👉กลับไปหน้าแรก
พุทธพจน์เกี่ยวกับอนัตตา
ข. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ (ด้านทำจิตเป็นอิสระ และด้านทำกิจโดยไม่ประมาท อนิจจตาแห่งชีวิต และการเห็นคุณค่าของกาลเวลา)
“ผลไม้สุกแล้ว ก็มีภัยอยู่ตลอดเวลาจากการที่จะต้องร่วงหล่นไป ฉันใด, สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็มีภัยอยู่ตลอดเวลาจากการที่จะต้องตาย ฉันนั้น, ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำแล้วทั้งหมด ล้วนมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด, ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นที่สุด ฉันนั้น"
พุทธพจน์เกี่ยวกับอนัตตา
ข. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ (ด้านทำจิตเป็นอิสระ และด้านทำกิจโดยไม่ประมาท อนิจจตาแห่งชีวิต และการเห็นคุณค่าของกาลเวลา)
“ผลไม้สุกแล้ว ก็มีภัยอยู่ตลอดเวลาจากการที่จะต้องร่วงหล่นไป ฉันใด, สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็มีภัยอยู่ตลอดเวลาจากการที่จะต้องตาย ฉันนั้น, ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำแล้วทั้งหมด ล้วนมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด, ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นที่สุด ฉันนั้น"
“ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไปเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด"
“เมื่อเขาเหล่านั้น ถูกมฤตยูครอบงำแล้ว ต้องไปปรโลก, บิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้ ญาติทั้งหลายจะป้องกันเหล่าญาติไว้ก็ไม่ได้ ดูเถิด ทั้งที่หมู่ญาติกำลังมองดูพรำพันอยู่ด้วยประการต่างๆ จะต้องตายก็ถูกพาไปแต่ลำพังคนเดียว เหมือนโคที่เขาเอาไปฆ่า โลกถูกความแก่และความตายบดขยี้อย่างนี้เอง, ปราชญ์ทั้งหลายรู้เท่าทันกระบวนความเป็นไปของโลกแล้ว จึงไม่เศร้าโศก"
“ท่านไม่รู้ทาง ไม่ว่าของผู้มาหรือของผู้ไป, เมื่อมองไม่เห็นปลายสุดทั้งสองด้านจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้าคนหลงใหลคร่ำครวญเบียดเบียนตนเองแล้ว จะทำประโยชน์อะไรให้เกิดขึ้นมาได้บ้างแล้วไซร้ ท่านผู้มีวิจารณญาณก็คงทำอย่างนั้นบ้าง"
“การร้องไห้หรือโศกเศร้า จะช่วยให้จิตใจสงบสบาย ก็หาไม่ มีแต่จะเกิดทุกข์ทบทวี ทั้งร่างกายก็จะพลอยทรุดโทรม จะเบียดเบียนตัวของตัวเอง จนกลายเป็นคนซูบผอม หมดผิวพรรณ, ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะอาศัยการร้องไห้คร่ำครวญนั้นเป็นเครื่องช่วยตัวเขา ก็ไม่ได้, การคร่ำครวญให้จึงได้ประโยชน์ คนที่สลัดความเศร้าโศกไม่ได้ มัวทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้ว ตกอยู่ในอำนาจความโศกเศร้า ก็มีแต่จะทุกข์หนักยิ่งขึ้น"
“ดูสิ ถึงคนอื่นๆ ที่กำลังเตรียมตัวจะเดินทางกันไปตามกรรม, ที่นี่ ประดาสัตว์เผชิญกับอำนาจของพญามัจจุราชเข้าแล้ว ต่างก็กำลังดิ้นรนกันอยู่ทั้งนั้น"
“คนทั้งหลายคิดหมายไว้อย่างใด ต่อมาการณ์ก็กลับกลายไปเป็นอย่างอื่น ความพลัดพรากจากกันก็เป็นอย่างนี้แหละ ดูเถิด กระบวนความเป็นไปของโลก แม้จะมีคนอยู่ได้ถึงร้อยปี หรือเกินกว่านั้น เขาก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ต้องทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้อยู่ดี"
“เพราะฉะนั้น สาธุชน สดับคำสอนของท่านผู้ไกลกิเลสแล้ว พึงระงับความคร่ำครวญรำพันเสีย เห็นคนล่วงลับจากไป ก็ทำใจได้ว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เราจะขอให้เป็นอยู่อีก ย่อมไม่ได้, ธีรชน คนฉลาด มีปัญญา เป็นบัณฑิต พึงระงับความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นแล้วได้โดยฉับพลัน เหมือนเอาน้ำดับไฟที่ลุกลาม และเหมือนลมพัดปุยนุ่น"
“ผู้ปรารถนาสุขแก่ตน พึงระงับความคร่ำครวญรำพัน ความโหยหา และโทมนัสเสีย, จึงถอนลูกศรที่เสียบตัวทิ้งไป ผู้ที่ถอนลูกศรได้แล้ว เป็นอิสระ ก็จะพบความสงบใจ จะผ่านพ้นความโศกเศร้าไปได้หมด กลายเป็นผู้ไร้โศก เย็นใจทางธรรม"
“มนุษย์นี้ ตั้งแต่เริ่มเกิดอยู่ในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน เมื่อเริ่มชีวิตขึ้นมาแล้ว ก็มีแต่จะบ่ายหน้าไป ไม่หวนหลังกลับคืน, คนทั้งหลาย ถึงจะพรั่งพร้อมด้วยกำลังพล จะต่อสู้ให้ไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่ได้"
“ราชาผู้เป็นรัฏฐาธิบดี อาจเอาชนะกองทัพ ซึ่งมีพลทั้งสี่เหล่า (ช้าง ม้า รถ ราบ) ที่น่าสะพรึงกลัวได้ แต่ไม่สามารถเอาชนะพญามัจจุราช"
