อุเบกขา ๑๐ ประการ
ก็แหละ อุเบกขานั้นมี ๑๐ ประการ คือ
๑. ฉฬังคุเปกขา อุเบกขาประกอบด้วยองค์ ๖
๒. พรหมวิหารุเปกขา อุเบกขาพรหมวิหาร
๓. โพชฌังคุเปกขา อุเบกขาสัมโพชฌงค์
๔. วีริยุเปกขา อุเบกขาคือวีริยะ
๕. สังขารุเปกขา อุเบกขาในสังขาร
๖. เวทนุเปกขา อุเบกขาเวทนา
๗. วิปัสสนุเปกขา อุเบกขาในวิปัสสนา
๘. ตัตรมัชฌัตตุเปกขา อุเบกขาเจตสิก
๙. ฌานุเปกขา อุเบกขาในฌาน
๑๐. ปาริสุทธุเปกขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก
🔅 ๑. อธิบาย ฉฬังคุเปกขา
ในอุเบกขา ๑๐ ประการนั้น อุเบกขาของพระขีณาสพอันใด คืออาการที่ไม่ละปกติ ภาวะอันบริสุทธิ์ ในคลองแห่งอารมณ์ ๖ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในทวารทั้ง ๖ ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพในศาสนานี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ดีใจ ย่อมไม่เสียใจ เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฉฬังคุเปกขา
🔅 ๒. อธิบาย พรหมวิหารุเปกขา
อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุมีจิตประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปทางทิศหนึ่งอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า พรหมวิหารุเปกขา
🔅 ๓. อธิบาย โพชฌงคุเปกขา
อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสหชาตธรรมทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุย่อมยังอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อันอาศัยนิพพานให้เกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า โพชฌงคุเปกขา
🔅 ๔. อธิบาย วิริยุเปกขา
อุเบกขาอันใด กล่าวคือความเพียรที่ไม่ตึงเครียดเกินไป และที่ไม่หย่อนยานเกินไป ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้โยคืบุคคล ย่อมมนสิการถึงอุเบกขานิมิตตลอดกาลโดยกาล อุเบกขานี้ชื่อว่า วิริยุเปกขา
🔅 ๕. อธิบาย สังขารุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่พิจารณาข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้นโดยสภาวะแล้วจึงลงความเห็นซึ่งมีอาการเป็นกลาง ๆ ในการยึดถือสังขาร อันมาแล้วอย่างนี้ว่า สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งสมถะมีเท่าไร ? สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจมีวิปัสสนามีเท่าไร ? สังขารุเปกขาเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะมี ๘ สังขารุเปกขาเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนามี ๑๐ อุเบกขานี้ชื่อว่า สังขารุเปกขา
🔅 ๖. อธิบาย เวทนุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่รู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข (คือเฉย ๆ) ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยใดกามาวจรกุสลจิตอันประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า เวทนุเปกขา
🔅 ๗. อธิบาย วิปัสสนุเบกขา
อุเบกขาอันใด คือความเป็นกลาง ๆ ในการพิจารณา ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่าขันธ์ ๕ ใดมีอยู่ ขันธ์ ๕ ใดปรากฏชัด โยคีบุคคลย่อมละขันธ์ ๕ นั้น ย่อมได้อุเบกขาในขันธ์ ๕ นั้น อุเบกขานี่ชื่อว่า วิปัสสนุเปกขา
