ย้อนกลับไปถามว่า การเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญ เป็นหลักการปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร เมื่อการบูชายัญเป็นหลักการยิ่งใหญ่ยอดสำคัญของสังคมพราหมณ์ ทางพระพุทธศาสนาก็จึงยกการเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญขึ้นมาเป็นหลักการสำคัญของสังคมแทน โดยมีความหมายที่จะต้องทำความเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ในการบำเพ็ญพุทธกิจ มีหลายครั้งหลายคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบกับพราหมณ์ที่กำลังเตรียมการบูชายัญบ้าง กำลังประกอบบูชายัญบ้าง และมีทั้งพิธีบูชายัญขนาดย่อมส่วนบุคคล และพิธีระดับผู้ปกครองบ้านเมือง ถ้าเป็นพิธีใหญ่ จะมีการฆ่าสัตว์บูชายัญจำนวนมาก และทาสกรรมกรทั้งหลายมักเดือดร้อนมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบและสนทนากับเจ้าพิธี ในที่สุดเรื่องก็จะจบลงโดยที่เขาเองให้ปล่อยสัตว์ล้มเลิกพิธี พร้อมทั้งรับหลักการและวิธีปฏิบัติอย่างใหม่ที่พระองค์สอนไปดำเนินการ
สาระสำคัญของหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน โดยทั่วไปจะให้ประกอบยัญกรรมในความหมายใหม่ (หรือเป็นการฟื้นความหมายดั้งเดิมก่อนที่พวกพราหมณ์จะทำให้เพี้ยนไป) ซึ่งเน้นที่ทาน และต้องไม่มีการเบียดเบียนชีวิต ถ้าเป็นยัญพิธีใหญ่มากของผู้ปกครองบ้านเมือง คำสอนในเรื่องยัญของพระพุทธเจ้า จะรวมถึงการจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุกก่อน แล้วจึงทำยัญพิธี และบำเพ็ญทาน ดังเช่น ใน🔎กูฏทันตสูตร (ที่สี่ ๙/๑๙๙-๒๓๘) ที่ตรัสกับกูฎทันตพราหมณ์ ผู้ปกครองพราหมณคาม ชื่อว่าชานุมัตต์ ซึ่งได้ให้เอาโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ และ ๗๐๐ และแกะ ๗๐๐ ผูกไว้ที่หลัก เตรียมพร้อมที่จะบูชามหายัญ พราหมณ์นั้นได้สนทนาสอบถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีบูชายัญใหญ่ให้ได้ผลมาก พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องตัวอย่างในอดีตมาให้เป็นแบบ
สาระสำคัญ คือ ให้จัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุก ถ้าบ้านเมืองยังมีโจรผู้ร้ายเป็นต้น ไม่ให้เอาแต่ใช้วิธีปราบปรามรุนแรง แต่ให้ราษฎรที่ประกอบเกษตรกรรม พาณิชยกรรมและข้าราชการ ผู้ที่ตั้งใจหมั่นขยัน จึงได้รับการส่งเสริมให้ตรงจุด จนบ้านเมืองมั่งคั่ง ราษฎรชื่นชมยินดี อยู่ปลอดภัย “บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน ให้ลูกฟ้อนบนอก (หลักการนี้ คือธรรมชุดที่ในคัมภีร์บางแห่งเรียกว่าราชสังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ ๑. สัสสเมธะ (ฉลาดบำรุงธัญญาหาร) ๒. ปุริสมเมธะ (ฉลาดบำรุงข้าราชการ) ๓. สัมมาปาสะ (ผสานใจประชาด้วยอาชีพ) 4. วาจาเปยยะ (มีวาจาดูดดื่มใจ) (๕) เกิดผล คือ นิรัคคฬะ (เกษมสุข) บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน หลักนี้เป็นนัยพุทธ จาก มหายัญ ๕ ของพราหมณ์ คือ ๑. อัสสเมธะ (อัศวเมธ/ ฆ่าม้าบูชายัญ ๒. ปุริสเมธะ (ฆ่าคนบูชายัญ) ๓. สัมมาปาสะ (ยัญลอดบ่วง) ๔. วาชเปยยะ (ยัญดื่มเพื่อชัย) ๕. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญฆ่าครบทุกอย่าง)
