เห็นได้ชัดว่า ธรรมในศิลาจารึกอโศก ส่วนใหญ่ และที่กล่าวถึงบ่อย เป็นเรื่องของการปฏิบัติชอบต่อกัน หรือต่อบุคคลประเภทต่างๆ ที่แต่ละคนควรดูแลรับผิดชอบหรือช่วยเหลือกัน ซึ่งใกล้เคียงกันมากกับพระสูตรที่ยกมาให้ดูแล้ว จึงขอยกข้อความในศิลาจารึกนั้นมาให้ดูบ้าง ขอเริ่มด้วยจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ซึ่งตรัสเล่าความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการทำศิลาจารึกประกาศธรรมไว้ด้วย อันเป็นเรื่องที่น่ารู้
๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ตลอดกาลยาวนานล่วงมาแล้ว ได้มีพระราชาหลายองค์ทรงปรารถนาว่า ทำไฉนประชาชนทั้งหลายจะพึงเจริญก้าวหน้าด้วยความเจริญทางธรรม แต่ประชาชนก็หาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมตามสมควรไม่...ก็แลด้วยอุบายวิธีอันใดหนอประชาชนทั้งหลายจะพึงประพฤติปฏิบัติตาม ...
๓. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ ได้เกิดมีความคิดขึ้นว่า ข้าฯ จักจัดให้มีการประกาศธรรม ข้าฯ จักจัดให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมประชาชนทั้งหลาย ครั้นได้สดับธรรมนี้แล้ว ก็จักพากันประพฤติปฏิบัติตาม จักยกระดับตนเองสูงขึ้น และจักมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมอย่างมั่นคง เพื่อประโยชน์นี้ ข้าฯ จึงจัดให้มีการประกาศธรรม และสั่งให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมขึ้นเป็นหลายแบบหลายอย่าง เพื่อให้ข้าราชการทั้งหลาย ที่ข้าฯ ได้แต่งตั้งไว้ดูแลประชาชนจำนวนมาก จักได้ช่วยกันแนะนำสั่งสอนบ้าง ช่วยอธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งออกไปบ้าง แม้เจ้าหน้าที่รัชชูกะ ข้าฯ ก็ได้แต่งตั้งไว้ดูแลชีวิตหลายแสนชีวิต เจ้าหน้าที่รัชชูกะเหล่านั้น ก็ได้รับคำสั่งจากข้าฯ ว่า ท่านทั้งหลายจงอบรมสั่งสอนประชาชนให้เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างนี้ๆ
๔. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ว่า :- เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญในเรื่องนี้ โดยถ่องแท้แล้วนั่นแล ข้าฯ จึงให้ประดิษฐานหลักศิลาจารึกธรรมขึ้นไว้ แต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์ขึ้นไว้ และจัดให้มีการประกาศธรรม
๕. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- แม้ตามถนนหนทาง ข้าฯ ก็ได้ให้ปลูกต้นไทรขึ้นไว้ เพื่อจักได้เป็นร่มเงาให้แก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ให้ปลูกสวนมะม่วง ให้ขุดบ่อน้ำไว้ทุกระยะกึ่งโกรศะ ( ๑ โกรศะ = ๑ กิโลเมตร) ให้สร้างที่พักคนเดินทางขึ้นไว้ และให้สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนมากมายขึ้นไว้ในที่ต่างๆ เพื่อการใช้สอยแห่งสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย แต่การใช้ประโยชน์เช่นนี้ยังจัดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนก็ดี ตัวข้าฯ ก็ดี ต่างก็ได้บำรุงประชาชนทั้งหลายให้มีความสุขด้วยวิธีการบำรุงสุขประการต่างๆ แต่ที่ข้าฯ ได้กระทำการเช่นนี้ ก็ด้วยความมุ่งหมายข้อนี้ คือ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรม...
๘. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- กรรมดีใดๆ ก็ตาม ที่ข้าฯ ได้กระทำแล้ว ประชาชนทั้งหลายก็ได้พากันประพฤติปฏิบัติกรรมดีนั้นๆ ตามอย่างแล้ว และยังคงดำเนินตามกรรมดีนั้นๆ อยู่ต่อไป ด้วยการกระทำเช่นนั้น ประชาชนทั้งหลายก็ได้มีความเจริญงอกงามขึ้นแล้ว และยังรักเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ด้วย
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังครูทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อท่านผู้เฒ่าชรา
- การปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์และสมณะ
- (การปฏิบัติชอบ) ต่อคนยากจน และคนตกทุกข์
- ตลอดถึงคนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย
จารึกศิลา ฉบับที่ ๓ ระบุธรรมที่พึงเผยแพร่ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๑๒ ปี ได้สั่งประกาศความข้อนี้ไว้ว่า ทุกหนทุกแห่งในแว่นแคว้นของข้าฯ เจ้าหน้าที่ยุกตะ เจ้าหน้าที่รัชชูกะ และเจ้าหน้าที่ปราเทศกะ จึงออกเดินทาง (ตรวจตรา) ทุกๆ ๕ ปี เพื่อประโยชน์อันนี้ คือเพื่อการสั่งสอนธรรมนี้ พร้อมไปกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างอื่น (เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงสั่งสอน) ว่า
- การเชื่อฟังมารดาบิดา เป็นความดี
- การให้ปันแก่มิตรสหาย ญาติ แก่พราหมณ์และสมณะเป็นความดี
- การไม่ฆ่าสัตว์ เป็นความดี
- การประหยัดใช้จ่ายแต่น้อย การสะสมแต่น้อย (เลี้ยงชีวิตแต่พอดี?) เป็นความดี
จารึกศิลา ฉบับที่ ๙ กล่าวถึงธรรมที่พึงปฏิบัติดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสว่า :- ประชาชนทั้งหลาย ย่อมประกอบพิธีมงคลต่างๆ เป็นอันมาก... อันเป็นเรื่องหยุมหยิมไร้สาระ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยนัยตรงข้าม ยังมีพิธีกรรมที่เรียกว่าธรรมมงคลซึ่งเป็นพิธีกรรมมีผลมาก ในธรรมมงคลนั้น ย่อมมีกิจต่อไปนี้ คือ
-การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การแสดงความเคารพนับถือต่อครูอาจารย์
- การสำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลาย
- การถวายทานแก่สมณพราหมณ์
ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๑ นอกจากธรรมปฏิบัติที่คล้ายกับในจารึกอื่นแล้ว มีข้อพึงสังเกตพิเศษ คือเรื่องธรรมทาน และการบูชายัญ ที่จะพูดถึงเพิ่มเติมอีกข้างหน้า ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ไม่มีทานใดเสมอด้วยการให้ธรรม (ธรรมทาน) การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) และความสัมพันธ์กันโดยธรรม (ธรรมสัมพันธ์) อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ
- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
บิดาก็ดี บุตรก็ดี พี่น้องชายก็ดี นาย (หรือสามี) ก็ดี มิตรและคนคุ้นเคยก็ดี ตลอดถึงเพื่อนบ้าน จึงกล่าวคำนี้ (แก่กัน) ว่า "นี่เป็นสิ่งดีงามแท้ นี่เป็นกิจควรทำ บุคคลผู้ปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมทำความสุขในโลกนี้ให้สำเร็จด้วย และในโลกเบื้องหน้า ย่อมประสพบุญหาที่สุดมิได้เพราะอาศัยธรรมทานนั้นด้วย" ธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม พบในจารึกเพียง ๒ แห่ง คือ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ธรรมเป็นสิ่งดีงาม สิ่งใดเล่าชื่อว่าธรรม ธรรมนั้นได้แก่สิ่งต่อไปนี้ คือ
- การมีความเสียหายน้อย (อัปปาทีนวะ?) (คำที่ถอดออกมาจากศิลาจารึกว่า “อปาสินเว” และได้แปลกันไปต่างๆ สุดแต่จะโยงไปสู่คำศัพท์ใดเช่น บางท่านคิดว่าคงเป็น อัปปาสวะ ก็แปลว่ามีอาสวะกิเลสน้อย ในที่นี้ เมื่อเทียบกับ“พหุกัลยาณะ” เห็นว่าน่าจะเป็น “อัปปาทีนวะ” จึงแปลอย่างนี้)
- การมีความดีมาก (พหุกัลยาณะ)
- ความเมตตากรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไจย)
อีกแห่งหนึ่งที่พบธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม ได้แก่ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๗ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ และพวกอื่นๆ อีกจำนวนมากได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำการจำแนกแจกทาน ทั้งในนามของข้าฯ เอง และในนามแห่งพระราชเทวีทั้งหลาย ทั่วทุกฝ่ายในของข้าฯ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ สามารถจัดดำเนินการในกิจต่างๆ ที่มุ่งหมาย จนเป็นที่น่าพอใจได้ ด้วยวิธีการมากหลายทั้งใน (พระนครหลวง) นี้ และในส่วนต่างๆ (ของประเทศ) อนึ่ง ในส่วนแห่งโอรสของข้าฯ และเจ้าชายอื่นๆประสูติแต่พระราชเทวีทั้งหลาย ข้าฯ ก็ได้สั่งให้กระทำการ (จําแนกแจกทาน) เช่นนี้ โอรสของข้าฯ เหล่านี้ จักเป็นผู้ฝักใฝ่ในการจำแนกแจกทาน อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมหลักการทางธรรม และการประพฤติปฏิบัติตามธรรม หลักการทางธรรมและการประพฤติปฏิบัติตามธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ
- ความเมตตากรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไทย)
- ความสุภาพอ่อนโยน (มัททวะ)
- ความเป็นสาธุชน (สาวะ)
จะพึงเจริญเพิ่มพูนขึ้นในหมู่ประชาชน ส่วนอีกแห่งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นหัวข้อธรรมหรือคุณธรรมที่จะสอบโดยตรง แต่กระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่า การที่จะทำให้สำเร็จตามจุดหมายที่ตั้งไว้นั้น จะต้องทำตัวหรือปฏิบัติตนอย่างไร ได้แก่ จารึกหลักศิลาฉบับที่ ๑ ซึ่งมีข้อความดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า เป็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยยาก หากปราศจาก
- ความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด (อัคคธัมมกามตา)
- การใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด (อัคค-ปรึกษา)
- การตั้งใจฟังคำสั่งสอนอย่างยิ่งยวด (อัคค-สุสสา)
- ความเกรงกลัว (ต่อบาป) อย่างยิ่งยวด (อัคค-รายะ)
- ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด (อัคค-อุตสาหะ)
บัดนี้ ด้วยอาศัยคําสั่งสอนของข้าฯ ความมุ่งหวังทางธรรมและความฝักใฝ่ใคร่ธรรม ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วทุกๆ วัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไป