ในภาพรวมจะแบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ทำความเข้าใจหลักขันธ์ ๕ หลักไตรลักษณ์ และพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ🔎อนัตตลักขณสูตร ในขั้นแรก พึงทำความเข้าใจ🔎ขันธ์ ๕ ให้กระจ่างดีเสียก่อนว่า สิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานั้น ตามสภาวะแท้จริงประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบ ๕ อย่าง กล่าวโดยย่อดังนี้
(ส่วนรูปธรรม ๑)
รูป คือ องค์ประกอบส่วนรูปธรรมทั้งหมด
(ส่วนนามธรรม ๔)
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้
สังขาร คือ ความปรุงแต่งอารมณ์ให้ดีชั่วอันมีเจตนาเป็นแกน
วิญญาณ คือ ธาตุรู้ทางประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทั้งนี้ ในการพิจารณาอย่าใช้วิธีนึกคิดตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียว ให้พิจารณาแยกแยะองค์ประกอบทั้ง ๕ อย่างนี้ที่ตัวเราเองด้วย เพราะสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นกันไว้ด้วยกิเลสมากที่สุด ก็คือสิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานี้เอง และตัวเราดังกล่าวก็ไม่ได้มีองค์ประกอบอื่นใดนอกเหนือไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงแสดงออกเป็นขันธ์ ๕ นี้ แม้ผู้อื่น หรือสิ่งอื่นใดในโลก ก็ไม่มีอะไรเกินเลยออกไปจากขันธ์ ๕ นี้เช่นเดียวกัน ในขั้นแรกพึงทำความเข้าใจดังนี้ ต่อมาพิจารณาหลัก🔎ไตรลักษณ์ กล่าวโดยย่นย่อ การทำความเข้าใจหลักไตรลักษณ์นั้น พึงพิจารณาจากหยาบไปหาละเอียด จากส่วนที่เห็นได้ง่ายปรากฎแก่สายตาไปหาส่วนที่ลึกซึ้งเข้าใจได้ยาก
เริ่มด้วยการพิจารณาว่าสิ่งทั้งปวงในโลกล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีสภาวะความเกิดดับไม่เที่ยง (อนิจจัง) > สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมถูกกดดันบีบคั้นด้วยความเกิดดับนั่นเอง (ทุกขัง) > เมื่อเกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยและเป็นสภาวะกดดันบีบคั้น ไม่สามารถครอบครองควบคุมสั่งบังคับให้เป็นอย่างไรๆตามต้องการนอกเหนือเหตุปัจจัยได้ ย่อมไม่เป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา) สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลก (สังขตธรรม) มีสามัญลักษณะเสมอเหมือนกันเช่นนี้
วิปัสสนากรรมฐานไตรลักษณ์ขันธ์ ๕
เมื่อได้ทำความเข้าใจขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ดีแล้ว พึงพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ อนัตตลักขณสูตร
รูป เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ว่าผู้ใดจะได้รูปกายอันงดงามก็ย่อมเจ็บป่วยโทรมทรุดด้วยประการต่างๆเป็นธรรมดา (ทุกขัง) > เมื่อรูปไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่ารูปเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในรูปอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
เวทนา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาความสุขทั้งหลายให้ยั่งยืน ทุกข์ให้หมดสิ้นไป ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อเวทนาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าเวทนาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในเวทนาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
สัญญา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาให้จำเอาไว้แต่เรื่องราวอันเป็นสุข ลืมเรื่องทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้น ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสัญญาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสัญญาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสัญญาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
สังขาร เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะให้มีเฉพาะเจตนาอันประกอบด้วยปัญญาและความเพียร ไม่ประกอบด้วยเจตนาอันจะก่อโทษให้เดือดร้อนใดๆ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสังขารไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสังขารเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสังขารอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะรับรู้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ ไม่รับรู้สิ่งที่ไม่ต้องการ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อวิญญาณไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าวิญญาณเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในวิญญาณอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
ลองทบทวนสอบถามกับตัวเองตามแนวทางที่ท่านทรงแสดงไว้แล้วว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ตนเองและผู้อื่นคงที่เที่ยงแท้ หรือ เกิดดับไม่เที่ยง ? สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้น เหตุปัจจัยบีบคั้นเป็นทุกข์ หรือ คล่องสบายเป็นสุข ? ก็สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง บีบคั้นเป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่จะควบคุมได้เหนือเหตุปัจจัย ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา ? (ควรตอบตามความเห็นของตัวเองจริงๆไม่ใช่ตอบแบบท่องจำ เพื่อเป็นการประเมินความเห็นของตัวเองตามที่เป็นอยู่จริงในขณะนั้น) พิจารณาให้เห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ เกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยเสมอเหมือนกับสิ่งอื่นๆในโลก ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเราที่ควรจะยึดติดถือมั่นไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสมดังคำกล่าวที่ว่า ผู้ละความยึดติดถือมั่นทั้งปวงลงได้แล้ว ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีที่ตั้งและที่ให้กระทบ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวทั้งในสุขและทุกข์ มีจิตใจเบิกบานทุกเมื่อ ส่วนทุกข์ทางกาย ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป
ไม่มีอัตตาได้อย่างไร
อาจมีข้อสงสัยว่า มนุษย์หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองให้เป็นอย่างที่ตนต้องการได้มิใช่หรือ? ถ้าไม่มีอัตตาแล้วเจตจำนงที่จะเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งใดนั้นจะมาจากไหน? ความคิดเช่นนี้ถูกบางส่วนแต่ไม่ถูกทั้งหมด กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตสามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองได้ เพราะมีเจตนา (เจตนาทำหน้าที่เป็นแกนของสังขารขันธ์ พระอภิธรรมว่าเป็นสัพพสาธารณะเจตสิก คือเกิดกับจิตทุกดวง) เจตนานั้นทำหน้าที่เป็นผู้คิด ผู้ริเริ่ม ที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ที่ว่าเจตนาควบคุมได้นั้น มันเพียงเป็นไปตามหน้าที่ของมันซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวริเริ่มทำการต่างๆ แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยเช่นเดิม
กล่าวคือ การริเริ่มกระทำต่ออารมณ์เป็นหน้าที่หรือเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของเจตนา เหมือนกับที่ เวทนามีหน้าที่เสวยอารมณ์ สัญญามีหน้าที่ทรงจำอารมณ์ วิญญาณมีหน้าที่รู้อารมณ์ ต่างกันตรงที่สังขารขันธ์ซึ่งมีเจตนาเป็นแกนนั้นเป็นผู้กระทำต่ออารมณ์ (เป็นช่วงเหตุใน🔎ปฏิจจสมุปบาท) ส่วนขันธ์อื่นๆนั้นเป็นผู้รับอารมณ์ (เป็นช่วงผลในปฏิจจสมุปบาท) การที่สิ่งมีชีวิตมีความคิดริ่เริ่มเป็นของตนเอง จึงไม่ได้หมายความว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีอัตตาเป็นของตัวเอง
พิจารณาแนวของอนัตตลักขณสูตร
ถ้าความคิดริเริ่มหรือเจตนารมณ์ใดๆที่มีอยู่ในตนเป็นอัตตาแล้ว ย่อมบังคับควบคุมได้ว่าให้มีเฉพาะส่วนดี เช่น ย่อมเลือกได้ควบคุมบังคับได้ว่าจะทำสิ่งใดให้มีแต่เจตนาอันประกอบพร้อมด้วยปัญญาอย่าตกเป็นทาสหรือเผลอทำอะไรตามกิเลส, เจตนาพึงประกอบด้วยความเพียรอย่าย่อท้อไม่มีความตรอมตรมหมดอาลัยตายอยาก เป็นต้น เจตนาใดๆล้วนไม่เที่ยง เกิดดับแปรปรวนเรื่อยไป จึงไม่มีเหตุให้ยึดถือเป็นตัวตน การที่สิ่งมีชีวิตมีเจตนาสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้ตามเหตุปัจจัย ทำให้ทุกชีวิตมีความหวังที่จะไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ด้วยความเพียรและสติปัญญา ดังที่เราจะพบพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่องความเพียรอยู่มากมายในพระไตรปิฎกนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 🔎สติปัฏฐาน ๔