“ราชาบางพวก แวดล้อมด้วยพลช้าง พลม้า พลรถ และพลราบแล้ว หลุดพ้นเงื้อมมือข้าศึกไปได้ แต่ไม่อาจหักให้พ้นพญามัจจุราช...ราชาทั้งหลายผู้แกล้วกล้า สามารถหักค่าย ทำลายข้าศึกมากมายได้ ด้วยพลช้าง พลม้า พลรถ และพลราบ แต่ไม่อาจพ้นพญามัจจุราช"
“มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมบวงสรวง ทำให้ยักษ์ ปีศาจ หรือเปรตทั้งหลาย แม้ที่เกรี้ยวกราดแล้ว ยอมสงบพิโรธได้ แต่จะทำให้พญามัจจุราชยินยอมหาได้ไม่ ฯลฯ"
"ผู้ต้องหาทำผิดฐานประทุษร้ายต่อองค์ราชา หรือต่อราชสมบัติ ก็ดี ผู้ร้ายที่เบียดเบียนประชาชนก็ดี ยังมีทางขอให้พระราชาทรงผ่อนปรนพระราชทานอภัยโทษได้ แต่จะทำให้พญามัจจุราชผ่อนผันยอมตามหาได้ไม่"
"ผู้ต้องหาทำผิดฐานประทุษร้ายต่อองค์ราชา หรือต่อราชสมบัติ ก็ดี ผู้ร้ายที่เบียดเบียนประชาชนก็ดี ยังมีทางขอให้พระราชาทรงผ่อนปรนพระราชทานอภัยโทษได้ แต่จะทำให้พญามัจจุราชผ่อนผันยอมตามหาได้ไม่"
“จะเป็นกษัตริย์ ก็ตาม พราหมณ์ ก็ตาม จะร่ำรวย มีกำลังอิทธิพล หรือมีเดชศักดาแค่ไหน พญามัจจุราชก็ไม่เห็นแก่ใครเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความคิดว่า จะบำเพ็ญธรรม ฯลฯ"
“ธรรมนั่นแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม, ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ"
"ธรรมกับอธรรม สองอย่างนี้ จะมีผลเสมอกันก็หาไม่ อธรรมย่อมนำไปสู่นรกธรรมย่อมให้ถึงสุคติ"
“เปรียบเหมือนว่า ภูเขาใหญ่ศิลาล้วน สูงจดท้องฟ้า กลิ้งเข้ามารอบด้าน ทุกทิศ บดขยี้สัตว์ทั้งหลายเสีย ฉันใด ความแก่และความตาย ก็ครอบงำสัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้น ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ตลอดจนจัณฑาลและคนเก็บกวาดขยะ ชราและมรณะย่อมมีทั้งหมด ไม่ละเว้นใครเลย ณ ที่นั้น ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลช้าง สำหรับพลรถ หรือสำหรับพลราบ จะใช้เวทมนต์ต่อสู้หรือเอาทรัพย์สินจ้าง ก็ไม่อาจเอาชนะได้"
“เพราะฉะนั้น คนฉลาด (บัณฑิต) เมื่อมองเห็นประโยชน์ (ที่แท้) แก่ตนพึงปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์, ผู้ใดประพฤติธรรมด้วยกาย วาจา ใจ ผู้นั้นย่อมเป็นที่สรรเสริญในโลกนี้จากไปแล้ว ก็บันเทิงในสวรรค"
“ชาวโลกถูกมัจจุราชคอยประหัตประหารที่มแทง พล่านไปด้วยความปรารถนาตลอดทุกเวลา ถูกชราปิดล้อมไว้ ถูกลูกศรแห่งตัณหา"
“ความตาย ความเจ็บไข้ และความแก่ เป็นเหมือนไฟ กำลังที่จะรับมือได้ก็ไม่มี แรงเร็วที่จะวิ่งหนีก็ไม่พอ เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า จะน้อยหรือมากก็ให้ได้"
"อะไรบ้าง เพราะวันคืนล่วงไป ชีวิตของคนก็พร่องลงไปจากประโยชน์ที่จะทำ จะเดินอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นั่งหรือนอนอยู่ก็ตาม วาระสุดท้ายก็ใกล้เข้ามาๆ, ท่านจึงไม่
ควรประมาทเวลา"
“ข้าพเจ้าเห็นลูกชายของท่านทั้งหลาย เรียกขานว่าแม่พ่อ เป็นบุตรรักที่ได้มาโดยยาก แต่อยู่มาได้ยังไม่ทันเข้าวัยชรา ก็ตายก่อนเสียแล้ว ข้าพเจ้าเห็นลูกหญิงของท่านทั้งหลาย เป็นรุ่นสาว สวยงามน่าชม แต่ก็มาสิ้นชีวิตไปเสีย เหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ยังอ่อน ถูกเขาถอนเอาไป แท้จริง ชายหรือหญิงก็ตาม ถึงยังหนุ่มยังสาว ก็ตายได้, ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตว่า เรายังหนุ่มยังสาวอยู่ วันคืนเคลื่อนคล้อย อายุน้อยเข้าทุกที เหมือนอายุของฝูงปลาในที่น้ำงวด, ความเป็นหนุ่มเป็นสาวจะเป็นหลักอะไรได้ ฯลฯ"
"ชาวโลกถูกมัจจุราชประหัตประหาร ถูกชราปิดล้อมไว้ คืนวันไม่ผ่านไปเปล่า เมื่อเขาเอาด้ายมาทอผ้า เขาทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอต่อไป ก็เหลือน้อยเข้าเท่านั้น นี้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนพื้นที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ก็ไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง พัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด ความแก่และความตายก็พัดพาประดาสัตว์ไป ฉันนั้น ฯลฯ"
“ผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมมีภัยอยู่ตลอดเวลา จากการที่จะต้องร่วงหล่นไป ฉันใดสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็มีภัยอยู่ตลอดเวลาจากการที่จะต้องตาย ฉันนั้น"
