อธิบาย การบรรลุทุติยฌาน

อธิบาย การบรรลุทุติยฌาน

ก็แหละ โยคีบุคคลผู้มีวสีอันได้สั่งสมดีแล้วในวสี ๕ ประการเหล่านี้ ออกจากปฐมฌานที่ทำให้คล่องแคล่วดีแล้ว แต่นั้นพิจารณาเห็นโทษในปฐมฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อนิวรณ์อันเป็นข้าศึก เพราะเพิ่งละนิวรณ์ได้เป็นครั้งแรก และว่า สมาบัตินี้มีองค์อันทุรพลเพราะวิตกและวิจารเป็นสภาพที่หยาบ ฉะนี้แล้วพึงมนสิการถึง ทุติยฌาน โดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในปฐมฌานแล้วพึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป

อธิบายว่า พระพุทธรักขิตเถระพอเหลียวเห็นพญาครุฑบินมา ก็รีบเข้าฌานแล้วรีบออกทำฌานให้เป็นปทัฏฐาน แสดงอภิญญาคือนิรมิตภูเขาขึ้นขวางพญาครุฑโดยฉับพลันทันที ก่อนที่พญาครุฑจะมาถึงเฉียวเอาพญานาคไป เมื่อพระเถระจับพญานาคเข้าซ่อนไว้ในหลืบภูเขาแล้ว พญาครุฑยังไม่ทันจึงกระทบเข้ากับภูเขาอย่างแรง เมื่อเห็นเสียท่าไม่ได้การแล้วจึงบินหนีไป นี้แสดงถึงความสามารถด้วย🔎วสีทั้ง ๕

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลนั้นออกจากปฐมฌาน มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาถึงองค์ฌานอยู่นั้น วิตกและวิจารย่อมจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ ปีติ สุข และเอกัคคตาย่อมจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียด กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน ฉะนี้เพื่อละเสียซึ่งองค์ฌานที่หยาบ และให้ได้มาซึ่งองค์ฌานที่ละเอียดอยู่นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ทำปฐวีกสิณนั้นนั่นแลให้เป็นอารมณ์ตัดภวังคจิตเกิดขึ้น เหมือนจะบอกให้รู้ว่า ทุติยฌานจักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ต่อแต่นั้น ชวนจิตก็จะแล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแหละ ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลและมันทบุคคล) บรรดาชวนจิตเหล่านั้น ดวงสุดท้าย ๑ ดวงเป็น 🔎รูปาวจรกุสลจิตทุติยฌาน ดวงที่เหลือนอกนี้เป็น 🔎กามาวจรกุสลจิต เหมือนดังที่กล่าวมาแล้วในปฐมฌานนั้นทุกประการ

ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเท่านี้ เป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้วซึ่ง ทุติยฌาน อันเป็นภายใน ทำจิตให้เลื่อมใส เป็นภาวะที่ให้สมาธิชั้นเอกเกิดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกและวิจารสงบไปแล้ว มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ทุติยฌานปฐวีกสิณ อันละองค์ ๒ ประกอบด้วยองค์ ๓ มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เพราะวิตกและวิจารสงบไป
ในคำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นั้น มีอรรถาธิบายว่า เพราะองค์ฌานทั้ง ๒ คือวิตกและวิจารนี้สงบไป คือ เพราะก้าวล่วงวิตกและวิจารทั้ง ๒ ไป ได้แก่ เพราะไม่มีวิตกและวิจารทั้ง ๒ ปรากฏในขณะแห่งทุติยฌานในฌานทั้ง ๒ นั้น ถึงแม้ว่าธรรมที่มีในปฐมฌานแม้ทุก ๆ อย่าง จะไม่มีในทุติยฌาน เพราะเจตสิกธรรมทั้งหลายเช่นผัสสะเป็นต้นในปฐมฌานก็เป็นอย่างหนึ่ง ในทุติยฌานนี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง ก็ตาม แต่กระนั้น การบรรลุฌานอื่น ๆ จากปฐมฌานขึ้นไป เช่น ทุติยฌานเป็นต้น ย่อมมีได้เพราะผ่านองค์ฌานที่หยาบ ๆ ไป ดังนั้นนักศึกษาพึงทราบว่า เพื่อที่จะแสดงความหมายดังอธิบายมานี้ ท่านจึงกล่าวว่าเพราะวิตกและวิจารสงบไป ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เป็นภายใน
คำว่า เป็นภายใน ณ ที่นี้ หมายเอาภายในที่เกิดในตน ส่วนในคัมภีร์วิภังคาปกรณ์ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แต่เพียงสั้น ๆ ว่า คำว่า เป็นภายในคือ "เป็นไปเฉพาะตน" และเพราะในคำว่า เป็นภายใน นี้ ประสงค์เอาภายในที่เกิดในตน ฉะนั้น จึงมีอรรถาธิบายว่า เกิดแล้วแก่ตนอย่างหนึ่ง เกิดแล้วในตนอย่างหนึ่ง บังเกิดในสันดานของตนอย่างหนึ่ง ฉะนี้อธิบาย สมุปสาทนํ ประกอบด้วยความเลื่อมใส

คำว่า ประกอบด้วยความเลื่อมใส นั้น มีอรรถาธิบายว่า ศรัทธา เรียกว่า ความเลื่อมใส แม้ฌานก็เรียกว่าความเลื่อมใส เพราะประกอบด้วยความเลื่อมใส เหมือนที่เรียกว่า ผ้าเขียว เพราะประกอบด้วยสีเขียว ฉะนั้น อธิบาย สมุปสาทน์ ทำจิตให้เลื่อมใสอีกประการหนึ่ง เพราะฌานนั้นย่อมทำจิตให้เลื่อมใส โดยเหตุที่ประกอบด้วยความเลื่อมใส และโดยเหตุที่สงบเสียได้ซึ่งความวุ่นวายเพราะวิตกและวิจาร ฉะนั้น 
ท่านจึงกล่าวว่า สมุปสาทน แปลว่า ทำจิตให้เลื่อมใส แหละในอรรถวิกัปนี้พึงทราบถึงการเชื่อมบทเข้าด้วยกันอย่างนี้คือ สมุปสาทนํ เจตโส แปลว่า ทำจิตให้เลื่อมใส ส่วนในอรรถวิกัปต้นต้องยกเอาบทว่า เจตโส ไปประกอบเข้ากับบทว่า เอโกทิภาวํ เป็น เจตโส เอโกทิภาวํ แปลว่า เป็นภาวะที่ให้สมาธิชั้นเอกเกิดขึ้นแก่ใจ

🔅 อธิบาย เอโกทิภาวํ
ในบทว่า เอโกทิภาวํ นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ สมาธิใดเป็นเอกเกิดขึ้นฉะนั้น สมาธินั้นชื่อว่า เอโกทิ แปลว่า เป็นเอกเกิดขึ้น อธิบายว่า เป็นธรรมล้ำเลิศเป็นธรรมประเสริฐเกิดขึ้น เพราะไม่ถูกวิตกและวิจารเกิดขึ้นครอบงำ จริงอยู่บุคคลผู้ประเสริฐเขาก็เรียกกันว่าเป็นเอกในโลก หรือจะพูดว่าสมาธิเป็นเอกคือไม่มีเพื่อน เพราะเว้นจากวิตกและวิจาร ฉะนี้บ้างก็ได้ อีกประการหนึ่ง สมาธิใดยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น คือให้ตั้งขึ้น ฉะนั้นสมาธินั้นชื่อว่า อุทิ แปลว่า สภาพที่ยังสัมปยุตธรรมให้เกิดขึ้น สมาธิที่เป็นเอกเพราะอรรถว่าประเสริฐนั้นด้วย ทำให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้นด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า เอโกทิ แปลว่า สมาธิชั้นเอกและทำให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้น คำว่า เอโกทิ นี้เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌานนี้ ชื่อว่า เอโกทิภาวํ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เกิดขึ้น คือทำให้เจริญขึ้น ด้วยประการฉะนี้ อนึ่ง เพราะสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้นั้น เป็นสมบัติของใจ มิใช่ของสัตว์ มิใช่ของชีวะ ฉะนั้นท่านจึงแสดงไว้ว่า เจตโส เอโกทิภาวํ ดังนี้ แปลว่า ทุติยฌานเป็นภาวะ ที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้นแก่ใจ

ถาม - แม้ในปฐมฌาน ก็มีศรัทธานี้ด้วย มีสมาธิที่ชื่อว่าเอโกที่นี้ด้วยแล้วมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมท่านจึงกล่าวเฉพาะทุติยฌานนี้เท่านั้นว่า ทำจิตให้เลื่อมใส เป็นภาวะที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้น ฉะนี้เล่า ?