🔅 ๘. อธิบาย ตัตรมัชฌัตตุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่ยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปเสมอกัน ซึ่งมาแล้วในเยวาปนกธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อว่า ตัตรมัชฌัตตุเปกขา
🔅 ๙. อธิบาย ฌานุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่ไม่ให้เกิดความเอนเอียงไปในฝ่าย แม้ในฝ่ายสุขอันเลิศนั้นก็ตาม ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า และเป็นผู้มีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฌานุเปกขา
🔅 ๑๐. อธิบาย ปาริสุทธุเปกขา
แหละอุเบกขาอันใดที่บริสุทธิ์จากข้าศึกทั้งปวงมีนิวรณ์และวิตกวิจารเป็นต้น มีอันไม่ขวนขวายแม้ในการสงบแห่งธรรมอันเป็นข้าศึก เพราะธรรมอันเป็นข้าศึกเหล่านั้นสงบไปแล้ว ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า จตุตถฌาน อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อุเบกขานี้ชื่อว่า ปาริสุทธุเปกขา
อุเบกขา ๖ ความหมายเหมือนกัน
ในบรรดา อุเบกขา ๑๐ ประการนั้น อุเบกขา ๖ ประการเหล่านี้คือ ฉฬังคุเปกขา ๑ พรหมวิหารุเปกขา ๑ โพชฌงคุเปกขา ๑ ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ๑ ฌานุเบกขา ๑ และปาริสุทธุเปกขา ๑ โดยใจความเป็นอย่างเดียวกัน คือเป็น ตัตรมัชฌัตตุเปกขานั่นเอง แต่ความต่างกันแห่งอุเบกขานั้นนี้ ย่อมมีด้วยความต่างแห่งอวัตถานนั้น ๆ เช่นเดียวกับความต่างกันแม้แห่งบุคคลคนเดียว ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งความเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นผู้ใหญ่ เป็นเสนาบดีและเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น เพราะเหตุนั้นนักศึกษาพึงทราบว่า ในบรรดาอุเบกขา ๖ ประการนั้น ฉฬังคุเปกขามี ณ ที่ใด ณ ที่นั้นย่อมไม่มีโพชฌงคุเปกขาเป็นต้น แหละหรือโพชฌงคุเปกขามี ณ ที่ใด ณ ที่นั้นย่อมไม่มีฉฬังคุเปกขาเป็นต้น (คำว่า ตัตรมัชฌัตตตา เป็นชื่อของเจตสิกดวงหนึ่งในโสภณเจตสิก ๒๕ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกนั้น มีหน้าที่ทำจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันให้เป็นไปสม่ำเสมอกันในหน้าที่ของตน ๆ ไม่ให้ยิ่งและหย่อนจึงจัดเป็นตัตรมัชฌัตตุเบกขา)
อุเบกขา ๒ ความหมายเหมือนกัน
แหละอุเบกขา ๖ ประการนี้ โดยความหมายเป็นอย่างเดียวกัน ฉันใด แม้สังขารุเปกขากับวิปัสสนุเปกขา โดยความหมายก็เป็นอย่างเดียวกัน ฉันนั้น จริงอยู่ อุเบกขานั้น ก็คือปัญญานั่นเอง ที่แบ่งออกเป็น ๒ ประการ ด้วยอำนาจทำหน้าที่ต่างกัน เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาไม้เท้าแพะแล้วค้นหางู ซึ่งเลื้อยเข้าไปในเรือนในเวลาเย็น ๆ ไปพบงูนั้นนอนซ่อนอยู่ในลังแกลบ ใคร่ครวญอยู่ว่าจะเป็นงูหรือมิใช่หนอ ครั้นเห็นลายดอกจัน ๓ แฉกแล้วก็หมดสงสัย แต่นั้นย่อมเกิดความเป็นกลาง ๆ ในการพิจารณาที่ว่าจะเป็นงูหรือมิใช่งูนั้น ฉันใด เมื่อโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน อยู่นั้นเห็นลักษณะทั้งสามของสังขารด้วยวิปัสสนาญาณแล้ว ความเป็นเฉย ๆ ในการพิจารณาว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้น ฉันนั้น ความเป็นเฉย ๆ นี้ชื่อว่า สังขารุเปกขาแหละเมื่อบุรุษนั้น ใช้ไม้เท้าแพะกดไว้อย่างแน่นแล้ว ค้นคิดหาวิธีการที่จะปล่อยงูอยู่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เบียดเบียนงูนี้ให้ลำบากด้วย ไม่ให้มันกัดเราด้วยแล้วปล่อยมันไปฉะนี้ ความเฉย ๆ ในการกดไว้นั้น ย่อมมีฉันใด เมื่อโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่นั้น เห็นภพทั้งสามเป็นเหมือนถูกไฟเผา เพราะได้เห็นลักษณะทั้งสามของสังขาร ย่อมเกิดความเห็นเฉย ๆ ในการยึดถือสังขาร ฉันนั้นเหมือนกัน ความเห็นเฉย ๆ นี้ชื่อว่า สังขารุเปกขา
