได้โดยยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูก แม้นั่นแล้ว เป็นผู้ไม่มีไยดี ละกามสุขแล้วบวช"
🔅ว่าด้วยเรื่องของกาม
เกริ่นนำ แม้เทวดาก็ยังลุ่มหลงในกาม เมื่อจุติจากภพสวรรค์นั้นแล้วโดยเกือบทั้งหมดจะไปเกิดต่อในอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน (อามกธัญญเปยยาล) มีเทวดาเพียงจำนวนน้อยนิดเทียบเท่าฝุ่นในปลายเล็บจากเทวดาทั้งหมดที่มีจำนวนเทียบเท่าผืนปฐพีที่จะได้กลับมาเกิดในสุขคติภูมิคือ มนุษย์ เทวดา พรหม อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นท่านสาธุชนไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมจึงมีเทวดาที่ยังมีมิจฉาทิฎฐิอยู่
ในสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ได้อบรมสั่งสอนเหล่าภิกษุว่า ในอดีตเคยมีเรื่องนี้มาก่อน มีเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ลุ่มหลงด้วยกามคุณรายล้อมล้อมด้วยหมู่นางอัปสรมีวิมานอยู่ในสวนนันทวันได้กล่าวมิจฉาคาถาขึ้นว่า "เทวดาเหล่าใดไม่เคยเห็นสวนนันทวันที่มีนางอัปสรคอยปรนเปรอ เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักความสุข"
เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็มีเทวดาอีกองค์หนึ่งได้ย้อนกล่าวกับเทวดานั้นด้วยคาถาว่า "ดูกรท่านผู้เขลา ท่านย่อมไม่รู้จักคำของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นสุข ฯ"
ระหว่างที่พระพุทธองค์ กำลังแสดงธรรมแก่เหล่าภิกษุสาวกให้เห็นความพอใจที่จะส้องเสพกามของเทวดาในชั้นดาวดึงส์ ก็มีเทวดาตนหนึ่งได้กล่าวคาถานี้แทรกขึ้นมาในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
"คนมีบุตร ย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย บุตรบางพวกทำกสิกรรมแล้ว ย่อมยังยุ้งข้าวเปลือกให้เต็ม บางพวกทำการค้าแล้วย่อมนำเงินและทองมา บางพวกบำรุงพระราชา (รับราชการ) ย่อมได้วัตถุทั้งหลายมียานพาหนะ คามนิคมเป็นต้น มารดาหรือบิดาเมื่อเสวยสิริอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งบุตรเหล่านั้น ย่อมยินดี อีกอย่างหนึ่ง มารดาหรือบิดาเห็นบุตรทั้งหลายผู้อันบุคคลตกแต่งประดับประดา ทำให้เกิดความยินดี เสวยอยู่ซึ่งสมบัติในวันรื่นเริงเป็นต้น ย่อมยินดีด้วยเหตุนั้น (เทวดาหมายเอาความเป็นไปอย่างนั้นว่ามีความสุข จึงกล่าวว่าคนมีบุตรย่อมยินดี เพราะบุตรทั้งหลายดังนี้)
คนมีโค ก็ย่อมยินดีเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรฉันใด แม้คนมีโคก็ฉันนั้น คนมีโคเห็นมณฑลแห่งโค (สนามโค) สมบูรณ์แล้ว เพราะอาศัยโคทั้งหลาย เสวยสมบัติ คือเบญจโครส (ผลผลิตจากนมโค ๕ อย่าง ได้แก่นมสด นมส้ม เปรียง เนยใส เนยข้น) จึงชื่อว่าย่อมยินดี เพราะโคทั้งหลาย
เพราะอุปธิเป็นความดีของคน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นจะไม่มียินดีเลย ฯ ความว่า บุคคลใดไม่มีอุปธิ คือเว้นจากการถึงพร้อมด้วยกามคุณ เป็นผู้ขัดสน มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มหาได้โดยยาก บุคคลนั้นแลย่อมยินดีไม่ได้ ถามว่า มนุษย์เพียงดังเปรต มนุษย์เพียงดังสัตว์นรก ไม่มีอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าอาภร ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีวิหารที่อยู่ เห็นปานนี้ จักมีความยินดีได้อย่างไร"
>>ขยายคำว่า อุปธิ
อุปธิ แปลว่า สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส ในบทว่า อุปธีหิ นรสฺส นนฺทนา นี้ได้แก่ อุปธิ ๔ อย่าง คือ
๑. กามูปธิ อุปธิคือกามกิเลส เป็นเหตุให้สร้างกรรม
๒. ขันธูปธิ อุปธิคือ ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ เป็นเหตุให้สร้างกรรม
๓. กิเลสูปธิ อุปธิคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เป็นเหตุให้สร้างกรรม
๔. อภิสังขารูปธิ อุปธิคือความปรุงแต่งกิเลสต่างๆทางความคิด เป็นเหตุให้สร้างกรรม
จริงอยู่ แม้กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่าอุปธิ เพราะความพอใจในกามคุณ ๕ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส โดยอาศัยกามเป็นที่ตั้งของความสุข กามเป็นที่ตั้งแห่งความโสมนัส ความพอใจเหล่านี้ แต่ในบทนี้เราหมายเอาขยายความเฉพาะอุปธิ คือ กามูปธิ ตามที่เทวดาปุจฉา พูดอย่างเข้าใจง่ายที่สุด ก็คือเทวดาถามหาความสุขจากปัจจัยภายนอกที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส ว่าสิ่งนั้นแหล่ะด้วยอาศัยวัตถุกามภายนอกมากระทบ จึงจะนำมาซึ่งความสุขแก่ผู้ที่ยังมีอุปธิ (กามกิเลส)
พระผู้มีพระภาคเมื่อได้ยินเทวดากล่าวคาถาแบบนั้น ทรงพระดำริว่า เทวดานี้ย่อมทำเรื่องแห่งความเศร้าโศกให้เป็นเรื่องน่ายินดี เราจักแสดงความที่สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องแห่งความเศร้าโศกแก่เธอดังนี้ เมื่อจะทำลายวาทะของเทวดานั้น ด้วยอุปมานั้นนั่นเอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
"บุคคลมีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลาย
บุคคลมีโค ย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น
เพราะอุปธิเป็นความเศร้าโศกของคน
บุคคลใดไม่มีอุปธิ (กามกิเลส) บุคคลนั้นไม่เศร้าโศกเลย ฯ"
😔ว่าด้วยกองทุกข์ใหญ่ เรื่องอัญญเดียรถีย์
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้งนั้นในเวลาเช้าเหล่าภิกษุสาวกกำลังเตรียมตัวออกบิณฑบาตร แต่ก็เห็นว่ายังเช้าเกินไป* (จากการที่ข้าพเจ้าได้เดินทางไปดินแดนพุทธภูมิ จะเห็นว่าคนอินเดียไม่นิยมนอนตื่นเช้าอย่างคนไทย มื้อเช้าเขามักเริ่มทานอาหารกันในเวลา ๙-๑๐ น. และมื้อเย็นไปทานกันในเวลา ๑๙-๒๐ น. ในเวลาเช้าตรู่ข้าพเจ้าเคยออกจากพุทธคยาเดินหาการัมจายดื่มแก้หนาวก็หาไม่ได้สักแก้ว ไม่มีร้านค้าไหนเปิดหรือใครตื่นนอนแต่เช้าเพื่อขายของอย่างคนไทยเลย ต้องรอจนสายโด่ง ๙ โมง ๑๐ โมง นั่นแหล่ะ ถึงจะเริ่มมีคนมาขาย ในพระสูตรนี้ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าภิกษุสมัยพุทธกาลคงไม่รีบร้อนออกบิณฑบาตรกันเหมือนภิกษุไทยเราในสมัยนี้ โดยธรรมเนียมปฎิบัติของไทยเราก็นิยมเริ่มออกบิณฑบาตรเมื่ออาทิตย์ทอแสงจนเห็นลายมือตนเองได้ชัด และมักจะกลับเข้าวัดขบฉันมื้อเช้ากันก่อน ๘ นาฬิกา) เมื่อเหล่าพระภิกษุที่อาศัยในพระวิหารเห็นว่าออกบิณฑบาตรยามนี้คงยังไม่มีใครตื่นนอนแน่ จึงคิดกันว่า งั้นพวกเราไปนั่งรอเวลาที่อารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์กันดีกว่า (ให้นึกถึงพื้นที่สาธารณะประโยชน์ขนาด ๘๐ ไร่ ที่มีวิหารมีอารามอยู่ในพื้นที่นั้นอยู่มากมาย)
เมื่อเหล่าภิกษุได้เข้าไปนั่งในอารามของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ก็ทำการทักทายปราศัยกันตามธรรมเนียม ระหว่างที่กำลังนั่งรอ พวกปริพาชกก็กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า "ดูกะระท่านผู้มีอายุทั้งหลายพระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ (พึงทราบว่าแม้นพวกนักบวชนอกศาสนาเขาก็ทำณานได้ถึงสมาบัติ ๘ เขาก็รู้จักกาม รูป เวทนา เช่นเดียวกัน) ดูกะระท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ อะไรเล่าที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างสำนักเรากับสำนักของพระสมณโคดม? "