เมื่อบ้านเมืองดีแล้ว ผู้ปกครองนั้นก็เรียกพบปรึกษาคนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ทั้งอำมาตย์จนถึงชาวนิคมชนบท ขอความร่วมมือในการที่จะบูชายัญ ซึ่งไม่มีการฆ่าสัตว์และไม่ทำให้คนใดๆ เดือดร้อน มีแต่การมอบให้ของง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ และราษฎรก็พากันร่วมทำตามด้วย แล้วต่อจากนั้นก็มีการบำเพ็ญทานแก่บรรพชิตผู้มีศีล การสร้างสรรค์ประโยชน์ และพัฒนาชีวิตสูงขึ้นไปจนลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ดี
ผลของการฟังวิธีบูชายัญแบบนี้ คือ กูฏทันพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก พร้อมทั้งได้กราบทูลว่าข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปล่อยโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ ข้าพเจ้าให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอให้สัตว์เหล่านั้นได้กินหญ้าเขียวสด จงดื่มน้ำเย็น จงรับลมสดชื่นที่พัดโชยมาให้สบายเถิด
เห็นได้ชัดว่า การห้ามหรือให้เลิกบูชายัญ และการเผื่อแผ่แบ่งปันช่วยเหลือกันคือทานนี้ เป็นหลักการใหญ่ที่เน้นของพระเจ้าอโศกจนเรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศแห่งศิลาจารึกของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าอโศกยังทรงก้าวต่อขึ้นไปอีก สู่งานในขั้นที่เป็นเป้าหมายแท้ของพระองค์ คือการสอนธรรมเพื่อให้ประชาชนประพฤติธรรม เหมือนกับว่าทานนั้นเป็นฐาน เพื่อเตรียมวัตถุและสังคมให้เอื้อแก่คนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป และตรงนี้เองจึงทรงเน้นธรรมทาน ขอยกคำในจารึกศิลา ฉบับที่ ๙ ต่อด้วย ฉบับที่ ๑๑ มาอีกว่า ฉบับที่ ๙ : ...การให้ทานเป็นความดี ก็แต่ว่าทาน หรือการอนุเคราะห์ที่เสมอด้วยธรรมทาน หรือธรรมานุเคราะห์ ย่อมไม่มี ฉบับที่ ๑๑: ไม่มีทานใดเสมอด้วยธรรมทาน ธรรมสังวิภาค (การแจกจ่ายธรรม) และธรรมสัมพันธ์ อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ
- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
-การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
นี่คือหลักการใหญ่ที่เป็นแกนกลางแห่งแนวคิดภาคปฏิบัติของพระเจ้าอโศก การทำศิลาจารึกสั่งสอนธรรมก็ตั้งบนฐานของหลักการนี้ หลักการไม่บูชายัญ แต่หันมาสู่ทาน และให้คนทุกหมู่เหล่าเกื้อกูลปฏิบัติชอบต่อกัน มารวมศูนย์ที่นี่
พร้อมนั้น จุดนี้ก็เป็นศูนย์รวมที่อโศกธรรมมาบรรจบกับแหล่งเดิมของหลักธรรมเดียวกันนั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ขอให้ดูพุทธพจน์ในพระสูตรตอนต่อไปนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ผู้ควรแก่การขอ เมืออันล้างแล้ว (พร้อมที่จะประกอบยัญพิธีแบบใหม่แห่งการบริจาคธรรม) ทุกเวลา ...