ด้วยประการฉะนี้ เมื่อ วิปัสสนุเปกขา สำเร็จแล้ว แม้ สังขารุเปกขา ก็ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้วเหมือนกัน และอุเบกขานี้แบ่งออกเป็น ๒ ประการ ด้วยการทำ หน้าที่คือความเฉย ๆ ในการพิจารณาและการยึดถือ ดังพรรณนามานี้
อุเบกขา ๒ ความหมายต่างกัน
ส่วน วีริยุเปกขา กับ เวทนุเปกขา ๒ อย่างนี้ โดยความหมาย ต่างกันเองด้วย ต่างจากอุเบกขาทั้งหลายที่เหลือด้วย
อุเบกขาที่ประสงค์ ณ ที่นี้
บรรดาอุเบกขา ๑๐ ประการนั้น ณ ที่นี้ประสงค์เอา ฌานุเปกขา เท่านั้น ฌานุเบกขานั้น มีความเป็นกลาง ๆ เป็นลักษณะ มีความไม่ห่วงใยเป็นรส มีความไม่ขวนขวายเป็นอาการปรากฏ มีความสร่างหายไปแห่งปีติเป็นปทัฏฐาน หากจะมีผู้ท้วงติงว่า - ก็แหละ ฌานุเปกขา นี้ โดยความหมาย ก็คือ ตัตรมัชฌัตตุเบกขา นั่นเอง และตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นย่อมมีมาแม้แต่ในปฐมฌานและทุติยฌานแล้ว เพราะเหตุนั้น แม้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น ก็ควรที่จะต้องแสดงฌานุเบกขานี้ไว้ด้วยคำว่า อุเปกขโก จ วิหรติ ซึ่งแปลว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่ แต่เหตุไฉน จึงไม่ทรงแสดง ณานุเปกขา นั้นไว้เล่า ? ข้าพเจ้าขอแถลงแก้ว่า - ที่ท่านไม่แสดง ฌานุเปกขา ไว้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น เพราะฌานุเปกขายังไม่มีหน้าที่ปรากฏ จริงอยู่ หน้าที่ของฌานุเบกขาในปฐมฌานและทุติยฌานนั้นยังไม่ปรากฏชัด เพราะถูกข้าศึกทั้งหลายมีวิตกเป็นต้น กันท่าไว้ แต่ในตติยฌานนี้ ฌานุเปกขานี้เกิดมีหน้าที่ปรากฏชัด เป็นเสมือนโงศีรษะขึ้นมาแล้ว เพราะไม่มีวิตกและวิจารกันท่าแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงทรงแสดงไว้ อรรถาธิบายอย่างสิ้นเชิง ของคำว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่ ยุติด้วยประการฉะนี้
อธิบาย ผู้มีสติมีสัมปชัญญะ
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ ต่อไป บุคคลใดย่อมระลึกได้ ฉะนั้นบุคคลนั้น ชื่อว่าผู้ระลึกได้ คือผู้มีสติ บุคคลใดย่อมรู้โดยชอบ ฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าผู้รู้โดยชอบ คือผู้มีสัมปชัญญะ พึงทราบว่า ท่านแสดงสติสัมปชัญญะด้วยบุคคลาธิษฐาน ในสติและสัมปชัญญะนั้น สติ มีความระลึกได้เป็นลักษณะ มีความไม่ลืมเป็นรส มีความอารักขาเป็นอาการปรากฏ สัมปชัญญะ มีความไม่หลงเป็นลักษณะ มีความไตร่ตรองเป็นรส มีความส่องเห็นเป็นอาการปรากฏจำปรารถนาสติและสัมปชัญญะในฌานเหล่านั้น ถึงแม้ว่าสติและสัมปชัญญะนี้จะมีมาแต่ในฌานต้น ๆ แล้วก็ตาม เพราะเหตุที่โยคีบุคคลเผลอสติไม่มีสัมปชัญญะนั้น แม้เพียงขั้นอุปจารฌานก็สำเร็จไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงขั้นอัปปนาฌานกันละ แต่กระนั้น การดำเนินไปของจิตก็เป็นความสะดวกสบาย เพราะฌานเหล่านั้นเป็นสภาพที่หยาบ เปรียบเหมือนการเดินไปบนพื้นแผ่นดินของบุรุษ และหน้าที่ของสติและสัมปชัญญะในฌานต้น ๆ นั้น ก็ยังไม่ปรากฏ ส่วนฌานนี้เพราะเป็นสภาพที่ละเอียด โดยเหตุที่ละองค์ฌานที่หยาบแล้ว จึงจำต้องปรารถนาการดำเนินของจิตที่มีสติและสัมปชัญญะทำหน้าที่ประคับประคองอย่างแน่นอน เปรียบเหมือนการเดินไปใกล้คมมีดของบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ ไว้แต่ในตติยฌานนี้
