ตอน ๑. ชีวิตคืออะไร?
ก. ชีวิตตามสภาพของมันเอง
ขันธ์ ๕ ส่วนประกอบห้าอย่างของชีวิต
🔅ตัวสภาวะ
พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นธาตุ เป็นธรรม เป็นสภาวะ อันมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ที่เป็นของมันอย่างนั้น เช่นนั้น ตามธรรมดาของมัน มิใช่มีเป็นสัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เราเขา ที่จะยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ครอบครอง บังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาอย่างไรๆ ได้ บรรดาสิ่งทั้งหลายที่รู้จักเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไปนั้น มีอยู่เป็นอยู่เป็นไปในรูปของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมด ก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่
ตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกขึ้นอ้างกันบ่อยๆ คือ “รถ” เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกกันว่า “รถ” แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลาย ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้น มีแต่เพียงคำบัญญัติว่า “รถ” สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อยๆ ต่อๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่างๆ มาประชุมเข้าด้วยกัน เมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบเช่นนี้ พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่างๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุและจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และมักแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจ
การแสดงส่วนประกอบต่างๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้นๆ แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตร โดยวิธีแบ่งแบบขันธ์ ๕ (The Five Aggregates) พุทธธรรมแยกแยะชีวิตพร้อมทั้งองคาพยพทั้งหมดที่บัญญัติเรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” ฯลฯ ออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ ๕ ประเภท หรือ ๕ หมวด เรียกทางธรรมว่าเบญจขันธ์ คือ
๑. รูป (Corporeality) ได้แก่ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกาย และพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือสสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติ และพฤติการณ์ต่างๆ ของสสารพลังงานเหล่านั้น
๒. เวทนา (Feeling หรือ Sensation) ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
๓. สัญญา (Perception) ได้แก่ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่างๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์ (object) นั้นๆ ได้
