อธิบายการบรรลุปฐมฌาน
ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้นบรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตกมีวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ปฐมฌานอันมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ซึ่งละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ มีสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้วด้วยประการฉะนี้
🔅 อธิบายองค์สำหรับละของปฐมฌาน
ในคำพระบาลีอันแสดงถึงองค์สำหรับละของฌานนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้: อธิบายเพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย คำว่า เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย ได้แก่ เพราะพรากแล้ว เว้นแล้ว หลีกออกแล้ว จากกามทั้งหลาย ส่วน เอวอักษรในบทว่าวิวิจฺเจวนี้นั้น มีความหมายว่าเป็นการแน่นอน และเพราะเหตุที่ เอว อักษรมีความหมายว่าเป็นการแน่นอน ฉะนั้น เอว อักษรจึงประกาศถึงภาวะทีปฐมฌานนั้นเป็นปฏิปักษ์แก่กามทั้งหลาย แม้ที่ไม่มีปรากฏอยู่ในขณะที่เข้าอยู่ในปฐมฌานนั้นด้วย และประกาศถึงการได้บรรลุปฐมฌานนั้น ด้วยการสละกามได้อย่างแน่นอนด้วย
ถาม-ข้อนี้ มีอรรถาธิบายอย่างไร ?
ตอบ-อธิบายว่า เมื่อ เอว อักษรทำความแน่นอนให้ในคำว่า เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย อย่างนี้ ปฐมฌานย่อมปรากฏชัด จริงทีเดียว กามทั้งหลายย่อมเป็นปฏิปักษ์แก่ฌาน เมื่อกามเหล่าใดมีอยู่ ฌานนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนเมื่อความมืดมีอยู่แสงสว่างแห่งตะเกียงก็ชื่อว่ายังไม่เกิดขึ้น และการบรรลุถึงฌานนั้นจะมีได้ ก็ด้วยการละเสียได้ซึ่งกามเหล่านั้นอย่างแน่นอน เปรียบเหมือนการไปถึงฝั่งโน้นได้ก็ด้วยการละซึ่งฝั่งนี้เสีย เพราะฉะนั้น เอว อักษรจึงชื่อว่า ทำความแน่นอน ฉะนี้
🔅 เอว อักษรประกอบในสองบท
จะพึงมีคำถามขึ้นในเรื่อง เอว อักษรนั้นว่า ก็แหละ ทำไม เอว อักษรนี้ ท่านจึงแสดงไว้แต่ในบทต้นบทเดียว ไม่แสดงไว้ในบทหลัง หรือว่า โยคีบุคคลนั้นแม้ไม่สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะพึงบรรลุฌานได้อยู่ ? ขอวิสัชนาว่า ก็แหละ การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เอว อักษรไว้ในบทต้นนั้น ท่านเข้าใจอย่างนั้นหาถูกไม่ เพราะพระพุทธองค์ทรงแสดง เอวอักษรไว้ในบทต้นนั้น ก็โดยที่ฌานเป็นเครื่องสลัดทิ้งซึ่งกามนั้นต่างหาก
จริงอยู่ ฌานนี้เป็นเครื่องสลัดทิ้งซึ่งกามทั้งหลายแน่นอน เพราะเป็นปฏิปทาเครื่องก้าวล่วงซึ่งกามธาตุด้วย เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกามราคะด้วย สมกับที่ทรงแสดงไว้ว่าเนกขัมมะ คือฌานนี้นั้น เป็นเครื่องสลัดทิ้งซึ่งกามทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในบทหลังก็ต้องยกเอา เอว อักษรมาแสดงประกอบไว้ด้วยเหมือนอย่างที่ท่านยกมาแสดงประกอบไว้ในคำนี้ว่า อิเธว ภิกขุเว สมโณ, อิธ ทุติโย สมโณ ความว่า ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ มีในศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ ก็มีในศาสนานี้เท่านั้น ทั้งนี้ เพราะว่าใคร ๆ ก็ตาม ที่ยังไม่สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ 🔎นิวรณ์ แม้ข้ออื่น ๆ จากกามฉันทะแล้ว ก็ไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุถึงซึ่งฌานได้เลย เพราะเหตุนั้น เอว อักษรนี้ นักศึกษาพึงทราบว่าประกอบไว้ในบททั้งสองว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺเจว อกุสเลหิ ธมฺเมหิ ฉะนี้
🔅 อธิบาย วิวิจุจ - สงัดแล้ว
อนึ่ง ด้วยคำว่า วิวิจจ ที่แปลว่าสงัดแล้วนี้ อันเป็นคำร่วมกันในทั้งสองบทย่อมสงเคราะห์เอาวิเวกคือความสงัดแม้หมดทุกอย่าง คือ วิเวก ๕ (ตทั้งควิเวก ๑ วิกขัมภนวิเวก ๑ สมุจเฉทวิเวก ๑ ปฏิปัสสัทธิวิเวก ๑ นิสสรณวิเวก ๑) และวิเวก ๓ (จิตตวิเวก ๑ กายวิเวก ๑ อุปธิวิเวก ๑)
ก็จริง แต่กระนั้น ณ ที่นี้นักศึกษาพึงเข้าใจว่า หมายเอาเพียงวิเวก ๓ อย่าง คือ กายวิเวก ความสงัดกาย ๑ จิตตวิเวกความสงัดใจ ๑ วิกขัมภนวิเวก ความสงัดเพราะข่มกิเลสไว้ ๑
🔅 กาม หมายเอาวัตถุกามและกิเลสกาม
ก็แหละ ด้วยบทว่า กาเมหิ ที่แปลว่า จากกามทั้งหลายนี้ วัตถุกามเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์มหานิเทศโดยนัยมีอาทิว่า วัตถุกามทั้งหลายเป็นไฉน ? วัตถุกามทั้งหลาย คือ รูปทั้งหลายอันเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ และกิเลสกามเหล่าใด ที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์มหานิเทศนั่นแหละ และในคำภีร์ฌานวิภังค์โดยนัยอย่างนี้ว่า ฉันทะ ความพอใจ ชื่อว่ากาม ราคะ ความกำหนัด ชื่อว่ากาม ฉันทราคะ ความกำหนัดด้วยความพอใจ ชื่อว่ากาม สังกัปปะ ความดำริ ชื่อว่ากาม ราคะ ความกำหนัด ชื่อว่ากาม สังกัปปราคะ ความกำหนัดด้วยความดำริ ชื่อว่ากาม อกุศลธรรมเหล่านี้ เรียกว่ากามนักศึกษาพึงเข้าใจ ท่านสงเคราะห์เอาวัตถุกามและกิเลสกามเหล่านั้นแม้ทั้งหมดด้วยประการฉะนี้
🔅 กาม หมายเอาวัตถุกามและกิเลสกาม