“ตอนเช้า ยังเห็นกันอยู่มากคน พอตกเย็น บางคนก็ไม่เห็น เมื่อเย็น ยังเห็นกันอยู่มากคน ถึงรุ่งเช้า บางคนก็ไม่เห็น ควรรีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่ารู้ว่าจะตายในวันพรุ่ง เพราะความผิดเพี้ยนกับพญามัจจุราชเจ้าทัพใหญ่นั้น ไม่มีเลย"
“บุตรของข้าพเจ้าทิ้งร่างไป เหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้งเสีย เมื่อร่างกายใช้สอยไม่ได้ เขาก็ตายจากไปแล้ว... เขามาจากปรโลก ข้าพเจ้าก็มิได้เชื้อเชิญ เขาไปจากโลกนี้ ข้าพเจ้าก็มิได้อนุญาต เขามาอย่างใด ก็ไปอย่างนั้น การคร่ำครวญรำพันในการจากไปของเขานั้น จะมีประโยชน์อะไร... ถ้าร้องไห้ไป ร่างกายข้าพเจ้าก็จะผ่ายผอม การร้องไห้ของข้าพเจ้าจะมีผลดีอะไร, ญาติมิตรสหายทั้งหลายของข้าพเจ้า ก็จะยิ่งมีแต่ความไม่สบายใจ...ผู้ที่เศร้าโศกถึงคนตาย ก็เหมือนเด็กที่ร้องไห้ขอพระจันทร์ ซึ่งโคจรไปในอากาศ, คนตายถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้ว่าญาติคร่ำครวญถึง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก เขาไปแล้วตามวิถีทางของเขา"
“ถ้าจะเศร้าโศกถึงคนที่ไม่มีอยู่แก่ตน ตนเอง ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของพญามัจจุราชตลอดเวลาคือคนที่ตายไปแล้ว ก็ควรจะเศร้าโศกถึง"
“อายุสังขารใช้จะประมาทไปตามสัตว์ ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่ ก็หาไม่วัยย่อมเสื่อมลงเรื่อยไป ทุกหลับตา ทุกลืมตา เมื่อวัยเสื่อมสิ้นไปอย่างนี้ ความพลัดพรากจากกัน ก็ต้องมี โดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ ควรเมตตาเอื้อเอ็นดูต่อกัน ไม่ควรจะมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้ว"
“ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ก็ตามในโลก ไม่อาจจะได้ ๕ ประการอะไรบ้าง? ได้แก่ข้อว่า ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา จงอย่าแก่ ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จงอย่าเจ็บไข้ ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา จงอย่าตาย, ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา จงอย่าสิ้นไป, ขอสิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา จงอย่าพินาศ"
“สำหรับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ย่อมแก่, สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ย่อมเจ็บไข้, สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ก็ย่อมตาย, สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาก็ย่อมสิ้นไป, สิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา ก็ย่อมพินาศไป ปุถุชนนั้น.... (เมื่อสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้น) ย่อมไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิใช่เฉพาะแต่ของเราผู้เดียวเท่านั้น...(ที่เป็นไปเช่นนั้น) แท้จริงแล้ว ตราบใด สัตว์ทั้งหลายยังมีการมา การไป การจุติ การอุบัติกันอยู่ ตราบนั้น สำหรับสัตว์ทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ย่อมแก่ สิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา ก็ย่อมพินาศด้วยกันทั้งนั้น ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา มาแก่ไป...เมื่อสิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา มาพินาศไป ถ้าเราจะเศร้าโศกหม่นหมอง ร้องไห้ ตอก คร่ำครวญ หลงใหลฟั่นเฟือนไป แม้อาหารก็จะไม่เป็นอันอยากรับประทาน ร่างกายก็จะซูบโทรม การงานก็จะไม่เป็นอันทำ พวกศัตรูก็จะพากันชอบใจ ฝ่ายมิตรสหายก็จะพลอยเสียใจ"
“ครั้นสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง) เขาย่อมเศร้าโศก หม่นหมอง ร้องไห้ ตอก คร่ำครวญหลงใหลฟั่นเฟือนไป นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกลูกศรคือความเศร้าโศกอันมีพิษ เสียบแทงแล้ว ทำตัวเองให้เดือดร้อน แต่สำหรับอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ย่อมแก่ สิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา ก็ย่อมพินาศไป อริยสาวกนั้น... เมื่อสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้น) ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิใช่เฉพาะแต่ของเราผู้เดียวเท่านั้น...ที่เป็นไปเช่นนั้น) แท้จริงแล้ว ตราบใดสัตว์ทั้งหลาย ยังมีการมา การไป การจุติ การอุบัติ กันอยู่ ตราบนั้น สำหรับสัตว์ทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาก็ย่อมแก่ สิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา ก็ย่อมพินาศด้วยกันทั้งนั้น เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา มาแก่ไป...