อธิบาย การบรรลุตติยฌาน
ก็แหละ ครั้นได้บรรลุทุติยฌานแม้นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว โยคีบุคคลผู้มีวสีอันได้สั่งสมดีแล้วด้วยอาการ ๕ อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในปฐมฌานนั่นแล ออกจากทุติยฌานที่คล่องแคล่วดีแล้ว แต่นั้นพิจารณาเห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่าสมาบัตินี้ ยังใกล้ต่อวิตกและวิจารอันเป็นข้าศึก และว่า สมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะเป็นสภาพที่หยาบด้วยปีติที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ปีติในทุติยฌานนั้นใดซึ่งทำใจให้กำเริบ ทุติยฌานนั้นจึงปรากฏเป็นสภาพที่หยาบเพราะปีตินั้น ฉะนี้แล้ว พึงมนสิการถึงตติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในทุติยฌานแล้วจึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งตติยฌานต่อไป
แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากทุติยฌานแล้ว มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น ปีติก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ สุขกับเอกัคคตาจะปรากฏเป็นสภาพที่ละเอียดกาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแลอย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่าปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน เพื่อละเสียซึ่งองค์ฌานที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ฌานที่ละเอียดอยู่นั้น มโนทวาราวัชซนจิตก็จะตัดภวังคจิตเกิดขึ้นเหมือนจะเตือนให้รู้ว่า ตติยฌาน จักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดนั้น ในอารมณ์ปฐวีกสิณนั้นนั่นแล ชวนจิตก็แล่นไป ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลและมันทบุคคล) บรรดาชวนจิต ๔ หรือ ๕ ขณะนั้น ดวงหนึ่งสุดท้ายเข้าเป็น รูปาวจรกุสลจิตขั้นตติยฌาน ส่วน ๓ หรือ ๔ ดวงที่เหลือข้างต้นเป็นกามาวจรกุสลจิต ตามนัยที่กล่าวแล้วในทุติยฌานนั่นแล ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้น เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติและเพราะวิตกและวิจาร สงบไปและได้เสวยสุขด้วยนามกาย จึงบรรลุแล้วซึ่งตติยฌาน อันเป็นเหตุให้พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ฉะนี้
ตติยฌานปฐวีกสิณ อันละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ด้วยประการฉะนี้
🔅 อธิบาย เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติ
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติ มีอรรถาธิบายดังนี้ ความเบื่อหน่าย หรือความก้าวล่วงซึ่งปีติอันมีประการดังกล่าวแล้ว ชื่อว่า วิราคะ แปลว่า ความก้าวล่วงปีติ ส่วน จ ศัพท์ระหว่างบททั้ง ๒ คือ ปีติ จ วิราคะ หมายความว่า รวบรวม กล่าวคือ จ ศัพท์นั้นรวบรวมเอาซึ่งความสงบ หรือซึ่งความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น คราวใด จ ศัพท์ รวมเอาความสงบ แต่อย่างเดียว คราวนั้นนักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคดังนี้ ปีติยา จ วิราคา กิญฺจิ ภิยฺโย วูปสมา จ แปลว่า เพราะเบื่อหน่ายปีติ และความสงบโดยยิ่ง ๆ ขึ้นไป และในการเรียงประโยคเช่นนี้ วิราค ศัพท์ แปลว่า ความเบื่อหน่าย เพราะฉะนั้นจึงทราบความหมายว่า เพราะเบื่อหน่ายปีติและความสงบ ฉะนี้ แต่คราวใด จ ศัพท์ รวมเอาความสงบแห่งวิตกและวิจารด้วย คราวนั้นนักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคดังนี้ ปีติยา จ วิราคา, กิญฺจ ภิยฺโย วิตกฺกวิจารานญฺจ วูปสมา ซึ่งแปลว่า เพราะก้าวล่วงปีติไป และเพราะความสงบแห่งวิตกและวิจารโดยยิ่ง ๆ ไป และในการเรียงเข้าประโยคเช่นนี้ วิราค ศัพท์ แปลว่าก้าวล่วง เพราะฉะนั้น พึงทราบความหมายว่า เพราะก้าวล่วงปีติไปและเพราะความสงบแห่งวิตกและวิจาร ฉะนี้
ถึงวิตกและวิจารทั้ง ๒ นี้ได้สงบไปแล้วแต่ในทุติยฌานนั้นก็จริง แต่ที่ท่านนำมาแสดงไว้อีกก็เพื่อที่จะประกาศแนวทางอันเป็นอุบายของตติยฌานนี้ และเพื่อจะสรรเสริญคุณของตติยฌานนี้ จริงทีเดียว เมื่อพรรณนาว่า เพราะความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ฉะนี้ ตติยฌานนี้ย่อมปรากฏเด่นชัด ความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร จึงเป็น แนวทางของตติยฌานนี้อย่างแน่นอน เหมือนอย่างในอริยมรรคที่ ๓ (อนาคามิมรรค) ท่านพรรณนาถึงการประหานสัญโญชน์ทั้งหลายแม้ที่ไม่ได้ประหานมีสักกายทิฏฐิเป็นต้นว่า เพราะประหานสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ฉะนี้ ก็เป็นการสรรเสริญคุณอริยมรรคที่ ๓ นั้น คือ เป็นการยังความอุตสาหะให้เกิดแก่ผู้ขวนขวายเพื่อจะบรรลุอริยมรรคที่ ๓ นั้น ฉันใด ความสงบไปแห่งวิตกและวิจารแม้ที่ไม่ได้สงบซึ่งท่านพรรณนาในตติยฌานนี้ ก็เป็นอันสรรเสริญคุณแห่งตติยฌานนี้ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น จึงได้ทรงแสดงความหมายว่า เพราะการก้าวล่วงปีติไปและเพราะความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ด้วยประการฉะนี้
🔅 อธิบาย เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่
ในคำว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่นี้ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ธรรมชาติใดย่อมเห็นโดยกำเนิด คือเห็นเสมอกัน เห็นไม่ตกไปในฝ่าย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าอุเปกขา โยคีบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌาน เรียกว่า อุเปกขโก ผู้เห็นเสมอกัน เพราะประกอบด้วยอุเบกขานั้น อันบริสุทธิ์ อันยิ่งใหญ่ ถึงซึ่งความมั่นคง