ก็แหละ ด้วยบทว่า กาเมหิ ที่แปลว่า จากกามทั้งหลายนี้ วัตถุกามเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์มหานิเทศโดยนัยมีอาทิว่า วัตถุกามทั้งหลายเป็นไฉน ? วัตถุกามทั้งหลาย คือ รูปทั้งหลายอันเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ และกิเลสกามเหล่าใด ที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์มหานิเทศนั่นแหละ และในคำภีร์ฌานวิภังค์โดยนัยอย่างนี้ว่า ฉันทะ ความพอใจ ชื่อว่ากาม ราคะ ความกำหนัด ชื่อว่ากาม ฉันทราคะ ความกำหนัดด้วยความพอใจ ชื่อว่ากาม สังกัปปะ ความดำริ ชื่อว่ากาม ราคะ ความกำหนัด ชื่อว่ากาม สังกัปปราคะ ความกำหนัดด้วยความดำริ ชื่อว่ากาม อกุศลธรรมเหล่านี้ เรียกว่ากามนักศึกษาพึงเข้าใจ ท่านสงเคราะห์เอาวัตถุกามและกิเลสกามเหล่านั้นแม้ทั้งหมดด้วยประการฉะนี้
🔅 วิเวก ๒ อย่าง
แหละเมื่อสงเคราะห์เอากามทั้ง ๒ อย่างเช่นนี้ คำว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย ก็เป็นอันหมายความว่า สงัดแล้วแน่นอนจากวัตถุกามทั้งหลายแต่อย่างเดียว หาได้หมายเอาว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกิเลสกามทั้งหลายไม่ และด้วยความสงัดจากวัตถุกามนั้นเป็นอันท่านแสดงถึง กายวิเวก คือความสงัดกาย คำว่าสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นอันหมายความว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกิเลสทั้งหลายหรือจากอกุศลธรรมทั้งปวง และด้วยความสงัดจากกิเลสกามนั้น เป็นอันท่านแสดงถึง จิตตวิเวก คือความสงัดจิต
อธิบายวิเวก ๒ อย่าง
ก็แหละ ในวิเวกทั้ง ๒ นั้น ด้วยบทที่ ๑ เป็นอันท่านประกาศถึงความสละซึ่งกามสุข เพราะคำว่าสงัดจากวัตถุกามทั้งหลายนั่นเอง ด้วยบทที่ ๒ เป็นอันท่านประกาศถึงการถือเอาซึ่ง เนกขัมมสุข สุขเพราะออกจากกาม เพราะคำว่าสงัดจากกิเลสกามทั้งหลายนั่นเอง (อนึ่ง ในบททั้ง ๒ นั้น ด้วยบทที่ ๑ ท่านประกาศถึงการประหานซึ่งวัตถุแห่งสังกิเลส ด้วยบทที่ ๒ ท่านประกาศถึงการประหานซึ่งตัวสังกิเลสมีตัณหาเป็นต้น เพราะคำว่าสงัดจากวัตถุกามและกิเลสกามนั่นเอง, อนึ่งด้วยบทที่ ๑ ท่านประกาศถึงการสละซึ่งเหตุแห่งความโลเล ด้วยบทที่ ๒ ท่านประกาศถึงการสละซึ่งเหตุแห่งความเป็นพาล, อนึ่ง ด้วยบทที่ ๑ ท่านประกาศถึงความบริสุทธิ์แห่งประโยคคือการกระทำ ด้วยบทที่ ๒ ท่านประกาศถึงการชำระอัชฌาสัยให้บริสุทธิ์) นักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายดังแสดงมา ด้วยประการฉะนี้ บรรดากามที่ท่านกล่าวไว้ในบทว่า กาเมหิ นี้ ในฝ่ายวัตถุกาม มีนัยเพียงเท่านี้ก่อน
🔅 อธิบายกิเลสกาม
ส่วนในฝ่ายกิเลสกามนั้น กามฉันทะซึ่งมีประเภทเป็นอันมาก เช่น ฉันทะและราคะ เป็นต้นนั่นเทียว ท่านประสงค์เอาว่า กาม แหละกามนั้น แม้ถึงจะนับเนื่องอยู่ในอกุศลธรรมแล้วก็ตาม แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแยกไว้ต่างหากโดยความเป็นปฏิปักษ์แก่ฌาน ดังในคัมภีร์ฌานวิภังค์โดยนัยมีอาทิว่า ในบรรดาอกุศลธรรมเหล่านั้น กามเป็นไฉน ? ฉันทะชื่อว่ากาม อีกประการหนึ่ง ในบทต้น ท่านแสดงกามไว้โดยความเป็นกิเลสกาม ในบทที่ ๒ ท่านแสดงไว้ด้วยเป็นสภาพที่นับเนื่องอยู่ในอกุศลธรรม แหละเพราะกามนั้นมีประเภทเป็นอันมาก ท่านจึงไม่แสดงเป็นเอกพจน์ว่า กามโต จากกาม แต่แสดงเป็นพหูพจน์ว่า กาเมหิ จากกามทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
🔅 องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณ์ ๕
แหละถึงแม้ว่าธรรมทั้งหลายอื่น ๆ เช่นทิฏฐิมานะเป็นต้น มีภาวะเป็นอกุศลมีอยู่แต่ในคัมภีร์ฌานวิภังค์ พระผู้มีพระภาคตรัสเอาเฉพาะนิวรณ์ทั้งหลายเท่านั้น โดยที่ทรงแสดงถึงภาวะที่เป็นปฏิปักษ์แก่องค์ฌานทั้งหลายต่อ ๆ ไป โดยนัยมีอาทิว่า ในบรรดาธรรมเหล่านั้นอกุศลธรรมเป็นไฉน ? อกุศลธรรมได้แก่กามฉันทะ จริงอยู่ นิวรณ์ทั้งหลายเป็นข้าศึกแห่งองค์ฌาน องค์ฌานทั้งหลายนั้นเล่าก็เป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณ์เหล่านั้น คือเป็นเครื่องกำจัด เป็นเครื่องทำลายนิวรณ์เหล่านั้น เป็นความจริงเช่นนั้น ท่านพระมหากัจจายนะแสดงไว้ในคัมภีร์เปฎกะ (คัมภีร์เปฎกะ นี้ เป็นคัมภีร์ที่พรรณนาความย่อของพระไตรปิฎก พระมหากัจจายนะเป็นผู้แสดง ในคราวสังคายนาพระไตรปิฎกที่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่เรียกว่า ฉัฏฐสังคีตินั้น สังคาหกาจารย์ได้ยกคัมภีร์นี้ขึ้นสู่ พระบาลีด้วย เรียกว่า เปฎโกปเทส พิมพ์เป็นเล่มเดียวกันกับคัมภีร์ เนตฺติ) ว่า :-
๑. สมาธิ เป็นปฏิปักษ์แก่ กามฉันทะ
๒. ปีติ เป็นปฏิปักษ์แก่ พยาปาทะ
๓. วิตก เป็นปฏิปักษ์แก่ ถีนมิทธะ
๔. สุข เป็นปฏิปักษ์แก่ อุทธัจจะกุกกุจจะ
๔. สุข เป็นปฏิปักษ์แก่ อุทธัจจะกุกกุจจะ
๕. วิจาร เป็นปฏิปักษ์แก่ วิจิกิจฉา
บททั้ง ๒ เป็นเครื่องเป็นเครื่องข่มกิเลสต่างกัน
ด้วยประการฉะนี้ ในบททั้ง ๒ นั้น ด้วยบทว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย นี้ พระพุทธองค์ทรงประสงค์เอาความสงัดเพราะข่มซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ด้วยบทว่า สงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ ทรงประสงค์เอาความสงัดเพราะข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ
แต่เมื่อว่าโดยศัพท์ที่ท่านมิได้กำหนดไว้แล้ว นักศึกษาพึงเข้าใจความหมายดังนี้ ด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มกามฉันทนิวรณ์ ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มนิวรณ์ทั้งหลายที่เหลือในอกุศลมูล ๓ ก็เหมือนกัน คือ ด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มโลภะอันมีกามคุณ ๕ ต่างชนิดเป็นอารมณ์ ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มโทสะและโมหะอันมีอาฆาตวัตถุต่างชนิดเป็นต้นเป็นอารมณ์
อีกประการหนึ่ง ในบรรดาอกุศลธรรมทั้งหลายมีโอฆะเป็นต้น ด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มกามโอฆะ กามโยคะ กามาสวะ กามุปาทานะ อภิชฌากายคันถะ และกามราคสังโยชน์ ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัด เพราะข่มโอฆะ โยคะ อาสวะ อุปาทานะ คันถะ และสังโยชน์ข้อที่เหลือ
อีกอย่างหนึ่งด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มตัณหาและธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับตัณหานั้น ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอวิชชาและธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับอวิชชานั้น
อีกอย่างหนึ่งด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มตัณหาและธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับตัณหานั้น ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอวิชชาและธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับอวิชชานั้น
อีกประการหนึ่ง ด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอกุศลจิตตุปบาท ๘ ดวง ซึ่งประกอบด้วยโลภะ (โลภมูลจิต ๘ ดวง) ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอกุศลจิตตุปบาท ๔ ดวงที่เหลือ (คือโทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒)
อรรถาธิบายความในคำว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลายสงัดแล้วแน่นอน จากอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ ยุติเพียงเท่านี้
🔅 อธิบาย องค์ประกอบของปฐมฌาน
ก็แหละ ครั้นข้าพเจ้าได้แสดงองค์สำหรับละของปฐมฌานด้วยอรรถาธิบาย เพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะแสดงองค์ที่ประกอบของปฐมฌานนั้น ข้าพเจ้าจะอรรถาธิบายคำว่า มีวิตก มีวิจาร เป็นต้นต่อไป
อธิบายวิตก
ความนึกถึงอารมณ์ ชื่อว่าวิตก ได้แก่ความกำหนดเอาอารมณ์ วิตกนี้นั้นมีอันยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์เป็นลักษณะ มีอันตะล่อมอารมณ์ไว้ ตะล่อมอารมณ์ไว้โดยรอบเป็นกิจ จริงอย่างนั้นเพราะวิตกนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า โยคาวจรบุคคลย่อมทำอารมณ์กัมมัฏฐานให้เป็นอันวิตกตะล่อมไว้แล้วให้เป็นอันวิตกตะล่อมไว้โดยรอบแล้วฉะนี้ แหละวิตกนั้นมีอันรั้งจิตเข้าไว้ในอารมณ์เป็นอาการปรากฏ
อธิบายวิจาร
การพิจารณา เรียกว่า วิจาร ได้แก่การไตร่ตรองดูอารมณ์ วิจารนี้นั้นมีอันพิจารณาอารมณ์เป็นลักษณะ มีอันประกอบสหชาตธรรมไว้ในอารมณ์นั้นเป็นกิจ มีอันตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์เป็นอาการปรากฏวิตกหยาบและเกิดก่อนวิจาร ถึงแม้ว่า ในจิตบางดวงคือในปฐมฌานจิตและกามาวจรจิตตุปบาท วิตกและวิจาร นั้นจะไม่มีการแยกกันก็ตาม แต่กระนั้น วิตกก็ทำหน้าที่ยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ก่อนด้วยความหมายว่าเป็นสิ่งที่หยาบกว่าวิจาร และเกิดก่อนวิจาร เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆังซึ่งหยาบกว่าเสียงครางแห่งระฆัง และเกิดก่อนเสียงครางนั้น เปรียบวิตกวิจารเหมือนอาการบินของนกและแมลงภู่ อนึ่ง ในวิตกและวิจารนั้น วิตก ยังมีความไหวอยู่ คือทำให้จิตไหว ๆ ในเวลาเกิดขึ้นครั้งแรก เปรียบเหมือนการโบกปีกของนกขนาดใหญ่ที่เตรียมจะบินไปในอากาศ และเหมือนการบินมุ่งหน้าไปหาดอกปทุมของแมลงภู่ ซึ่งมีจิตติดพันในกลิ่นดอกไม้ ส่วนวิจารมีพฤติการณ์สงบ คือมีภาวะไม่ทำจิตให้ไหวมาก เปรียบเหมือนการกางปีกของนกที่บินขึ้นไปอยู่บนอากาศแล้ว และเหมือนการเคล้าคลึงอยู่ที่ดอกปทุมของแมลงภู่ที่บินไปถึงดอกปทุมแล้ว
ส่วนในอรรถกถาทุกนิบาตอังคุตตรนิกาย ท่านแสดงไว้ว่า วิตกเป็นไปโดยภาวะที่ยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ เปรียบเหมือนนกชนิดใหญ่ เมื่อบินอยู่บนอากาศ มันกวักปีกทั้งสองเอาลม แล้วกางปีกไว้เฉยบินไป วิจารเป็นไปโดยภาวะที่ตามพิจารณาอารมณ์ เหมือนการบินของนกที่กระดิกปีกทั้งสองเพื่อให้กินลม ฉะนี้
คำของท่านอรรถกถาจารย์นั้นถูกต้อง ในขณะที่วิตกวิจารเป็นไปโดยต่อเนื่องกันในอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ ส่วนความต่างกันของวิตกและวิจารนั้น ย่อมปรากฏชัดในปฐมฌานและทุติยฌานในปัญจกนัยแล้ว เปรียบวิตกวิจารเหมือนคนขัดภาชนะ อีกประการหนึ่ง เมื่อบุคคลจะขัดภาชนะสัมฤทธิ์ที่สนิมจับ เอามือข้างหนึ่งจับภาชนะไว้อย่างแน่น แล้วเอามืออีกข้างหนึ่งขัดด้วยแปรงขนสัตว์ที่ชุบด้วยน้ำมันเป็นผง วิตกเปรียบเหมือนมือที่จับภาชนะไว้อย่างแน่น วิจารเปรียบเหมือนมือที่ขัดภาชนะ เปรียบวิตกวิจารเหมือนช่างตีหม้อ อีกประการหนึ่ง เมื่อช่างหม้อทำหม้อ ใช้เครื่องจักรช่วยหมุนไม้ตีหม้อ วิตกเปรียบเหมือนมือที่กุมบีบก้อนดินไว้ วิจารเปรียบเหมือนมือที่คอยลูบคลำข้างโน้น ข้างนี้เปรียบวิตกวิจารเหมือนเหล็กวงเวียนอีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลทำวงกลมที่ภาชนะสัมฤทธิ์เป็นต้น วิตกซึ่งยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ เปรียบเหมือนเหล็กแหลมที่ใช้ปักติดไว้ตรงใจกลาง วิจารซึ่งตามพิจารณาอารมณ์ เปรียบเหมือนเหล็กแหลมที่หมุนไปรอบ ๆ ข้างนอก