เมื่อสิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา มาพินาศไป ถ้าเราจะเศร้าโศกหม่นหมอง ร้องไห้ ตอก คร่ำครวญ หลงใหลฟันเฟือนไป แม้อาหารก็จะไม่เป็นอันอยากรับประทาน ร่างกายก็จะซูบโทรม การงานก็จะไม่เป็นอันทำ พวกศัตรูก็จะพากันชอบใจ ฝ่ายมิตรสหายก็จะพลอยเสียใจ...(คนสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง) อริยสาวกนั้น ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่หม่นหมอง ไม่ร้องไห้ ไม่ตอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เขาถอนลูกศร คือความเศร้าโศก อันมีพิษ ที่เป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ซึ่งได้แต่ทำตัวเองให้เดือนร้อนออกได้แล้ว อริยสาวกนั้น เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากลูกศรที่เสียบแทง ย่อมดับทุกข์ร้อน ทำตนให้สุขเย็น"
“การโศกเศร้า การพิไรรำพัน จะช่วยให้ได้ประโยชน์อะไรสักนิดหน่อย ก็หาไม่ เหล่าคนที่มุ่งร้ายรู้ว่า เขาเศร้าโศก มีความทุกข์ ย่อมจะดีใจ ส่วนบัณฑิต ผู้ฉลาด ในการวินิจฉัยเหตุผล ย่อมไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ร้ายทั้งหลาย เมื่อมองเห็นหน้าของบัณฑิตนั้น เป็นเหมือนเดิมไม่ผิดแปลกไป พวกอมิตรทั้งหลายกลับกลายเป็นฝ่ายทุกข์"
“ประโยชน์ที่มุ่งหมาย ตนจะได้ในที่ใด ด้วยวิธีใด จะด้วยการเข้าไปพูดกันเฉพาะตัว ด้วยการปรึกษาท่านผู้รู้ ด้วยการรู้จักเจรจา ด้วยการจ่ายทรัพย์ หรือด้วยขนบธรรมเนียมอย่างใดก็ตาม ก็พึงพากเพียร ในที่นั้นๆ ด้วยวิธีการนั้นๆ หากรู้ชัดว่า ผลที่หมายนั้น เป็นสิ่งที่เราก็ตาม ผู้อื่นก็ตาม ไม่อาจจะได้ ก็ไม่พึงเศร้าโศก, จึงยับยั้งตั้งกำหนดใจอย่างมั่นคงว่า ทีนี้เราจะทำอย่างไรต่อไป จะตายก็ไปคนเดียว จะเกิดก็มาคนเดียว ความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็แค่ได้มาพบปะเกี่ยวข้องกัน เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้ได้เรียนรู้มามาก เป็นปราชญ์ มองเห็นโลกนี้โลกหน้า รู้ทั่วถึงธรรมแล้ว ความโศกเศร้าทั้งหลาย แม้ใหญ่หลวง ก็ไม่ทำให้ท่านเร่าร้อน"
“เรานั้นจะบริหารยศ ฐานะ และโภคทรัพย์ จะบำรุงเลี้ยงภรรยาและหมู่ญาติกับทั้งประสาชาวประชานอกนั้น นี้คือกิจหน้าที่ของท่านผู้รู้ คนเขลาย่อมคิดการแต่ว่า ฤดูฝน เราจะอยู่ที่นี้ ฤดูหนาว ฤดูร้อน เราจะอยู่ที่นี้ หาตระหนักถึงอันตรายไม่ เมื่อเขาหลงใหลอยู่กับลูกหลานและสัตว์เลี้ยง มีจิตติดข้องอยู่ในทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ มัจจุราชก็มาพาเอาเขาไป เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาชาวบ้านที่หลับใหลไป ฉะนั้น"
“เมื่อถูกพญามัจจุราชครอบงำ ไม่ว่าบุตร ไม่ว่าบิดา ไม่ว่าญาติพวกพ้อง ถึงจะมี ก็ช่วยต้านทานไม่ได้ จะหาที่ปกป้องในหมู่ญาติ เป็นอันไม่มี บัณฑิตสำรวมตนด้วยศีล ทราบเหตุผลดังนี้แล้ว จึงรีบชำระทางดำเนินนิพพานโดยเร็วพลัน"
“ชีวิตนี้น้อยจริงหนอ คนย่อมตาย ทั้งที่อายุยังไม่ถึงร้อยปี ถึงแม้อยู่ได้เกินกว่านั้น ก็ต้องตาย เพราะชราอย่างแน่นอน"
“ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่หวงแหนไว้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้เลย ผู้ที่มองเห็นว่า ความพลัดพรากกันจะต้องมีแน่นอนดังนี้แล้ว ไม่ควรอยู่ครองเรือน, คนสำคัญหมายสิ่งใดว่า นี้ของเรา ก็ต้องละสิ่งนั้นไปเพราะความตาย, บัณฑิตพุทธมามกะทราบความข้อนี้แล้ว ไม่พึ่งโน้มเอียงไปในการที่จะยึดถืออะไรๆ ว่าเป็นของเรา"
“คนที่รักใคร่ ตายจากไปแล้ว ย่อมไม่ได้พบเห็นอีก เหมือนคนตื่นขึ้น ไม่เห็นสิ่งที่ได้พบในฝัน คนที่เขาเรียกว่าชื่อนั้น ชื่อนั้น ก็แค่ได้พบเห็นกันบ้าง ได้ยินถึงบ้าง คนที่ตายจากไปแล้ว ก็เหลือแต่ชื่อเท่านั้น ที่จะพึงกล่าวขวัญถึงได้ ผู้ที่ติดใครในสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศกเศร้าความคร่ำครวญและความตระหนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลาย ผู้มองเห็นความเกษม จึงละสิ่งที่เคยหวงแหนเที่ยวไป"
“บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงท่านผู้ไม่แสดงตนในภพ (คือพระอรหันต์) ว่าเป็นบุคคลที่สอดคล้องเหมาะกัน สำหรับภิกษุผู้บำเพ็ญความหลีกเร้นถอนจิต (ได้แก่พระที่ยังศึกษาอยู่ คือเป็นเสขะ หรือกัลยาณปุถุชน) ซึ่งเสพเสนาสนะอันสงัด"