ภิกษุทั้งหลาย ทานมี ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑ บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่ายมี ๒ อย่างนี้ คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การแจกจ่ายธรรม ๑ บรรดาการแจกจ่าย ๒อย่างนี้ การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์มี ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ๑ บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรม (ธรรมานุเคราะห์) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย อัญบูชา (ยาคะ) มี ๒ อย่างนี้ คือ ธัญบูชาด้วยอามิส ๑ ธัญบูชาด้วยธรรม ๑ บรรดายัญบูชา ๒ อย่างนี้ ยัญบูชาด้วยธรรม (ธรรมยาคะ) เป็นเลิศ ๆ (อิติ ๒๕/๒๘๐)
เรื่องนี้ ว่าจะพูดพอเห็นแนว แต่กลายเป็นยาว ควรจบเสียที ขอตั้งข้อสังเกตไว้อีกอย่างเดียว งานทางธรรมที่พระเจ้าอโศกทรงเอาพระทัยใส่จริงจังมาก และโดยชอบ แต่ไม่ใช่แค่คน ทรงเอาพระทัยใส่ต่อสัตว์อื่นทั่วไปหมดอยู่เสมอ คือการที่จะให้คนผู้ร่วมสังคม เอาใจใส่กันและปฏิบัติต่อกันนอกจากห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ และให้สำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลายคือทั้งไม่เบียดเบียนและเอื้ออาทรต่อสัตว์ทุกชนิดแล้ว ยังถึงกับตั้งโรงพยาบาลสัตว์ และให้ปลูกสมุนไพรที่เป็นยาสำหรับสัตว์ เช่นเดียวกับที่ได้จัดไว้สำหรับคน แล้วยิ่งกว่านั้นยังมีประกาศเกี่ยวกับอภัยทานและการสงวนพันธุ์สัตว์อีกด้วย การที่พระเจ้าอโศกทรงปฏิบัติในเรื่องนี้ถึงขนาดนี้ นอกจากเพราะจุดเน้นในการหันมาสู่ธรรมของพระองค์ ได้แก่การมีอวิหิงสา เมตตาการุณย์ต่อสัตว์อย่างที่กล่าวแล้ว บางทีจะเป็นด้วยทรงพยายามปฏิบัติให้ครบตามหลักจักรวรรดิวัตร ในจักกวัตติสูตร ซึ่งกำหนดให้พระเจ้าจักรพรรดิจัดการคุ้มครองอันชอบธรรม แก่มนุษย์สัตว์ทุกหมู่เหล่า โดยแยกไว้เป็น ๘ กลุ่ม อันมีมิคปักษี (เนื้อและนก คือทั้งสัตว์บกและสัตว์บินที่ไม่มีภัย) เป็นกลุ่มสุดท้าย
ขอให้ดูบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ ได้กระทำการอนุเคราะห์แล้วด้วยประการต่างๆ แก่เหล่าสัตว์ทวิบาท สัตว์จตุบาท ปักษิณชาติ และสัตว์น้ำทั้งหลาย ตลอดถึงการให้ชีวิตทาน ...ต่อด้วยอีกบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๕ ดังนี้ ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ได้ออกประกาศ ให้สัตว์ทั้งหลายต่อไปนี้ ปลอดภัยจากการถูกฆ่า กล่าวคือ นกแก้ว นกสาลิกา นกจากพราก หงส์ ... เต่า และกบ กระรอก กวางเร็ว ... แรด นก พิราบขาว นกพิราบบ้าน และบรรดาสัตว์สี่เท้าทั้งปวงที่มิใช่สัตว์สำหรับปฏิโภค (ใช้หนังใช้กระดูก ฯลฯ) และมิใช่สัตว์สำหรับบริโภค แม่แพะ แม่แกะ และแม่หมู ที่กำลังมีท้องก็ดี กำลังให้นมอยู่ก็ดี ย่อมเป็นสัตว์ที่ไม่พึงฆ่า และแม้ลูกอ่อนของสัตว์เหล่านั้นที่อายุยังไม่ถึง ๖ เดือน ก็ไม่พึงถูกฆ่าเช่นกัน ไม่พึงทำการตอนไก่ไม่พึงเผาแกลบที่มีสัตว์มีชีวิตอาศัยอยู่ ไม่พึงเผาป่าเพื่อการอันหาประโยชน์มิได้ หรือเพื่อการทำลายสัตว์ ไม่พึงเลี้ยงชีวิตด้วยชีวิต ไม่พึงฆ่าและขายปลา ในวันเพ็ญที่คำรบจาตุรมาสทั้ง และในวันเพ็ญแห่งเดือนดิษยะ คราวละ ๓ วัน คือ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ และทุกวันอุโบสถ เป็นการเสมอไป อนึ่ง ในวันดังกล่าวมานี้ ไม่พึงฆ่าแม้เหล่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ในป่าช้างและในเขตสงวนปลาของชาวประมง ตราบถึงบัดนี้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ข้าฯ ได้สั่งให้มีการพระราชทานอภัยโทษแล้วรวม ๒๕ ครั้ง