๔. สังขาร (Mental Formations หรือ Volitional Activities) ได้แก่องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นที่มาของกรรม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ปัญญา โมหะ โลภะ โทสะ มานะ ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น เรียกรวมอย่างง่ายๆ ว่า เครื่องปรุงของจิต เครื่องปรุงของความคิด หรือเครื่องปรุงของกรรม
๕. วิญญาณ (Consciousness) ได้แก่ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็นการได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
(*คำว่า “อารมณ์” ในบทความนี้ ทุกแห่งใช้ในความหมายทางธรรมเท่านั้น คือหมายถึงสิ่งที่จิตรับรู้หรือสิ่งที่ถูกรับรู้ โดยอาศัยทวารทั้ง ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ และธรรมารมณ์ ความนึกคิดต่างๆ) ไม่มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปในภาษาไทย ดูเพิ่มเติม 🔎ผัสสเจตสิก)
(อุเบกขา เป็นธรรมสำคัญยิ่งข้อหนึ่ง และมักมีผู้เข้าใจความหมายสับสนผิดพลาดอยู่เสมอ จึงควรศึกษาให้เข้าใจชัด 🔎อย่างน้อยต้องสามารถแยกอุเบกขาในหมวดสังขาร ซึ่งตรงกับ ตัตรมัชฌัตตตา ออกจากอุเบกขาในหมวดเวทนา ซึ่งตรงกับ อทุกขมสุข อันเป็นความรู้สึกเฉยๆ)
ขันธ์ ๔ ข้อหลัง ซึ่งเป็นพวกนามขันธ์ มีข้อควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม เพื่อเห็นความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นและเพื่อป้องกันความสับสน ดังนี้
สัญญา เป็นความรู้จำพวกหนึ่ง หมายถึง การหมายรู้ หรือกำหนดรู้อาการของอารมณ์ เช่น ลักษณะทรวดทรง สี สัณฐาน ฯลฯ ตลอดจนชื่อเรียก และสมมติบัญญัติต่างๆ ว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา ทุ้ม แหลม อ้วน ผอม โต๊ะ ปากกา หมู หมา ปลา แมว คน เขา เรา ท่าน เป็นต้น การหมายรู้หรือกำหนดรู้นี้ อาศัยการจับเผชิญ หรือ การเทียบเคียงระหว่างประสบการณ์หรือความรู้เก่ากับประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ ถ้าประสบการณ์ใหม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เช่น พบเห็นคนหรือสิ่งของที่เคยรู้จักแล้ว ได้ยินเสียงที่เคยได้ยินแล้ว ดังตัวอย่าง นาย ก. รู้จักนายเขียว ต่อมาอีกเดือนหนึ่ง นาย ก. เห็นนายเขียวอีก และรู้ว่าคนที่เขาเห็นนั้นคือนายเขียว อย่างนี้เรียกว่า จำได้ (พึงสังเกตว่า ในที่นี้ “จำได้” ต่างจาก “จำ” คัมภีร์ชั้นอรรถกถาแสดงลักษณะหน้าที่เป็นต้นของสัญญาไว้ว่า:- สัญญา มีลักษณะจำเพาะคือสัญชานน์ (จำได้, รู้จัก) มีหน้าที่ทำเครื่องหมายไว้เป็นปัจจัยแห่งการจำได้ (หรือรู้จัก) ต่อไปว่า “นั่นคือสิ่งนั้น” เหมือนดังช่างไม้ เป็นต้น ทำเครื่องหมายไว้ที่วัสดุมีตัวไม้เป็นอาทิ; มีผลปรากฏคือ เกิดความยึดถือไปตามเครื่องหมายที่กำหนดเอาไว้ เหมือนพวกคนตาบอดคลำช้าง ยึดถือไปตามเครื่องหมายที่ตนจับได้ (ว่าช้างเป็นอย่างนั้นๆ); มีปทัฏฐาน คืออารมณ์ตามที่ปรากฏ เหมือนลูกเนื้อเห็นหุ่นคนที่ผูกด้วยมัดหญ้า สำคัญหมายว่าเป็นคนจริงๆ (วิสุทธิมัคค์ ๓/๓๕); ถ้าเทียบกับหลักจิตวิทยาฝ่ายตะวันตก สัญญาจะครอบคลุมเรื่อง perception, conception และ recognition แต่ไม่ใช่ memory ทั้งหมด)