🔅 ปฐมฌานมีวิตกมีวิจาร
ฌานย่อมเกิดร่วมกับวิตกนี้ด้วย เกิดร่วมกับวิจารนี้ด้วย เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดพร้อมกับดอกและผล ดังนั้น ท่านจึงเรียกฌานนี้ว่า มีวิตกมีวิจาร ด้วยประการฉะนี้ ส่วนในคัมภีร์วิภังค์พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นบุคคลาธิษฐาน โดยนัยมีอาทิว่า ฌานลาภิบุคคล เป็นผู้เข้าถึงพร้อมแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว ด้วยวิตกนี้และด้วยวิจารนี้ ฉะนี้ แต่อรรถาธิบายแม้ในวิภังค์นั้น นักศึกษาก็พึงทราบอย่างที่อธิบายมาแล้วนี้นั่นแล
🔅อธิบายเกิดแต่ความสงัด
ในคำว่า เกิดแต่ความสงัด นี้ มีอรรถาธิบายว่า ความสงบเงียบชื่อว่า ความสงัด หมายความว่า การปราศจากนิวรณ์ อีกอย่างหนึ่ง สภาวธรรมที่สงบ ชื่อว่าธรรมอันสงัด หมายเอากองธรรมที่ประกอบกับฌานซึ่งสงบจากนิวรณ์ เพราะฉะนั้นปีติและสุขที่เกิดแต่ความสงัดนั้น หรือที่เกิดในธรรมอันสงัดนั้น ชื่อว่า วิเวกช แปลว่า เกิดแต่ความสงัดหรือเกิดในธรรมอันสงัด ก็ได้
🔅 อธิบายปีติ
ในคำว่า ปีติและสุข นี้ มีอรรถาธิบายว่า ธรรมชาติใดที่ทำให้เอิบอิ่มธรรมชาตินั้นชื่อว่า ปีติ ปีตินั้นมีความเอิบอิ่มเป็นลักษณะ มีอันทำกายและใจให้เอิบอิ่มเป็นกิจ หรือมีอันแผ่ซ่านไปในกายและใจเป็นกิจก็ได้ มีอันทำกายและใจให้ฟูขึ้นเป็นอาการปรากฏ
ปีติ ๕ อย่าง
ก็แหละ ปีตินี้นั้น มี ๕ อย่าง คือ:
๑. ขุททกาปีติ ปีติทำให้ขนชูชันเล็กน้อย ลุกชูชันเบา ๆ แล้วก็หายไป ไม่เกิดขึ้นอีก
๒. ขณิกาปีติ ย่อมเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง ๆ หลาย ๆ ครั้ง เปรียบเหมือนฟ้าแลบแปลบปลาบ
๓. โอกกันติกาปิติ ปีติที่กระทบกายเกิดขึ้นแล้วหายไป กระทบกายแล้วก็หายไป เหมือนลูกคลื่นกระทบฝั่ง
๔. อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน มีกำลังมากทำกายให้ลอยขึ้นได้ถึงขนาดทำให้ลอยไปบนอากาศก็ได้
๕. ผรณาปีติ ปีติที่ซาบซ่าน แผ่ไปทั่วร่างกาย
เรื่องท่านมหาติสสเถระ
เป็นความจริงอย่างนั้น ท่านมหาติสสเถระที่อยู่ ณ วัดปุณณวัลลิกวิหาร เวลาเย็นแห่งวันเพ็ญวันหนึ่ง ท่านได้ไปยังลานพระเจดีย์ เห็นแสงเดือน จึงหันหน้าสู่พระมหาเจดีย์ พลางคิดว่า “เออหนอ ป่านนี้พวกพุทธบริษัททั้ง ๔ คงกำลังพากันไหว้พระมหาเจดีย์อยู่” ดังนี้ แล้วได้ทำอุพเพงคาปีติที่มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจอารมณ์ที่ตนได้เห็นมาตามปกติ ท่านได้ลอยขึ้นบนอากาศไปตกลงที่ลานพระมหาเจดีย์นั่นแล มีอาการเหมือนลูกฟุตบอลอันวิจิตรงดงามตกลงที่พื้นปูนขาว ฉะนั้น
เรื่องกุลธิดาคนหนึ่ง
แม้กุลธิดาคนหนึ่ง อยู่ที่บ้านวัตตกาลกคาม ใกล้ ๆ กับวัดคิริกัณฑกวิหาร ก็ได้ลอยไปบนอากาศด้วยอุพเพงคาปีติอันมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์อย่างแรงเหมือนกัน ได้ยินว่า มารดาบิดาของนางกุลธิดานั้น เมื่อจะไปฟังธรรมที่วัดในเวลาเย็นวันหนึ่ง ได้สั่งเธอว่า “หนู ! เจ้ามีภาระธุระมากจึงไม่อาจที่จะไปในเวลาที่มิใช่กาล แม่และพ่อจักฟังธรรม แบ่งส่วนบุญให้แก่หนูด้วย” ครั้นแล้วก็ได้ออกเดินทางไป ฝ่ายนางกุลธิดาถึงปรารถนาจะไปแทบใจจะขาด แต่ก็ไม่อาจขัดขืนคำสั่งของมารดาบิดา จึงค้างแขวนอยู่ที่บ้าน เธอไปยืนอยู่ที่เนินบ้าน มองเห็นองค์พระเจดีย์ซึ่งสร้างไว้ที่กลางแจ้ง ณ วัดคิริกัณฑกวิหารด้วยแสงเดือน ได้เห็นแสงไฟบูชาพระ เจดีย์และหมู่พุทธบริษัททั้ง ๔ กำลังเดินปทักษิณทำการบูชาพระเจดีย์ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น และได้ยินเสียงสวดสาธยายของหมู่พระภิกษุสงฆ์ ขณะนั้น นางจึงรำพึงอยู่ว่า “ชนเหล่าใด มีโอกาสได้ไปวัดแล้วเดินเวียนไปบนลานพระเจดีย์เห็นปานนี้ และได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะเห็นปานนี้ ชนเหล่านั้น ช่างมีบุญจริงหนอ” ฉะนี้แล้ว อุพเพงคาปีติได้เกิดขึ้นแก่นาง ขณะที่นางเห็นองค์พระเจดีย์เหมือนดังกองแก้วมุกดานั่นแล เธอได้ลอยขึ้นไปบนอากาศ ไปลงจากอากาศที่ลานพระเจดีย์ก่อนกว่ามารดาบิดาเสียอีก ไหว้พระเจดีย์แล้วได้ยืนฟังธรรมอยู่ ภายหลังมารดาบิดามาถึงแล้วจึงถามนางว่า “แม่หนู เจ้ามาทางไหน ?” นางตอบว่า “หนูมาโดยทางอากาศ มิได้มาโดยทางเท้าค่ะ” เมื่อมารดาบิดาติงว่า “แม่หนู พระอรหันตขีณาสพต่างหาก จึงจะสัญจรไปโดยอากาศได้ นี่หนูมาได้อย่างไร ?” เธอจึงตอบชี้แจงว่า “ขณะที่หนูยืนแลดูพระเจดีย์ด้วยแสงเดือนหงายอยู่นั้น ปีติอันมีกำลังแรงซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ได้เกิดแก่หนู เมื่อเป็นเช่นนี้ หนูก็มิได้ทราบถึงภาวะที่ตนยืนอยู่ มิได้ทราบถึงภาวะที่ตนนั่งอยู่ แต่แล้วได้ลอยขึ้นไปบนอากาศมาตกลงที่ลานพระเจดีย์นี้ ด้วยนิมิตที่หนูยึดเอานั่นเอง” ฉะนี้แล อุพเพงคาปีติ ย่อมมีกำลังมาก ขนาดที่ทำให้ลอยไปบนอากาศได้ ด้วยประการฉะนี้
