ง. คุณค่าเนื่องด้วยความหลุดพ้น หรือคุณค่าเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งความดีงาม

คุณค่าข้อนี้ ว่าที่จริงก็รวมอยู่ในคุณค่าข้อแรก คือคุณค่าด้านการทำจิต ในแง่ความปลอดกิเลส แต่มีความสำคัญเด่นเฉพาะ จึงยกมากล่าวเน้นไว้ต่างหาก คุณค่าสองข้อแรกนั้นทั้งคู่ ท่านมักกล่าวถึงโดยอ้างอิงหลักอนิจจตา เพราะความเป็นอนิจจังเป็นภาวะที่มองเห็นได้ง่าย ผู้ปฏิบัติธรรมแม้แต่ในระดับเบื้องต้น ก็จะได้รับประโยชน์จากไตรลักษณ์โดยเข้าถึงคุณค่าสองข้อแรกนั้นตามสมควรแก่ปัญญาของตน แต่คุณค่าข้อที่สามนี้มักจะมาพร้อมกับการมนสิการความเป็นอนัตตา เช่นว่า

“ภิกษุมองเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นว่า รูป...เวทนา... สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใด เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็ตาม ฯลฯ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของเรา มิใช่เราเป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา, เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ทั้งในกายอันพร้อมด้วยวิญญาณนี้ และในนิมิตหมายทั้งปวงภายนอก”

อหังการ ได้แก่กิเลสที่เรียกชื่อว่า ทิฏฐิ
มมังการ ได้แก่กิเลสที่เรียกชื่อว่า ตัณหา
มานานุสัย ได้แก่กิเลสที่เรียกชื่อสั้นๆ ว่า มานะ
นิยมเรียกเป็นชุดว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

พุทธพจน์นี้มีสาระสำคัญว่า ผู้ที่มองเห็นความเป็นอนัตตาชัดแจ้งแล้ว ก็จะไม่มีหรือจะชำระล้างเสียได้ซึ่งกิเลสที่เกี่ยวเนื่องผูกพันกับตัวตน หรือกิเลสที่เอาตนเป็นศูนย์กลาง ทั้งสามอย่าง คือ ความเห็นแก่ตัว ความแส่หาแต่สิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตน มุ่งได้มุ่งเอาผลประโยชน์ส่วนตัว ที่เรียกว่า ตัณหา ความถือตัว ความทะนงตน สำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่ อยากยิ่งใหญ่ใฝ่เด่น ข่มขี่ครอบงำผู้อื่น แสวงหาอำนาจมายกชูตน ที่เรียกว่า มานะ และความยึดติดในความเห็นของตน ความถือมั่น งมงาย ตลอดจนคลั่งไคล้ในความเชื่อถือ ทฤษฎี ลัทธินิยมและอุดมการณ์ต่างๆ ที่เรียกว่า ทิฏฐิ

กิเลส ๓ อย่างนี้ มีชื่อเรียกรวมกันเป็นชุดว่า ปปัญจะ หรือ ปปัญจธรรม แปลกันมาว่า ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ถ้าจะแปลให้ง่ายกว่า กิเลสตัวปั่น คือ ปั้นแต่งเรื่องราว ปั่นใจให้ทุกข์ ปั่นหัวให้เรื่องมาก ทำให้ยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ ยุ่งเหยิง ยึดยาว ฟ้ามเฟ้อ ฟันเฟือ ล่าช้า วกวน วุ่นวาย นุงนัง สับสน สลับซับซ้อน ทำให้เขวห่างหรือไถลเชือนเฉออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ เปิดเผย ปัญหาที่ยังไม่มี ก็ทำให้เกิดมีขึ้น ปัญหาที่มีอยู่แล้วก็ไม่อาจแก้ไขอย่างตรงไปตรงมาตามเหตุ แต่กลับทำให้ยุ่งยากซับซ้อนนุงนังยิ่งขึ้น เป็นตัวบงการพฤติกรรมที่ทำให้มนุษย์พล่านไปมา ขัดแย้ง แข่งขัน แย่งชิงกัน ตลอดจนก่อสงครามระหว่างพวกระหว่างฝ่าย ไม่เฉพาะแต่จะเป็นเหตุให้ทำความชั่วร้ายนานัปการเท่านั้น แม้เมื่อจะทำสิ่งที่ดีงาม ถ้ามีกิเลสตัวปันเหล่านี้อยู่เบื้องหลัง การทำความดีนั้นก็มีเงื่อนงำ มีปมแอบแฝง ไม่บริสุทธิ์ และทำได้ไม่บริบูรณ์ ไม่เต็มที่ กิเลสเหล่านี้จะคอยขัดถ่วงหรือชักให้เขว

ความจริง การพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมให้ผลเนื่องถึงกันหมด ดังนั้น การพิจารณาลักษณะทั้งสาม จึงมีคุณค่าส่งถึงความหลุดพ้นได้ทั้งสิ้น แต่กระนั้นตัวเด่นในการตัดสินชี้ขาดจะอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจอนัตตา ดังจะเห็นได้จากพุทธพจน์ที่ว่า “พึงเจริญอนิจจสัญญา เพื่อถอนอัสมิมานะ, ดูกรเมฒิยะ แท้จริงเมื่อมีอนิจจสัญญา อนัตตสัญญาจึงปรากฏ ผู้มีอนัตตสัญญา (หมายรู้ในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอนัตตา) จะลุถึงภาวะที่ถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ (ความถือพองว่าเป็นตัวกู) เป็นนิพพานในปัจจุบันนี้แหละ” 

ความรู้เข้าใจมองเห็นไตรลักษณ์ โดยเฉพาะความเป็นอนัตตา จะบรรเทากิเลสที่เกี่ยวเนื่องผูกพันกับตัวตนเหล่านี้ให้เบาบางลง ตลอดจนขจัดทำลายล้างให้หมดสิ้นไป สุดแต่กำลังปัญญาจะเห็นประจักษ์แจ้งทำจิตให้เป็นอิสระหลุดพ้นได้เพียงไหน เมื่อไม่มีกิเลสตัวปั่นเหล่านี้เป็นเงื่อนปมแอบแฝง และเป็นตัวกีดกั้นจำกัดให้คับแคบหรือเป็นแรงพัดพาให้เชื่อนเฉแล้ว หนทางแห่งการทำความดีงามก็เปิดโล่งกว้าง ไม่จำกัดขอบเขต จะบำเพ็ญคุณธรรมหรือสร้างสรรค์กรรมที่ดีงามใดๆ เช่น ไมตรี กรุณา ทาน ศีล อัตถจริยา (การบำเพ็ญประโยชน์) ก็ทำได้อย่างบริบูรณ์เต็มที่ และสะอาดบริสุทธิ์

รวมความว่า การเห็นไตรลักษณ์ด้วยมนสิการอย่างถูกวิธี จะนำให้เกิดคุณค่าทางจริยธรรมทั้งความดีงาม และความงอกงาม ที่มาพร้อมด้วยความสุข กล่าวคือ ดีงามด้วยกุศลธรรมที่แล่นโล่งไป ไม่มีอกุศลคอยขัดถ่วงหรือบีบเบียน งอกงามด้วยความไม่ประมาทในการทำกิจ และเป็นสุขด้วยปัญญารู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต ที่ทำให้จิตปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน เป็นอิสระ ความสุขไม่เป็นจริยธรรมโดยตัวของมันเอง แต่เป็นคุณค่าสำคัญทางจริยธรรม เป็นพื้นที่อิงอาศัยของจริยธรรม ทำให้จริยธรรมดำรงอยู่ได้มั่นคง ความสุขในที่นี้มุ่งเอานิรามิสสุข คือสุขที่ไม่อาศัยอามิสเป็นสำคัญ เพราะเป็นสุขที่ไม่เจือด้วยความหมักหมม ที่มักบูดเน่าหรืออืดเฟ้อ และก่อโทษขึ้นได้ในภายหลัง ผู้ที่มองเห็นไตรลักษณ์ รู้เท่าทันธรรมดา และมีนิรามิสสุขเป็นหลักประกัน แม้จะยังเสพกามสุข ก็จะไม่มืดมัวถึงกับหมกมุ่นหลงใหลหรือถลำลึกจนเกิดโทษรุนแรง โดยเฉพาะจะไม่เกินเลยจนกลายเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนตนและผู้อื่น และแม้เมื่อความสุขนั้นผันแปรไป ก็จะไม่ถูกความทุกข์ใหญ่ท่วมทับเอา ยังคงดำรงสติอยู่ได้ มีความกระทบใจแต่น้อย เป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุขในทุกระดับได้อย่างสมบูรณ์เต็มอิ่มเต็มรสและคล่องใจ เพราะไม่มีความกังวลขุ่นข้องเป็นเงื่อนปมหรือเป็นเครื่องกีดขวางที่คอยรบกวนอยู่ภายใน และยิ่งกว่านั้น ทั้งที่สามารถเสวยสุขทั้งหลายได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ไม่ติดในสุขเหล่านั้น ไม่ว่าจะประณีตหรือดีวิเศษเพียงใด

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ง. คุณค่าเนื่องด้วยความหลุดพ้น หรือคุณค่าเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งความดีงาม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา

ค. ความสำคัญและความสัมพันธ์ของคุณค่าทางจริยธรรม ๒ ด้าน

ยังมีข้อควรทราบอีกบางประการเกี่ยวกับความสำคัญของคุณค่าทางจริยธรรมทั้งสองอย่างของไตรลักษณ์ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าทั้งสองนั้น ซึ่งจะนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

🔅๑. คุณค่าด้านการทำจิต กับคุณค่าด้านการทำกิจ
ช่วยปิดช่องเสียของกันและกัน และช่วยเสริมกันให้เกิดคุณประโยชน์โดยสมบูรณ์