ถ้าประสบการณ์ใหม่ไม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เราย่อมนำเอาประสบการณ์หรือความรู้เก่าที่มีอยู่แล้วนั่นเอง มาเทียบเคียงว่าเหมือนกันและไม่เหมือนกันในส่วนไหน อย่างไร แล้วหมายรู้สิ่งนั้นตามคำบอกเล่าหรือ ตามที่ตนกำหนดเอาว่าเป็นนั่น เป็นนี่ ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นี่ อย่างนี้เรียกว่ากำหนดหมายหรือหมายรู้การหมายรู้เช่นนี้ย่อมมีหลายชั้น หมายรู้ไปตามความตกลงอันเนื่องด้วยความรู้สามัญบ้าง เช่นว่า เขียว ขาว เหลือง แดง เป็นต้น ตามนิยมของโลก ของสังคม ของวัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้นบ้าง เช่นว่า อย่างนี้สุภาพ อย่างนั้นสวยงาม อย่างนั้นถูกธรรมเนียม อย่างนี้ผิดธรรมเนียม เป็นต้น ตามนิยมและปรุงแต่งจำเพาะตนบ้าง เช่นว่า อย่างนี้สวย อย่างนั้นน่าชม อย่างนี้น่าหมั่นไส้ เป็นต้น
หมายรู้สองชั้น (แบบสัญลักษณ์) บ้าง เช่นว่า สีเขียวแดงหมายถึงมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เสียงระฆังสองครั้งหมายถึงการกินอาหาร ตลอดจนตามการศึกษาอบรมในทางธรรม เช่น หมายรู้ในภาวะที่ไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยง หมายรู้ในภาวะที่เป็นอนัตตา เป็นต้น มีทั้งความหมายรู้สามัญและความหมายรู้ที่ละเอียดซับซ้อน (คือสัมพันธ์กับขันธ์อื่นมากขึ้น) มีทั้งหมายรู้เกี่ยวกับรูปธรรมและหมายรู้เกี่ยวกับนามธรรม คำที่แปลสัญญากันว่า จำได้ กำหนดได้ หมายรู้ กำหนดหมาย จำหมาย สำคัญหมาย ล้วนแสดงแง่ต่างๆ แห่งความหมายของกองสัญญานี้ทั้งสิ้น พูดเพื่อเข้าใจกันอย่างง่ายๆ สัญญาก็คือกระบวนการเรียกเก็บ รวบรวมสั่งสมข้อมูลของการเรียนรู้และวัตถุดิบสำหรับความคิดนั่นเอง
สัญญาเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างมาก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีโทษมิใช่น้อย เพราะมนุษย์จะยึดติดตามสัญญา ทำให้สัญญากลายเป็นเครื่องกีดกั้นกำบังตนเองและห่อหุ้มคลุมตัวสภาวะไว้ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ที่อยู่ลึกลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป ขอแยกสัญญาออกอย่างคร่าวๆ เป็น ๒ ระดับ คือ สัญญาอย่างสามัญ ซึ่งกำหนดหมายอาการของอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือเป็นไปอยู่ตามปกติธรรมดาของมัน อย่างหนึ่ง สัญญาสืบทอด หรือสัญญาอย่างซับซ้อน ที่บางคราวก็ใช้คำเรียกให้ต่างออกไป เฉพาะอย่างยิ่ง “ปปัญจสัญญา” อันหมายถึงสัญญาเนื่องด้วยอารมณ์ที่คิดปรุงแต่งขึ้นให้ซับซ้อนพิสดารด้วยแรงผลักดันของตัณหา มานะ และทิฏฐิ ซึ่งเป็นสังขารชั้นนำในฝ่ายร้าย อีกอย่างหนึ่ง การแยกเช่นนี้จะช่วยให้มองเห็นความหมายของสัญญาที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสัญญากับขันธ์อื่นภายในกระบวนธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
