๒. ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท

พุทธพจน์ ที่เป็นตัวบทแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ที่แสดงเป็นกลางๆ ไม่ระบุชื่อหัวข้อปัจจัย อย่างหนึ่ง กับที่แสดงเจาะจงระบุชื่อหัวข้อปัจจัยต่างๆ ซึ่งสืบทอดต่อกัน โดยลำดับเป็นกระบวนการ อย่างหนึ่ง อย่างแรก มักตรัสไว้นำหน้าอย่างหลัง เป็นทำนองหลักกลาง หรือหลักทั่วไป ส่วนอย่างหลัง พบได้มากมาย และส่วนมากตรัสไว้ล้วนๆ โดยไม่มีอย่างแรกอยู่ด้วย อย่างหลังนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักแจงหัวข้อหรือขยายความ เพราะแสดงรายละเอียดให้เห็น หรือเป็นหลักประยุกต์ เพราะนำเอากระบวนการธรรมชาติมาแสดงให้เห็นความหมายตามหลักทั่วไปนั้น

อนึ่ง หลักทั้ง ๒ อย่างนั้น แต่ละอย่างแบ่งออกได้เป็น ๒ ท่อน คือ ท่อนแรกแสดงกระบวนการเกิด ท่อนหลังแสดงกระบวนการดับ เป็นการแสดงให้เห็นแบบความสัมพันธ์ ๒ นัย ท่อนแรกที่แสดงกระบวนการเกิด เรียกว่า สมุทยวาร และถือว่าเป็นการแสดงตามลำดับ จึงเรียกว่าอนุโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ คือ ทุกขสมุทัย ท่อนหลังที่แสดงกระบวนการดับ เรียกว่า นิโรธวาร และถือว่าเป็นการแสดงย้อนลำดับ จึงเรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในหลักอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ คือ ทุกขนิโรธ

แสดงตัวบททั้ง ๒ อย่าง ดังนี้

🔅 ๑) หลักทั่วไป
ก. อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ข. อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชุฌติ เพราะสิ่งที่ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)

พิจารณาตามรูปพยัญชนะ หลักทั่วไปนี้ เข้ากับชื่อที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา (หลักทั่วไปนี้บางครั้งท่านขยายความโดยแสดงเพียงปัจจัยเดียว ก็มี เช่น ส.น.๑๖/๒๓๗/๑๑๗) เรียกว่า เองคปฏิจจสมุปบาท (ปฏิจจสมุปบาทแบบหัวข้อเดียว))

🔅 ๒) หลักแจงหัวข้อ หรือ หลักประยุกต์
ก. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
สงฺขารปจฺจยา วิญญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
วิญญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
...............................................................................................
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ จึงมีพร้อม
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีได้ ด้วยประการฉะนี้

ข. อวิชฺชาย เตฺวว อเลสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
วิญฺญาณนิโรธา นามรูปนิโรโธ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
นามรูปนิโรธา สฬายตนนิโรโธ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
สฬายตนนิโรธา ผสฺสนิโรโธ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
ผสฺสนิโรธา เวทนานิโรโธ เพราะผัสสะดับ เวทนางดับ
เวทนานิโรธา ตณฺหานิโรโธ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
ตณฺหานิโรธา อุปาทานนิโรโธ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
อุปาทานนิโรธา ภวนิโรโธ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
ภวนิโรธา ชาตินิโรโธ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
...............................................................................................
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

ขอให้สังเกตว่า คำสรุปปฏิจจสมุปบาทนี้ บ่งว่า เป็นกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งความทุกข์ ข้อความเช่นนี้ เป็นคำสรุปส่วนมากของหลักปฏิจจสมุปบาทที่ปรากฏในที่ต่างๆ แต่บางแห่งสรุปว่า เป็นการเกิดขึ้นและสลายหรือดับไปของโลก ก็มี โดยใช้คำบาลีว่า “อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส สมุทโย นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความเกิดขึ้นแห่งโลก” “อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส อตฺถงฺคโม นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความดับสลายแห่งโลก หรือว่า “เอวมยํ โลโก สมุทยติ โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้” “เอวมยํ โลโก นิรุชฌติ โลกนี้ย่อมดับไปด้วยอาการอย่างนี้

