ง. จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์
ความรู้ที่จัดโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ ได้แก่ความรู้ที่เนื่องด้วยปฏิบัติการทางสังคม เช่น การสื่อสาร ถ่ายทอด แสวงหา เอ่ยอ้าง นับถือ สังกัด และที่เป็นมรดกตกทอดต่อกันมา เป็นสมบัติของมวลมนุษย์ เป็นความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรม ความรู้ที่จัดตามแนวนี้ พอจำแนกได้เป็น ๓ อย่าง คือ
๑. สุตะ หรือ สุติ ความรู้ที่ได้สดับ เล่าเรียน หรือถ่ายทอดต่อกันมา แบ่งย่อยได้เป็น ๒
ก) ความรู้ที่ได้สดับตรับฟัง บอกเล่า สอนเรียน ถ่ายทอดต่อกันมา โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า สุตะในทางพระพุทธศาสนาถือว่า สุตะเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญมาก เมื่อมองในแง่ของพัฒนาการทางปัญญา ท่านจัดเข้าเป็นปรโตโฆสะ และเน้นปรโตโฆสะที่ดี โดยฐานเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ การเรียนการสอน ข่าวสาร ความรู้ประเภทตำรับตำรา และตำนานทั้งหลาย เป็นสุตะ แม้พระสูตรทั้งหลายในพระไตรปิฎกก็เป็นสุตะ (ทุกสูตรตามปกติขึ้นต้นว่า เอวมเม สุต)
ข) ความรู้ที่บางศาสนาถือว่าได้รับการเปิดเผยแจ้งดลใจจากองค์บรมเทพ เช่น พราหมณ์ถือว่าพระเวทเป็นความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากพระพรหมโดยตรง ความรู้ในข้อนี้มักเรียกชื่อจำเพาะว่า สุติ ตรงกับคำสันสกฤตว่า ศรุติ แต่ในทางพระพุทธศาสนาไม่ถือเป็นความรู้พิเศษต่างหากออกไป จึงรวมเข้าในประเภทสุตะเหมือนกันหมด จะเรียกว่า สุตะ หรือสูติ ก็มีค่าทางปัญญาไม่ต่างกัน ความแตกต่างอยู่ที่เนื้อหาสาระ
๒. ทิฏฐิ ความเห็น ทฤษฎี ลัทธิ ความเชื่อถือต่างๆ ได้แก่ ความรู้ที่ได้ลงข้อสรุปให้แก่ตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบด้วยความยึดถือผูกพันกับตัวตน หรือมีลักษณะอาการที่อาจให้เกิดการถือแบ่งเป็นของเขาของเราเป็นต้นได้ ดังเคยกล่าวถึงแล้วในข้อก่อน แต่ที่จัดเข้าในชุดนี้ เพราะมองในแง่สังคมโดยฐานเป็นกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ ในเมื่อความยึดถือนั้นขยายออกมา มีการแสดงหรือเผยแพร่ความเห็นออกไป มีผู้เชื่อถือหรือยึดถือตาม อาจมีการรวมหมู่รวมกลุ่ม ตลอดจนจัดตั้งเป็นสำนัก เป็นต้น ทิฏฐินี้ (ตรงกับคำสันสกฤตว่า ทฤษฏิ) มีไวพจน์มากมายหลายคำ แต่ที่ใช้มากยิ่งและควรทราบคือ ขันติ (ข้อที่เห็นเข้ากันได้, หลักการที่เห็นสม) รุจิ (ข้อที่ถูกใจ, หลักการที่ชื่นชอบ) และ ลัทธิ (ข้อที่ได้ไว้, หลักการหลักความเชื่อ หลักปฏิบัติที่คิดขึ้นได้ หรือถือเป็นการได้รับผล) รวมทั้งความเชื่อทางศาสนา
๓. ญาณ ความรู้ ความหยั่งรู้ ความรู้บริสุทธิ์ ความรู้ตรงตามสภาวะ หรือปัญญาที่ทำงานออกผลเป็นเรื่องๆ หรือมองเห็นตลอดสายในด้านหนึ่งๆ ญาณเป็นความรู้ระดับสุดยอดของปัญญามนุษย์ และเป็นผลสำเร็จสำคัญของมนุษย์ ญาณไม่ว่าจะเป็นโลกิยญาณหรือโลกุตรญาณ เป็นส่วนผลักดันสำคัญให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในอารยธรรมของมนุษยชาติ ญาณที่ยิ่งใหญ่สูงสุดเรียกชื่อเฉพาะว่า โพธิ หรือ โพธิญาณ แปลกันว่า ความตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงบรรลุ สัมมาสัมโพธิญาณ จึงทำให้เกิดพระพุทธศาสนา เป็นดวงตาใหญ่ของโลก
นอกจากนี้ ยังมีวิธีจำแนกความรู้อย่างอื่นอีก ซึ่งอาจถือว่าเป็นวิธีเบ็ดเตล็ด เอาความรู้ในชุดต่างๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้นมาคลุกเคล้าเข้าหมวดกัน เช่นแห่งหนึ่งท่านกล่าวไว้ สรุปได้เป็นความรู้ต่างชนิด ดังนี้
๑. อิติหะ อิติกิรา ปรัมปรา ความรู้ที่ได้จากการบอกกล่าว เล่าลือ ตรับฟัง เล่าเรียนถ่ายทอด นำสืบกันมา
๒. ปิฏกสัมปทา ความรู้ตามแบบแผนตำรา
๓. ตักกะ นยะ อาการปริวิตก ความรู้ที่ได้จากการคิดหาเหตุผล คือ ตรรก อนุมาน การตริตรองตามแนวเหตุผล
๔. ทิฏฐนิชฌานักขันติ ความรู้ที่พิจารณาเห็นสมกับหรือยอมรับเข้าเป็นทิฏฐิหรือทฤษฎีของตน
๕. สยมภิญญา หรือสักขิธรรม ความรู้ที่ได้ด้วยรู้แจ้งชัดประจักษ์กับตัว (เป็นอัตตประจักษ์) ขยายความว่า ความรู้ที่ได้เห็นจริง ได้รู้จริง ได้ฟังเหตุผล ได้ไตร่ตรอง ได้ทำให้แจ่มชัด ปรากฏชัดแล้ว
🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ง. จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท