เท่าที่พูดมานี้เป็นการเล่าอย่างคร่าวๆ แต่อาตมาอยากจะให้ข้อสังเกตอีกนิดหน่อย คือเรื่องความเจริญของแคว้นมคธที่เกี่ยวข้องกับแคว้นวัชชี เพราะมีความสัมพันธ์กับเรื่องของเมืองที่เราเดินทางมาถึงขณะนี้ คือเมือง ปัตนะ
เมืองปัตนะ นี้ ชื่อเดิมคือ เมืองปาตลีบุตร ซึ่งได้มาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช และเป็นที่ตั้งของวัดอโศการามที่เรานั่งอยู่ ซึ่งเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ดังได้กล่าวแล้ว เมือง ปาตลีบุตร (บางทีเขียน ปาฏลีบุตร) มีเรื่องที่น่าสนใจเชื่อมโยงกับพุทธกาลนิดหน่อย คือในสมัยพุทธกาลนั้น เมืองปาตลีบุตรเพิ่งจะเริ่มก่อสร้างในตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน อาณาจักรมคธในสมัยพุทธกาลมีเมืองหลวงชื่อว่า เมืองราชคฤห์ซึ่งเราจะไปในวันสองวันนี้ ราชคฤห์เป็นเมืองหลวงเดิมของแคว้นมคธในสมัยที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ และพระพุทธเจ้าก็ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เมืองราชคฤห์ก็ได้เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑
สังคายนาครั้งที่ ๑ ทำที่ราชคฤห์ เมืองหลวงเก่า ต่อมาสังคายนาครั้งที่ ๓ ทำที่เมืองปาตลีบุตร เมืองหลวงใหม่แห่งนี้ จึงขอให้ลองเชื่อมโยงเรื่องราวดู เมืองราชคฤห์เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล ซึ่งเริ่มในสมัยของพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร คือพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชย์ที่เมืองราชคฤห์นั่นแหละ จนถึงปลายพุทธกาลจึงมีเรื่องราวของเมืองปาตลีบุตรนี้เกิดขึ้น ดังที่ท่านเล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตร
ตอนนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินในหนทางที่จะไปสู่เมืองที่จะปรินิพพาน คือเมืองกุสินารา และตอนที่เสด็จผ่านมาที่นี่ เมืองปาตลีบุตรมีชื่อว่า ปาตลิคาม คือยังเป็นหมู่บ้านปาตลี ยังไม่ได้เป็นเมือง เวลานั้น พระเจ้าอชาตศัตรูกำลังต้องการจะรุกรานแคว้นวัชชีเนื่องจากพระองค์มีปัญหากับแคว้นวัชชี ก็ต้องสร้างความเข้มแข็งในชายแดน พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้ทรงดำเนินการสร้างปาตลีคาม คือหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้น ให้เป็นเมืองป้อม หรือเมืองหน้าด่าน เพื่อจะสู้รบกับแคว้นวัชชี นี่คือกำเนิดของเมืองปาตลีบุตร
พระเจ้าอชาตศัตรูได้มอบหมายให้มหาอำมาตย์ ๒ ท่าน ชื่อ สุนธะ กับ วัสสการะ มาดำเนินการสร้างเมืองนี้ในช่วงระยะที่กำลังสร้างเมืองนี้อยู่ พระองค์ได้เสด็จผ่านไปในสถานที่ต่างๆ พระพุทธเจ้าก็เสด็จมา และเมื่อพระองค์เสด็จผ่านประตูเมือง เขาก็เรียกประตูเมืองนั้นว่า โคตมทวาร พระองค์เสด็จลงแม่น้ำที่ท่าใด เขาก็เรียกท่านั้นว่า โคตมติตถะ พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายไว้ว่า ปาตลีบุตรที่สร้างขึ้นใหม่เป็นเมืองหน้าด่านนี้ ต่อไปจะเจริญรุ่งเรือง แต่ก็จะมีความพินาศด้วยภัย ๓ ประการ คือ ภัยจากไฟ จากน้ำ และจากความแตกสามัคคี นี้เป็นเหตุการณ์ในพุทธกาลที่ต่อเนื่องมา ซึ่งทำให้เราได้เห็นกำเนิดของเมืองปาตลีบุตร