เปรียบสุขเหมือนลูกโคติดแม่
พึงทราบอรรถาธิบายยิ่งขึ้นไปอีกสักเล็กน้อยเหมือนอย่างลูกโคที่ยังติดแม่โคนมอยู่ ถึงจะถูกพรากไปจากแม่โคนมแล้ว เมื่อไม่คอยระวังรักษาไว้ให้ดี มันก็จะวิ่งเข้าไปหาแม่โคนมอีกโดยทันที ฉันใด อันสุขในตติยฌานนี้ก็เหมือนกัน อันโยคีบุคคลพรากออกจากปีติแล้ว เมื่อไม่ได้รักษาไว้เป็นอย่างดีด้วยเครื่องอารักขาคือสติและสัมปชัญญะแล้ว มันก็จะพึงกลับเข้าไปหาปีติอีกโดยทันที คือพึ่งประกอบกับปีตินั่นแหละ ฉันนั้น
อีกประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าสัตว์ทั้งหลายจะกำหนัดยินดีนักในสุข และสุขนี้เล่าก็เป็นสิ่งที่อร่อยยิ่งนักสำหรับสัตว์ทั้งหลาย เพราะนอกเหนือไปจากสุขนั้นแล้ว ก็ไม่มีสุขอะไร ถึงกระนั้น ที่ในตติยฌานนี้ไม่มีความกำหนัดยินดีในสุข ก็ด้วยอานุภาพแห่งสติและสัมปชัญญะเท่านั้น มิใช่ด้วยเหตุอย่างอื่น เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ที่ทรงแสดงคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ นี้ไว้เฉพาะแต่ในตติยฌานนี้ ก็เพื่อที่จะทรงชี้ถึงความหมายอันพิเศษกว่ากัน ดังที่พรรณนามานี้
อธิบาย เสวยสุขด้วยนามกาย
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า และได้เสวยสุขด้วยนามกาย นี้ต่อไป โยคีบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌานย่อมไม่มีความพะวงในการเสวยสุขโดยแท้ แม้ถึงความจริงจะเป็นเช่นนี้ก็ตาม แต่เพราะเหตุที่สุขของโยคีบุคคลเข้าอยู่ในตติยฌานนั้นประกอบอยู่กับนามกายประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่โยคีบุคคลนั้นถึงแม้จะออกจากฌานแล้วก็จะพึงได้เสวยสุข เพราะรูปกายของท่านอันรูปที่ประณีตยิ่ง ซึ่งมีสุขอันประกอบอยู่กับนามกายนั้นเป็นสมุฏฐานแผ่ซ่านไปทั่วแล้ว ดังนั้น เมื่อจะชี้ถึงซึ่งความหมายดังกล่าวนี้ จึงได้ทรงแสดงไว้ว่า และได้เสวยสุขด้วยนามกาย ฉะนี้
อธิบาย เป็นเหตุให้พระอริยเจ้าสรรเสริญผู้บรรลุว่าเป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า อันเป็นเหตุให้พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ดังนี้ต่อไป ในคำนี้ นักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคอย่างนี้ คือ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมตรัสบอก ย่อมทรงแสดง ย่อมทรงบัญญัติ ย่อมทรงตั้งไว้ ย่อมทรงเปิดเผย ย่อมทรงจำแนก ย่อมทรงทำให้ตื้น ย่อมทรงประกาศ คือ ย่อมทรงสรรเสริญซึ่งบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌานนั้น เพราะมีฌานใดเป็นเหตุ เพราะมีฌานใดเป็นการณ์ สรรเสริญว่าอย่างไร ? สรรเสริญว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ฉะนี้ โยคีบุคคลนั้น บรรลุแล้วซึ่งฌานนั้น ได้แก่ตติยฌานอยู่
เหตุที่พระอริยเจ้าสรรเสริญ
ถาม - ก็แหละ เพราะเหตุไร พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงสรรเสริญบุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนั้นอย่างนี้ ?