เรื่องอุพเพงคาปีติ ทำให้ตัวเบาจนลอยไปได้ไกล ๆ ดังตัวอย่างนี้ คนธรรมดาโดยมากไม่ค่อยจะเชื่อกัน บางพวกก็เข้าใจว่า เป็นเรื่องไร้สาระโกหกกันเล่น ความจริง สิ่งอัศจรรย์เช่นนี้เป็นสิ่งที่มีได้เป็นได้จริง ๆ ครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ปรากฏเป็นประจักษ์แก่นักปฏิบัติทั้งหลายว่า สามเณรรูปหนึ่งลอยขึ้นไปอยู่บนฝาผนังอุโบสถ ซึ่งปรักหักพังไม่มีหลังคาโดยไม่รู้ตัว เวลาลงต้องช่วยกันหาบันไดมาพาดให้ สามเณรอีกรูปหนึ่ง ณ วัดเดียวกันนี้ลอยไปถึงบ้านโยมมารดาของตน (อาสภเถร)
ปีติที่ประสงค์เอา ณ ที่นี้ก็แหละ ปีติ ๕ ประการนี้นั้น เมื่อถือเอาห้อง ถึงความแก่เต็มที่แล้ว ย่อมทำปัสสัทธิ ๒ ประการให้บริบูรณ์ คือ กายปัสสัทธิ ความสงบกาย จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิต ๑ เมื่อปัสสัทธิถือเอาห้องถึงความแก่ได้ที่แล้ว ย่อมทำสุขทั้ง ๒ ประการให้บริบูรณ์ คือ กายิกสุข สุขกาย ๑ เจตสิกสุข สุขใจ ๑ เมื่อสุขถือเอาห้องถึงความแก่ได้ที่แล้ว ย่อมทำสมาธิ ๓ ประการให้บริบูรณ์ คือ ขณิกสมาธิ ๑ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ ในบรรดาปีติ ๕ ประการนั้น ผรณาปีติ อันใดที่เจริญแก่กล้าขึ้นพอจะเป็นมูลฐานแก่อัปปนาสมาธิ ถึงซึ่งอันประกอบเข้ากับสมาธิได้ ปีตินี้ประสงค์เอาในอรรถาธิบายนี้
🔅 อธิบายสุข
ก็แหละ ความสบายอื่นจากปีติ ชื่อว่า สุข อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมกินเสียซึ่งความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สุข อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมขุดออกซึ่งความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สุข สุขนั้น มีความดีใจเป็นลักษณะ มีอันเพิ่มพูนสัมปยุตธรรมให้เจริญเป็นกิจ มีอันอนุเคราะห์เป็นอาการปรากฏความต่างกันระหว่างปีติกับสุข แหละถึงแม้ในจิตบางดวง เช่น ปฐมฌานจิตเป็นต้น จะไม่มีการแยกกันระหว่างปีติกับสุขก็ตาม แต่ความยินดีที่เกิดขึ้นเพราะได้อิฏฐารมณ์ จัดเป็น ปีติ การเสวยรสแห่งอารมณ์ที่ได้มานั้น จัดเป็น สุข ปีติมีในจิตใด ในจิตนั้นก็มีสุขด้วยแต่สุขมีในจิตใด ในจิตนั้นไม่มีปีติเสมอไป ปีติสงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์ สุขสงเคราะห์เข้าในเวทนาขันธ์ เปรียบเหมือนเมื่อคนสิ้นเสบียงในทางทุรกันดาร ในขณะที่ได้เห็นหรือได้ข่าวซึ่งป่าไม้หรือน้ำ ปีติย่อมเกิด ในขณะที่เข้าไปถึงร่มเงาป่าไม้หรือรับประทานน้ำแล้ว สุขย่อมเกิด นักศึกษาพึงเข้าใจว่า ปีติและสุขนี้ท่านกล่าวหมายเอาโตยเป็นสิ่งที่ปรากฏในสมัยนั้นๆ (คำว่า ปีติถือเอาห้อง หมายความว่า ปีติเจริญเต็มที่ ควรจะเป็นเหตุให้เกิดปัสสัทธิต่อไปได้)
🔅 อธิบายมีปีติและสุข
ปีตินี้ด้วย สุขนี้ด้วย ย่อมมีแก่ฌานนั้น หรือย่อมมีในฌานนั้น ดังนั้น ฌานนั้นท่านจึงเรียกว่า มีปีติและสุข ด้วยประการฉะนี้ อีกประการหนึ่ง ปีติด้วย สุขด้วย ชื่อว่า ปีติและสุข เช่นคำว่า ธรรมและวินัยเป็นต้น ปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัด มีอยู่แก่ฌานนั้น หรือมีอยู่ในฌานนั้น ดังนี้ ฌานนั้นชื่อว่า มีปีติและสุขเกิดแต่ความสงัด แม้ด้วยประการฉะนี้ เหมือนอย่างว่า ฌานย่อมเกิดแต่ความสงัด ฉันใด ปีติและสุขในที่นี้ ก็ย่อมเกิดแต่ความสงัดเหมือนกันฉันนั้น อนึ่ง ปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดนั้น ย่อมมีแก่ฌานนั้น เพราะฉะนั้นการที่จะกล่าวบวกเข้าเป็นบทเดียวกันว่า วิเวกชมปีติสุขํ ซึ่งแปลว่า มีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดดังนี้ ก็ใช้ได้ แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยนัยมีอาทิว่า สุขนี้ ประกอบด้วยปีตินี้ ฉะนี้ แม้ในคัมภีร์วิภังค์นั้น นักศึกษาก็พึงทราบอรรถาธิบายอย่างเดียวกันนี้เหมือนกัน
🔅 อธิบายบรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน
คำว่า ปฐมฌาน จักอธิบายให้แจ่มแจ้งข้างหน้า คำว่า บรรลุแล้ว ได้แก่เข้าไปถึงแล้ว คือประสบแล้ว อีกนัยหนึ่ง คำว่า บรรลุแล้ว ได้แก่ทำให้ถึงพร้อมแล้ว คือให้สำเร็จแล้ว แต่ในคัมภีร์วิภังค์ทรงแสดงไว้ว่า การได้เฉพาะ การถึง การถึงพร้อม การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การเข้าถึงพร้อมซึ่งปฐมฌาน ชื่อว่า บรรลุแล้ว แม้พระพุทธพจน์นั้นอันนักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายอย่างเดียวกันนี้เหมือนกัน
🔅 อธิบายวิหรติ ที่แปลว่าอยู่
คำว่า วิหรติ ที่แปลว่า อยู่ นั้น อธิบายว่า โยคีบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยฌานมีประการดังกล่าวฉะนี้ ย่อมยังการกระทำของอัตภาพร่างกาย คือการประพฤติ การเลี้ยง การเป็นไป การให้เป็นไป การเที่ยวไป และการผัดผ่อนแห่งอัตภาพร่างกายให้สำเร็จ โดยการอยู่ด้วยอิริยาบถชนิดที่สมควรแก่อัตภาพนั้น ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า คำว่า ย่อมอยู่ นั้น คือ ย่อมกระทำ ย่อมประพฤติ ย่อมเลี้ยง ย่อมเป็นไป ย่อมให้เป็นไป ย่อมเที่ยวไป ย่อมเดินไป เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า วิหรติ ย่อมอยู่ ฉะนี้ (ดูเทียบ อภิ. วิ. (ไทย) ๓๕/๕๔๐/๓๙๖. คำว่า ย่อมอยู่ นั้น มิได้หมายความว่าอยู่นิ่ง ๆ ด้วยอิริยาบถเดียว แต่ย่อมอยู่ด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ ตามสะดวกสบาย)