ในการจบเรื่องนี้ ก็มาดูกันว่า จากการบำเพ็ญธรรมทานของพระองค์ พระเจ้าอโศกได้ทรงประสบผลานิสงส์อย่างไร ซึ่งคงสรุปได้จากพระดำรัสในจารึกศิลา ฉบับที่ ๔ ดังนี้ กาลยาวนานล่วงแล้ว ตลอดเวลาหลายร้อยปี การฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ การเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย การไม่ปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ การไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ได้พอกพูนขึ้นถ่ายเดียว แต่มาในบัดนี้ ด้วยการดำเนินงานทางธรรม (ธรรมจรณะ) ของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เสียงกลองรบ (เกรีโฆษ) ได้กลายเป็นเสียงประกาศธรรม (ธรรมโฆษ) แต่ทั้งการแสดงแก่ประชาชน ซึ่งวิมานทรรศน์ หัสดิทรรศน์ อัคนีขันธ์และทิพยรูปอื่นๆ ก็ได้มีขึ้นด้วย
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
- การไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ
- การปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังท่านผู้เฒ่าผู้ใหญ่
ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาหลายร้อยปี ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วในบัดนี้ เพราะการสั่งสอนธรรมของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ความดีงามนี้ และการปฏิบัติธรรมอย่างอื่นๆ อีกหลายประการ ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ จักทำให้การปฏิบัติธรรมนี้เจริญยิ่งขึ้นไปอีกและพระราชโอรส พระราชนัดดา พระราชปนัดดาของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ก็จักส่งเสริมการปฏิบัติธรรมนี้ ให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไปจนตลอดกัลป์ ทั้งจักสั่งสอนธรรม ด้วยการตั้งมั่นอยู่ในธรรมและในศีลด้วยตนเอง เพราะว่าการสั่งสอนธรรมนี้แล เป็นการกระทำอันประเสริฐสุด และการประพฤติธรรมย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ศีล ก็แลความเจริญงอกงาม และความไม่เสื่อมถอยในการปฏิบัติธรรมนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเพื่อประโยชน์นี้ จึงได้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว้ ขอชนทั้งหลายจงช่วยกันประกอบกิจ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งประโยชน์นี้ และจงอย่าได้มีวันกล่าวถึงความเสื่อมเลย ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ โปรดให้จารึกไว้แล้ว เมื่ออภิเษกได้ ๑๒ พรรษา
เราได้มาถึงเมืองปัตนะ หรือปาตลีบุตร ศูนย์กลางแห่งมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งชมพูทวีป (H.G. Wells ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก) และพุทธศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาเมื่อได้ทำความรู้จักกับพระเจ้าอโศกมหาราชมาอย่างนี้แล้ว ก็ขอยุติไว้แค่ที่พอสมควร เพียงเท่านี้