อย่างไรก็ดี ว่าโดยความหมายที่แท้จริงแล้ว คำสรุปทั้งสองอย่างนี้ ได้ความตรงกัน และเท่ากัน ปัญหาอยู่ที่ความหมายของศัพท์ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป อนึ่ง หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ในคัมภีร์ที่เป็นส่วนท้ายของพระไตรปิฎก เริ่มปรากฏคำเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ปัจจยาการ” (แปลว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน) และต่อมา ในอรรถกถา ฎีกา นิยมใช้คำว่าปัจจยาการนั้นมากขึ้นจนปรากฏบ่อยครั้งกว่าคำว่าอิทัปปัจจยตา ในหลักที่แสดงเต็มรูปอย่างในที่นี้ องค์ประกอบทั้งหมดมีจำนวน ๑๒ หัวข้อ องค์ประกอบเหล่านี้ เป็นปัจจัยเนื่องอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงเวียน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย คือไม่มีตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด (มูลการณ์ หรือ The First Cause) การยกเอาอวิชชาตั้งเป็นข้อที่หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า อวิชชาเป็นเหตุเบื้องแรก หรือเป็นมูลการณ์ของสิ่งทั้งหลาย แต่เป็นการตั้งหัวข้อเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ โดยตัดตอนยกเอาองค์ประกอบ อันใดอันหนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด ขึ้นมาตั้งเป็นลำดับที่ ๑ แล้วก็นับต่อไปตามลำดับ บางคราวท่านป้องกันมิให้มีการยึดเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ โดยแสดงความเกิดของอวิชชาว่า “อวิชชาเกิด เพราะอาสวะเกิด อวิชชาดับ เพราะอาสวะดับ อาสวสมุทยา อวิชชาสมุทโย อาสวนิโรธา อวิชชานิโรโธ

องค์ประกอบ ๑๒ ข้อของปฏิจจสมุปบาทนั้น นับตั้งแต่อวิชชา ถึง ชรามรณะเท่านั้น คือ อวิชชา ➔ สังขาร ➔ วิญญาณ ➔ นามรูป ➔ สฬายตนะ ➔ ผัสสะ ➔ เวทนา ➔ ตัณหา ➔ อุปาทาน ➔ ภพ ➔ ชาติ ➔ ชรามรณะ ส่วน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นเพียงตัวพลอยผสม เกิดแก่ผู้มีอาสวกิเลสเมื่อมีชรามรณะแล้ว เป็นตัวการหมักหมมอาสวะซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงจรต่อไปอีก ในการแสดงปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสตามลำดับ และเต็มรูปอย่างนี้ คือ ชักต้นไปหาปลายเสมอไป การแสดงในลำดับและเต็มรูปเช่นนี้ มักตรัสในกรณีเป็นการแสดงตัวหลัก แต่ในทางปฏิบัติซึ่งเป็นการเริ่มต้นด้วยข้อปัญหา มักตรัสในรูปย้อนลำดับ คือ ชักปลายมาหาต้น เป็น ชรามรณะ ➔ ชาติ ➔ ภพ ➔ อุปาทาน ➔ ตัณหา ➔ เวทนา ➔ ผัสสะ ➔ สฬายตนะ ➔ นามรูป ➔ วิญญาณ ➔ สังขาร ➔ อวิชชา

ในทางปฏิบัติเช่นนี้ การแสดงอาจเริ่มต้นที่องค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดในระหว่างก็ได้ สุดแต่องค์ประกอบข้อไหนจะกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เช่น อาจจะเริ่มที่ชาติ ที่เวทนา ที่วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเชื่อมโยงกันขึ้นมาตามลำดับจนถึงชรามรณะ (ชักกลางไปหาปลาย) หรือสืบสาวย้อนลำดับลงไปจนถึงอวิชชา (ชักกลางมาหาต้น) ก็ได้ หรืออาจเริ่มต้นด้วยเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่ชื่อใดชื่อหนึ่งใน ๑๒ หัวข้อนี้ แล้วชักเข้ามาพิจารณาตามแนวปฏิจจสมุปบาทก็ได้ โดยนัยที่กล่าวมา การแสดงปฏิจจสมุปบาท จึงไม่จำเป็นต้องครบ ๑๒ หัวข้ออย่างข้างต้น และไม่ จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่ตายตัวเสมอไป

ข้อควรทราบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นปัจจัยแก่กันขององค์ประกอบเหล่านี้ตรงกับคำว่า “เหตุ” ทีเดียว เช่น ปัจจัยให้ต้นไม้งอกขึ้น มิใช่หมายเพียงเมล็ดพืช แต่หมายถึง ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยแต่ละอย่าง และการเป็นปัจจัยแก่กันนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่จำต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลังโดยกาละหรือเทศะ เช่น พื้นกระดาน เป็นปัจจัยแก่การตั้งอยู่ของโต๊ะ เป็นต้น

วิกิ

ผลการค้นหา