“มุนี ไม่ติดในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำใครๆ อะไรๆ ให้เป็นที่รักให้เป็นที่ชัง, ความให้และความตระหนี่จึงไม่แปดเปื้อนมุนีนี้ เหมือนดั่งน้ำไม่เปียกใบบัว หยาดน้ำไม่ติดใบบัว วารีไม่ติดปทุม ฉันใด มุนีก็ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้สบทราบ ฉันนั้น ท่านผู้ทรงปัญญา (พระอรหันต์) ย่อมไม่สำคัญมั่นหมายด้วยสิ่งที่ได้เห็น ได้ยินหรือสบทราบ ย่อมไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยวิธีการอย่างอื่น ท่านไม่ติดใคร่ (อย่างพาลปุถุชน) และก็ไม่หน่ายแหนง (อย่างกัลยาณปุถุชนและพระเสขะ)"
“ทรัพย์สมบัติละทิ้งคนไปก่อน ก็มี, คนละทิ้งทรัพย์สมบัติไปก่อน ก็มี. ท่านผู้ใคร่กามารมณ์เอย ผู้ครองทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก ในยามที่คนทั้งหลายพากันโศกเศร้า ดวงจันทร์อุทัยขึ้น เต็มดวง แล้วก็แรมลับ, ดวงอาทิตย์ ฉายแสงส่องโลกแล้วก็อัสดง, โลกธรรมทั้งหลายนั้น ข้าพเจ้ารู้เท่าทันแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก ในยามที่คนทั้งหลายพากันโศกเศร้า"
"ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ เหล่านี้เป็นธรรมดาในหมู่มนุษย์ เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา"
“ผู้มีปัญญาดี มีสติ รู้จักสิ่งเหล่านี้แล้ว พิจารณาเห็นว่าเป็นของผันแปรไปได้เป็นธรรมดา, สิ่งน่าปรารถนา ก็ย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ถึงสิ่งไม่น่าปรารถนา ก็ไม่ทำให้ท่านคับแค้น ความยินดี ก็ตาม ความยินร้าย ก็ตาม ท่านกำจัดได้หมด หายลับ ไม่มีเหลือ ท่านทราบสภาวะที่ไร้โศก ไร้ธุลี มีสัมมาปัญญา เป็นผู้ลุถึงฟากฝั่งภพ”
"รูปกายของสัตว์ย่อมร่วงโรยไป แต่ชื่อและโคตรไม่เสื่อมสลาย กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกันไปกับตัวมันเอง วัยสิ้นไป ตามคืนและวัน กาลเวลาล่วงไป คืนวันผ่านพ้นไป วัยก็หมดไปทีละตอนตามลำดับ ผู้เล็งเห็นภัยในความตายดังนี้ หวังความสงบ จึงละเหยื่อล่อในโลกเสีย"
“ข้าพเจ้าไม่มีความชั่วซึ่งได้ทำไว้ ณ ที่ไหนๆ เลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นกลัวความตายที่จะมาถึงตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ไม่ต้องกลัวปรโลก"
“อานนท์...สมัยนั้น เราเป็นพระเจ้ามหาสุทัศน์ พระนครแปดหมื่นสี่พัน อันมีกุสาวราชธานีเป็นประมุข เหล่านั้น ก็ของเรา, ปราสาทแปดหมื่นสี่พัน อันมีธรรมปราสาทเป็นประมุขเหล่านั้น ก็ของเรา ฯลฯ รถแปดหมื่นสี่พัน มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทองมีตาข่ายเครื่องปกคลุมแล้วด้วยทอง อันมีรถเวชยันต์เป็นประมุขเหล่านั้น ก็ของเรา ฯลฯ อานนท์ บรรดาพระนครแปดหมื่นสี่พัน พระนครที่เราอยู่ครอบครองสมัยนั้น ก็เพียงนครเดียวเท่านั้น คือ กุสาวราชธานี, บรรดาปราสาทแปดหมื่นสี่พัน ปราสาทที่เราอยู่ครอบครองสมัยนั้น ก็เพียงปราสาทเดียวเท่านั้น คือ ธรรมปราสาท, ฯลฯ บรรดารถแปดหมื่นสี่พัน รถที่เรานั่งสมัยนั้น ก็เพียงคนเดียวเท่านั้น คือรถเวชยันต์ ฯลฯ อานนท์ จงดูเถิด สังขารเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นอดีต ดับสิ้นไปแล้ว ผันแปรไปแล้ว สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงอย่างนี้แล, สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล, สังขารทั้งหลาย ให้ความโปร่งโล่งมั่นใจไม่ได้อย่างนี้แล, อานนท์ เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวง เพียงพอที่จะเลิกติดใคร่ เพียงพอที่จะหลุดพ้นไปเสีย ฯลฯ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข"
“นครของเราชื่อว่ากบิลพัสดุ, พระราชา พุทธบิดา พระนามว่าสุทโธทนะ, พระมารดา ผู้ชนนี มีพระนามว่ามายาเทวี, เราครองอาคาริยวิสัยอยู่ ๒๙ พรรษา มีปราสาทเลิศ ๓ หลัง ชื่อว่า สุนันทะ โกกนุท และโกญจะ พร้อมด้วยสตรีสี่หมื่นนางเฝ้าแหนอลังการ ยอดนารีมีนามว่า ยโสธรา, โอรสนามว่าราหุล เราเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงออกบวชด้วยอัศวราชยาน, ได้บำเพ็ญเพียรประพฤติทุกรกิริยาอยู่ ๖ พรรษา, เราประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี เราคือพระสัมพุทธเจ้า นามว่าโคตมะ เป็นสรณะของสรรพสัตว์ ฯลฯ อายุของเราในยุคสมัยบัดนี้ น้อยเพียงชั่วร้อยปี ถึงจะดำรงชีวีอยู่เพียงเท่านั้น เราก็ช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นวัฏฏะไปได้จํานวนมากมาย และได้ตั้งคบเพลิงธรรมไว้ปลุกประชาชนภายหลังให้เกิดปัญญาตื่นขึ้นมาตรัสรู้ต่อไป ไม่นานเลย เรา พร้อมทั้งหมู่สาวก ก็จักปรินิพพาน เหมือนไฟดับไปเพราะสิ้นเชื้อ, เรือนกายร่างนี้ที่ทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติ วิจิตรด้วยวรลักษณ์ทั้ง ๓๒ ประการ มีเดชหาที่เทียบเทียมมิได้ กับทั้งทศพลและประดาฤทธิ์ ฉายประภาฉัพพรรณรังสี สว่างไสวทั่วทศทิศ ดุจดังดวงอาทิตย์สตรังสี ก็กลับตับหาย สังขารทั้งหมดทั้งหลายไร้แก่นสารล้วนว่างเปล่าดังนี้แหละหนอ"
“ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งคนมี ทั้งคนจน ล้วนเดินหน้าไปหาความตาย ทั้งนั้น ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งสุกและดิบ ล้วนมีความแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็มีความตายเป็นที่สุด ฉันนั้น"
“วัยของเราหง่อมแล้ว, ชีวิตของเรายังอยู่เพียงเล็กน้อย เราจะจากพวกเธอไปเราได้ทำสรณะให้แก่ตนแล้ว ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีความประพฤติดีงาม มีความดำริมั่นคง จงตามรักษาจิตของตน. ผู้ใดในธรรมวินัยนี้จักเป็นอยู่อย่างไม่ประมาท, ผู้นั้นจะละชาติสงสาร กระทำความจบสิ้นทุกข์ได้"
“ภิกษุทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง จึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์นั้นน้อย เป็นของนิดหน่อย พลันลับหาย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จึงตริตรองการด้วยความรู้คิด จึงทำความดีงาม (กุศล) จึงครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์), ผู้เกิดมาแล้ว ที่จะไม่ตาย เป็นไม่มี คนที่มีอายุอยู่ได้นาน ก็อยู่ได้เพียงร้อยปี หรือเกินกว่าเล็กน้อย ผู้ที่มีชีวิตอยู่ถึงร้อยปี ก็อยู่ได้เพียง ๓๐๐ ฤดู เท่านั้น ผู้ที่อยู่ครบ ๓๐๐ ฤดู ก็อยู่ได้เพียง ๑,๒๐๐ เดือน...ผู้ที่อยู่ครบ ๑,๒๐๐ เดือน ก็อยู่ได้เพียง ๒,๕๐๐ ปักษ์ ผู้ที่อยู่ครบ ๒,๕๐๐ ปักษ์ ก็อยู่ได้เพียง๓๖,๐๐๐ ราตรีผู้ที่อยู่ครบ ๓๖,๐๐๐ ราตรี ก็บริโภคอาหารเพียง ๒๒,๐๐๐ มื้อ คือฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูร้อน ๒๕,๐๐๐ มื้อ ฤดูฝน ๒๕,๐๐๐ มื้อ ทั้งนี้ นับรวมทั้งเวลาที่ดื่มนมมารดา และที่มีอันตราย (เหตุขัดข้อง) ต่อการบริโภคอาหารด้วย อันตรายต่อการบริโภคอาหารมีดังนี้ คือ โกรธแล้ว ไม่บริโภคอาหารเสียบ้าง มีความทุกข์แล้ว ไม่บริโภคเสียบ้าง เจ็บไข้ จึงไม่ได้บริโภคเสียบ้าง รักษาอุโบสถ จึงไม่ได้บริโภคเสียบ้าง ไม่ได้อาหาร จึงไม่ได้บริโภคเสียบ้าง ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ผู้เป็นอยู่ ๑๐๐ ปี เราได้คำนวณนับแล้ว ประมาณอายุก็นับแล้ว ฤดูปี เดือน คืน วัน มื้ออาหาร อันตรายต่อการบริโภคอาหาร ก็ได้รับแล้ว ฉะนี้แล"
“ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้อนุเคราะห์ ผู้แสวงประโยชน์แก่สาวกทั้งหลาย จะพึงทำด้วยอาศัยน้ำใจเกื้อกูล, กิจนั้นเราได้กระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง, เธอทั้งหลาย จงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้มีความเดือดร้อนใจในภายหลังเลย, นี้คืออนุศาสนีของเรา สำหรับเธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ก็ควรทีเดียว ที่จะยังประโยชน์ตนนั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ก็ควรทีเดียว ที่จะยังประโยชน์ผู้อื่นนั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็ควรทีเดียว ที่จะยังประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท เร่งทำกิจ และเตรียมการเพื่ออนาคต"
“ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย, ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย, คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว ฯลฯ ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่ ย่อมประสบความสุขอันไพบูลย์ เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ทุกคนควรกระทำกิจหน้าที่ และไม่พึงประมาท"
“บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ อย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไปเสีย...พึงถอนลูกศรที่เสียบตัวออกเสีย ด้วยความไม่ประมาท และด้วยวิชชา รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ (ชีวิต) ตน ก็ควรรีบลงมือทำในเวลาที่ควรลุกขึ้นทำงาน ไม่ลุกขึ้นทำ ทั้งที่ยังหนุ่มแน่นมีกำลัง กลับเฉื่อยชา ปล่อยความคิดให้จมปลัก เกียจคร้าน มัวซึมเซาอยู่ ย่อมไม่ประสบทางแห่งปัญญา"