ภิกษุเหล่าเมื่อถูกปริพาชกซักถาม ก็นั่งนิ่งไม่รู้จะโต้ตอบหรือคัดค้านวาทะจาบจ้วงนั้นอย่างไร เมื่อถึงเวลาเหล่าภิกษุก็ถือบาตรเดินบิณฑบาตรในเมืองสาวัตถี ระหว่างนั้นก็ได้แต่ครุ่นคิดว่าเมื่อบิณฑบาตรเสร็จแล้วจะเอาคำถามนี้แหล่ะไปถามต่อพระบรมศาสดา ครั้นในเวลาปัจฉาภัตแล้ว เหล่าภิกษุจึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วทูลเล่าเรื่องถึงที่มาที่ไปและคำถามของปริพาชกให้พระพุทธองค์ฟัง
พระผู้มีพระภาคเมื่อได้สดับคำถามของปริพาชกแล้วจึงทรงตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะตั้งคำถามมาอย่างนี้อย่างนี้ พวกเธอพึงกล่าวตอบอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็อะไรเล่าเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย? อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย? อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ถูกพวกเธอถามอย่างนี้ จักไม่พอใจเลย และจักต้องคับแค้นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะข้อนั้นมิใช่วิสัย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นผู้ที่จะพึงยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ได้ในโลกนี้ รวมถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ เป็นไปกับด้วยสมณะ และพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ จักไม่มีใครพยากรณ์ตอบปัญหาเหล่านี้ได้ เว้นไว้แต่ตถาคต หรือสาวกของตถาคต หรือมิฉะนั้นก็ฟังจากนี้เท่านั้นจึงจะพยากรณ์ตอบได้"
(ตรงนี้ข้าพเจ้าขอให้ทุกท่านทดลองตอบคำถามปริพาชกด้วยปัญญาของท่านเองก่อน หากท่านตอบได้ถูกต้องและตรง ท่านก็มั่นใจได้เลยว่าท่านเป็นสาวกของพระพุทธองค์อย่างเต็มภาคภูมิ หากท่านตอบไม่ได้ หรือตอบแบบเดาสุ่ม ท่านก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะคำตอบนี้ไม่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ เทวดา พรหม ที่ไม่ได้เรียนรู้คำสอนของพระพุทธองค์จะพึงตอบได้ แต่ท่านจะได้ฟังคำเฉลยจากพุทธพจน์ดังต่อไปนี้)
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็น 👉คุณของกามทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุทั้งหลายกามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ
๑. รูปที่พึงเห็นด้วยตา น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒. เสียงที่พึงได้ยินด้วยหู น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๓. กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๔. รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๕. สัมผัสที่พึงรู้ด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการเหล่านี้แล ความสุข ความโสมนัสใดเล่า อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็น 👉โทษของกามทั้งหลาย? (ข้อนี้ใช้ร่วม ขยายคำตอบในวาทะของเทวดาที่กล่าวว่า คนมีบุตร ย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย และ อุปธิเป็นความดีของคน )
ดูกรภิกษุทั้งกุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยความขยันประกอบศิลปใด คือ ด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยการคำนวณก็ดี ด้วยการนับจำนวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยการยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำต่อความหนาวต้องตรากตรำต่อความร้อน งุ่นง่านอยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลืบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ต้องตายด้วยความหิวระหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น" (ตรงนี้แยกกันให้ชัดก่อนระหว่างคุณกับโทษ คุณของกามก็มี ซึ่งก็มีผลมาจากกุศลผลบุญ ทำให้พบเห็นสัมผัสได้ยิน ฯ สิ่งที่เจริญตาเจริญใจ ส่วนโทษของกาม คือทำให้ยังต้องเวียนว่ายในสังสารวัฎ เกิดมาแล้วก็ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพมีความเหน็ดเหนื่อย มีทุกข์มาก ทำไปก็ด้วยความปารถนาบำรุงบำเรอทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เมื่อตายไปก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยใหญ่ไม่สิ้นสุด)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยันทำมาหากินพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะที่เป็นทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นก็ไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่าความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยันทำมาหากินพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะที่เป็นทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นสำเร็จผลกับเขา เขาก็ยังต้องเสวยทุกข์โทมนัส ที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทำอย่างไรพระราชาทั้งหลายไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ (สมัยนี้ก็เทียบได้กับการเสียภาษี) ทำอย่างไรจะไม่โดนปล้น ทรัพย์สินจะไม่วอดวายชิบหายเพราะไฟไหม้ น้ำท่วม ทายาทอัปรีย์จะไม่เอาไปผลาญจนหมด เมื่อกุลบุตรนั้นคอยรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี พวกโจรปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์นำไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่าสิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกาม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพวกพระราชา แม้พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ แม้คฤหบดีก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับมารดา แม้บิดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย แม้พี่ชายก็วิวาทกับน้องสาว แม้น้องสาวก็วิวาทกับพี่ชาย แม้สหายก็วิวาทกับสหาย ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะแก่งแย่ง วิวาทกันในที่นั้นๆ ทำร้ายซึ่งกันและกัน ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาตราบ้าง ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น" (แม้ปัจจุบันเราก็ยังเห็นตามข่าวอยู่ทั่วไป พี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ ลูกฆ่าพ่อ ลูกฆ่าแม่ สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี ฆ่ากันก็เพราะกาม มีรสชาติของกามที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นตัวผลักดันการกระทำต่างๆที่เป็นอกุศลกรรม)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างถือดาบและโล่ห์สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ข้าง เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลาย ถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง ฝูงชนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศรแทงเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะเสียบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนถือดาบและโล่ห์สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อลูกศรถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัดแกว่งบ้าง ชนเหล่านั้นต่างถูกลูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกรดด้วยโคมัยร้อนบ้าง ถูกสับด้วยคราดบ้าง ถูกตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนตัดที่ต่อบ้าง ปล้นอย่างกวาดล้างบ้าง กระทำการปล้น เรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในหนทางบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลาย จับคนนั้นๆ ได้แล้ว ให้กระทำกรรมกรณ์ต่างๆ เฆี่ยนด้วยแซ่บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ค้อนบ้าง ตัดมือเสียบ้าง ตัดเท้าเสียบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าเสียบ้าง ตัดหูเสียบ้าง ตัดจมูกเสียบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกเสียบ้าง กระทำกรรมกรณ์ ชื่อพิลังคถาลิก (วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะ) บ้าง ชื่อสังขมุณฑกะ (ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์) บ้าง ชื่อราหูมุข (เอาไฟยัดปาก) บ้าง ชื่อโชติมาลิก (ทำบ่วงไฟเป็นพวงมาลัยคล้องคอ) บ้าง ชื่อหัตถปัชโชติก (สุมไฟให้ลุกไหม้อยู่บนมือ) บ้าง ชื่อเอรกวัตติก (ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้เดินลากเหยียบหนังตัวเอง) บ้าง ชื่อจีรกวาสิก (ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว) บ้าง ชื่อเอเณยยกะ (สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้ง ๕ ทิศแล้วเอาไฟเผา) บ้าง ชื่อพลิสมังสิก (ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อเอ็นออกมา) บ้าง ชื่อกหาปณกะ (เฉือนเนื้อออกเป็นแว่นๆ ขนาดเท่าเหรียญกษาปณ์) บ้าง ชื่อขาราปฏิจฉก (เฉือนหนัง เนื้อ เอ็น ออกเหลือไว้แต่กระดูก) บ้าง ชื่อปลิฆปริวัตติก (ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันแล้วหมุนหลาวไปเรื่อยๆ) บ้าง ชื่อปลาลปีฐก (ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้) รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง เสียบที่หลาวทั้งเป็นบ้าง ใช้ดาบตัดศีรษะเสียบ้าง คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้ามีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น (ความโหดร้ายของมนุษย์นั้น แม้ในยุคปัจจุบันที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ข้าพเจ้าก็ยังเห็นความโหดร้ายของมนุษย์ที่กระทำต่อกันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในยุคอดีต และดูเหมือนจะมากขึ้นเสียด้วยเพียงแต่คนส่วนมากไม่ค่อยสนใจที่จะรับรู้มัน คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะรับแต่ความรู้สึกเพียงด้านเดียวที่ทำให้ตนเอง ครอบครัว คนรัก รู้สึกอบอุ่นสบายใจ เท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริงนั้น ความโหดเหี้ยมของมนุษย์ต่างก็ทวีคูณขึ้นตามกระแสของกาม ลองมองให้แยบคายแล้วมนัสสิการมันดูจะเห็นว่ายิ่งกามเฟื่องฟูจิตใจของมนุษย์ก็ยิ่งตกต่ำและทุกข์ก็ยิ่งถาถมความเป็นทุกข์ให้มากยิ่งขึ้นไปในทุกๆสังคม ทุกชนชั้น)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้นครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ ในสัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการ 👉ถ่ายถอนของกามทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกำจัดฉันทราคะ(ความพอใจที่ได้ส้องเสพ)ในกามทั้งหลาย การละฉันทราคะในกามทั้งหลายใด นี้เป็นการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณของกามทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลาย โดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือ จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดคุณของกามทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลาย โดยความเป็นโทษและการถ่ายถอนกามทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นแหละหนอ จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้"
จบในส่วนของวิสัชนาเรื่องกาม ใช้ตอบคำถามใน ๒ ส่วน
๑. ใช้ตอบคำถามเทวดา ที่ปุจฉามาว่า "มนุษย์เพียงดังเปรต มนุษย์เพียงดังสัตว์นรก ไม่มีอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าอาภร ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีวิหารที่อยู่ เห็นปานนี้ จักมีความยินดีอย่างไร" ในส่วนของคุณมันก็มีแต่มีน้อย ในส่วนของโทษมันมีมาก อาหาร เสื้อผ้า วิหารฯ ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยหามา อีกทั้งยังต้องเหนื่อยในการบำรุงรักษา ระหว่างทางที่เสาะหาก็มีทั้งกระทำดี กระทำชั่ว ฝ่ายดีเมื่อมีโภคะตามปารถนาแล้วก็ถูกจี้ปล้นแย่งชิงได้ ทิ้งเป็นมรดกก็ถูกลูกหลานเผาผลาณได้ ก็ยังความโศกเศร้าโทมนัสให้เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น หากโภคะนั้นหาได้มาด้วยการกระทำที่ไม่ดีก็มีโทษโดนจองจำ โดนฆ่า ทุบตี ทรมารต่างๆนาๆ มีชีวิตอยู่คลุกเคล้ากับกามสุขจนถึงวันตาย เมื่อจากภพนี้แล้วปฎิสนธิจิตก็นำสู่อบายภพแล้วก็เวียนตายเวียนเกิด จนกว่าจะกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งถ้ายังไม่มีดำริที่คิดจะถ่ายถอนออกจากกาม ไม่สำรวม ไม่สังวร ไม่กำจัดฉันทราคะที่เกิดแล้วให้น้อยลง จะยังพอใจกับการส้องเสพในกามเหมือนเทวดาที่ยกย่องการบำรุงบำเรอของนางอัปสรในสวนนันทวันว่าเลิศเรอ เมื่อเสวยสุขจนหมดบุญก็ต้องกลับมาเวียนเกิดในสังสารวัฎ หากระลึกขึ้นได้ก็จะไม่ต่างจากกุลบุตรที่ตรากตรำทำงานเพื่อหาโภคะ พอวันหนึ่งเมื่อโภคะนั้นหายไปก็เศร้าโศกเสียใจว่าสิ่งที่เราเคยได้ สิ่งที่เราเคยมี บัดนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้วหนอ เทวดาหากละรึกได้ก็คงเศร้าเสียดายไม่ต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วเทวดาเมื่อหมดบุญจากสวรรค์มักไปเกิดในนรกต่อเป็นส่วนมาก มีทุกขเวทนามากจนระลึกอะไรนอกจากความทุกข์ไปไม่ได้
๒. ใช้ตอบปริพาชกอัญญเดียรถีย์ โดยใช้ปฏิปุจฉาย้อนคำถามนั้นกลับไปก่อน ในเมื่อปริพาชกบอกสำนักเขาก็สอนเรื่องกามแลัวจะไปต่างอะไรกันกับที่พระพุทธเจ้าสอน เราก็ถามกลับว่าแล้วท่านรู้จักกามดีถ่องแท้หรือยัง กามมีข้อดีอะไร มีข้อเสียอะไร และอะไรเป็นวิธีออกจากกาม? นี่ถามปฎิปุจฉากลับไปแบบนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงรับรองแล้วว่าไม่มีทางตอบได้ ไม่ว่ามนุษย์ เทวดา พรหม หากไม่มีสุตตะมยปัญญาที่มาจากการศึกษาคำสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไม่มีทางตอบคำถามนี้ได้ เพราะคำถามนี้ถ้าจะตอบกันให้ถูกก็ต้องเข้าใจในอริยสัจ ๔ เสียก่อน และต้องเข้าใจในปฎิจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์และฝ่ายดับที่เป็นตัวสมุทัยในอริยสัจอีกชั้นนึง และต้องเข้าถึงนิโรธะสัจจะ สัมผัสกระแสพระนิพพานแม้ชั่วขณะหนึ่งจึงจะเกิดการรู้แจ้งตามองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นตทังคะ,วิกขัมภนะ,สมุจเฉท,ปฏิปัสสัทธิ,นิสสรณะ คือในสภาวะของนิโรธนั้นจิตจะคายออกซึ่งตัณหาทั้งหมด ผู้ที่ได้สัมผัสสภาวะนั้นแล้วจะรู้และเข้าใจถึงการพ้นออกจากกาม การที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกามอย่างแท้จริง แม้ได้นิพพานเพียงชั่วขณะหนึ่งก็ถือว่าในขณะนั้นมรรคสมบูรณ์จนปัญญาญาณเกิดขึ้นมาได้ ทำให้เข้าใจรู้แจ้งในอริยสัจตามพระพุทธองค์อย่างถ่องแท้ นี่ต้องเห็นต้องเข้าใจกันขนาดนี้ พระพุทธองค์ถึงรับรองถ้าไม่ใช่ตถาคต หรือสาวกของพระพุทธองค์ จะไม่มีทางแทงตลอดตอบคำถามนี้ได้อย่างถูกต้องแน่นอน เมื่อเขาตอบไม่ได้เราจึงค่อยสาธยายแก้ปัญหา บอกถึงคุณ, โทษและการถ่ายถอนออกจากกามให้เขาฟัง
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 ว่าด้วยรูป
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅ว่าด้วยเวทนา