การที่พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ มาสร้างเมืองหน้าด่านนี้ขึ้นเพื่อสู้กับวัชชี ก็เพราะถิ่นนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และพวกวัชชีหรือ กษัตริย์ลิจฉวีก็มีปัญหากับแคว้นมคธ โดยเฉพาะพระเจ้าอชาตศัตรูมาตลอด มีเรื่องเล่ามาว่า บนฝั่งแม่น้ำคงคาซึ่งยาวออกไปไกล มีดินแดนอยู่ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างฝ่ายมคธกับฝ่ายวัชชี ที่ภูเขาหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำนี้ มีพืชอะไรชนิดหนึ่ง กล่าวกันว่า มีกลิ่นหอมมาก และเมื่อถึงวาระที่น้ำฝนชะลงมา ก็พาเอากลิ่นหอมนี้ลงมาในแม่น้ำ จึงเป็นที่ๆ มีชื่อเสียงอย่างมาก
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูเตรียมยกพลมา เพื่อจะเอาพืชที่มีกลิ่นหอมนี้ แต่พวกวัชชีก็มาชิงตัดหน้าเอาไปก่อน พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมาอีกทีไร พวกวัชชีก็มาตัดหน้าเอาไปทุกที จึงเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูพิโรธโกรธแค้นมาก ความคิดที่อยากจะห้ำหั่นพวกวัชชีนั้นมีอยู่เรื่อยมา เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ และความหวาดกลัว เพราะพวกวัชชีนั้นเป็นระบบอำนาจแบบเก่า มีการปกครองแบบเดิม เมื่อมีความเข้มแข็ง ก็จะเป็นภัยคุกคามต่อมคธ เป็นธรรมดาที่ว่าคนที่หวังอำนาจก็จะต้องพยายามรุกรานหรือปราบปรามอีกฝ่ายหนึ่งลงไปให้ได้ เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน และบั่นทอนกำลังของฝ่ายตรงข้าม จึงเกิดเป็นสภาพเหตุการณ์ในสมัยก่อนจะสิ้นพุทธกาลและต่อจากสิ้นพุทธกาลใหม่ๆ
เรื่องการพิพาทกันระหว่างแคว้นวัชชีกับมคธปรากฏอยู่ในพุทธประวัติ ดังจะเห็นได้จากเรื่อง อปริหานิยธรรมพระเจ้าอชาตศัตรูเคยส่งวัสสการพราหมณ์ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ลองไปหยั่งดูว่า ถ้าพระองค์จะยกทัพไปปราบวัชชี พระพุทธเจ้าจะตรัสว่าอย่างไร วัสสการพราหมณ์ได้เข้าไปทูลทำนองว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงพระดำริจะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชี พระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัสอะไรโดยตรงแต่ตรัสให้รู้เป็นนัย โดยทรงหันไปถามพระอานนท์ว่า “อานนท์ สมัยหนึ่งเราได้แสดงหลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ได้แก่เจ้าลิจฉวทั้งหลาย เวลานี้ พวกกษัตริย์ลิจฉวียังรักษาอุปริหานิยธรรมกันดีอยู่หรือ" พระอานนท์ทูลรับ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า "ตราบใดที่กษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชียังประพฤติปฏิบัติมั่นอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ จะไม่มีใครเอาชนะได้" คล้ายกับจะทรงห้ามทัพไว้ก่อน เพราะถ้าขึ้นรบก็จะสูญเสียมากมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูไม่กล้ายกทัพไป ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงพระดำริอีก ว่าทำอย่างไรจะเอาชนะวัชชีได้ แล้วก็ปรากฏว่า วัสสการพราหมณ์ได้ถวายแผนการจะไปทำลายความสามัคคีของแคว้นวัชชีเสีย และอาสาดำเนินการนี้ โดยทำอุบายเป็นว่าถูกลงโทษ และถูกขับถูกเนรเทศออกจากแคว้นมคธไป วัสสการพราหมณ์ทำเป็นว่าหนีภัยหนีอันตรายไป และด้วยความโกรธแค้นต่อกษัตริย์อชาตศัตรู ก็เลยไปอาสารับราชการแผ่นดินในวัชชี กษัตริย์วัชชีหลงกลก็วางใจ ต่อมา วัสสการพราหมณ์ก็ใช้กลอุบายเกลี้ยกล่อมยุแหย่ จนกระทั่งกษัตริย์ลิจฉวีแตกแยกกันหมด นำมาซึ่งความอ่อนแอของวัชชี แล้วในที่สุด พระเจ้าอชาตศัตรูก็ยกทัพมาตี ทำให้วัชชีแตกพินาศไป มคธก็หมดคู่แข่ง