ขลุปัจฉาภัตติทั้งคกถา
การสมาทาน
แม้ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธโภชนะอันล้นเหลือ ดังนี้อย่างหนึ่ง ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกตินั้น ครั้นห้ามโภชนะเสียแล้วไม่พึงให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะ (ให้เป็นของควรฉัน) แล้วฉันอีก ว่าด้วยกรรมวิธีในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภทแล้ว ภิกษุมิใช่ผู้ฉันปัจฉาภัตเป็นปกตินี้มี ๓ ประเภท ดังนี้คือ โดยเหตุที่การห้ามโภชนะย่อมมีไม่ได้ในบิณฑบาตครั้งแรก แต่เมื่อบิณฑบาตครั้งแรกนั้น อันภิกษุผู้ขลุปัจฉาภัตติกะกำลังฉันอยู่ ย่อมเป็นอันปฏิเสธซึ่งบิณฑบาตอื่น ฉะนั้น ในขลุปัจฉาภัตติกภิกษุ ๓ ประเภทนั้น
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ ห้ามโภชนะแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ฉันบิณฑบาตครั้งแรกแล้ว ย่อมไม่ฉันบิณฑบาตครั้งที่สอง
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นกลาง ตนห้ามแล้วในเพราะโภชนะใด ยังฉันโภชนะนั้นได้อยู่นั่นเที่ยว
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมฉันบิณฑบาตได้ตลอดเวลาที่ตนยังไม่ลุกจากที่นั่ง
ว่าด้วยประเภทในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ซึ่งห้ามโภชนะแล้ว ให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะแล้วฉันอีกนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการห่างไกลจากอาบัติเพราะฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน, ไม่มีการแน่นท้อง, เป็นการไม่สะสมอามิส, ไม่มีการแสวงหาอีก เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น โยคืบุคคลผู้ขลุปัจฉาภัตติกซึ่งเป็นบัณฑิตย่อมไม่เผชิญกับความลำบาก เพราะการแสวงหาอาหาร ย่อมไม่ทำการสะสมอามิส ย่อมหายจากความแน่นท้อง เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลผู้ใคร่ที่จะกำจัดเสียซึ่งโทษทั้งหลาย พึงบำเพ็ญขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญพระปฏิบัติศาสนาว่า เป็นที่เกิดแห่งความเจริญขึ้นแห่งคุณมีคุณคือความสันโดษเป็นต้นนั่นเทียว
ว่าด้วยอานิสงส์ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้