วิญญาณ แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้ง คือ รู้แจ้งอารมณ์ หมายถึง ความรู้ประเภทยืนพื้น หรือความรู้ที่เป็นตัวยืน เป็นฐานและเป็นทางเดินให้แก่นามขันธ์อื่นๆ เกี่ยวข้องกับนามขันธ์อื่นทั้งหมด เป็นทั้งความรู้ต้น และความรู้ตาม ที่ว่าเป็นความรู้ต้น คือเป็นความรู้เริ่มแรก เมื่อเห็น ได้ยิน เป็นต้น (เกิดวิญญาณขึ้น) จึงจะรู้สึกชื่นใจหรือบีบคั้นใจ (เวทนา) จึงจะกำหนดได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (สัญญา) จึงจะจำนงตอบและคิดปรุงแต่งไปต่างๆ (สังขาร) เช่น เห็นท้องฟ้า (วิญญาณ) รู้สึกสบายตาชื่นใจ (เวทนา) หมายรู้ว่า ท้องฟ้า สีคราม สดใส ฟ้าสาย ฟ้าบ่าย ฟ้าสวย (สัญญา) ชอบใจฟ้านั้น อยากเห็นฟ้านั้นนานๆ ไม่อยากให้เวลาผ่านไป โกรธชายคาที่บังไม่ให้เห็นฟ้านั้นเต็มที่ คิดหาวิธีจะทำให้ได้นั่งดูฟ้านั้นได้สบายๆ ชัดเจนและนานๆ ฯลฯ (สังขาร) ที่รู้ตาม คือรู้ควบไปตามกิจกรรมของขันธ์อื่นๆ เช่น รู้สึกสุขสบาย (เวทนา) ก็รู้ว่าเป็นสุข (วิญญาณ; จึง
สังเกตว่า รู้สึกสุข กับรู้ว่าเป็นสุข ไม่เหมือนกัน) รู้สึกบีบคั้นใจไม่สบาย (เวทนา) ก็รู้ว่าเป็นทุกข์ (วิญญาณ) หมายรู้ว่าอย่างนี้เป็นสุข อย่างนั้นเป็นทุกข์ (สัญญา) ก็รู้ไปตามนั้น เมื่อคิดนึกปรุงแต่งตั้งเจตจำนงไปอย่างใดๆ (สังขาร) ก็ย่อมมีความรู้ควบอยู่พร้อมกันด้วยโดยตลอด กระแสความรู้ยืนขึ้น ซึ่งเกิดดับต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาควบไปรับนามขันธ์อื่นๆ หรือกิจกรรมทุกอย่างในจิตใจ นี้เรียกว่า วิญญาณ
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยความเข้าใจเกี่ยวกับวิญญาณ คือ วิญญาณ เป็นการรู้ความต่างจำเพาะ รู้ความหมายจำเพาะ หรือรู้แยกต่าง ความหมายนี้จึงเข้าใจด้วยตัวอย่าง เช่น เมื่อเห็นผืนผ้าลาย ที่ว่าเห็นนั้น แม้จะไม่ได้กำหนดหมายว่าอะไรเป็นอะไร ก็ย่อมเห็นลักษณะอาการ เช่น สีสัน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันเป็นพื้นอยู่พร้อมด้วยเสร็จ นี้เป็นความรู้ขั้นวิญญาณ เพราะวิญญาณรู้เห็นความแตกต่างนั้นอยู่ สัญญาจึงหมายรู้อาการที่แตกต่างกันนั้นได้ว่า เป็นนั่น เป็นนี่ เช่น เป็นเขียว ขาว แดง เป็นต้น หรืออย่างเมื่อรับประทานผลไม้ ถึงจะไม่กำหนดหมายว่าเป็นรสหวาน รสเปรี้ยว ก็รู้รสที่หวาน ที่เปรี้ยวนั้น ซึ่งแตกต่างกัน และแม้ในรสที่เปรี้ยวหรือหวานด้วยกัน แม้จะไม่กำหนดหมายว่าเป็นรสเปรี้ยวมะม่วง เปรี้ยวมะปราง เปรี้ยวมะขาม เปรี้ยวมะนาว เปรี้ยว สับปะรด หรือหวานกล้วยหอม หวานกล้วยน้ำว้า หวานกล้วยไข่ หวานแอปเปิ้ล เมื่อลิ้มก็ย่อมรู้รสที่ต่างจำเพาะนั้น ความรู้อย่างนี้คือวิญญาณ เป็นความรู้ยืนพื้น เมื่อรู้แล้วนามขันธ์อื่นจึงจะทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น รู้สึกอร่อยไม่อร่อย (เวทนา) จำได้หมายรู้ว่ารสหวานอะไร รสเปรี้ยวอะไร (สัญญา) เป็นต้น
ส่วนในแง่ที่ว่ารู้ความหมายจำเพาะนั้นอธิบายสั้นๆ ว่า เมื่อเกิดวิญญาณขึ้น คือ เห็น ได้ยิน เป็นต้น ว่าที่จริงแล้วจะเป็นการเห็นการได้ยินจำเพาะบางแง่ บางความหมาย ของสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินเท่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า จะเป็นการเห็นการได้ยินตามความหมายจำเพาะแง่จำเพาะอย่างที่เราใส่ให้แก่สิ่งนั้น ทั้งนี้ สุดแต่สังขารที่เป็นปัจจัยให้วิญญาณนั้นเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น ในท้องทุ่งแห่งหนึ่ง เป็นที่โล่งกว้าง มีต้นมะม่วงขึ้นอยู่ต้นเดียว เป็นต้นใหญ่มาก แต่มีผลอยู่เพียงไม่กี่ลูก และใบห่าง แทบจะอาศัยร่มเงาไม่ได้ มีชาย ๕ คน เดินทางมาถึงต้นมะม่วงนั้นในโอกาสต่างๆ กัน คนหนึ่งวิ่งหนีสัตว์ร้าย คนหนึ่งกำลังหิวมาก คนหนึ่งร้อนแดด กำลังต้องการร่มไม้ คนหนึ่งกำลังหาผักผลไม้ไปขาย คนหนึ่งกำลังหาที่ผูกสัตว์เลี้ยงของตนเพราะจะแวะไปธุระในย่านใกล้เคียง คนทั้งห้านั้นมองเห็นต้นมะม่วงใหญ่ทุกคน แต่จะเป็นการเห็นในแง่และขอบเขตความหมายต่างๆ กัน วิญญาณเกิดขึ้นแก่ทุกคน แต่วิญญาณของแต่ละคนหาเหมือนกันไม่ เพราะแตกต่างกันไปตามเจตจำนงของตนๆ ต่อต้นมะม่วง ในเวลาเดียวกัน สัญญาคือการกำหนดหมายของแต่ละคนก็จะต่างๆ กันไปภายในขอบเขตแห่งความหมายที่ตนเห็นในขณะนั้นด้วย แม้เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่เหมือนกัน เช่น
คนที่วิ่งหนีสัตว์ร้าย เห็นต้นมะม่วงใหญ่แล้วดีใจ เพราะเห็นเครื่องช่วยให้หนีรอดปลอดภัย
คนที่หิวมากก็ดีใจเพราะผลมะม่วงเพียง ๓ – ๔ ลูก ก็จะช่วยให้ตนอิ่มพ้นอดตายได้
คนร้อนแดดอาจเสียใจ เพราะผิดหวังที่ไม้ใหญ่ไม่มีร่มให้อย่างที่ควรจะเป็น
คนหาผลไม้ไปขายก็อาจเสียใจเพราะผิดหวังต่อจำนวนผลไม้ที่น้อย
ส่วนคนหาที่ผูกสัตว์เลี้ยงอาจจะรู้สึกสบายใจแต่เพียงเล็กน้อย แค่โล่งใจว่าไม่ต้องจูงสัตว์ไปหรือไปหาที่ผูกที่อื่น
คนที่หิวมากก็ดีใจเพราะผลมะม่วงเพียง ๓ – ๔ ลูก ก็จะช่วยให้ตนอิ่มพ้นอดตายได้
คนร้อนแดดอาจเสียใจ เพราะผิดหวังที่ไม้ใหญ่ไม่มีร่มให้อย่างที่ควรจะเป็น
คนหาผลไม้ไปขายก็อาจเสียใจเพราะผิดหวังต่อจำนวนผลไม้ที่น้อย
ส่วนคนหาที่ผูกสัตว์เลี้ยงอาจจะรู้สึกสบายใจแต่เพียงเล็กน้อย แค่โล่งใจว่าไม่ต้องจูงสัตว์ไปหรือไปหาที่ผูกที่อื่น
เวทนา แปลกันว่า การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสของอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้ เป็นความรู้สึกสุข สบาย ถูกใจ ชื่นใจ หรือทุกข์ บีบคั้น เจ็บปวด หรือไม่ก็เฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อที่ควรทำความเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวทนา เพื่อป้องกันความสับสนกับสังขาร คือ เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ กล่าวคือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ตามปกติจะใช้เป็นคำแสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง เพราะคำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แสดงถึงอาการจำนงหรือกระทำตอบต่ออารมณ์ ดังจะเห็นได้ในลำดับกระบวนธรรม เช่น
เห็นรูปที่น่าปรารถนาน่าใคร่ ➜ เกิดความสุขสบาย ➜ ก็ชอบใจต่ออารมณ์นั้น
(จักขุ + อิฏฐารมณ์ 👉จักขุวิญญาณ) ➜ (สุขเวทนา) ➜ (สังขาร:- ราคะ)
ได้ยินเสียงที่ไม่ปรารถนาน่ารำคาญ ➜ เกิดความทุกข์ ไม่สบาย ➜ ก็ไม่ชอบใจต่ออารมณ์นั้น
(โสตะ + อนิฏฐารมณ์ 👉โสตวิญญาณ ) ➜ (ทุกขเวทนา) ➜ (สังขาร : โทสะ)
เวทนา มีความสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งมุ่งประสงค์ เสาะแสวง (หมายถึงสุขเวทนา) และเป็นสิ่งเกลียดกลัวเลี่ยงหนี (หมายถึงทุกขเวทนา) สำหรับสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีการรับรู้เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เวทนาจะเป็นขั้วต่อและเป็นต้นทางแยก ที่ชี้แนะหรือส่งแรงผลักดันแก่องค์ธรรมอื่นๆ ว่าจะดำเนินไปในทางใด อย่างไร เช่น ถ้ารับรู้อารมณ์ใดแล้วสุขสบาย ก็จะกำหนดหมายอารมณ์นั้นมาก และในแง่หรือในแนวทางที่จะสนองเวทนานั้น และคิดปรุงแต่งเพื่อให้ได้อารมณ์นั้นมาเสพเสวยต่อไปอีก ดังนี้เป็นต้น
เวทนา จัดอยู่ในจำพวกวิบาก ไม่ดีไม่ชั่วโดยลำพังตัวของมัน (ดู ตอนว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท)
สังขาร หมายรวมทั้งเครื่องแต่งคุณภาพของจิต หรือเครื่องปรุงของจิต ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวนำ และกระบวนการแห่งเจตจำนงที่ชักจูง เลือกรวบรวมเอาเครื่องแต่งคุณภาพเหล่านั้นมาประสมปรุงแต่งความนึกคิด การพูด การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ อย่างไรก็ตาม ในการอธิบายตามแนวขันธ์ ๕ ท่านมุ่งแสดงตัวสภาวะให้เห็นว่าชีวิตมีองค์ประกอบอะไร มากกว่าจะแสดงกระบวนธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ว่าชีวิตเป็นไปอย่างไร ดังนั้น คำอธิบายเรื่องสังขาร ในขันธ์ ๕ ตามปกติจึงพูดถึงแต่ในแง่เครื่องแต่งคุณภาพของจิต หรือเครื่องปรุงของจิต ว่ามีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีลักษณะอย่างไร เป็นต้น ส่วนการอธิบายในแง่กระบวนการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นขั้นออกโรงแสดง ท่านยกไปกล่าวใน 🔎หลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ชีวิตเป็นไปอย่างไร ดังนั้น ในหลักปฏิจจสมุปบาท ความหมายของสังขารจึงมีรูปร่างแบบปฏิบัติการ คือจำแนกออกเป็น
กายสังขาร การปรุงแต่งแสดงเจตจำนงออกทางกาย หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย
วจีสังขาร การปรุงแต่งแสดงเจตจำนงทางวาจา หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา
จิตตสังขาร การปรุงแต่งแสดงเจตจำนงทางใจ หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ
ต่างจากคำอธิบายแนวขันธ์ ๕ ซึ่งจำแนกสังขารเป็นองค์ธรรมเครื่องปรุงแต่งต่างๆ มี ศรัทธา สติ เมตตา กรุณา ปัญญา โลภะ โทสะ เจตนา สมาธิ เป็นต้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับเรื่องรถ คำอธิบายแนวขันธ์ ๕ ก็เหมือนรถที่ตั้งแสดงให้ดูส่วนประกอบต่างๆ อยู่กับที่ ส่วนคำอธิบายแนวปฏิจจสมุปบาทที่จะกล่าวข้างหน้า เป็นเหมือนอธิบายเรื่องรถที่เดินเครื่องออกแล่นใช้งานจริง
วจีสังขาร การปรุงแต่งแสดงเจตจำนงทางวาจา หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา
จิตตสังขาร การปรุงแต่งแสดงเจตจำนงทางใจ หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ
ต่างจากคำอธิบายแนวขันธ์ ๕ ซึ่งจำแนกสังขารเป็นองค์ธรรมเครื่องปรุงแต่งต่างๆ มี ศรัทธา สติ เมตตา กรุณา ปัญญา โลภะ โทสะ เจตนา สมาธิ เป็นต้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับเรื่องรถ คำอธิบายแนวขันธ์ ๕ ก็เหมือนรถที่ตั้งแสดงให้ดูส่วนประกอบต่างๆ อยู่กับที่ ส่วนคำอธิบายแนวปฏิจจสมุปบาทที่จะกล่าวข้างหน้า เป็นเหมือนอธิบายเรื่องรถที่เดินเครื่องออกแล่นใช้งานจริง
บรรดาเครื่องแต่งคุณภาพของจิตทั้งหลายนั้น เจตนาเป็นตัวนำหรือเป็นหัวหน้า ดังนั้น ไม่ว่าเครื่องแต่งคุณภาพกี่อย่างจะเกิดขึ้นทำหน้าที่ในคราวหนึ่งคราวใด จะต้องมีเจตนาร่วมอยู่ด้วยเป็นแกนนำเสมอไปทุกคราว บางครั้งท่านถึงกับใช้คำว่าเจตนาเป็นคำแทนหมายถึงสังขารทั้งหมดที่เดียว ด้วยเหตุนี้จึงอาจให้ความหมายคำว่าสังขารได้อีกอย่างหนึ่งว่า “สังขาร คือ เจตนาพร้อมทั้งสัมปยุตธรรม” ธรรมที่ประกอบร่วมหรือเครื่องประกอบ ซึ่งแต่งจิตให้ดี หรือชั่ว หรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิด การพูด การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ บางครั้ง ท่านถึงกับใช้คำว่า เจตนาคำเดียวเป็นคำแทน หมายถึงสังขารทั้งหมด หรือแสดงความหมายทำนองจำกัดความคำว่าสังขารด้วยคำว่าเจตนา และเจตนาก็เป็นคำจำกัดความของคำว่ากรรมด้วย ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ คำว่า สังขาร เจตนา และกรรม จึงมีความหมายอย่างคร่าวๆ เท่ากัน เปรียบเหมือนว่า พระครูแก้วเป็นเจ้าอาวาสวัดกลาง เป็นผู้แทนวัดนั้นไปรับมอบพระไตรปิฎกร่วมกับผู้แทนของวัดอื่นๆ หลายวัด ในที่ประชุมนั้น จะออกชื่อว่า พระครูแก้ว เจ้าอาวาสวัดกลาง คณะวัดกลาง หรือว่าวัดกลาง ก็ได้ความหมายที่ประสงค์อย่างเดียวกัน
นอกจากความสำคัญที่กล่าวมาแล้ว เจตนายังเป็นตัวแสดงลักษณะพิเศษของสังขาร ที่ทำให้สังขารขันธ์ต่างจากขันธ์อื่นๆ อีกด้วย เจตนา แปลว่า ความจำนง ความจงใจ ความตั้งใจ ลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันระหว่างสังขารขันธ์กับนามขันธ์อื่น ก็คือ นามขันธ์อื่น อันได้แก่ เวทนา สัญญา และวิญญาณ ทำงานกับอารมณ์ที่เข้ามาปรากฏอยู่แล้ว เป็นสภาพที่เนื่องด้วยอารมณ์ เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ อาศัยอารมณ์จึงดำเนินไปได้และเป็นฝ่ายรับ แต่สังขารมีการริเริ่มเองได้ จำนงต่ออารมณ์และเป็นฝ่ายกระทำต่ออารมณ์ เมื่อเข้าใจหลักนี้แล้ว ก็จะมองเห็นเหตุผลว่า ทำไมความสบาย ไม่สบาย จัดเป็นเวทนา แต่ความชอบใจ ไม่ชอบใจ ซึ่งเกิดถัดจากสบายไม่สบายนั้น จึงจัดเข้าในสังขาร ทำไมสัญญากับสติ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องความจำด้วยกัน แต่กลับแยกอยู่คนละขันธ์ (สติอยู่ในสังขารขันธ์) ทำไมปัญญาซึ่งก็เป็นเรื่องของความรู้เช่นเดียวกับสัญญาและวิญญาณ จึงแยกไปอยู่ในสังขารขันธ์
🔅 บทที่ ๑ ขันธ์ ๕
ตัวสภาวะ
บันทึกพิเศษท้ายบท