🔅 อธิบายละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังต่อไปนี้
องค์สำหรับละมี ๕ นักศึกษาพึงทราบถึงภาวะที่ปฐมฌานละองค์ ๕ ด้วยอำนาจที่ประหานนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ คือ
๑. กามฉันทะ ความพอใจในกาม
๒. พยาปาทะ ความไม่ชอบใจ
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาและความเชื่องซึม
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความสงสัยตัดสินใจไม่ได้
ก็เมื่อโยคีบุคคลยังละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ไม่ได้ ฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้เป็นธรรมดา ด้วยเหตุนั้น นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ จึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของฌานนั้น ถึงแม้ว่าในขณะฌานเกิดนั้น แม้อกุศลธรรมอย่างอื่น ๆ อันฌานลาภิบุคคลย่อมละได้ก็จริง แต่กระนั้นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้เท่านั้นที่ทำอันตรายแก่ฌานโดยพิเศษเป็นความจริง จิตที่ถูก กามฉันทะนิวรณ์ รบเร้าไว้ในอารมณ์ต่าง ๆ แล้ว ย่อม ไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นเอกภาพคือมีอารมณ์อย่างเดียว หรือจิตที่ถูกกามฉันทนิวรณ์ครอบงำแล้วนั้น ย่อมไม่ดำเนินไปสู่ปฏิปทาเพื่อประหานเสียซึ่งกามธาตุ (คือกามโลก) และจิตที่ถูก พยาปาทะนิวรณ์ กดดันไว้ในอารมณ์ ย่อมเป็นไปอย่างกระพร่องกระแพร่งไม่บริบูรณ์ จิตที่ถูก ถีนมิทธะนิวรณ์ ครอบงำแล้ว ย่อมไม่ควรแก่อันที่จะประกอบการภาวนา จิตที่ถูก อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ ครอบงำแล้ว ย่อมหมุนคว้างไปไม่สงบอยู่ได้เลย จิตที่ถูก วิจิกิจฉานิวรณ์ เข้าแทรกแซงแล้ว ย่อมไม่หยั่งลงสู่ปฏิปทาอันจะให้สำเร็จการบรรลุถึงซึ่งฌานได้ด้วยประการฉะนี้ เฉพาะนิวรณ์ ๕ นี้ ท่านจึงเรียกว่า เป็นองค์สำหรับละ เพราะเป็นข้าศึกที่ทำอันตรายแก่ฌานโดยพิเศษ
องค์แห่งปฐมฌาน ๕
แหละ เพราะเหตุที่ วิตก ย่อมยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ วิจาร ตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์ ปีติ อันเป็นที่เกิดแห่งประโยคสมบัติของจิตซึ่งมีประโยคอันวิตกและวิจารให้ถึงพร้อมแล้วด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมทำให้จิตเอิบอิ่ม สุข ย่อมทำสัมปยุตธรรมให้เจริญและถัดมา เอกัคคตา อันความยกขึ้น ความตามผูกพัน ความเอิบอิ่มและความเจริญเหล่านี้อนุเคราะห์แล้ว ย่อมตั้งจิตนั้นพร้อมทั้งสัมปยุตธรรมที่เหลือไว้ในอารมณ์อันเป็นเอกภาพ อย่างสม่ำเสมอ โดยถูกต้อง ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบถึงภาวะที่ปฐมฌานประกอบด้วยองค์ ๕ ด้วยอำนาจความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ ๕ เหล่านี้ คือ ธรรมชาติที่ยกจิตสู่อารมณ์ธรรมชาติที่พิจารณาอารมณ์ธรรมชาติที่ทำจิตให้เอิบอิ่ม
๑. วิตก
๒. วิจาร
๓. ปีติ
๔. สุข ธรรมชาติที่ทำจิตให้ยินดี
๕. จิตเตกัคคตา ความมีอารมณ์อย่างเดียวของจิต
ก็เมื่อองค์ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นอันชื่อว่า ฌานเกิดขึ้นแล้ว ด้วยเหตุนั้น องค์ ๕ เหล่านี้ จึงเรียกว่าองค์ที่ประกอบของฌานนั้น นักศึกษาพึงยึดหลักไว้เถิดว่า ขึ้นชื่อว่า ฌาน อื่นจากที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้หามีไม่ ก็แหละ เหมือนอย่างที่ชาวโลกเรียกขานกันว่า เสนามีองค์ ๔ ดนตรีมีองค์ ๕ มรรคมีองค์ ๘ ทั้งนี้ ด้วยอำนาจสักว่าองค์เท่านั้น ฉันใด แม้ฌานนี้นักศึกษาก็พึงเข้าใจว่า ที่ท่านเรียกว่า มีองค์ ๕ หรือประกอบด้วยองค์ ๕ นั้น ด้วยอำนาจสักว่าองค์เท่านั้นเช่นเดียวกัน
🔅 องค์ฌาน ๕ มีกำลังมากกว่าจิตปกติ
แหละ แม้ว่าองค์ฌานทั้ง ๕ เหล่านี้ จะได้มีในขณะอุปจารสมาธิเกิด และในขณะอุปจารสมาธินั้นจะมีกำลังมากกว่าจิตปกติก็ตาม ส่วนในปฐมฌานนี้ องค์ฌานทั้ง ๕ มีกำลังมากกว่าอุปจารสมาธิขึ้นไปอีก เพราะบรรลุถึงลักษณะที่เป็นรูปาวจรกุศลจิตแล้ว จริงอยู่ในปฐมฌานนี้ วิตก ย่อมเกิดยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์โดยอาการอันบริสุทธิ์ที่สุด วิจาร ย่อมเกิดขึ้นตามพิจารณาอารมณ์อย่างดีที่สุด ปีติและสุขย่อมเกิดแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนาไว้ว่า ณ ที่ตรงไหนทั่วสรรพางค์กายของฌานลาภีบุคคลนั้น ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดจะไม่ถูกต้องนั้นเป็นอันไม่มี ฝ่าย จิตเตกัคคตา คือภาวะที่จิตมีอารมณ์อย่างเดียวนั้น ย่อมเกิดขึ้นถูกต้องทั่วอารมณ์ทั้งหลาย มีอาการเหมือนดั่งฝาสมุกอันบนสวมลงถูกตัวสมุกอันล่างโดยทั่วสิ้นฉะนั้น อรรถาธิบายนี้เป็นความต่างกันระหว่างปีติและสุขกับองค์ฌานอื่น ๆ แม้นอกนี้
🔅 จิตเตกัคคตาเป็นองค์ฌานอันหนึ่ง
ในบรรดาองค์ฌานทั้ง ๕ นั้น ถึงแม้ว่าจิตเตกัคคตาจะมิได้ทรงแสดงไว้ในพระบาลีที่ว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ เป็นต้นนั้นก็ตาม แม้กระนั้น จิตเตกัคคตาก็จัดเข้าเป็นองค์ฌานองค์หนึ่งเหมือนกัน เพราะเหตุที่ทรงเทศนาไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข และจิตเตกัคคตา ชื่อว่า ฌาน ดังนี้ อธิบายว่า การที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาพระบาลีไว้โดยนัยมีอาทิว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ ด้วยข้อพระพุทธาธิบายอย่างใด ก็เป็นอันว่าข้อพระพุทธาธิบายนั้น พระองค์ทรงประกาศแสดงไขไว้แล้วว่า จิตเตกัคคตา ดังนี้ ในคัมภีร์วิภังค์นั้น ฉะนั้น นักศึกษาอย่าพึ่งเข้าใจเขวไปว่า จิตเตกัคคตา นั้นท่านไม่ได้ทรงถือเอาในพระบาลีที่แสดงถึงฌานนั้น ด้วยประการฉะนี้
🔅 อธิบายมีความสงบ ๆ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวสังเขปไว้ว่า มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ นั้น มีอรรถาธิบายโดยพิสดารดังต่อไปนี้: นักศึกษาพึงทราบความงาม ๓ อย่างของปฐมฌาน ด้วยอำนาจความงามในเบื้องต้น ๑ ความงามในท่ามกลาง ๑ และความงามในที่สุด ๑ และพึงทราบความสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ประการของปฐมฌาน ด้วยอำนาจลักษณะของความงามในเบื้องต้น ความงามในท่ามกลาง และความงามในที่สุดเหล่านี้นั้นนั่นแล ในการแสดงถึงความงามและลักษณะแห่งความงามของปฐมฌานนั้นมีคำพระบาลีรับรองไว้ดังนี้ :
ความงาม ๓ ประการ
ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา เป็นความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน
ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขา เป็นความงามในท่ามกลางของปฐมฌาน
ความร่าเริงใจ เป็นความงามในที่สุดของปฐมฌาน
ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขา เป็นความงามในท่ามกลางของปฐมฌาน
ความร่าเริงใจ เป็นความงามในที่สุดของปฐมฌาน
ลักษณะแห่งความงามเบื้องต้น ๓ ประการ
ข้อว่า ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา เป็นความงามเบื้องต้นของปฐมฌานนั้น ความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน มีลักษณะเท่าไร ? ตอบ ความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน มีลักษณะ ๓ ประการ คือ จิตย่อมบริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นข้าศึก ๑ เพราะเหตุที่จิตบริสุทธิ์ จิตจึงดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลาง ๑ เพราะเหตุที่จิตดำเนินไป จิตจึงแล่นตรงไปในสมถนิมิตอันเป็นกลางนั้น ๑
อาการที่จิตบริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นข้าศึก อาการที่จิตดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลางด้วยเหตุที่บริสุทธิ์ และอาการที่จิตแล่นตรงไปในสมถนิมิตอันเป็นกลางด้วยเหตุที่ดำเนินไปแล้วเหล่านี้เป็นลักษณะ ๓ ประการ แห่งความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน ซึ่งมีความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทาเป็นความงามในเบื้องต้น ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่าปฐมฌานมีความงามในเบื้องต้นและสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ด้วยประการฉะนี้
ลักษณะแห่งความงามท่ามกลาง
ข้อว่า ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขาเป็นความงามในท่ามกลางของปฐมฌานนั้น ความงามในท่ามกลางของปฐมฌานมีลักษณะเท่าไร ? ตอบ ความงามในท่ามกลางของปฐมฌานมีลักษณะ ๓ ประการ คือ โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตอันบริสุทธิ์แล้ว ๑ ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้ว ๑ ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ปรากฏเป็นเอกภาพ แล้ว ๑ อาการที่เพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่บริสุทธิ์แล้ว อาการที่เพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้ว และอาการที่เพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ปรากฏเป็นเอกภาพแล้ว เหล่านี้เป็นลักษณะประการแห่งความงามในท่ามกลางของปฐมฌาน ซึ่งมีความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขาเป็นความงามในท่ามกลาง ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า ปฐมฌานมีความงามในท่ามกลางและสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ด้วยประการฉะนี้
ลักษณะแห่งความงามในที่สุด ๔ ประการ
ข้อว่า ความร่าเริงใจ เป็นความงามในที่สุดของปฐมฌานนั้น ความงามในที่สุดของปฐมฌาน มีลักษณะเท่าไร ? ตอบ ความงามในที่สุดของปฐมฌานมีลักษณะ ๔ ประการ คือ ความร่าเริงใจเพราะผลที่ธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดในฌานจิตนั้นไม่ล่วงล้ำค่ำเกินกัน ๑ ความร่าเริงใจเพราะผลที่อินทรีย์ทั้งหลายมีรสเป็นอันเดียวกัน ๑ ความร่าเริงใจเพราะผลที่ทำให้วิริยะอันสมควรแก่อินทรีย์ทั้งหลายบังเกิดขึ้น ๑ ความร่าเริงใจเพราะผลที่ได้อาเสวนปัจจัย ๑ อาการเหล่านี้เป็นลักษณะ ๔ ประการแห่งความงามในที่สุดของปฐมฌานซึ่งมีความร่าเริงใจเป็นความงามในที่สุด ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ปฐมฌาน มีความงามในที่สุดและสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๔ ด้วยประการฉะนี้แล
มติวัดอภัยคิรีวิหาร