“คนที่เรียนรู้ (สุตะ) น้อยนี้ ย่อมแก่เหมือนโคถูก, เนื้อของเขาย่อมเจริญ(แต่) ปัญญาของเขาหาเจริญไม่ เมื่อยังหนุ่มสาว พรหมจรรย์ก็ไม่บำเพ็ญ ทรัพย์ก็ไม่หาเอาไว้ (ครั้นแก่เฒ่าลง) ก็ต้องนั่งซบเซา เหมือนนกกระเรียนแก่ เมื่อยังหนุ่มสาว พรหมจรรย์ก็ไม่ก็ไม่บำเพ็ญ ทรัพย์ก็ไม่หาเอาไว้ ครั้นแก่เฒ่า) ก็ได้แต่นอนทอดถอนถึงความหลัง เหมือนดังลูกศรที่เขายิงตกไปแล้ว (หมดพิษสง) ผลประโยชน์ทั้งปวง ตั้งอยู่ที่หลัก ๒ ประการ คือ การได้สิ่งที่ยังไม่ได้ และการรักษาสิ่งที่ได้แล้ว"
“ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลเหล่าหนึ่งเหล่าใดก็ตาม ที่ถึงความเป็นใหญ่ในโภคสมบัติ จะดำรงอยู่ได้ยืนนาน ด้วยเหตุ ๔ สถาน หรือสถานใดสถานหนึ่ง กล่าวคือ รู้จักแสวงหาสิ่งที่พินาศสูญหาย ปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม รู้จักประมาณในการกินการใช้ และตั้งสตรีหรือบุรุษผู้มีศีลให้เป็นใหญ่"
“ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย, ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย, ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย, คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว"
“จากความมัวเมา ก็เกิดความประมาท จากความประมาท ก็เกิดความเสื่อม จากความเสื่อม ก็เกิดโทษประดัง ผู้มีภาระปกครองรัฐ จงอย่าได้ประมาทเลย"
“กษัตริย์จำนวนมาก มีความประมาท ต้องสูญเสียประโยชน์ สูญเสียรัฐแม้แต่ชาวบ้าน ประมาท ก็สูญเสียบ้าน, ธนาคารกประมาท ก็สูญเสียความเป็นอนาคารก เมื่อผู้ครองแผ่นดินประมาท โภคทรัพย์ในรัฐย่อมพินาศทั้งหมด นี่แลเรียกว่า ทุกข์ภัยของผู้ครองแผ่นดิน"
“ความประมาทนี้ เป็นหลักอะไรไม่ได้ ผู้ครองแผ่นดินประมาทเกินขอบเขต โจรทั้งหลายก็กำจัดชนบทที่มั่งคั่งบริบูรณ์เสีย โอรสทั้งหลายก็จะไม่มีเหลือ เงินทองทรัพย์สินก็จะไม่มีเหลือ เมื่อรัฐถูกปล้น ก็จะเสื่อมจากโภคสมบัติทุกอย่าง ถึงจะเป็นขัตติยราช เมื่อโภคสมบัติย่อยยับหมดแล้ว ญาติมิตรสหายทั้งหลาย ก็ไม่นับถือในความคิดอ่าน, พลช้าง พลม้า พลรถ พลราบ ทั้งหลาย ที่อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ก็ไม่นับถือในความคิดอ่าน"
“ผู้นำที่จัดการงานไม่ดี เขลา ด้วยความคิดอ่าน ทรามปัญญา ย่อมหมดศรีสง่าเหมือนคราบเก่าที่ทิ้งไปแล้ว ส่วนผู้นำที่จัดแจงการงานเป็นอย่างดี หมั่นขยันถูกกาล ไม่เฉื่อยชา ย่อมมีโภคสมบัติที่เจริญยิ่งขึ้นๆ ทุกด้าน เหมือนฝูงใดที่มีโคผู้นำ ฉะนั้น พระองค์จึงเสด็จเที่ยวสดับความเป็นอยู่เป็นไปในแว่นแคว้นแดนชนบท, ครั้นได้เห็นได้สดับแล้ว จึงดำเนินราชกิจนั้นๆ"
“เป็นคนควรหวังเรื่อยไป บัณฑิตไม่ควรท้อแท้ เราเห็นประจักษ์มากับตนเอง เราปรารถนาอย่างใด ก็ได้สมตามนั้น ภิกษุทั้งหลาย เราประจักษ์ (คุณค่า) ของธรรม ๒ ประการ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย และความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร ฯลฯ โพธิอันเรานั้นได้บรรลุด้วยความไม่ประมาท, ความโล่งโปร่งใจ (โยคเกษม) อย่างเยี่ยมยอด อันเรานั้นได้บรรลุด้วยความไม่ประมาท"
“ภิกษุ ยังไม่ถึงความสิ้นอาสสิ้นอาสวะ อย่าได้นอนใจ เพียงด้วยความมีศีลและวัตร ด้วยความเป็นผู้ได้เล่าเรียนศึกษามาก ด้วยการได้สมาธิ ด้วยการอยู่วิเวก หรือ (แม้แต่) ด้วยการประจักษ์ว่า เราได้สัมผัสเนกขัมมสุขที่พวกปุถุชนไม่เคยได้รู้จัก"
“เตรียมกิจสำหรับอนาคตให้พร้อมไว้ก่อน อย่าให้กิจนั้นบีบคั้นตัวเมื่อถึงเวลาต้องทำเฉพาะหน้า"
“พึงระแวงสิ่งที่ควรระแวง, พึงป้องกันภัยที่ยังไม่มาถึง, ธีรชนตรวจตราโลกทั้งสอง เพราะคำนึงภัยที่ยังไม่มาถึง"
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมองเห็นภัยที่ยังไม่มาถึง (อนาคตภัย) ๕ ประการต่อไปนี้ คือ ความชรา ความเจ็บไข้ ความขาดแคลน คราวบ้านเมืองไม่สงบ คราวสงฆ์แตกแยก (ที่อาจจะเกิดมีขึ้น) ย่อมควรแท้ ที่ภิกษุจะเป็นอยู่โดยเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศตัวเด็ดเดี่ยว เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง ภิกษุทั้งหลาย อนาคตภัย ๕ ประการเหล่านี้ คือ ภิกษุทั้งหลายที่มิได้อบรมพัฒนากาย ศีล จิต ปัญญา จะเป็นอุปัชฌายให้อุปสมบท จะเป็นอาจารย์ จะเป็นผู้กล่าวอภิธรรมกถา เวทัลลกถา จะไม่ตั้งใจฟังพระสูตรที่เป็นตถาคตภาษิต จะเป็นพระเถระผู้นำในทางย่อหย่อน ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้ จักเกิดขึ้นในกาลต่อไป เธอทั้งหลายพึงตระหนักในการไว้ ครั้นตระหนักแล้ว จึงพยายามเพื่อป้องกันอนาคตภัยเหล่านั้น"
