วินิจฉัยโดยย่อและโดยพิสดาร

วินิจฉัยโดยย่อและโดยพิสดาร

ข้อว่า โดยย่อและโดยพิสดารนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้:

โดยย่อ
ก็แหละ ธุดงค์ ๑๓ ประการนี้ เมื่อจัดโดยย่อมีเพียง ๘ ประการเท่านั้น คือ องค์ที่เป็นหัวใจ ๓ องค์ที่ไม่เจือปน ๕ 
ใน ๒ ลักษณะนั้น องค์ที่เป็นหัวใจ ๓ นั้นคือ สปทานจาริกังคะ ๑ เอกาสนิกังคะ ๑ อัพโภกาสิกังคะ ๑ อธิบายว่า เมื่อโยคีบุคคลรักษาสปทานจาริกังคธุดงค์ จักได้ชื่อว่ารักษาปิณฑบาติกังคธุดงค์ไปด้วย และเมื่อโยคีบุคคลรักษาเอกาสนิกังคธุดงค์จำเป็นอันต้องรักษาด้วยดี แม้ซึ่งปัตตปิณฑิกังคธุดงค์และขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ไปด้วย เมื่อโยคีบุคคลรักษาอัพโภกาสิกังคธุดงค์ ก็เป็นอันต้องรักษาในรุกขมูลกังคธุดงค์และยถาสันถติกังคธุดงค์อยู่ในตัวมิใช่หรือ

องค์ที่เป็นหัวใจ ๓ ดังอธิบายมานี้ กับองค์ที่ไม่เจือปนอีก ๕ คือ อารัญญิกังคะ ๑ ปังสุกูลิกงคะ ๑ เตจีวริกังคะ ๑ เนสัชชิกังคะ ๑ โสสานิกังคะ ๑ จึงรวมเป็นธุดงค์ โดยย่อ ๘ ประการพอดี

อีกประการหนึ่ง ธุดงค์ ๑๓ ประการนี้ สงเคราะห์ลงมีเพียง ๔ ประการเท่านั้น คือ
ประการที่ ๑ ธุดงค์ที่ประกอบด้วยจีวร ๒
ประการที่ ๒ ธุดงค์ที่ประกอบด้วยบิณฑบาต ๕
ประการที่ ๓ ธุดงค์ที่ประกอบด้วยเสนาสนะ ๕
ประการที่ ๔ ธุดงค์ประกอบด้วยความเพียร ๑

ในบรรดาธุดงค์เหล่านี้ เนสัชชิกังคธุดงค์ จัดเป็นธุดงค์ที่ประกอบด้วยความเพียร ธุดงค์นอกนี้ความปรากฏชัดอยู่แล้ว

อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าด้วยอำนาจเครื่องอาศัยแล้ว ธุดงค์ทั้งหมดนั้นมีเพียง ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ธุดงค์ที่อาศัยปัจจัย ๑๒
ประการที่ ๒ ธุดงค์ที่อาศัยความเพียร ๑

แม้เมื่อว่าด้วยอำนาจเป็นสิ่งที่ควรเสพและสิ่งที่ไม่ควรเสพ ธุดงค์ทั้งหมดนั้นก็ย่นลงเพียง ๒ ประการเหมือนกัน อธิบายว่า
ประการที่ ๑ เมื่อโยคีบุคคลใดเสพธุดงค์ กัมมัฏฐานย่อมเจริญ อันโยคีบุคคลนั้นพึงเสพธุดงค์เถิด เมื่อโยคีบุคคลใดเสพธุดงค์ กัมมัฏฐานย่อมเสื่อม อันโยคีบุคคลนั้นไม่พึงเสพธุดงค์ ก็แต่ว่าเมื่อโยคีบุคคลใดจะเสพธุดงค์ก็ตามไม่เสพก็ตาม กัมมัฏฐานย่อมเจริญอย่างเดียวไม่เสื่อมเลย
ประการที่ ๒  แม้อันโยคีบุคคลนั้นหวังที่จะอนุเคราะห์ชุมนุมชนภายหลังจึงเสพธุดงค์เถิด แม้เมื่อโยคีบุคคลใดเสพธุดงค์ ก็เท่านั้นไม่เสพก็เท่านั้น กัมมัฏฐานไม่เจริญขึ้น แม้อันโยคีบุคคลนั้นก็พึงเสพธุดงค์เถิด ทั้งนี้เพื่อให้สำเร็จเป็นวาสนาต่อไป

ธุดงค์ทั้งหมดนั้นซึ่งย่อลงเป็น ๒ ด้วยอำนาจเป็นสิ่งที่ควรเสพและไม่ควรเสพดังอธิบายมาแล้วนี้ ก็สรุปลงเป็นอย่างเดียวด้วยอำนาจแห่งเจตนา เป็นความจริง ธุดงค์มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ เจตนาเป็นเครื่องสมาทาน แม้ในคัมภีร์อรรถกถาท่านก็พรรณนาไว้ว่า นักปราชญ์ทั้งหลายรับรองว่า เจตนาอันใด ธุดงค์ก็อันนั้น ฉะนี้

โดยพิสดาร
ก็แหละ เมื่อว่าโดยพิสดาร ธุดงค์มีถึง ๔๒ ประการ คือ
ธุดงค์สำหรับ ภิกษุ ๑๓
สำหรับภิกษุณี ๘
สำหรับสามเณร ๑๒
สำหรับนางสิกขมานาและสามเณรี ๗
สำหรับอุบาสกและอุบาสิกา ๒

แหละถ้าสุสานอันถึงพร้อมด้วยองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติ มีอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง ภิกษุแม้เพียงรูปเดียวก็สามารถเพื่อที่จะเสพธุดงค์ทั้งหมดได้ โดยวาระเดียวกัน แต่สำหรับภิกษุณีนั้น ธุดงค์ ๒ ประการคือ อารัญญิกังคธุดงค์ ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๑ ทรงห้ามไว้ด้วยสิกขาบทแล้วนั่นเทียว ธุดงค์ ๓ ประการนี้คือ อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ๑ รุกขมูลกังคธุดงค์ ๑ โสสานิกังคธุดงค์ ๑ เป็นสิ่งที่รักษาได้โดยยาก เพราะว่าอันภิกษุณีนั้นที่จะอยู่โดยปราศจากเพื่อนย่อมไม่สมควร และเพื่อนซึ่งจะมีฉันทะเสมอกันในสถานที่เห็นปานดังนั้นก็หาได้ยาก แม้ถ้าจะพึงหาได้ก็ไม่พ้นไปจากการอยู่คลุกคลี เมื่อเป็นดังนี้ ภิกษุณีจึงเสพธุดงค์เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์นั้นนั่นแลก็จะไม่พึ่งสำเร็จแก่ตน นักศึกษาพึงทราบว่า เพราะเหตุที่เป็นสิ่งไม่อาจจะเสพได้ดังบรรยายมานี้ ธุดงค์สำหรับภิกษุณีจึงมีเพียง ๘ ประการเท่านั้น โดยลดเสีย ๕ ประการ

ก็แหละ ในบรรดาธุดงค์ตามที่กล่าวแล้ว ยกเว้นเตจีวริกังคธุดงค์เสีย ๑ ธุดงค์ที่เหลือ ๑๒ ประการ เป็นธุดงค์สำหรับสามเณร (ในธุดงค์ ๘ ประการสำหรับภิกษุณีนั้นลดเสีย ๑ คือ เตจีวริกังคธุดงค์) ที่เหลือ ๗ ประการ พึงทราบว่าเป็นธุดงค์สำหรับนางสิกขมานาและสามเณรี ก็แหละ ธุดงค์ ๒ ประการนี้คือ เอกาสนิกังคธุดงค์ ๑ ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ๑ เป็นสิ่งที่คู่ควรแก่อุบาสกและอุบาสิกาด้วย สามารถที่จะเสพได้ด้วย ฉะนั้น ธุดงค์สำหรับอุบาสกและอุบาสิกาจึงมีเพียง ๒ ประการ ว่าโดยพิสดารธุดงค์ทั้งหมด ๔๒ ประการ ด้วยประการฉะนี้ พรรณนาความโดยย่อและโดยพิสดาร ยุติลงเพียงเท่านี้ก็แหละ ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นว่าข้าพเจ้าได้แสดงแล้วซึ่งธุตั้งคกถา อันสาธุชนควรสมาทานเอา เพื่อความบริบูรณ์แห่งคุณทั้งหลายมีความเป็นผู้มักน้อยและความเป็นผู้สันโดษเป็นต้น อันเป็นเครื่องผ่องแผ้วแห่งศีล ซึ่งมีประการที่ได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคที่ทรงแสดงด้วยมุข คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ด้วยพระพุทธนิพนธคาถานี้ว่า "นรชนผู้มีปัญญา เป็นภิกขุ มีความเพียร มีปัญญา เครื่องบริหาร ตั้งตนไว้ในศีลแล้วทำสมาธิจิต และปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้"

จบ ปริจเฉทที่ ๒ ชื่อว่า ธุตังคนิเทศในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค
อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้



วิกิ

ผลการค้นหา