ก. คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ ช่วยเสริมคุณค่าด้านการทำกิจหรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท ดังนี้
        ๑) ช่วยให้การทำกิจเป็นไปโดยบริสุทธิ์ คือ ทำการด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่มีเงื่อนปมของกิเลสที่แอบแฝงคอยชักพาไป ปฏิบัติตรงไปตรงมาตามเหตุปัจจัย เพื่อจุดมุ่งหมายที่ดีงามอย่างแท้จริง
        ๒) ช่วยให้การทำกิจดำเนินไปด้วยความสุข คือ ปิดช่องเสียสำคัญของนักทำกิจ ที่เมื่อกระตือรือร้นเร่งรัดทำงาน ก็มักทำด้วยความเร่าร้อนกระวนกระวาย มีความเครียดกังวลมาก เพราะทำด้วยถูกแรงกิเลสบีบคั้น เช่น ทำด้วยความกลัว ด้วยความคิดแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน เป็นต้น เปลี่ยนเป็นทำงานด้วยจิตใจที่สงบสุข เบิกบาน ผ่องใส ด้วยความรู้เท่าทัน ที่ช่วยให้ทำใจเป็นอิสระได้เสมอ

นอกจากนั้น ในเมื่อผู้ทำกิจเห็นคุณค่าของความบริสุทธิ์หลุดพ้นและความสงบสุขของจิตแล้ว การทำงานสร้างสรรค์พัฒนาต่างๆ ภายนอก ก็จะเป็นไปโดยมีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความมีชีวิตที่บริสุทธิ์และสุขสงบไปด้วย พูดสั้นๆ ว่า การพัฒนาวัตถุจะดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาจิตใจ

ข. คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท ช่วยเสริมคุณค่าด้านการทำจิตหรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ คือ ตามหลักสามัญที่ว่า คนทั่วไปเมื่อสุขสบายแล้ว ก็มักประมาท โดยหยุดนิ่งเฉยเสีย คือไม่กระตือรือร้นที่จะทำกิจต่อไป ไม่เฉพาะคนผู้สร้างสรรค์พัฒนาวัตถุหรือแก้ไขปัญหาภายนอกเท่านั้น ที่เมื่อเจริญสุขสบายแก้ไขปัญหาสำเร็จแล้ว มักจะประมาท แม้แต่คนที่ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้แล้ว จิตใจหายทุกข์ โล่งสบาย ก็มักติดเพลินในความสงบสบายใจนั้น แล้วหยุดนิ่งเฉย ไม่แก้ไขปัญหาภายนอกที่ค้างคาอยู่ ไม่เร่งรัดตนเองให้ทำกิจที่ควรทำ ทั้งเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนาภายนอกต่อไป คุณค่าด้านการทำกิจของไตรลักษณ์ จะปิดช่องเสียนี้ และเร่งเร้าผู้นั้นให้กระตือรือร้นทำกิจต่อไป

กล่าวโดยย่อ ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง คุณค่าทั้งสองด้านนี้จะต้องประสานและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน การทำจิตจะต้องช่วยการทำกิจให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยให้ทำอย่างบริสุทธิ์และมีความสุข ไม่ใช่มาหยุดหรือถ่วงการทำกิจ การทำกิจก็จะต้องเสริมการทำจิตไม่ให้กลายเป็นความติดเพลิน แต่ให้เร่งรัดก้าวหน้าต่อไป การปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น จะแก้ไขปัญหาเรื่องทำการด้วยใจมีทุกข์ และสบายแล้วหยุด ให้กลายเป็นทำกิจ ด้วยจิตสบาย และถึงแม้สบายก็ยังทำกิจ หรือ เมื่อสร้างความเจริญอยู่ ก็ไม่มีทุกข์ เมื่อเจริญสบายแล้ว ก็ไม่นิ่งหยุด สามารถเอาการทำจิตมาคุมการทำกิจ และเอาการทำกิจไปสนับสนุนการทำจิต ให้ได้ผลสมบูรณ์ด้วยกันและพร้อมกันทั้งสองด้าน

🔅๒. คุณค่าทั้งสองด้านต่างก็อาศัยปัญญาหรือมีแกนรวมที่ปัญญา

ก. ในด้านการทำจิต ปัญญาที่รู้เท่าทันสังขาร มองเห็นไตรลักษณ์ ทำให้หายยึดติดถือมั่นในสังขารสามารถสละ ละ ปล่อยวาง ทำใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระ ยิ่งรู้เท่าทันชัดเจนมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นอิสระมากขึ้น บรรลุภูมิธรรมสูงขึ้น และสามารถดำรงอิสรภาพของจิตไว้ได้ตลอดเวลา เช่น เมื่อได้ฌานได้วิปัสสนาก็รู้เท่าทันแม้แต่สุขในฌาน ในวิปัสสนานั้นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วไม่ติดในสุขนั้น ไม่ติดในฌานในวิปัสสนานั้น เป็นต้น

ข. ในด้านการทำกิจ ปัญญาที่รู้เท่าทันสังขาร มองเห็นไตรลักษณ์ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นเร้าเตือนที่จะเร่งทำกิจ ใช้ชีวิตใช้เวลาให้เกิดคุณค่ามากที่สุด ความรู้เท่าทันว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ทำให้พิจารณาค้นหาเหตุปัจจัย เพื่อแก้ไขที่เหตุปัจจัย หรือทำการให้ตรงตัวเหตุตัวปัจจัย ความรู้และทำให้ตรงตัวเหตุปัจจัยนี้ รวมไปถึงการพิจารณาทบทวนวิเคราะห์หาเหตุปัจจัยในกระบวนการเปลี่ยนแปลงส่วนที่ผ่านมาแล้ว เพื่อเป็นบทเรียน และกำหนดเหตุปัจจัยที่จะต้องเกี่ยวข้องในการที่จะกระทำ เพื่อป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญพัฒนาต่อไปด้วย

🔅๓. คุณค่าทางจริยธรรมทั้งสองข้อของไตรลักษณ์ แสดงถึงความสำคัญอย่างยวดยิ่งของหลักไตรลักษณ์ ดังนี้

ก. ไตรลักษณ์ เป็นจุดบรรจบของสภาวสัจจะสำหรับปัญญา จะรู้เข้าใจให้เกิดความหลุดพ้นเป็นอิสระ และของจริยธรรมที่จะต้องประพฤติปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือ ไตรลักษณ์นั้นเป็นสภาวสัจจะหรือความจริงตามสภาวะ ซึ่งเป็นเรื่องสำหรับปัญญาจะรู้เข้าใจ ซึ่งเมื่อรู้เข้าใจเท่าทันแล้ว ก็จะทำให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ และในเวลาเดียวกันนั้น ไตรลักษณ์ ก็เป็นเครื่องเร้าเตือน ทำให้ผู้รู้เข้าใจไตรลักษณ์แล้ว เกิดความไม่ประมาท เร่งรัดทำกิจที่ควรทำ และหลีกเว้นการที่ควรเว้น ขวนขวายสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ด้วยการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมต่างๆ

ข. ไตรลักษณ์เป็นจุดกำเนิดของจริยธรรมตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้าย ข้อนี้ก็มีเหตุผลทำนองเดียวกับข้อ ก. คือ ความสำนึกในไตรลักษณ์เป็นเครื่องเร้าเตือนให้ไม่ประมาท ทำให้เว้นชั่ว ทำดี ทำกิจสร้างสรรค์ ทำให้มีการประพฤติจริยธรรมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นขึ้นไป จนในที่สุดเมื่อมีความรู้แจ้งชัดในไตรลักษณ์โดยสมบูรณ์ ก็จะทำให้สามารถดำรงจิตเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง หลุดพ้น เป็นเสรีโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นจุดสุดยอดของจริยธรรม

ค. ไตรลักษณ์ เป็นที่บรรจบของโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม กล่าวคือ คุณค่าด้านการทำจิตหรือความมีใจหลุดพ้นเป็นอิสระนั้น เป็นคุณค่าในระดับโลกุตระ ส่วนคุณค่าด้านการทำกิจหรือความไม่ประมาท เป็นคุณค่าระดับโลกิยะ การที่คุณค่าทั้งสองด้านนั้น ช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ก็เป็นเครื่องแสดงว่าในชีวิตที่พึงปรารถนา โลกิยธรรมกับโลกุตรธรรมจะอิงอาศัยไปด้วยกันพร้อมๆ กัน ดังหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ พระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งเป็นบุคคลแบบอย่างสูงสุด เป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เป็นอิสระแล้วโดยสมบูรณ์ และอิสรภาพสมบูรณ์ของจิตนั้น ท่านได้ทำสำเร็จแล้วด้วยความไม่ประมาท พระอรหันต์จึงเป็นบุคคลระดับเดียวที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้บำเพ็ญความไม่ประมาทแล้วโดยสมบูรณ์ เป็นตัวอย่างของผู้ที่ได้ทำกิจสำเร็จแล้วด้วยความไม่ประมาท แม้เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็บำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของพหูชนด้วยความไม่ประมาทต่อไป (มีพุทธพจน์บางแห่งตรัสแสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์ไว้ว่า “เป็นผู้ไม่อาจ (คือเป็นไปไม่ได้) ที่จะประมาท”ท่านแสดงเหตุผลว่า เพราะกิจที่พึ่งทำด้วยความไม่ประมาท พระอรหันต์เหล่านั้นได้ทำเสร็จแล้ว) แม้คนทั่วไปที่ยังเป็นปุถุชน ก็ควรดำเนินตามแบบอย่างของท่านผู้บรรลุจุดหมายสูงสุดแล้วเหล่านี้ ด้วยการดำเนินชีวิตที่จะให้ได้คุณค่าทั้งสองด้านของไตรลักษณ์ คือ ทั้งทำจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระเท่าที่จะทำได้ในวิสัยของตน และทั้งทำกิจด้วยความไม่ประมาทไปด้วยพร้อมกัน

ง. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ เป็นหลักประกันของศีลธรรมที่สมบูรณ์ ซึ่งได้ผลแน่นอนมั่นคง และเด็ดขาด อธิบายว่า สิ่งที่จะเป็นหลักประกันให้คนมีศีลธรรมได้อย่างแน่นอนเด็ดขาดมี ๒ อย่าง คือ
        ๑) จิตไม่เอา คือ ความรู้สึกของจิตใจที่ไม่เกาะเกี่ยว ไม่อยาก ไม่ปรารถนาอามิส ไม่คิดละเมิดหรือคิดที่จะทำผิดใดๆ เลย เพราะจิตพ้นไป ใจอยู่เหนือ ไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้กระทำเช่นนั้นเหลืออยู่ หมดความเห็นแก่ตัว
        ๒) ความสุขที่ดีกว่า อย่างที่ท่านเรียกว่า ความสุขอันประณีต ซึ่งเข้าถึงได้ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ขึ้นต่ออามิส ไม่ต้องอาศัยการกระทำที่ผิดศีลธรรมเลย

ว่าที่จริง เพียงข้อ ๑) อย่างเดียว ก็เป็นหลักประกันที่เพียงพออยู่แล้ว สำหรับความเป็นอยู่ที่จะไม่มีการประพฤติผิดศีลธรรม หรือละเมิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ส่วนข้อที่ ๒) เป็นคุณค่าที่เสริมเพิ่มให้แน่นหนายิ่งขึ้นไปอีก คุณค่าข้อที่ ๑ ของไตรลักษณ์ คือคุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความเป็นอิสระหลุดพ้นของจิตอำนวยสิ่งที่จะเป็นหลักประกันของศีลธรรมทั้งสองข้อนี้ กล่าวคือ ความรู้เท่าทันสังขาร มองเห็นไตรลักษณ์ ย่อมทำให้จิตใจเป็นอิสระ หายยึดติดผูกพัน สลัดพ้นไป ลอยตัว ไม่เห็นสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ ว่าน่าเอา น่าเป็น หรือน่าเกลียด น่าชัง ที่จะเป็นเหตุให้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นการผิดศีลธรรม พูดอีกนัยหนึ่งว่า ศีลธรรมเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะทำให้ประพฤติผิดศีลธรรมนั้นเลย อีกประการหนึ่ง ความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิต เป็นเหตุให้เกิดความสุขอย่างประณีตลึกซึ้ง ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดศีลธรรมนั้น คือ ผู้หลุดพ้น มีความรู้สึกเป็นเสรี ปลอดโปร่งโล่งเบา เบิกบานผ่องใส และบางท่านก็อาจจะได้สมาธิได้ฌานที่ทำให้มีความสุขประณีตแบบต่างๆ ได้อีก เมื่อมีความสุขอยู่แล้ว และเป็นสุขที่ดีกว่า ก็จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ผู้นั้นย่อมจะไม่เกิดความคิดใดๆ ที่จะละเมิดศีลธรรมเพื่อหวังความสุขที่ตนยังไม่ได้

อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่เป็นหลักประกันข้อที่ ๒) คือความสุขที่ประณีตอย่างเดียว ถ้าเป็นสุขในระดับโลกิยะ เช่น ได้ฌาน เป็นต้น ก็ยังไม่เป็นหลักประกันที่ปลอดภัยโดยสมบูรณ์ เพราะผู้ได้สุขประณีตระดับโลกิยะ อาจถอยกลับมาหมกมุ่นในสุขหยาบๆ ได้อีก จะให้ปลอดภัยแท้จริง ต้องได้หลักประกันข้อที่ ๑) คือ จิตไม่เอาด้วย มิฉะนั้นก็ต้องเป็นสุขประณีตขั้นโลกุตระ ซึ่งก็ย่อมมาด้วยกันกับหลักประกันข้อที่ ๑ อยู่เองเป็นธรรมดา

อารยชน บุคคลโสดาบัน เป็นผู้ที่มีหลักประกันทางศีลธรรมทั้งสองข้อที่กล่าวนี้อยู่กับตัวแล้ว จึงเป็นผู้มีศีลธรรมสมบูรณ์ จะไม่มีการประพฤติผิดศีลธรรมใดๆ เลยอย่างแน่นอน แม้โดยหลักการท่านก็เรียกพระอริยบุคคล หรือตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไป ว่าเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ดังนั้น ถ้าต้องการให้ศีลธรรมแผ่ทั่วไปในสังคมอย่างมั่นคง ก็จะต้องพัฒนาคนส่วนใหญ่ให้เป็นโสดาบัน จึงจะประสบความสำเร็จแท้จริง ถ้าไม่สามารถสร้างหลักประกัน ๒ อย่างนี้ขึ้น ความหวังที่จะให้สังคมมีศีลธรรมมั่นคงก็เป็นไปได้ยาก เพราะมีเชื้อหรือความโน้มเอียงที่จะละเมิดศีลธรรมอยู่ภายในตัวคนทั่วๆ ไป อันได้แก่จิตที่จะเอา หรือกิเลสที่จะละเมิด ในกรณีเช่นนี้ การสร้างเสริมศีลธรรมจะต้องใช้วิธีสร้างระบบการบังคับควบคุม การข่มฝืน หรือใช้พลังอย่างอื่นที่แรงกว่ามากดหรือท่วมท้นออกไป ซึ่งย่อมไม่ปลอดภัยจริง และไม่ได้ผลสมบูรณ์

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สำเร็จผลด้วยดีของวิธีการเช่นนี้ มีอยู่ทั่วไป เช่น คนในยุคปัจจุบันนี้เอง ได้เล่าเรียนกันมามากๆ ทั้งที่รู้อยู่ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด เป็นคุณหรือเป็นโทษ แต่เพราะตกอยู่ในอำนาจของความอยาก ความชัง ความหลงมัวเมา คือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ละเมิดศีล ทำการที่เป็นการเบียดเบียนตนเอง (เช่น ดื่มสุรา เป็นทาสยาเสพติด) บ้าง เบียดเบียนสังคม (เช่น ทุจริต แย่งชิง เอาเปรียบคนตลอดจนตัดไม้ทำลายป่า) บ้าง คำชี้แจงโดยเหตุผลก็ดี การใช้กฎหมายบังคับก็ดี ปรากฏว่าได้ผลน้อยกว่าที่ควรไม่แน่ไม่จริง บางที่เหมือนเล่นเอาเถิดกัน

ในกรณีที่ไม่สามารถสร้างหลักประกันของศีลธรรมอย่างที่กล่าวข้างต้น มนุษย์ทั่วไปจะใช้วิธีการต่อไปนี้ในการรักษาหรือส่งเสริมศีลธรรม ซึ่งได้ผลมากบ้างน้อยบ้าง แต่ไม่เด็ดขาด คือ

👉ใช้พลังความกลัว โดยขู่บังคับด้วยอำนาจของคน ได้แก่การวางกฎเกณฑ์ กฎหมาย และระบบการลงโทษ ซึ่งจะมีการพยายามหลบเลี่ยง ทำให้ต้องวางระบบการควบคุมซับซ้อนยิ่งขึ้น และอาจจะมีความทุจริตในระบบ เช่น การสมคบกัน โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ทำให้การรักษาศีลธรรมได้ผลน้อยลงๆ

👉ใช้พลังความกลัว โดยขู่ด้วยอำนาจเร้นลับ เช่น เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งในสมัยที่คนเชื่อ ก็ได้ผลไม่น้อย แต่เมื่อคนมีความรู้อย่างปัจจุบันมากขึ้น ก็ได้ผลน้อย การใช้พลังความกลัวในข้อนี้รวมไปถึงความกลัวต่อการไปเกิดในนรกด้วย

👉 ใช้พลังความกลัว โดยบีบด้วยอำนาจเกียรติยศและความนิยมนับถือ คือใช้อำนาจบีบคั้นของสังคม ทำให้กลัวความติเตียน ความเสียชื่อเสียง เป็นต้น สำหรับบางคนก็ได้ผล บางคนก็ไม่ได้ผล ถึงแม้ได้ผลก็ไม่เด็ดขาด (เช่น อาจจะลอบทำ หลบทำ)

👉 ใช้พลังความอยาก โดยล่อด้วยรางวัลหรือผลตอบแทน ทั้งจากคนด้วยกัน จากเทพเจ้าหรืออำนาจเร้นลับศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนการไปเกิดในสวรรค์ ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ตามกาลเทศะ ไม่แน่นอน

👉 ใช้พลังมโนธรรม โดยเร้าความละอายแก่ใจ ความเคารพตนเอง และความมีสติสัมปชัญญะ พลังข้อนี้น้อยคนจะมีมาก คนส่วนมากมีพลังนี้น้อย มักพ่ายแพ้แก่พลังความอยากเป็นต้น จึงรักษาศีลธรรมไว้ได้เพียงบางส่วน โดยเฉพาะในยุคที่มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมาก และมีค่านิยมหยาบ พลังมโนธรรมนี้ก็คุ้มครองไม่ได้มาก

👉 ใช้พลังศรัทธา โดยเร้าให้จิตแล่นพุ่งดิ่งไปในอุดมคติ อุดมการณ์ หรือสิ่งสูงส่งดีงามอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ซึ่งทำสำเร็จได้ยาก และแม้สำเร็จแล้ว ก็ไม่แน่นอน อาจกลับกลายเป็นอื่นไปได้ เพราะความเชื่อ เป็นการขึ้นต่อสิ่งอื่น ไม่ใช่ความรู้จริง และก็ยังไม่หมดเชื้อกิเลสภายใน ซึ่งอาจกำเริบมีกำลังแข็งกล้าขึ้นมากลบทับศรัทธาในคราวหนึ่งคราวใดก็ได้ หรือศรัทธานั้นก็อาจจะจางลงและหายไปเอง (ข้อนี้รวมถึงพลังสมาธิในระดับเจโตวิมุตติขั้นต้นๆ ด้วย)