ตอบ - ก็ปฐมฌานนั้นยังไม่ผ่องใสดีนักโดยเหตุที่ยังวุ่นวายอยู่เพราะวิตกและวิจารเปรียบเหมือนน้ำที่ถูกรบกวนอยู่ด้วยระลอกและลูกคลื่นฉะนั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ศรัทธาจะมีอยู่ก็ตาม ท่านก็ไม่แสดงว่า สมุปสาทนํ ทำจิตให้เลื่อมใส และเพราะเหตุที่ยังผ่องใสไม่ดีนักนั่นเอง แม้สมาธิในปฐมฌานนั้นจึงยังไม่เด่นชัดดี เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่แสดงว่า เอโกทิภาวํ เป็นภาวะที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้น ส่วนในทุติยฌานนี้ ศรัทธาได้โอกาสและมีกำลังมาก เพราะเหตุไม่มีเครื่องกังวล คือวิตกและวิจารรบกวน และแม้สมาธิเล่าก็เด่นชัดเพราะเหตุที่ได้เพื่อนคือศรัทธาอันมีกำลัง เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงเช่นนี้เฉพาะทุติยฌานนี้เท่านั้น นักศึกษาพึงเข้าใจความหมาย ฉะนี้

(ในส่วนคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เพียงว่า ความเชื่อ ความเชื่อฟัง ความหยั่งใจลงเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง อันใด นี้ชื่อว่า ความเลื่อมใสความตั้งอยู่แห่งจิต.... ความตั้งมั่นโดยชอบแห่งจิต อันใด นี้ชื่อว่า ภาวะที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้นแก่จิต และการพรรณนาความนี้ย่อมไม่ผิดกับพระบาลีในคัมภีร์ ดูเทียบ อภิ. วิ. (ไทย) ๓๕/๕๗๔-๕๗๕/๔๐๔)

วิภังค์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แล้วอย่างนั้น คือย่อมเทียบกันได้ ย่อมเข้ากันได้ด้วยประการใด นักศึกษาพึงทราบด้วยประการนั้นเทอญ

🔅 อธิบาย ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร
คำว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร นั้น มีอรรถาธิบายว่า วิตก ไม่มีในทุติยฌานนี้หรือวิตกไม่มีแก่ทุติยฌานนี้ เพราะเหตุที่ละได้แล้วด้วยภาวนา เพราะเหตุนั้น ทุติยฌานนี้จึงชื่อว่า อวิตกก แปลว่าไม่มีวิตก คำว่า อวิจาร ก็มีอรรถวิเคราะห์โดยทำนองเดียวกันนี้แล แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ว่า วิตกนี้ด้วย วิจารนี้ด้วยเป็นสภาพสงบแล้ว ระงับแล้ว สงบด้วยดีแล้ว ถึงภาวะที่ตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ถึงภาวะที่ตั้งอยู่ไม่ได้แน่แล้ว ถึงภาวะที่พินาศไปแล้ว ถึงภาวะที่พินาศแน่แล้ว เหือดแห้งไปแล้ว เหือดแห้งแน่แล้ว ถูกทำให้หมดที่สุดแล้ว ฉะนี้ เพราะฉะนั้นทุติยฌานนี้จึงเรียกว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ในอธิการนี้ จะมีผู้กล่าวติงขึ้นว่า แม้ด้วยคำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไปนี้ ก็เป็นอันสำเร็จความหมายนี้แล้วมิใช่หรือ เออก็ เหตุไฉนจึงทรงแสดงว่า ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ฉะนี้ซ้ำอีกเล่า ?

ข้าพเจ้าจะวิสัชนาต่อไป ข้อนี้เป็นอย่างนั้นจริง ความหมายนี้ก็สำเร็จแล้วจริง คำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นี้ มิได้บ่งถึงความหมายที่ว่า ไม่มีวิตกและวิจาร นั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วมิใช่หรือว่า การบรรลุฌานขั้นอื่น ๆ จากปฐมฌานขึ้นไป เช่นทุติยฌานเป็นต้น ย่อมมีได้เพราะการผ่านองค์ฌานที่หยาบ ๆ ไป ดังนั้น เพื่อที่จะทรงแสดงความหมายดังอธิบายมานี้ จึงตรัสว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป ด้วยประการฉะนี้ อีกประการหนึ่ง คำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นี้ เป็นเครื่องแสดงถึงเหตุแห่งความเลื่อมใสและภาวะที่ทำสมาธิชั้นเอกให้เจริญขึ้นของทุติยฌานอย่างนี้ว่าทุติยฌานนี้ ชื่อว่า ประกอบด้วยความเลื่อมใส เพราะเหตุที่วิตกและวิจารสงบไป มิใช่เพราะเหตุที่กิเลสซึ่งเกิดฟุ้งขึ้นตามกาลสงบไป และที่ชื่อว่า เป็นภาวะที่ทำสมาธิชั้นเอกให้เจริญขึ้น เพราะเหตุที่วิตกและวิจารสงบไป มิใช่เพราะเหตุที่ประหานนิวรณ์ เหมือนอุปจารฌาน และมิใช่เพราะเหตุที่องค์ฌานปรากฏเด่นชัดเหมือนปฐมฌาน และอีกอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องแสดงถึงเหตุแห่งภาวะที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารอย่างนี้ว่า ทุติยฌานนี้ ชื่อว่าไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะเหตุที่วิตกและวิจารสงบไป มิใช่เพราะเหตุที่วิตกวิจารไม่มีมาแต่เดิม เหมือนอย่างตติยฌานและจตุตถฌาน และเหมือนอย่างทวิปัญจวิญญาณเช่นจักขุวิญญาณเป็นต้น แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องแสดงถึงแต่เพียงสักว่าความไม่มีแห่งวิตกและวิจาร ส่วนคำว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร นี้ เป็นเครื่องแสดงถึงแต่เพียงสักว่าความไม่มีแห่งวิตกและวิจารเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้ทรงแสดงมาแล้วตอนต้นว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป ก็จำที่จะต้องทรงแสดงว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ซ้ำอีกนั่นเทียว

🔅 อธิบาย เกิดแต่สมาธิเป็นต้น
คำว่า เกิดแต่สมาธิ นั้น มีอรรถาธิบายว่า มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ คือ ปฐมฌาน อีกนัยหนึ่ง มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิที่ประกอบร่วมกัน ในสมาธิทั้ง ๒ นั้นถึงแม้ปฐมฌานจะเกิดแต่สมาธิที่ประกอบร่วมกันก็ตาม แต่กระนั้น สมาธิ คือทุติยฌานนี้เท่านั้นควรที่จะกล่าวได้ว่า เป็นสมาธิที่สนิท เพราะเป็นสภาพที่มั่นคงอย่างยิ่งและเป็นสภาพที่ผ่องใสที่สุดโดยเว้นจากความวุ่นวายเพราะวิตกและวิจารแล้ว เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงว่า เกิดแต่สมาธิ ดังนี้นั้น ก็เพื่อประสงค์ที่จะทรงสรรเสริญคุณของสมาธินี้ คำว่า ปีติและสุข นั้น มีนัยดังพรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล คำว่า ฌานที่ ๒ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าที่ ๒ เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณฌานนี้ชื่อว่าเป็นที่ ๒ เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าเป็นอันดับที่ ๒ ดังนี้ก็ได้ ฌานนี้เกิดขึ้นเป็นอันดับที่ ๒ แม้เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่า ฌานที่ ๒ ดังนี้ก็ได้

🔅 อธิบาย ทุติยฌานละองค์ ๒
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า ทุติยฌานละองค์ ๒ ประกอบด้วยองค์ ๓ นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ที่ว่า ทุติยฌานละองค์ ๒ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งการละซึ่ง วิตก ๑ วิจาร ๑ แหละโยคีบุคคลย่อมละนิวรณ์ทั้งหลายในขณะอุปจาระของปฐมฌาน ฉันใด หาได้ละวิตกและวิจารในขณะอุปจาระของทุติยฌานนี้เหมือนอย่างนั้นไม่ แต่ทุติยฌานนี้ย่อมเกิดโดยปราศจากวิตกและวิจารทั้ง ๒ ในขณะแห่งอัปปนานั่นเทียว ด้วยเหตุนั้น วิตกและวิจารทั้ง ๒ นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นองค์สำหรับละของทุติยฌานนั้น

🔅 อธิบาย ทุติยฌานประกอบด้วยองค์ ๓
ส่วนที่ว่า ทุติยฌานประกอบด้วยองค์ ๓ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจความเกิดขึ้นแห่งองค์ ๓ เหล่านี้ คือ ปีติ ๑ สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ เพราะฉะนั้น พระพุทธวจนะใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า คำว่า ฌาน ได้แก่ ความเลื่อมใส ความเอิบอิ่ม ความสุข และภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว ดังนี้พระพุทธวจนะนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้โดยอ้อม เพื่อจะทรงชี้ถึงฌานพร้อมทั้งเครื่องปรุงแต่งด้วย แต่เมื่อว่าโดยตรงแล้วทุติยฌานนี้ย่อมประกอบด้วยองค์ ๓ เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งองค์ที่ถึงซึ่งลักษณะที่เพิ่งได้ โดยยกเว้นความเลื่อมใสเสีย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ฌานที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นั้น คือ ปีติ ๑ สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ คำที่เหลือมีนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล







วิกิ

ผลการค้นหา