"ภิกษุทั้งหลาย อนาคตภัย ๕ ประการเหล่านี้ คือ ภิกษุทั้งหลาย จะมัวหมกมุ่นติดในเรื่องจีวรดีๆ อาหารดีๆ ที่อยู่อาศัยดีๆ แล้วทำการแสวงหาผิดวินัย จะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณี สิกขมานาและสามเณร จะอยู่คลุกคลีกับคนวัด ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้ จักเกิดขึ้นในกาลต่อไป เธอทั้งหลายพึงตระหนักล่วงหน้าไว้ ครั้นตระหนักแล้ว จึงพยายามเพื่อป้องกันอนาคตภัยเหล่านั้น"
“แน่ะสารีบุตร พระผู้มีพระภาคกกุสันธะ ก็ดี พระผู้มีพระภาคโกนาคมน์ ก็ดี พระผู้มีพระภาคกัสสปะ ก็ดี ไม่คร้านที่จะแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายโดยพิสดาร และสุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็มีมาก, สิกขาบท ท่านก็บัญญัติไว้แก่สาวกทั้งหลาย ปาฏิโมกข์ ท่านก็แสดงไว้ เมื่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า และเหล่าสาวกที่ตรัสรู้ตาม ลับล่วงไปแล้ว สาวกทั้งหลายรุ่นภายหลัง ซึ่งมีชื่อ โคตร ชาติตระกูลต่างๆ กัน ออกบวชแล้ว ก็ดำรงศาสนาไว้ได้ตลอดกาลยาวนาน เปรียบเหมือนดอกไม้นานาพรรณ ที่เขาวางไว้บนแผ่นไม้ แต่เอาด้ายร้อยไว้แล้วอย่างดี ลมกระพือพัดมา ก็พาให้กระจัดกระจายไม่ได้ ทั้งนี้เพราะถูกด้ายร้อยรวมกันไว้เป็นอย่างดี นี้คือเหตุปัจจัย ให้ศาสนาของพระผู้มีพระภาคกกุสันธะ พระผู้มีพระภาคโกนาคมน์ และพระผู้มีพระภาคกัสสปะ ดำรงอยู่ได้ยืนนาน"
“ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ฯลฯ ท่านทั้งหลาย ธรรมนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นเครื่องนำสู่ความหลุดพ้น เป็นไปเพื่อสันติ เป็นคำประกาศของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ทุกท่านทีเดียว พึงสังคายนาในธรรมนั้น ไม่พึงวิวาทกัน อันจะช่วยให้พระศาสนา (พรหมจรรย์) ยั่งยืน ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย"
“ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะ กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ฯลฯ ท่านทั้งหลาย ขอเชิญพวกเรามาสังคายนาธรรมและวินัยกันเถิด ก่อนที่อธรรมจะรุ่งเรือง ธรรมจะถูกขัดขวาง อวินัยจะรุ่งเรือง วินัยจะถูกขัดขวาง, ก่อนที่พวกอธรรมวาที่จะมีกำลัง ธรรมวาที่จะอ่อนกำลัง พวกอวินยวาทีจะมีกำลัง วินยวาที่จะอ่อนกำลัง"
“อานนท์ ตราบใดที่เจ้าวัชชีทั้งหลาย ยังจักประชุมกันเนืองนิตย์... ตราบใดที่พวกเจ้าวัชชียังจักพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจการหน้าที่ของชาววัชชี (ตราบนั้น) พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย... ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่ภิกษุทั้งหลาย ยังจักประชุมกันเนืองนิตย์... ตราบใดที่ภิกษุทั้งหลาย ยังจักพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจการหน้าที่ของสงฆ์ (ตราบนั้น) ภิกษุทั้งหลายพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย... ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่ภิกษุทั้งหลาย ยังจักเป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ... มีโอตตัปปะ เป็นผู้เล่าเรียนศึกษามาก (พหูสูต)... เป็นผู้ตั้งหน้าเพียร... เป็นผู้มีสติกำกับตัว... เป็นผู้มีปัญญา (ตราบนั้น) ภิกษุทั้งหลายพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย"
ในการทำจิต ท่านสอนให้รู้เท่าทันว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา แต่พุทธพจน์ชุดนี้กลับสอนว่า ถ้าทำกิจด้วยความไม่ประมาท ก็จะไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญอย่างเดียว จึงศึกษาพุทธพจน์สองแบบนี้ให้ชัดเจน จะได้เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติไม่ผิดพลาด นอกจากนี้ พึงสังเกตด้วยว่า ความไม่ประมาทในการปรับปรุงพัฒนาตน ซึ่งเป็นกิจส่วนตัว จะต้องดำเนินเคียงคู่ไปด้วยกันกับความไม่ประมาทในการทำกิจที่เป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
ก) ขอบเขตความหมาย
ข) ความหมายพื้นฐาน
ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
คุณค่าทางจริยธรรม
จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
๓. อนัตตตา