ตอบ - เพราะเป็นผู้สมควรแก่การสรรเสริญ อธิบายว่า บุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนี้ ย่อมเป็นบุคคลสมควรแก่การสรรเสริญนั้น เพราะเหตุที่เป็นผู้เฉย ๆ ในตติยฌาน แม้อันเป็นสุขที่มีรสอร่อยอย่างยิ่ง ถึงซึ่งความเป็นยอดสุดแห่งความสุข และอันความสุขฉุดดึงเข้าไว้ในสุขนั้นไม่ได้ และปีติจะเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยประการใดก็เป็นผู้มีสติตั้งมั่นอยู่ด้วยประการนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่ได้เสวยความสุขอันสะอาดด้วยนามกาย ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ที่อริยชนร้องเสพแล้ว ด้วยประการฉะนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายเมื่อจะประกาศคุณอันเป็นเหตุแห่งความสรรเสริญเหล่านั้น จึงได้สรรเสริญซึ่งบุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนั้น โดยเป็นผู้สมควรแก่การสรรเสริญอย่างนี้ว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติอยู่เป็นสุข ฉะนี้
อธิบาย ตติยฌาน
คำว่า ตติยฌาน ที่แปลว่า ฌานที่ ๒ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ฌานนี้ชื่อว่าตติยะ หรือที่ ๓ เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณ อีกอย่างหนึ่ง ฌานนี้ชื่อว่าเป็นที่ ๓ เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าสู่เป็นอันดับที่ ๓ ดังนี้ก็ได้ตติยฌานละองค์ ๑ ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น มีอรรถาธิบายว่า นักศึกษาพึงทราบว่าตติยฌานละองค์ ๑ นั้น ด้วยอำนาจการละ ซึ่งปีติ แหละปีตินี้นั้นอันโยคีบุคคลละได้ในขณะแห่งอัปปนา เช่นเดียวกับวิตกและวิจารของทุติยฌานที่โยคีบุคคลละได้ขณะแห่งอัปปนานั้น ด้วยเหตุนั้น ปีตินั้นท่านจึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของตติยฌานนั้น
ตติยฌานประกอบด้วยองค์ ๒
ส่วนข้อว่า ตติยฌานประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งการเกิดขึ้นแห่งองค์ ๒ นี้ คือ สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ เพราะฉะนั้น ในคัมภีร์วิภังค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า คำว่า ฌาน ได้แก่ อุเปกขา สติ สัมปชัญญะ สุขและจิตเตกัคคตา ดังนี้ ข้อนั้นทรงแสดงไว้โดยอ้อม เพื่อจะทรงแสดงถึงฌานพร้อมทั้งเครื่องปรุงแต่ง แต่เมื่อว่าโดยตรงแล้ว ตติยฌานนี้ประกอบด้วยองค์ ๒ เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งองค์ที่ถึงซึ่งลักษณะที่เพ่งได้ โดยยกเอาอุเบกขา สติ และสัมปชัญญะออกเสีย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ฌานประกอบด้วยองค์ ๒ ย่อมมีในสมัยนั้น ได้แก่อะไร ? ได้แก่สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ ฉะนี้คำที่เหลือมีนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล