ข. จำแนกโดยทางรับรู้
กล่าวตามพุทธธรรม ผัสสะ เป็นแหล่งแห่งความรู้ ความรู้ทั้งหมดทุกอย่างทุกประเภทเกิดจากผัสสะหรือเกิดขึ้นที่ผัสสะ คืออาศัยการรับรู้ โดยผ่านอายตนะ (แดนรับรู้) ทั้ง ๖ หรือเรียกง่ายๆ ว่าผ่านทวาร (ทางรับรู้ทั้ง ๖ คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน หรือเรียกง่ายๆ ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ดังอธิบายแล้วข้างต้น
ถ้าถือ อายตนะ หรือ ทวาร เป็นหลัก โดยฐานเป็นต้นทางของการรับรู้ ก็สามารถจัดกลุ่มความรู้ ได้เป็น๒ ประเภท คือ
๑. ความรู้ (ที่ได้) ทางปัญจทวาร หรือเบญจทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้แก่ ความรู้ชั้นต้นหลายอย่าง คือ ความรู้รูป (สี) เสียง กลิ่น รส และโผฏฐพพะ (สิ่งต้องกายทั้งหลาย ซึ่งสรุปลงได้ใน ปฐวี-สภาวะแข้นแข็ง เตโช-ความร้อนหรืออุณหภูมิ และวาโย-ความสั่นไหว เคลื่อนและเคร่งตึง)
๒. ความรู้ (ที่ได้) ทางมโนทวาร คือ ใจ ได้แก่ ธรรมารมณ์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ธรรม กล่าวคือ สิ่งทั้งหลายที่ใจรู้ที่ใจคิด ธรรมารมณ์ หรือ ธรรม นี้ ว่าตามแนวอภิธรรม” ท่านแยกแยะให้เห็นชัดขึ้นอีกว่า มี ๕
ก. เวทนาขันธ์ (หมายถึงเวทนาในฐานะเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ข้อต่อๆ ไปก็พึงเข้าใจเช่นเดียวกัน)
ข. สัญญาขันธ์
ค. สังขารขันธ์
ง. อนิทัสสนอัปปฏิฆรูป (รูปที่เห็นไม่ได้ กระทบหรือถูกต้องไม่ได้) อันนับเนื่องในธรรมายตนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุขุมรูป มี ๑๖ อย่าง คือ อาโป (อาโปธาตุ คือสภาวะดึงดูดซึมซาบ) อิตถีภาวะ (ความเป็นหญิง) ปุริสภาวะ (ความเป็นชาย) หทัยรูป (ที่ตั้งแห่งใจ) ชีวิตินทรีย์ อาหารรูป (หมายถึงโอชา) อากาส (คืออวกาศหรือช่องว่าง) กายวิญญัติ (การสื่อความหมายด้วยกาย) วจีวิญญัติ (การสื่อความหมายด้วยวาจา) วิการรูป ๓ คือ ลหุตา (ความเบา) มุทุตา (ความอ่อนนุ่ม) กัมมัญญตา (ความควรแก่งาน) และลักขณรูป ๔ คือ อุปจยะ (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น) สันตติ (ความสืบต่อ) ชรตา (ความทรุดโทรม) อนิจจตา (ความแปรสลาย)
จ. อสังขตธาตุ คือ นิพพาน
คัมภีร์อภิธรรมชั้นหลัง ประสงค์จะให้เข้าใจง่ายและละเอียดยิ่งขึ้น ได้จัดแบ่งธรรมารมณ์ คือ สิ่งที่เป็นความรู้ทางใจนี้ อีกแบบหนึ่ง โดยจำแนกเป็น ๖ อย่าง คือ
๑) ปสาท หรือประสาททั้ง ๕ คือ ความใสหรือความไวที่เป็นตัวสื่อรับรู้ของตา หู จมูก ลิ้น กาย
๒) สุขุมรูป ๑๖ (ที่กล่าวแล้วในข้อ ๔) ของชุดก่อน
๓) จิต
๔) เจตสิก (ตรงกับเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ในชุดก่อน)
๕) นิพพาน
