อธิบายหัวข้อเบ็ดเตล็ด

อันนักศึกษาเมื่อได้ศึกษาเข้าใจถึงกสิณ ๑๐ ประการ อันเป็นเหตุให้ได้ฌาน ๔ และฌาน ๔ ในรูปาวจรภูมิ ที่สมเด็จพระทศพลพุทธเจ้าผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวงได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วยประการฉะนี้ และเข้าใจถึงนัยแห่งการภาวนาซึ่งกสิณ ๑๐ เหล่านั้นอย่างนี้แล้ว จึงศึกษาถึงหัวข้อเบ็ดเตล็ดในกสิณทั้ง ๑๐ ประการนั้น ให้เข้าใจดียิ่งขึ้นไปอีกสักเล็กน้อยดังต่อไปนี้

๑. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปฐวีกสิณ

ในบรรดากสิณ ๑๐ ประการนั้น ฤทธิ์ย่อมสำเร็จขึ้นด้วยอำนาจปฐวีกสิณ มีอาทิดังนี้คือ คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคนได้เป็นต้น เนรมิตแผ่นดินขึ้นในอากาศหรือในน้ำแล้วเดินไปด้วยเท้าได้สำเร็จอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้นในอากาศหรือในน้ำได้ได้อภิภายตนะ* โดยนัยมีอารมณ์นิดหน่อยและมีอารมณ์หาประมาณมิได้ (คำว่า ได้อภิภายตนะ คือ สามารถข่มปฏิปักขธรรมได้ และสามารถข่มอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งอิฏฐารมณ์และ
อนิฏฐารมณ์ ไม่ให้เกิดในใจได้)

๒. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโปกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโปกสิณ มีอาทิดังนี้คือ ดำลงไปในพื้นแผ่นดิน และผุดโผล่พื้นแผ่นดินขึ้นมาได้ บันดาลให้ฝนตกได้ บันดาลให้เกิดเป็นแม่น้ำและเป็นมหาสมุทรเป็นต้นได้บันดาลแผ่นดิน ภูเขา และปราสาทเป็นต้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนได้

๓. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจเตโชกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจเตโชกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บังหวนควันได้ บันดาลให้ไฟลุกโพลงขึ้นได้ บันดาลให้ฝนถ่านเพลิงตกได้ บันดาลไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของผู้อื่นให้ดับลงด้วยไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของตนได้ มีความสามารถที่จะเผาผลาญสิ่งที่ตนประสงค์ให้พินาศลงได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้ เผาสรีระศพตนเองได้ด้วยเตโชธาตุในเวลาปรินิพพาน

๔. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจวาโยกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจวาโยกสิณมีอาทิดังนี้ คือ เหาะไปได้เร็วเหมือนอย่างลมพัด บันดาลฝนพายุให้ตกได้

๕. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจนีลกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจนีลกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเขียวได้ บันดาลความมืดมนอนธการให้เกิดขึ้นได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยมีผิวพรรณงามและมีผิวพรรณน่าเกลียด การบรรลุสุภวิโมกข์คือบรรลุมรรคผลและนิพพานโดยง่ายสะดวกสบาย

๖. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปีตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจปีตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเหลืองได้ เสกเหล็ก ทองเหลือง ทองแดงเป็นต้นให้เป็นทองคำได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

๗. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจโลหิตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จด้วยอำนาจโลหิตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นสีแดงได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

๘. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจโอทาตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจโอทาตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นสีขาวได้ บันดาลให้สร่างหายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอันธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุทิพย์ได้

๙. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโลกกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโลกกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้บันดาลความมีแสงสว่างได้ บันดาลให้สร่างหายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอันธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้

๑๐. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอากาสกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอากาสกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บันดาลสิ่งที่ปกปิดกำบังไว้ให้ปรากฏเห็นได้เนรมิตช่องว่างขึ้นในแผ่นดินและภูเขาเป็นต้น แล้วไปสำเร็จอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอนได้ ทะลุออกไปภายนอกฝาหรือกำแพงได้ ไม่มีอะไรกีดกั้นได้


🙏ความต่างกันของกสิณ ๑๐

กสิณหมดทั้ง ประการนั้น ย่อมได้ความต่างกันด้วยสามารถแห่งการขยายดังนี้คือ ขยายขึ้นข้างบน ขยายลงข้างล่าง ขยายไปรอบ ๆ ตัว ไม่ขยายคราวละ ๒ กสิณปะปนกัน ขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ทรงแสดงไว้มีอาทิว่า ฌานลาภีบุคคลบางคน ย่อมขยายปฐวีกสิณขึ้นไปข้างบน บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปรอบ ๆ ตัว บางคนขยายอย่างไม่ปะปนกันคราวละ ๒ กสิณ บางคนขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ

อรรถาธิบายพระบาลี
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ขยายขึ้นข้างบน คือขยายให้บ่ายหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้าข้างบน คำว่า ขยายลงข้างล่าง คือขยายให้บ่ายหน้าลงสู่พื้นดินข้างล่าง คำว่า ขยายไปรอบ ๆ ตัว คือขยายไปอย่างกำหนดเอาโดยรอบด้าน เหมือนอย่างขอบเขตที่เป็นวงกลม จริงอยู่ ฌานลาภีบุคคลบางคน ย่อมขยายกสิณขึ้นไปข้างบนอย่างเดียว บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปโดยรอบ อีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนั้น ๆ ฌานลาบุคคลจึงขยายอย่างนี้ ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ขยายขึ้นข้างบน ลงข้างล่าง ไปโดยรอบ ดังนี้ แหละคำว่า ไม่ปะปนกันคราวละ ๒ กสิณ นี้ ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงว่ากสิณอันหนึ่ง ๆ ไม่เข้าไปปะปนกับกสิณอีกอันหนึ่ง เหมือนกับน้ำย่อมปรากฏเป็นน้ำนั่นเอง อยู่ในทั่วทุกทิศแก่บุคคลผู้เข้าไปดู ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ ฉันใด ปฐวีกสิณย่อมปรากฏ เป็นปฐวีกสิณอยู่นั่นเอง ความปะปนกับกสิณอย่างอื่นมีอาโปกสิณเป็นต้นย่อมไม่มีแก่ ปฐวีกสิณนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ในกสิณอื่น ๆ ทุกกสิณก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ คําว่า ไม่มีกําหนดประมาณ นี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจที่ไม่มีประมาณแห่งการขยายซึ่งปฐวีกสิณนั้น จริงอยู่ ฌานลาภีบุคคลเมื่อจะขยายปฐวีกสิณนั้นไปด้วยใจ ย่อมขยายไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว หาได้ถือเอากําหนดประมาณว่า นี้เป็นเบื้องต้น นี้เป็นท่ามกลางของปฐวีกสิณนั้น ดังนี้ไม่ ด้วยประการฉะนี้

ผู้บำเพ็ญภาวนาไม่สำเร็จโดยธรรมนิยาม
ก็แหละ สัตว์เหล่าใดซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมก็ดี เป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลสก็ดี ทั้งเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม เป็นผู้มีปัญญาทึบ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็น อภัพพสัตว์ไม่สมควรที่จะหยั่งลงสู่ธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย การภาวนาย่อมไม่สำเร็จผลแก่สัตว์เหล่านั้นสักคนเดียว แม้ในกสิณภาวนาข้อเดียว

อรรถาธิบายพระบาลี
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม นั้น หมายเอาสัตว์ผู้ทำ🔎อนันตริยกรรม ๔ ประการข้อใดข้อหนึ่ง คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลส นั้น หมายเอาสัตว์จําพวกที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ (คืออเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ และนัตถิกทิฏฐิ) ๑ จําพวกที่เป็นอุภโตพยัญชนกะ (คน ๒ เพศ) ๑ และจําพวกที่เป็นบัณเฑาะก์ (กะเทย) ๑ คำว่า สัตว์ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือวิบาก นั้น หมายเอาสัตว์จำพวกที่เป็นอเหตุกปฏิสนธิและที่เป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ ( อเหตุกปฏิสนธิ แยกเป็น ๒ คือ อุเบกขาสันตีรณจิตฝ่ายอกุศล ๑ อุเบกขาสันตีรณจิตฝ่ายกุศล ๑ ฝ่ายอกุศลนั้นให้ปฏิสนธิในอบายภูมิเป็นทุคติบุคคล ฝ่ายกุศลให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ แต่เป็นคนบ้าใบ้บอดหนวกมาแต่กำเนิดเรียกว่าสุคติบุคคล ส่วนทวิเหตุกปฏิสนธินั้นได้แก่มหาวิบากจิตญาณวิปปยุต ๔ ดวง ให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ เป็นเหตุกบุคคลซึ่งมีปัญญาทึบ) คำว่า เป็นผู้ไม่มีศรัทธา หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากความเชื่อในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น คําว่า เป็นผู้ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากกัตตุก้มยตาฉันทะในข้อปฏิบัติอันไม่เป็นข้าศึกคือในข้อปฏิบัติอันสมควรแก่มรรคได้แก่ในวิปัสสนาอันสมควรแก่อริยสัจ คำว่า เป็นผู้มีปัญญาทึบ หมายความว่าเป็นผู้เว้นแล้วจากโลกิยสัมมาทิฏฐิและโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คำว่า เป็นอภัพพสัตว์ ไม่ควรเพื่อจะหยั่งลงสู่ธรรมนิยาม และภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย หมายความว่า เป็นผู้ไม่สมควรเพื่อที่จะหยั่งลงสู่อริยมรรคกล่าวคือธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย ความจริงการที่ภาวนาไม่สําเร็จผลแก่สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมเป็นต้นแม้แต่สักคนเดียวนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะในกสิณกัมมัฏฐานนี้อย่างเดียว แม้ในกัมมัฏฐานทั้งหลายอย่างอื่น ໆ ด้วย


🙏คําตักเตือนกุลบุตร
เพราะฉะนั้น กุลบุตรพุทธศาสนิกผู้ปราศจากเครื่องกั้นคือวิบากแล้ว พึงหลีกเว้นเครื่องกั้นคือกรรมและเครื่องกั้นคือกิเลสให้ห่างไกล แล้วจึงเพิ่มพูนศรัทธาฉันทะและปัญญาด้วยการตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ และด้วยการคบหาสมาคมกับสัตบุรุษคือผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจเป็นต้น แล้วจึงลงมือบำเพ็ญเพียรในอันประกอบพระกัมมัฏฐานนั้นเถิด ฉะนี้แล  (คำว่า ปราศจากเครื่องกั้นคือวิบากแล้ว ได้แก่กุลบุตรผู้พ้นจากอเหตุกปฏิสนธิ และทวิเหตุกปฏิสนธิแล้วคือเกิดมาด้วยเหตุกปฏิสนธิมีปัญญาเปรื่องปราดสามารถที่จะบรรลุฌานหรือมรรคผลได้อยู่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอย่าได้ทำอนันตริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และอย่าเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ จงทำการคบค้าสมาคมกับบัณฑิตและเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน แล้วลงมือบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานด้วยอุตสาหะวิริยภาพต่อไป)

จบ ปริจเฉทที่ ๕ ชื่อว่า เสสกสิณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้ เพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้


วิกิ

ผลการค้นหา