👉 ใช้พลังฉันทะ โดยเร้าให้เกิดความอยากสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม หรือความใฝ่ดี ข้อนี้เป็นพลังตรงข้ามหรือคู่ปรับโดยตรงกับพลังตัณหาที่เป็นตัวการให้ประพฤติผิดหรือละเมิดศีลธรรม ในกรณีที่ยังไม่สามารถสร้างความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิตขึ้นได้ ควรมุ่งเน้นการสร้างพลังฉันทะนี้ เพราะเป็นพลังที่เป็นกุศล เจือด้วยปัญญา และส่งต่อถึงความหลุดพ้นเป็นอิสระได้โดยตรงกว่าข้ออื่นๆ

ไม่ว่าจะมีพลังชนิดใดอยู่เบื้องหลัง การปฏิบัติก็ต้องอาศัยสัญญมะ คือการบังคับควบคุมตนเองเป็นหลักในการทำให้ศีลธรรมสัมฤทธิผล ดังนั้น ในการพัฒนาคนด้านศีลธรรม จึงต้องฝึกให้คนมีความเข้มแข็งรู้จักบังคับควบคุมตนได้ ซึ่งความสำเร็จผลจะง่ายหรือยาก และผลจะดีมากหรือน้อย ก็ขึ้นต่อพลังหนุนที่อยู่เบื้องหลังด้วย ในบรรดาพลังที่กล่าวมานั้น พลังที่จัดว่าอยู่ในขั้นประณีต ก็คือ พลังมโนธรรม พลังศรัทธา และพลังฉันทะ แต่ทั้งนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่า พลังเหล่านี้จะยังไม่สามารถให้ผลแน่นอนเด็ดขาด ศีลธรรมของสังคมจะมั่นคงแท้จริง ก็ต่อเมื่อคนเข้าถึงสิ่งที่เป็นหลักประกันของศีลธรรม ๒ อย่าง ซึ่งทำให้มีศีลธรรมขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ คือ จิตที่พ้น และสุขที่ประณีต ซึ่งไม่ขึ้นต่ออามิส ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

จ. ความไม่ประมาท ซึ่งเป็นคุณค่าทางจริยธรรมข้อที่ ๒ ของไตรลักษณ์นั้น เป็นเครื่องเร่งเร้าให้เกิดความก้าวหน้าในธรรม และพร้อมกันนั้นก็เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าในธรรมด้วย ดังได้กล่าวแล้วว่า พระอรหันต์เป็นจุดสุดยอด เป็นที่บรรจบร่วม และเป็นที่แสดงออก ทั้งของความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ และการที่ได้บำเพ็ญความไม่ประมาทโดยสมบูรณ์ เป็นจุดสมบูรณ์ ทั้งของการปฏิบัติ ทางจริยธรรม และของความรู้แจ้งเข้าถึงสัจธรรม เป็นที่ประสานกลมกลืนของความปล่อยวางไม่ยึดมั่น กับการกระทำอย่างเอาใจใส่จริงจัง เป็นจุดเต็มแห่งการบรรลุโลกุตรธรรม และการปฏิบัติถูกต้องต่อโลกิยธรรม เป็นที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ดูเหมือนขัดแย้งตรงข้ามกัน แต่ที่จริงสอดคล้องไปด้วยกันได้อย่างไร มิใช่เพียงสอดคล้องไปกันได้เท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมกันอีกด้วย

ความไม่ประมาทเป็นศูนย์รวมของจริยธรรม และเป็นตัวเร่งให้เกิดการกระทำตลอดกระบวนการแห่งปฏิบัติการทางจริยธรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด ยังมีพุทธพจน์ตรัสเรียกว่าเป็นดุจรอยเท้าช้างที่ใหญ่ ซึ่งคุมรอยเท้าของสัตว์บกอื่นๆ ได้หมดทุกชนิด ความไม่ประมาทคุมคุณธรรมข้ออื่นทุกอย่างให้ออกทำงาน คุณธรรมข้ออื่นๆ ต้องมีความไม่ประมาทออกร่วมปฏิบัติงาน ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว คุณธรรมข้ออื่นๆ ถึงแม้มีอยู่มากมาย กล่าวถึงเต็มไปทั่วคัมภีร์ทั้งหลาย ก็เงียบเฉย เหมือนไม่มีหรือนอนตายแล้วทั้งหมด เปล่าประโยชน์ ต่อเมื่อไม่ประมาทแล้ว คุณธรรมทั้งหลายจึงจะสำแดงผลอย่างแท้จริง แต่สำหรับบุคคลที่มีกิเลส จิตยังไม่หลุดพ้น ความไม่ประมาทมักจะถูกถ่วงรั้งให้ย่อหย่อนหรือหยุดเฉย กลายเป็นความประมาทเสียบ่อยๆ เพราะมัวติดเพลินอยู่ในอามิส และในอารมณ์ที่ล่อให้ลุ่มหลงหรือให้เขวไปเสียบ้าง ถูกกิเลสเช่นตัณหา พาให้เกียจคร้าน ห่วงกังวล หรือเถลไถลเสียบ้าง การปฏิบัติจริยธรรม จึงบกพร่องอยู่เนื่องๆ หรือไม่สำเร็จผลเลย ในทางตรงข้าม ยิ่งมีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระมากขึ้น ก็ยิ่งไม่ติดเพลินในอามิสและในอารมณ์ที่ล่อหลอกและไม่ถูกกิเลสครอบงำ ไม่มีเครื่องถ่วงรั้งไว้ จึงยิ่งจะเป็นผู้ไม่ประมาท เร่งรัดทำกิจที่ควรทำได้มากขึ้น ความเป็นอิสระละวางกับความเอาจริงเอาจังในงาน จึงเสริมกันให้ต่างก็สมบูรณ์ไปด้วยกันฉะนี้

พร้อมกันนั้น หลักความไม่ประมาทเท่าที่กล่าวมา ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้สำนึกว่า ทุกคนแม้เป็นอริยะแล้วในชั้นต้นๆ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ก็ยังมีจุดอ่อน อาจไปติดเพลินในความสุขสบาย และอิ่มพอในผลสำเร็จที่ลุถึงแล้ว กลายเป็นผู้ประมาท คือ พลั้งพลาดเอากุศลธรรมและคุณวิเศษที่ได้บรรลุแล้ว เป็นปัจจัยแห่งความประมาทไปเสีย จึงต้องเตือนตนอยู่เสมอ ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และหมั่นสร้างความสังเวช คือ คอยเร้าเตือนจิตสำนึกให้คิดที่จะไม่ประมาทอยู่ตลอดทุกเวลา ในเมื่อคนทั้งหลายมีเชื้อหรือมีความโน้มเอียงที่จะเป็นผู้ประมาท จึงเป็นธรรมดาว่า ในหมู่ชนที่อยู่รวมๆ กัน มากก็ตาม น้อยก็ตาม จะต้องมีคนอย่างน้อยส่วนหนึ่งที่ตกอยู่ในความประมาท จึงเป็นความไม่ประมาทอย่างหนึ่งของคนผู้ไม่ประมาท ที่จะทำตนเป็นกัลยาณมิตร ช่วยเร้าเตือนให้คนเหล่านั้น ถอนตนจากความประมาทและกลายเป็นผู้ไม่ประมาทด้วย ความมีกัลยาณมิตร หรือกัลยาณมิตตตา เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ท่านให้ใช้เป็นคู่เสริมกันกับความไม่ประมาท เพื่อจะให้ตอบได้ซึ่งคำถามว่า คุณธรรมข้ออื่นๆ ก็นอนเป็นตายหมด ในเมื่อประมาท และก็เมื่อประมาทแล้ว จะแก้ไขได้อย่างไร โดยไม่ต้องรอให้ทุกข์มาบีบคั้นเสียก่อน

กล่าวโดยสรุป ทุกคนพึงไม่ประมาท คือ เร่งรัดทำกิจหน้าที่ ทั้งเพื่อประโยชน์ตน คือเพื่อพัฒนาตนเองและเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น คือเพื่อช่วยผู้อื่นให้พัฒนา เช่น

🙏 ผู้ปกครองรัฐ จึงไม่ประมาท ในการสร้างเสริมความสงบเรียบร้อยเป็นสุข จัดสรรสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่ความอยู่ดีมีธรรม และการแสวงหาคุณค่าที่สูงขึ้นไปทางจิตปัญญาของประชาชน

🙏 พระเถระ พึงไม่ประมาท ในการเผยแผ่ธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ขวนขวายบำเพ็ญกิจเพื่อเห็นแก่ชุมชนที่จะเกิดมาภายหลัง (ปัจฉิมาชนตา) และทำการทุกอย่างที่จะให้สัทธรรมดำรงมั่นเพื่อประโยชน์สุขของชนจำนวนมากตลอดกาลนาน

🙏 พระภิกษุทุกรูป จึงไม่ประมาท ในการบำเพ็ญสมณธรรม และในการทำจิตของประชาชนให้ผ่องใสสร้างความรู้สึกร่มเย็นปลอดภัย ทั้งด้วยความประพฤติที่ปราศจากการเบียดเบียนของตนเอง และด้วยการสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติดีงามทำสังคมให้ร่มเย็น

🙏 คนทุกคนจึงไม่ประมาท ในการบำเพ็ญประโยชน์ตน ด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนได้ และในการบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น ด้วยการช่วยให้เขาสามารถพึ่งตนโดยมีตนที่พึ่งได้ พัฒนาจิตปัญญาเพื่อเข้าถึงประโยชน์สุขสูงสุด ที่จะให้มีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระ และเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท

อนึ่ง เนื่องด้วยเป็นสามัญวิสัยของมนุษย์ทั้งหลายที่ว่า เมื่อเจริญก้าวหน้าแก้ปัญหาสำเร็จ มีวัตถุพรั่งพร้อม อยู่สุขสบายแล้ว มักจะประมาท หรือมองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ยอมรับความจริง ทำจิตปรับในปลงใจได้แล้ว ก็มักประมาท จึงเป็นธรรมเนียมของพระศาสดา ผู้นำ และผู้บริหารที่ดี จะต้องทำตนเป็นกัลยาณมิตรใหญ่ คอยหาอุบายเร่งเร้าอยู่เสมอ ทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ด้วยการแนะนำสั่งสอนบ้าง สร้างสถานการณ์ปลุกใจบ้าง ทำเหตุบีบคั้นที่ไม่เสียหายบ้าง เพื่อกระตุ้นเตือนมนุษย์ทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ค. ความสำคัญและความสัมพันธ์ของคุณค่าทางจริยธรรม ๒ ด้าน
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา

                ๓. อนัตตตา

ข. คุณค่าที่ ๒: คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท

ในด้านการทำกิจ คือ ปฏิบัติหน้าที่การงานหรือทำสิ่งที่ควรทำนั้น เป็นธรรมดาที่ว่า ปุถุชนทั้งหลายมักมีความโน้มเอียงดังต่อไปนี้

๑. เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นเข้าแล้ว มีภัยมาถึงตัว เกิดความจำเป็นขึ้นเฉพาะหน้า จึงหันมาเอาใจใส่ปัญหาหรือกิจที่จะต้องทำ แล้วดิ้นรนหรือบางทีถึงกับตะลีตะลานที่จะพยายามแก้ไขปัญหา หรือทำการนั้นๆ ซึ่งบางคราวก็แก้ไขหรือทำได้สำเร็จ แต่บางทีก็ไม่ทันการ ต้องประสบความสูญเสีย หรือถึงกับพินาศย่อยยับ แม้ถึงจะแก้ไขหรือทำได้เสร็จ ก็ต้องเดือดร้อนกระวนกระวายมาก และยากที่จะสำเร็จอย่างเรียบร้อยด้วยดี อาจเป็นอย่างที่เรียกว่า สำเร็จอย่างยับเยิน

ข. ยามปกติอยู่สบาย หรือแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ ทำกิจเฉพาะหน้าเสร็จไปที่หนึ่งแล้ว ก็นอนกายนอนใจ เฝ้าแสวงหาแส่เสพแต่ความสุขสำราญ หลงใหลมัวเมาในความปรนเปรอบำรุงบำเรอ หรือไม่ก็เพลิดเพลินติดในความปกติสุขอยู่สบายไปชั่ววันๆ ไม่คิดคำนึงที่จะป้องกันความเสื่อมและภัยที่อาจมาถึงในวันข้างหน้า มีกิจที่ควรทำ ถ้ายังไม่จวนตัว ก็ผิดเพี้ยนรอเวลาไว้ก่อน พอทุกข์บีบคั้น ภัยถึงตัว จำเป็นเข้า ก็ตะลีตะลานแก้ไข พอผ่านพ้นไปได้ ก็ลงนอนเสพสุขต่อไปอีก ปฏิบัติวนเวียนอยู่ในวงจรเช่นนี้ จนกว่าจะถึงวันหนึ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้ทันการ หรือแก้ไขสำเร็จอย่างยับเยินเกิน กว่าจะดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็เป็นอันจบสิ้นสภาพความเป็นอยู่

การดำเนินชีวิตอย่างที่กล่าวมานี้ เรียกว่าความประมาท ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า ความละเลย หลงเพลิน ปล่อยตัว ทอดทิ้งกิจ ไม่ใส่ใจ ไม่เห็นสำคัญ ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ผัดเพี้ยน เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา มักพ่วงมาด้วยความเกียจคร้าน ขาดความเพียรพยายาม ความเป็นอยู่ หรือการดำเนินชีวิต ที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมานั้น เรียกว่า ความไม่ประมาท หรือ อัปปมาท แปลง่ายๆ ว่า การอยู่ไม่ขาดสติ หรือการกระทำจริงจังต่อเนื่องไม่ทอดทิ้ง หมายถึงความเป็นอยู่อย่างพากเพียร โดยมีสติเป็นเครื่องเร้าเตือนและควบคุม คือสำนึกอยู่เสมอถึงสิ่งที่จะต้องเว้นและสิ่งที่จะต้องทำ ใส่ใจเว้นการอันพึงเว้นและทำการอันพึงทำให้สำเร็จ มองเห็นความสำคัญของกาลเวลา กิจกรรม และเรื่องราวทุกอย่าง แม้ที่เล็กน้อย ไม่ยอมถลำพลาดไปในทางเสื่อมเสีย และไม่ทอดทิ้งโอกาสสำหรับความดีงาม ความเจริญ เร่งรุด ก้าวหน้าไปในทางที่ดำเนินสู่จุดหมาย หรือในทางแห่งความดีงาม ไม่หยุดยั้ง และคิดเตรียมการโดยรอบคอบ

กล่าวได้ว่า ลักษณะสำคัญของอัปปมาท หรือความไม่ประมาทนี้มี ๓ อย่าง คือ

ก) เห็นคุณค่าและความสำคัญของเวลาที่ผ่านไปทุกๆ ขณะ ไม่ปล่อยกาละและโอกาสให้ผ่านไปเสียเปล่าใช้เวลาอย่างมีคุณค่า ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มควร

ข) ไม่มัวเมา ไม่หลงระเริง ไม่ละเลิงเหลิงไป และไม่เลื่อนลอย ระมัดระวังควบคุมตนอยู่เสมอ ที่จะไม่ให้เผลอพลาดลงไปในทางผิด ไม่ปล่อยตัวให้ถลำลงไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือที่จะทำกรรมชั่ว

ค) เร่งสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุข กระตือรือร้นขวนขวายในการทำกิจหน้าที่ ไม่ละเลย แต่ขะมักเขม้นในการพัฒนาจิตปัญญา และทำการอย่างรอบคอบ (ข้อนี้เรียกว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย)

ความรู้ในไตรลักษณ์ เป็นตัวเร่งโดยตรงสำหรับความไม่ประมาท เพราะเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่คงตัว จะต้องแตกสลายกลับกลายไป ไม่รอเวลาและไม่ฟังใคร เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จำเป็นอยู่เองว่า วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องย่อมมีอยู่อย่างเดียว คือ พึ่งเร่งรัดทำการตามเหตุปัจจัย หมายความว่า จะต้องเร่งขวนขวายป้องกันความเสื่อมที่ยังไม่เกิดขึ้น แก้ไขปัญหาหรือความเสียหายผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว รักษาสิ่งดีที่มีให้คงอยู่ และทำสิ่งที่ดีเพื่อให้เจริญงอกงามต่อไป ทั้งนี้ด้วยการศึกษาเหตุปัจจัยและทำการตรงตัวเหตุปัจจัยนั้น เช่น รู้อยู่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง จะเสื่อมสิ้นสูญสลายไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเราต้องการความดีงามความเจริญ เราก็ต้องเพียรพยายามทำกรรมทั้งหลาย อันจะเป็นเหตุให้สิ่งดีงามนั้นเกิดมีขึ้น เจริญงอกงาม ดำรงอยู่ได้นานที่สุด และบังเกิดประโยชน์แก่คนมากที่สุด โดยนัยนี้จึงเรียกว่า คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท

เมื่อพิจารณาให้ละเอียด จะเห็นได้ว่า ตัวแกนหรือฐานแท้จริง (ตัวบีบหรือแรงดัน) ที่ทำให้เกิดความเร่งในการทำกิจนั้น ก็คือ ทุกข์ แต่ความสัมพันธ์ของคนกับความทุกข์ จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ท่าทีต่อการทำกิจแตกต่างกันออกไป เป็นความประมาท ความไม่ประมาท และความไม่ประมาทที่มีคุณภาพอันแผกกัน การแยกแยะในเรื่องนี้จะช่วยให้มองเห็นลักษณะและคุณค่าของความไม่ประมาทที่ถูกต้องอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอนำมากล่าว ณ ที่นี้ด้วย

ทุกข์เป็นฐานให้เกิดแรงเร่งในการทำกิจ ๓ แบบ คือ

๑. ทำการเพราะถูกทุกข์บีบ ได้แก่ พวกที่หลงใหลเพลิดเพลินอยู่ในความสุขสบาย ปล่อยปละละเลยกิจ เพลิดเพลินมัวเมา ไม่คิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย รอจนกระทั่งภัยมาถึงตัว เกิดความเดือดร้อนและจำเป็นขึ้นแล้ว จึงรีบทำการ รีบแก้ไข หรือปรับปรุงเฉพาะหน้า ซึ่งทันการบ้าง ไม่ทันการบ้างอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

๒. ทำการเพราะกลัวความทุกข์ ได้แก่ พวกที่หวาดระแวง หวั่นต่อภัยอันตราย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่ยังไม่มาถึง จึงเร่งรีบแก้ไขปรับปรุงและทำการต่างๆ ที่เห็นว่าควรทำ เพื่อป้องกันภัยหรือความทุกข์ คือความเสื่อม ความพินาศ เป็นต้น และสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้ามั่นคง ซึ่งการที่ทำก็มักสำเร็จได้ผลดี แต่เป็นไปด้วยจิตใจที่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย พูดง่ายๆ ว่ากลัวความทุกข์ แล้วก็ทุกข์เพราะความกลัว และทำการเพราะถูกความกลัวบีบอีกต่อหนึ่ง

๓. ทำการด้วยความรู้ทุกข์ ได้แก่ พวกที่คิดจัดการกับทุกข์ที่อาจเกิดมีข้างหน้าด้วยปัญญา มิใช่หวาดผวาด้วยความหวั่นกลัว กล่าวคือ รู้เท่าทันสภาวะที่จะต้องเป็นไปตามไตรลักษณ์ เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและความทุกข์หรือปัญหาที่อาจเกิดมีในภายหน้า จึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเหตุปัจจัยในกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลง แล้วอาศัยความรู้ในวิถีแห่งอนิจจตา และโอกาสที่อำนวยโดยอนัตตา กำหนดเอาทางเลือกแห่งความเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนาหรือที่ดีกว่า พร้อมทั้งใช้ความรู้ในประสบการณ์ส่วนอดีตเป็นบทเรียนแล้วเร่งรัดปรับปรุงแก้ไข และทำการต่างๆ เพื่อตัดทางมิให้ทุกข์เข้ามาครอบงำตน หรือบรรเทาเสีย ตลอดจนเบนให้เป็นไปในทางที่ดีงามเจริญก้าวหน้า เท่าที่เป็นไปได้ ทำให้สามารถป้องกันทุกข์ หรือทำตนให้ปลอดทุกข์ข้างหน้าเท่าที่อยู่ในวิสัยด้วย และทั้งปลอดโปร่งผ่องใส ไม่มีทุกข์ ไม่หวาดหวั่นกระวนกระวายในขณะกำลังทำการด้วย

แบบที่ ๑. ก็คือ ความเป็นอยู่ด้วยความประมาทอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น
แบบที่ ๒ และแบบที่ ๓. คือความเป็นอยู่โดยไม่ประมาท หรือเป็นอยู่ด้วยอัปปมาท แต่ความไม่ประมาทในแบบที่ ๒. เป็นอัปปมาทที่อาศัยกิเลส จึงเจือปนด้วยความทุกข์ ส่วนความไม่ประมาทในแบบที่ ๓. เป็นอัปปมาทที่เกิดพร้อมด้วยปัญญา จึงปราศจากปมปัญหา ไม่มีความทุกข์ในจิตใจ เป็นความไม่ประมาทที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งพระอรหันต์เท่านั้นจะบำเพ็ญได้อย่างเต็มความหมาย ส่วนปุถุชนจะบำเพ็ญความไม่ประมาทได้ดีแค่ไหน ก็สุดแต่ว่าจะใช้ปัญญา (ตามแบบที่ ๓.) ได้มาก และถูกบีบคั้นด้วยความกลัวและความเร่าร้อนกระวนกระวาย (ตามแบบที่ ๒.) น้อยลงเพียงใด ดังได้ยกหลักฐานมาให้ดูแล้วในตอนท้าย🔎คำอธิบายของคุณค่าข้อที่ ๑. ว่า ไม่เฉพาะแต่ปุถุชนเท่านั้น แม้ถึงพระอริยบุคคลชั้นต้นๆ ก็ยังอาจเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทได้ เหตุที่ทำให้ประมาทก็คือ ความพอใจ อิ่ม หรือสันโดษด้วยคุณวิเศษบางอย่างบางขั้นที่ตนได้บรรลุแล้ว ซึ่งเป็นความติดเพลินในความสุขสบายและความปล่อยปละละเลยทอดทิ้งกิจ อย่างหนึ่ง ๆทั้งนี้ กินความรวมถึงการที่มองเห็นไตรลักษณ์ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงเป็นต้นแล้ว ปลงใจได้ต่อสังขารทั้งหลาย หายเศร้าโศก ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อนคับแค้นใจเพราะความสูญเสียเสื่อมสลายพลัดพรากเป็นต้น

เมื่อสุขสบายภายในหรือปรับภายในได้แล้ว ก็เลยหยุดนิ่ง ไม่สนใจ ไม่ขวนขวาย ไม่เพียรพยายามแก้ไขปัญหาที่ค้างคาอยู่ภายนอก ไม่ทำกิจที่ควรทำเพื่อป้องกันหรือปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ปล่อยปละละเลยสิ่งที่เป็นปัญหาให้ดำเนินสภาพของมันต่อไปหรือยิ่งขึ้นไป กรณีอย่างนี้ เรียกว่าการได้คุณค่าข้อที่ ๑. คือคุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิต (ระดับต้นๆ) นั้น เป็นปัจจัยให้เกิดความประมาท เพราะผู้นั้นปฏิบัติผิด คือปฏิบัติเพียงด้านเดียวไม่ครบถ้วน ขาดการปฏิบัติเพื่อให้ได้คุณค่าข้อที่ ๒. ด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาทไปเสีย ซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ไขโดยให้ตระหนักในคุณค่าทั้งสองด้าน แล้วปฏิบัติให้คุณค่าทั้งสองอย่างนั้นเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์

ปัจจัยปลีกย่อยอย่างหนึ่งที่ทำให้บางคนกลายเป็นผู้ประมาทไปโดยไม่สมควร ก็คือ “ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไตรลักษณ์เหมือนกัน และเป็นเรื่องที่พึ่งเข้าใจให้ถูกให้ชัดว่าตามหลัก ความรู้เท่าทันสังขารด้วยมองเห็นไตรลักษณ์ ทำให้คลายหรือถอนความยึดติดถือมั่นในสังขารทั้งหลายเสียได้ ความไม่ยึดติดถือมั่นนี้ เป็นหัวใจของความหลุดพ้นเป็นอิสระและความปลอดพ้นจากทุกข์ซึ่งจะทำให้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ความไม่ยึดติดถือมั่นจะเกิดขึ้นเอง เป็นผลจากการมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงเมื่อมองเห็นไตรลักษณ์ชัดเจนแล้ว แต่ความผิดเพี้ยนหรือภาวะครึ่งๆ กลางๆ เกิดขึ้นในกรณีที่บางคนยังไม่ได้รู้เห็นความจริงด้วยความประจักษ์แจ้งไตรลักษณ์อย่างนั้น เป็นแต่ได้ยินได้ฟังมาและคิดเห็นไปตามเหตุผลพร้อมทั้งถือตามไปด้วยสัญญาว่าจะต้องไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก จึงจะหลุดพ้นจากทุกข์คนที่ถือไปตามสัญญาอย่างที่ว่า เมื่อคิดคำนึงไปเช่นนั้น จึงพยายามแสดงทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นว่าตนไม่ยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย หรือหมดกิเลสแล้ว โดยอาการที่กลายเป็นการไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร ทำให้เกิดการกระทำและการไม่กระทำที่เกินพอดี และเกินเลยความสมควรตามความเป็นจริง การเพิกเฉยละเลยเรื่องที่ควรเอาใจใส่และการไม่กระทำกิจที่ควรทำโดยไม่สมเหตุผล อาการละเลยการกระทำในลักษณะนี้ เรียกว่า ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เป็นความไม่ยึดมั่นอย่างเทียม ไม่ใช่ความไม่ยึดมั่นที่ถูกต้องแท้จริง ถ้านำเอาการกระทำและการไม่กระทำหลายๆ แบบ ที่มีแรงจูงใจเบื้องหลังแตกต่างกัน มาวางเทียบกันดู ก็อาจจะทำให้มองเห็นลักษณะของการกระทำและการไม่กระทำที่เกิดจากความไม่ประมาท ชัดเจนมากขึ้น จึงขอลองนำการกระทำและการไม่กระทำสัก ๔ แบบมาวางให้พิจารณา ดังต่อไปนี้

๑) คนพวกหนึ่ง ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์เพื่อตน หรือถ้าทำจะเสียผลประโยชน์ของตน ก็ไม่ทำ จะทำต่อเมื่อตนจะได้ผลประโยชน์ หรือทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน
๒) คนพวกหนึ่ง ไม่ทำ เพราะยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น คือจะแสดงว่าตนไม่มีกิเลส จึงไม่ทำ
๓) คนพวกหนึ่ง ไม่ทำ เพราะมีความประมาท ติดเพลินในความสุขสบาย เนื่องจากไม่ถูกทุกข์บีบคั้นหรือเนื่องจากปรับใจได้แล้ว สบายใจ พอใจแล้ว ก็จึงวางใจนอนใจเสีย
๔) คนพวกหนึ่ง ทำหรือไม่ทำ แล้วแต่ความสมควรแห่งเหตุผล เมื่อรู้ว่าควรทำ แม้ว่าทำแล้วตนจะไม่ได้ผลประโยชน์ ก็ทำ เมื่อรู้ว่าไม่ควรทำ แม้ว่าทำแล้วตนจะได้ผลประโยชน์ ก็ไม่ทำ และทำในทันทีที่ควรกระทำ ไม่ละเลย ไม่ผิดเพี้ยนรีรอ

การกระทำในข้อ ๔) เป็นลักษณะของการกระทำด้วยความไม่ประมาทที่ถูกต้องแท้จริง ซึ่งเป็นไปพร้อมด้วยสติและปัญญาที่บริสุทธิ์เป็นอิสระ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่แนะนำให้ทำกิจด้วยความไม่ประมาทนั้น แบ่งตามประเภทของกิจได้ ๒ อย่างคือ

๑.เกี่ยวกับกิจด้านใน ได้แก่ คำสอนที่แนะนำกระตุ้นเตือนให้เร่งพัฒนาจิตใจของตน อย่างที่เรียกว่าทำความเพียรทางจิต เพื่อบรรลุภูมิธรรมที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งก็คือ การเข้าถึงคุณค่าด้านการทำจิตของไตรลักษณ์ หรือ ความสามารถทำใจของตนให้หลุดพ้นเป็นอิสระได้มากขึ้นไปโดยลำดับนั่นเอง กิจด้านนี้อาจเรียกง่ายๆ ว่าการปรับปรุงภายใน หรือเรียกให้สั้นว่า ปรับภายใน

๒. เกี่ยวกับกิจด้านภายนอก ได้แก่ คำสอนที่แนะนำเร้าเตือนให้เร่งพัฒนาชีวิตด้านนอก เกี่ยวกับความเป็นอยู่ประจำวัน การดำรงตนในโลก ให้กระตือรือร้นขยันหมั่นเพียร ในการประกอบอาชีพการงาน การทำหน้าที่ของตน การแก้ไขป้องกันปัญหาต่างๆ การสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และการบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม กิจด้านนี้อาจเรียกง่ายๆ ว่า การปรับปรุงภายนอก หรือเรียกให้สั้นว่า ปรับภายนอกในด้านกาลเวลา คำสอนเกี่ยวกับความไม่ประมาท ย่อมเกี่ยวข้องกับกาลทั้ง ๓ คือ

    ๑) ส่วนอดีต ให้พิจารณาเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ หรือประสบการณ์ที่ล่วงแล้ว แล้วถือเอามาเป็นบทเรียน เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เร่งแก้ไขปรับปรุงและเพียรพยายามทำกิจต่อไป
    ๒) ส่วนปัจจุบัน ให้เร่งทำกิจของตนๆ อย่างจริงจัง ไม่ให้รีรอ ไม่ให้ผิดเพี้ยน ให้ใช้เวลาทุกขณะทุกโอกาสให้เป็นประโยชน์
    ๓) ส่วนอนาคต ให้คิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไปภายหน้า ทั้งในทางดีและในทางร้ายโดยใช้ปัญญาพิจารณาความเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วเตรียมการป้องกันอนาคตภัย และกำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเป็นไปในทางที่ดีงามหรือเจริญมั่นคง

ถ้าเปรียบเทียบกับคำสอนเกี่ยวกับคุณค่าด้านการท่าจิต คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับคุณค่าด้านการทำกิจ แสดงเนื้อหาและรายละเอียดน้อยกว่า กระจายอยู่ห่างๆ และมักเป็นคำสอนสั้นๆ ทั้งนี้ เพราะกิจกรรมของมนุษย์ย่อมแตกต่างกันไปหลากหลายตามกาลเทศะ มิใช่เรื่องยืนตัวที่จะพูดไว้แน่นอนเป็นอย่างเดียว จึงแสดงแต่หลักการหรือให้คติไว้เท่านั้นก็เพียงพอ ต่างจากการทำจิตที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ซึ่งตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ สภาวะด้านจิตก็เหมือนๆ กัน อีกทั้งเป็นเรื่องประณีตล้ำลึก เข้าใจได้ยากปฏิบัติได้ยาก และเป็นส่วนพิเศษจำเพาะของคำสอน จึงแสดงรายละเอียดเท่าที่เป็นไปได้ไว้ให้แล้วเสียทีเดียว

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ข. คุณค่าที่ ๒: คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา

                ๓. อนัตตตา

ก. คุณค่าที่ ๑: คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ

คุณค่าทางจริยธรรม

ในด้านคุณค่าทางจริยธรรม คำสอนต่างๆ มักอ้างอิงถึงอนิจจตา คือความไม่เที่ยง มากกว่าลักษณะอื่นอีกสองอย่าง ทั้งนี้เพราะความไม่เที่ยง เป็นภาวะที่ปรากฎชัด มองเห็นง่าย ส่วนทุกขตาเป็นภาวะที่มองเห็นยากปานกลาง จัดเป็นลำดับที่สอง และอนัตตตา เป็นภาวะที่ประณีต มองเห็นได้ยากที่สุด จัดเป็นลำดับสุดท้าย อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวถึงอนิจจตาที่มองเห็นได้ง่าย เพื่อเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำเข้าสู่ความเข้าใจในทุกขตาและอนัตตตาต่อไป

พุทธพจน์สองแห่งต่อไปนี้ ซึ่งก็แสดงอนิจจตาเป็นข้อเด่นนำไว้ อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนที่ชี้ถึงคุณค่าทางจริยธรรม ๒ ประการ ของไตรลักษณ์ คือ

๑. “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป, ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข” 
๒. “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” (หรือจงบำเพ็ญกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท)

เบื้องต้น ขอให้เข้าใจไว้ก่อนว่า ที่จริง พุทธพจน์ข้อแรกแสดงถึงสภาวะที่เป็นสัจจะ คือภาวะสงบสังขารหมายถึงนิพพานนั่นเอง เป็นการบอกให้รู้ว่า นิพพานที่เป็นภาวะสงบสังขาร ไม่ต้องเปลี่ยนแปรขึ้นต่อการเกิดดับเสื่อมสลายอีกต่อไปนั้น เป็นภาวะที่เป็นสุข แต่พุทธพจน์ที่เป็นคาถาบทนี้เรานำมาพูดนำมาอ้างกันบ่อยมากจนอยู่ในประเพณีของคนทั่วไป (คือบทว่า “อนิจจา วต สงขารา ) เมื่อเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปจะให้เขาได้รับประโยชน์ก็จึงมองความหมายซึ่งอิงนิพพาน ที่โยงมาสู่การปฏิบัติในแนวทางของความสงบสังขารที่คนทั่วไปเหล่านั้นจะพิจารณาได้ เป็นการชี้นัยที่เน้นคุณค่าทางจริยธรรม ดังจะกล่าวในที่นี้

พุทธพจน์ข้อที่ ๑ ชี้ถึงคุณค่าในด้านการวางใจต่อสังขาร คือโลกและชีวิต ให้รู้เท่าทันว่า สิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นสภาพปรุงแต่ง ล้วนไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไป ไม่อาจคงสภาพเดิมอยู่ได้ มิใช่ตัวตนที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ตามความปรารถนา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะมีท่าทีของจิตใจที่ถูกต้อง ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย แม้สิ่งทั้งหลายที่พบเห็นเกี่ยวข้องจะแปรปรวนเสื่อมสลายพลัดพรากสูญหายไป จิตใจก็ไม่ถูกครอบงำย่ำยีบีบคั้น ยังคงปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบานอยู่ได้ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดา พาให้ถึงความสงบ คุณค่าข้อนี้เน้นความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิตใจ เป็นระดับโลกุตระ เรียกง่ายๆ ว่า คุณค่าด้านการทำจิต

พุทธพจน์ข้อที่ ๒ ชี้ถึงคุณค่าในด้านการปฏิบัติกิจหน้าที่ เพื่อความมีชีวิตที่เรียกว่าเป็นอยู่หรือดำเนินไปอย่างถูกต้องดีงามในโลก อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น และเพื่อให้เข้าถึงบรมธรรมที่เป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต โดยให้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชีวิตและโลก ล้วนเกิดจากองค์ประกอบทั้งหลายประมวลกันขึ้น ดำรงอยู่ได้ชั่วคราว ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความบีบคั้น กดอัดขัดแย้งแฝงอยู่ทุกขณะ ทั้งภายนอกและภายใน จะต้องทรุดโทรมแตกสลายเปลี่ยนแปลงกลายรูปไป ไม่อยู่ในอำนาจของความปรารถนา ขึ้นต่อเหตุปัจจัยและเป็นไปตามเหตุปัจจัย กระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยนี้ ดำเนินไปตลอด ไม่รอเวลา ไม่คอยความปรารถนา ไม่ฟังเสียงเรียกร้องวิงวอนของใคร เฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตนี้สั้นนัก และไม่แน่นอน จะวางใจมิได้เลย เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะได้กระตือรือร้นเร้าเตือน กระตุ้นตนเองให้เร่งรัดขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำ และเว้นสิ่งที่ควรเว้น ไม่ละเลย ไม่รอช้า ไม่ปล่อยเวลาและโอกาสให้สูญเสียไปเปล่า เอาใจใส่แก้ไขสิ่งเสียหายที่ได้เกิดขึ้น ระมัดระวังป้องกันหนทางที่จะเกิดความเสื่อมทรุดเสียหายต่อไป และสร้างสรรค์สิ่งดีงามความเจริญก้าวหน้า โดยไตร่ตรองพิจารณาและดำเนินการด้วยปัญญาอันรู้ที่จะจัดการตามเหตุปัจจัย ทำให้เกิดผลสำเร็จด้วยดีทั้งในแง่กิจที่ทำและจิตใจของตน คุณค่าข้อนี้เน้นด้านความไม่ประมาทเร่งรัดทำกิจ เป็นระดับโลกิยะ เรียกง่ายๆ ว่า คุณค่าด้านการทำกิจ

คุณค่าข้อที่ ๒ นี้ จะต้องใช้กับเรื่องของชีวิตและกิจต่อโลกทุกขั้นทุกระดับ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยส่วนตัว จนถึงความเรียบร้อยดีงามของสังคมส่วนรวม ตั้งแต่ประโยชน์ขั้นต้นจนถึงประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การประกอบการงานอาชีพแสวงหาทุนทรัพย์ของคฤหัสถ์ จนถึงการบำเพ็ญเพียรแสวงโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ดังจะเห็นพุทธพจน์ต่อไปนี้เป็นเครื่องชี้คุณค่า

ชุดที่ ๑: “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ก็ควรทีเดียวที่จะยังประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ก็ควรทีเดียวที่จะยังประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็ควรทีเดียวที่จะยังประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท"

ชุดที่ ๒: “มหาบพิตร ธรรมเอกอันเดียวที่ยึดเอาประโยชน์ (อัตถะ) ได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งประโยชน์บัดนี้ (หรือประโยชน์สามัญที่ตาเห็น-ทิฏฐธัมมิกัตถะ) และประโยชน์เบื้องหน้า (หรือประโยชน์ที่ลึกล้ำยิ่งขึ้นไปสัมปรายกัตถะ) นั้น มีอยู่ ฯลฯ นั่นคือ ความไม่ประมาท (อัปปมาทะ) ฯลฯ ผู้ไม่ประมาทเป็นบัณฑิต ย่อมยึดเอาได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่าง คือทั้งประโยชน์บัดนี้ และประโยชน์เบื้องหน้า, จะเรียกว่าธีรชน (หรือ) บัณฑิต ก็เพราะบรรลุประโยชน์ (ทั้งสองนี้)

ชุดที่ ๓:
    ก) “ภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ ผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล อาศัยความไม่ประมาทเป็นเหตุ ย่อมประสบกองโภคะอันใหญ่”
    ข) “ภิกษุทั้งหลาย โพธิ ความตรัสรู้ของเรานั้นได้บรรลุด้วยความไม่ประมาท, แม้นหากพวกเธอจะพึงเพียรพยายามอย่างไม่ระย่อท้อถอย ฯลฯ ไม่นานเลย แม้พวกเธอก็จะประจักษ์แจ้งจุดหมายของชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) เข้าถึงได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในชาตินี้ที่เดียว”

คุณค่าสองข้อนี้ สัมพันธ์กันและเสริมกัน เมื่อปฏิบัติให้ได้คุณค่าครบทั้งสองอย่าง จึงจะได้รับประโยชน์บริบูรณ์ และคุณค่าทั้งสองนี้ยังมีรายละเอียดที่พึงทราบเพิ่มเติมอีก จึงจะได้บรรยายต่อไป

ก. คุณค่าที่ ๑: คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ

คุณค่าด้านนี้ พร้อมทั้งหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณค่านั้น เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยจุดหมายสูงสุดของพุทธธรรมซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญ เป็นส่วนคลุมยอดของระบบทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีขอบเขตกว้างขวาง อีกทั้งมีรายละเอียดในการปฏิบัติที่พึงทำความเข้าใจโดยเฉพาะ คัมภีร์ทั้งหลายจึงกล่าวถึงบ่อยและมาก บางคัมภีร์ก็นำมาประมวลแสดงเป็นขั้นตอนตามลำดับโดยตลอด ดังเช่นคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น แม้ในหนังสือนี้เอง ก็ได้บรรยายไว้ทั่วๆ ไปแล้ว จึงจะไม่นำมากล่าวรวมไว้ในที่นี้ แต่จะพูดไว้พอเป็นแนวสำหรับความเข้าใจอย่างกว้างๆ ตามปกติ ผู้เจริญปัญญาด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ จะพัฒนาความเข้าใจต่อโลกและชีวิตให้เข้มคมชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมกับมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพจิตเป็นขั้นตอนสำคัญ ๒ ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ ๑ เมื่อเกิดความรู้เท่าทันสังขาร มองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่เป็นตัวตนชัดเจนขึ้นในระดับปานกลาง จะมีความรู้สึกทำนองเป็นปฏิกิริยาเกิดขึ้น คือรู้สึกในทางตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่เคยมีมาแต่เดิม ก่อนนั้นเคยยึดติดหลงใหลในรูปรสกลิ่นเสียง เป็นต้น มัวเมาเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น คราวนี้ พอมองเห็นไตรลักษณ์เข้าแล้ว ความรู้สึกเปลี่ยนไป กลายเป็นรู้สึกเบื่อหน่าย รังเกียจ อยากจะหนีไปเสียให้พ้น บางทีถึงกับรู้สึกเกลียดกลัว หรือขยะแขยง นับว่าเป็นขั้นที่ความรู้สึกแรงกว่าความรู้ (เรียกอย่างภาษาไทยว่า อารมณ์เหนือปัญญา)

ขั้นตอนแรกนี้ แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนที่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ และความรู้สึกยังเอนเอียง แต่ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญ หรือบางทีถึงกับจำเป็น ในการที่จะถอนตนให้หลุดออกไปได้จากความหลงใหลยึดติด ซึ่งเป็นภาวะที่มีพลังแรงมาก เพื่อจะสามารถก้าวต่อไปสู่ภาวะที่สมบูรณ์ในขั้นตอนที่ ๒ ต่อไป ในทางตรงข้าม ถ้าหยุดอยู่เพียงขั้นนี้ ผลเสียจากความรู้สึกที่เอนเอียงก็จะเกิดขึ้นได้

ขั้นตอนที่ ๒ เมื่อความรู้เท่าทันนั้นพัฒนาต่อไป จนกลายเป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริง ปัญญาเจริญเข้าสู่ภาวะสมบูรณ์ เรียกว่ารู้เท่าทันธรรมดาอย่างแท้จริง ความรู้สึกเบื่อหน่ายรังเกียจและอยากจะหนีให้พ้นไปเสียนั้น ก็จะหายไป กลับรู้สึกเป็นกลาง ทั้งไม่หลงใหล ทั้งไม่หน่ายแสยง ไม่ติดใจ แต่ก็ไม่รังเกียจ ไม่พัวพันแต่ก็ไม่เหม็นเบื่อ มีแต่ความรู้ชัดตามที่มันเป็น และความรู้สึกโปร่งโล่งเป็นอิสระ พร้อมด้วยท่าทีของการที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ไปตามความสมควรแก่เหตุผล และตามเหตุปัจจัย พัฒนาการทางจิตปัญญาในขั้นตอนที่สองนี้ ในระบบการปฏิบัติของวิปัสสนา ท่านเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร) เป็นขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็น ในการที่จะเข้าถึงความรู้ประจักษ์แจ้งสัจจะ และความเป็นอิสระของจิตโดยสมบูรณ์

คุณค่าด้านความเป็นอิสระหลุดพ้นของจิตนี้ โดยเฉพาะในระดับที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว (ถึงขั้นตอนที่ ๒) จะมีลักษณะและผลข้างเคียงที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

๑) ความปลอดทุกข์ คือ เป็นอิสระหลุดพ้นจากความรู้สึกบีบคั้นที่เกิดจากความยึดติดถือมั่นต่างๆ มีความสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิส หรือไม่ขึ้นต่อสิ่งล่อ ปลอดโปร่ง ผ่องใส สดชื่น เบิกบาน ไร้กังวล ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไม่เหี่ยวแห้งไปตามความผันผวนปรวนแปรขึ้นๆ ลงๆ ที่เรียกว่าโลกธรรม ไม่ถูกกระทบกระแทกเนื่องจากความสูญเสียเสื่อมสลายพลัดพราก เป็นต้น ลักษณะข้อนี้มีผลไปถึงจริยธรรมด้วย ในแง่ที่จะไม่ก่อปัญหาเนื่องจากการระบายทุกข์ของตนแก่ผู้อื่นหรือแก่สังคม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาจริยธรรม และในแง่ที่มีสภาพจิตใจซึ่งง่ายต่อการเกิดขึ้นของคุณธรรม โดยเฉพาะเมตตากรุณา ความมีไมตรีจิตมิตรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกื้อกูลแก่จริยธรรมเป็นอันมาก

๒) ความปลอดกิเลส คือ เป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจบีบคั้นครอบงำและบงการของกิเลสทั้งหลาย เช่น ความโลภ ความโกรธ ความติดใคร่ ชอบชัง ความหลง ความริษยา และความถือตัวถืออำนาจ เป็นต้น โปร่งโล่ง เป็นอิสระ สงบ และบริสุทธิ์ ลักษณะข้อนี้มีผลโดยตรงต่อจริยธรรม ทั้งด้านภายในที่จะคิดการหรือใช้ปัญญาอย่างบริสุทธิ์เป็นอิสระ ไม่เอนเอียงไปด้วยชอบซังรังเกียจและความปรารถนาผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น และ ด้านภายนอก ที่จะไม่ทำความผิดความชั่วต่างๆ ตามอำนาจบังคับบัญชาของกิเลสทุกอย่าง ตลอดจนสามารถทำการต่างๆ ที่ดีงามตามเหตุผลได้อย่างจริงจังเต็มที่ เพราะไม่มีกิเลส เช่น ความเกียจคร้าน ความห่วงผลประโยชน์เป็นต้น มาคอยยึดถ่วงหรือดึงให้พะวักพะวน

อย่างไรก็ดี คุณค่าข้อที่ ๑ นี้ ในขั้นที่อยู่ระหว่างกำลังพัฒนา ยังไม่สมบูรณ์สิ้นเชิง ถ้ามีแต่ลำพังอย่างเดียว ก็มีช่องทางเสีย คือ อาจก่อให้เกิดโทษได้ ตามหลักที่ว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้” กล่าวคือ เมื่อทำจิตได้แล้ว ใจสบาย มีความสุขแล้ว ก็ติดใจเพลิดเพลินอยู่กับความสุขทางจิตใจเสีย หรือพอใจในผลสำเร็จทางจิตนั้น แล้วหยุดความเพียรพยายามเสีย หรือปล่อยปละละเลยไม่เร่งทำกิจที่ควรทำ ไม่จัดการแก้ไขปัญหาภายนอกที่ค้างคาอยู่ เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท ดังตัวอย่างในพุทธพจน์ที่ว่า

“นันทิยะ อย่างไรอริยสาวกจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม... ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลทั้งหลายที่พระอริยะยอมรับ...อริยสาวกนั้น พอใจ (หรืออิ่มเพราะสันโดษ) ด้วยความเลื่อมใส ด้วยศีลทั้งหลายที่พระอริยะยอมรับเหล่านั้น ย่อมไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป ฯลฯ อย่างนี้แล นันทิยะ อริยสาวกชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยความประมาท”

ทางออกที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียที่กล่าวถึงนี้ ก็คือ จะต้องปฏิบัติตามหลักการที่จะให้เกิดคุณค่าข้อที่ ๒ ควบคู่กันไปด้วย

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ก. คุณค่าที่ ๑: คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา

                ๓. อนัตตตา

วิกิ

ผลการค้นหา