๖) บัญญัติ คือ คำเรียกขาน ชื่อเรียก คำกำหนดที่วางไว้ เช่น ชื่อเรียกว่า พื้นดิน ภูเขา รถ คน ทิศเหนือ ทิศใต้ หลุม บ่อ เกาะ แหลม เป็นต้น ซึ่งตัวจริงของสิ่งที่บัญญัติเรียกนั้น เป็นของมีจริงก็มี ไม่มีอยู่จริง ก็มี แต่จะมีหรือไม่มีก็ตาม คำบัญญัตินั้น ก็เป็นกาลวินิมุต คือไม่ขึ้นต่อกาลและไม่พินาศ เช่น ช่องว่างที่ลึกลงไปในแผ่นดินเราเรียกว่าหลุม ช่องเช่นนั้นมีที่ไหน เมื่อใด ก็เรียกว่าหลุม คงที่เสมอไป แต่หลุมต่างหากจากช่องในแผ่นดินหามีไม่ และหลุมเองทุกๆ หลุม ย่อมตื้นเขิน ย่อมพัง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นอื่นได้ หรือ เช่น สิ่งที่เรียกว่าสัญญา ย่อมเกิดดับเสื่อมสลายไป แต่บัญญัติว่าสัญญาหาเสื่อมสลายไม่ เพราะสิ่งที่มีภาวะเช่นนั้นเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด ก็เรียกว่าสัญญาเสมอไป (ถ้าได้ตกลงไว้อย่างนั้น) หรือเช่น สิ่งที่เป็นร่างกายย่อมทรุดโทรมแตกสลายได้ แต่บัญญัติว่ากายย่อมคงที่ ของอย่างนั้น เกิดที่ไหนพบที่ไหน ก็เรียกอย่างนั้นตามบัญญัติ ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องบัญญัตินี้ อาจงงหรือสับสน เมื่อได้ฟังคำว่า เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง เป็นต้น โดยจับไม่ถูกว่าเนื้อตัวของเวทนาและสัญญาไม่เที่ยง หรือ บัญญัติของเวทนาและสัญญาไม่เที่ยง
พูดด้วยภาษาทางวิชาการอย่างนี้ อาจเข้าใจยากสักหน่อย โดยเฉพาะความรู้ทางมโนทวารบางอย่าง ๆ คนอาจแยกไม่ออกจากความรู้ทางปัญจทวาร ถ้าสามารถแยกได้ ก็จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างเช่น เมื่อได้ยินคนพูด ความรู้ทางปัญจทวาร (ในที่นี้ ได้แก่ โสตทวาร คือหู) เป็นเพียงความรู้เสียง คือได้ยินเสียงเท่านั้น หาใช่รู้คำพูดไม่ ส่วนการรู้คำพูด คือความหมายของถ้อยคำนั้นๆ ว่าเขาพูดอะไรๆ เป็นความรู้ที่เกิดในมโนทวาร หรือเมื่อมองดูหลังคา ความรู้ทางปัญจทวาร (ในที่นี้ ได้แก่จักขุทวาร คือตา) เป็นเพียงความรู้รูปหรือรู้สีเท่านั้น หาใช่รู้หลังคาไม่ การรู้ภาวะที่คลุม ที่มุง ที่ปกป้อง และรู้ความเป็นหลังคา สำเร็จได้ที่มโนทวาร โดยนัยนี้ จะเห็นว่า ความรู้ทางใจ หรือความรู้ธรรมารมณ์ คือสิ่งที่ใจรู้ หรือเรื่องในใจนั้น มีขอบเขตกว้างขวางมาก ครอบคลุมไปถึงความรู้ที่รับเข้ามาทางปัญจทวาร พร้อมทั้งความรู้ที่เป็นเรื่องจำเพาะของใจ ถ้าพูดด้วยภาษาง่ายลงสักหน่อย อาจแยกประเภท ความรู้ทางมโนทวาร ได้อีกแนวหนึ่ง ดังนี้
ก) อารมณ์เฉพาะของใจ เช่น ความรัก ความโกรธ ความขุ่นมัว ผ่องใส ดีใจ เสียใจ ซึม เศร้า เหงาหงอย ว้าเหว่ เบิกบาน กล้าหาญ หวั่นกลัว เป็นต้น
ข) อารมณ์อดีต ซึ่งได้รับรู้ไว้ด้วยอายตนะ ๕ อย่างแรก เรียกง่ายๆ ว่า อารมณ์อดีตของปัญจทวาร
ค) อารมณ์ที่เนื่องอยู่กับรูปธรรมที่เป็นอารมณ์ของปัญจทวารนั้นเอง แต่วิญญาณทางปัญจทวารนั้นไม่รู้ ได้แก่ บัญญัติ และความสัมพันธ์ต่างๆ เกี่ยวกับรูปธรรมทั้งหลาย เช่น หน้าที่ความสืบเนื่อง ความคลี่คลายขยายตัว ความเป็นองค์ประกอบกัน ของรูปธรรมต่างๆ เป็นต้น
ง) การปรุงแต่งอารมณ์อดีตที่รับเข้ามาทางปัญจทวาร พร้อมทั้งอารมณ์เฉพาะของใจและความรู้ เกี่ยวกับบัญญัติและความสัมพันธ์ต่างๆ ขึ้นเป็นความตริตรึก คิดหาเหตุผลและจินตนาการต่างๆ ตลอดจนการวินิจฉัยสั่งการ