ในความงาม ๓ อย่างนั้น อุปจารสมาธิพร้อมทั้งธรรมเครื่องปรุงแต่ง คือบริกรรมในอาวัชชนะต่าง ๆ ชื่อว่า ปฏิปทาวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา อัปปนาสมาธิ ชื่อว่าความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขา ปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาฌานที่ได้บรรลุแล้ว ชื่อว่า ความร่าเริงใจ อธิบายนี้ท่านอาจารย์ทั้งหลายชาววัดอภัยคิรีวิหาร (วัดใหญ่ในลังกา) พรรณนาไว้
มติในปฏิสัมภิทามรรค
แต่เพราะเหตุที่ในพระบาลีแห่งปฏิสัมภิทามรรค ท่านแสดงไว้ว่า จิตที่ถึงเอกภาพแล้ว จึงจะเป็นอันแล่นไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา จึงเป็นอันเจริญได้ที่แล้วด้วยอุเบกขา และจึงจะเป็นอันร่าเริงแล้วด้วยญาณ ดังนี้ ฉะนั้น นักศึกษาพึงเข้าใจว่า ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทาจะมีได้ก็ด้วยอำนาจที่มาถึงภายในอัปปนาสมาธิเท่านั้น ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขาจะมีได้ด้วยการทำกิจของตัตรมัชฌัตตุเบกขาและความร่าเริงใจจะมีได้ด้วยอำนาจความสำเร็จแห่งการทำกิจของญาณอันทำให้ผ่องใส โดยยังภาวะที่ธรรมทั้งหลายไม่ล่วงล้ำกันเป็นต้นให้สำเร็จ (หมายความว่า อรรถาธิบายของพวกอาจารย์วัดอภัยคิรีวิหารผิดจากพระบาลีปฏิสัมภิทามรรค) ถาม ข้อนี้ มีอรรถาธิบายอย่างไร ? ตอบ มีอรรถาธิบายว่า ในวาระที่อัปปนาสมาธิเกิดขึ้น จิตจึงจะบริสุทธิ์จากกลุ่มกิเลสคือนิวรณ์อันเป็นข้าศึกของฌานนั้น เพราะจิตเป็นสภาพที่บริสุทธิ์แล้ว จึงจะหลีกเว้นจากนิวรณ์เครื่องกั้น ดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลาง สมถนิมิตอันเป็น กลางนั้นได้แก่อัปปนาสมาธิที่เป็นไปโดยสม่ำเสมอนั่นเอง
🔅 อธิบายความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา
ก็แหละ จิตดวงก่อน ซึ่งเป็นอนันตรปัจจัยแก่อัปปนาจิตนั้น ได้แก่โคตรภูจิตกำลังเข้าไปสู่ภาวนาที่แท้ ชื่อว่า ดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลาง ด้วยนัยที่แปรไปแห่งสันตติเพียงอันเดียว เพราะจิตดำเนินไปด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า แล่นไปในสมถนิมิตนั้นด้วยการดำเนินเข้าสู่ภาวะที่แท้ นักศึกษาจึงเข้าใจถึงความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทาอันให้สำเร็จอาการที่บริสุทธิ์จากอันตรายเป็นต้นซึ่งมีอยู่ในจิตดวงก่อนแห่งอัปปนาจิต ด้วยอำนาจที่มาถึงในอุปปาทขณะแห่งปฐมฌาน ด้วยประการฉะนี้ก่อน
🔅 อธิบายความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขา
แหละเมื่อจิตนั้นบริสุทธิ์แล้วอย่างนี้ โยคีบุคคลก็ไม่ทำความขวนขวายในอันที่จะทำจิตให้บริสุทธิ์อีก เพราะไม่มีสิ่งที่จะต้องทำให้บริสุทธิ์ ชื่อว่า ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตอันบริสุทธิ์แล้ว เมื่อจิตดำเนินไปสู่สมถนิมิตด้วยการเข้าสู่สภาวะที่สงบ โยคีบุคคลก็ไม่ทำความขวนขวายในอันที่จะทำให้จิตตั้งมั่นอีก ชื่อว่า ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้ว และเมื่อฌานจิตนั้น ละความคลุกคลีด้วยกิเลสเข้าไปตั้งอยู่โดยความเป็นเอกภาพ โดยภาวะที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้วนั่นแล โยคีบุคคลก็ไม่ทำความขวนขวายในอันที่จะทำให้จิตปรากฏเป็นเอกภาพอีก ชื่อว่า ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ปรากฏเป็นเอกภาพแล้ว นักศึกษาพึงเข้าใจถึงความเจริญได้ที่ของอุเบกขา ด้วยอำนาจการทำกิจของตัตรมัชฌัตตุเบกขา ด้วยประการฉะนี้
🔅 อธิบายความร่าเริงใจ
แหละอาการทั้งหลาย คือ เมื่อฌานจิตเจริญได้ที่แล้วด้วยอุเบกขาอย่างนี้ ธรรมที่เนื่องเป็นคู่กันคือสมาธิกับปัญญาซึ่งเกิดแล้วในฌานจิตนั้น เป็นไปไม่ล้ำเกินซึ่งกันและกัน อินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น เป็นไปมีรสเป็นอันเดียวกันด้วย วิมุตติรส เพราะหลุดพ้นจากกิเลสนานาชนิด ๑ โยคีบุคคลนั้นทำวีริยะอันควรแก่ธรรมเหล่านั้นคือสมควรแก่ภาวะที่ธรรมเหล่านั้นไม่ล้ำเกินกันและมีรสเป็นอันเดียวกันให้เป็นไปอยู่ ๑ การเสพอารมณ์ของฌานจิตนั้นเป็นไปในขณะนั้น (ภังคขณะ) ๑ โดยเหตุที่อาการทั้งหมดนั้นสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะโยคีบุคคลเห็นโทษและอานิสงส์นั้น ๆ ในความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วของภาวนาด้วยญาณ จึงได้ร่าเริงใจแล้ว ทำให้จิตบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว ด้วยประการนั้น ๆ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า นักศึกษาจึงเข้าใจว่า ความร่าเริงใจจะมีได้ก็ด้วยอำนาจความสำเร็จแห่งการทำกิจของญาณให้ผ่องใส โดยยังภาวะที่ธรรมทั้งหลายไม่ล้ำเกินกันเป็นต้นให้สำเร็จ
🔅 ญาณปรากฏชัดด้วยอุเบกขา
เพราะในภาวนาจิตนั้น ญาณย่อมปรากฏด้วยอำนาจอุเบกขาเหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ตนประคองไว้อย่างนั้นเป็นอย่างดี ปัญญินทรีย์ย่อมมีประมาณยิ่ง ด้วยอำนาจอุเบกขา ด้วยอำนาจปัญญา จิตย่อมหลุดพ้นจากกิเลสอันมีสภาวะต่าง ๆ ด้วยอำนาจอุเบกขา ปัญญินทรีย์ย่อมมีประมาณยิ่งด้วยอำนาจความหลุดพ้น คือ ศรัทธากับปัญญาและวีริยะกับสมาธิ และด้วยอำนาจปัญญา ย่อมมีรสเป็นอันเดียวกันคือ ทำกิจเท่ากัน เพราะผลที่มีรสเป็นอันเดียวกัน จึงชื่อว่า ภาวนา ฉะนั้น ความร่าเริงใจอันเป็นกิจแห่งญาณ ท่านจึงกล่าวว่าเป็นความงามในที่สุดฉะนี้