จ) ความหยั่งรู้ หรือปรีชาพิเศษต่างๆ ที่ผุดโพลงขึ้นในใจสว่างชัดทั่วตลอด เช่น มองเห็นอาการที่สัมพันธ์กันของบางสิ่งแล้ว เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง มองเห็นกฎแห่งความสัมพันธ์นั้น ได้แก่ความรู้ที่เรียกว่า ญาณ เช่น อภิญญา เป็นต้น
ฉ) อสังขตธรรม คือนิพพาน
ถ้าจับเอาตรงแค่ผัสสะ โดยถือว่าเป็นจุดที่ความรู้เริ่มต้นอย่างแท้จริง ก็แยกประเภทความรู้เป็น ๒ คือ ความรู้ (ที่ได้) ด้วยผัสสะทางปัญจทวาร และความรู้ (ที่ได้) ด้วยมโนสัมผัส (ผัสสะทางมโนทวาร) ซึ่งก็ได้ความเท่ากับที่จำแนกโดยทวารอย่างที่กล่าวมาแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ตามความนิยมในคัมภีร์ทั้งหลาย ท่านจัดความรู้ตามทางรับรู้ เป็น ๔ ประเภท คือ
๑. ทิฏฐะ สิ่งที่เห็น ได้แก่ รูปารมณ์ทั้งหลาย หรือความรู้ที่ได้ด้วยการเห็นการดู
๒. สุตะ สิ่งที่ได้ยิน ได้แก่ เสียง และความรู้ที่ได้ด้วยการสดับทั้งหลาย
๓. มุตะ สิ่งที่สบทราบ ได้แก่ กลิ่น รส และโผฏฐพพะ หรือสิ่งที่รับรู้ทางจมูก ลิ้น และกาย
๔. วิญญาตะ สิ่งที่แจ้งใจ ได้แก่ ธรรมารมณ์ กล่าวคือ สิ่งทั้งหลายที่รู้ด้วยใจ
สามอย่างแรก คือ ทิฏฐะ สุตะ และมุตะ เป็นความรู้ทางปัญจทวาร แต่ท่านแยกออกเป็น ๓ พวก เพราะการเห็น และการได้ยิน เป็นแหล่งความรู้สำคัญ มีขอบเขตกว้างขวางมาก จึงแยกเป็นแต่ละอย่าง ส่วนความรู้ทางทวารอีกสาม ได้แก่ ทางจมูก ลิ้น และกาย มีลักษณะร่วมกันคือ เป็นความรู้ของทวาร ซึ่งรับอารมณ์ที่มาถึงตัว คือ กลิ่น รส และโผฏฐพพะ ต้องมาถูกต้องที่อายตนะจึงรู้ได้ ต่างจากตา หู ซึ่งรับอารมณ์ที่ไม่มาแตะต้องถึง อายตนะ (รูปอาศัยแสง เสียงอาศัยคลื่น เป็นสื่อเชื่อมต่อ) ว่าโดยความหมายอย่างเคร่งครัด ความรู้ทางปัญจทวารมีขอบเขตจำกัดแคบมากดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ ตามที่ใช้ทั่วไป ท่านมุ่งเอาความหมายกว้างๆ หลวมๆ กล่าวคือ
ทิฏฐะ หมายถึง สิ่งที่เห็น และความรู้ที่ได้ด้วยอาศัยตาหรือด้วยการดูการเห็นทั้งหมด แม้ที่ใจได้แปลความหมายออกไปแล้ว แต่ยังเป็นความหมายโดยตรง ขั้นต้น ที่ไม่มีการปรุงแต่งเสริมต่อ
สุตะ ก็หมายถึงสิ่งที่ได้ยินและความรู้ที่ได้จากการฟังทั้งหมด รวมทั้งถ้อยคำพูดจา ซึ่งใจได้แปลความหมายขั้นต้นแล้ว แต่ยังไม่ได้เอาไปปรุงแต่งต่อเสริมอีก
มุตะ ก็พึงทราบทำนองเดียวกันนี้
หากจะใช้คำศัพท์ ความรู้ทางปัญจทวาร คือ ทิฏฐะ สุตะ และมุตะ นี้ กินความหมายกว้างออกมาได้เพียงแค่ปัญจทวาริกสัญญา คือ สัญญาที่เป็นไปทางปัญจทวาร นอกจากนั้นไปก็เป็น
หากจะใช้คำศัพท์ ความรู้ทางปัญจทวาร คือ ทิฏฐะ สุตะ และมุตะ นี้ กินความหมายกว้างออกมาได้เพียงแค่ปัญจทวาริกสัญญา คือ สัญญาที่เป็นไปทางปัญจทวาร นอกจากนั้นไปก็เป็น
วิญญาตะ คือ ความรู้ที่อาศัยมโนทวาร
🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ข. จำแนกโดยทางรับรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท