ปัตตปิณฑิกังคกถา
การสมาทาน
แม้ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาด้วยคำสมาทาน อย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ ทุติยกภาชน์ ปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธภาชนะอันที่ ๒ ดังนี้อย่างหนึ่ง ปตฺตปิณฑิกงค์ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์ของภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่งว่าด้วยการสมาทานในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินั้น ถึงเวลาจะดื่มข้าวยาคูเมื่อได้อาหารมาไว้ในภาชนะแล้ว พึงฉันอาหารก่อนหรือจะดื่มข้าวยาคูก่อนก็ได้ ก็ถ้าใส่อาหารลงในข้าวยาคู เมื่ออาหารที่ใส่ลงไปนั้นเป็นปลาเน่าเป็นต้น ข้าวยาคูก็จะเป็นสิ่งที่น่าเกลียด และควรทำข้าวยาคูให้หายน่าเกลียดเสียจึงค่อยฉัน เพราะฉะนั้น คำว่า พึงฉันอาหารก่อนก็ได้ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาอาหารเช่นนั้น ส่วนอาหารใดย่อมไม่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด เช่น น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวดเป็นต้น อาหารนั้นจึงใส่ลงในข้าวยาคูได้ แต่เมื่อจะหยิบเอาอาหารเช่นนั้น ก็พึงหยิบเอาแต่พอสมควรแก่ประมาณเท่านั้น ผักสดจะใช้มือจับกัดกินก็ได้ แต่เมื่อไม่ทำดังนั้นจึงใส่ลงในบาตรนั่นเทียว ส่วนภาชนะอย่างอื่นแม้จะเป็นใบไม้ก็ตามก็ไม่ควรใช้ เพราะได้ปฏิเสธภาชนะอันที่ ๒ ไว้แล้ว ว่าด้วยกรรมวิธีในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ แม้จะคายกากอาหารทิ้งก็ไม่ควร ยกเว้นแต่เวลาฉันอ้อยขั้น (อ้อยลำ) แม้ก้อนข้าวสุก, ปลา, เนื้อและขนมจะใช้มือบิฉันก็ไม่ควร
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ แม้จะคายกากอาหารทิ้งก็ไม่ควร ยกเว้นแต่เวลาฉันอ้อยขั้น (อ้อยลำ) แม้ก้อนข้าวสุก, ปลา, เนื้อและขนมจะใช้มือบิฉันก็ไม่ควร
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้มือข้างหนึ่งบิแล้วฉันก็ควร ปัตตปิณฑิกภิกษุนี้ ชื่อว่า หัตถโยคี (โยคีผู้ใช้มือ)
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นต่ำ เป็นผู้ชื่อว่า ปัตตโยคี (โยคีผู้ใช้บาตร) คือ ของเคี้ยวของฉันสิ่งใดสามารถที่จะบรรจุเข้าไปในบาตรของท่านได้ จะบิของเคี้ยวของฉันนั้นด้วยมือหรือจะขบด้วยฟันแล้วฉันก็ควร
ว่าด้วยประเภทในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ว่าด้วยประเภทในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์ของภิกษุผู้ปัตตปิณฑิกทั้ง ๓ ประเภทนี้ ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ท่านเหล่านั้นยินดีต่อภาชนะอันที่ ๒ นั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการบรรเทาเสียซึ่งตัณหาในรสต่าง ๆ เป็นการเสียสละได้ซึ่งภาวะที่มีความอยากในรสในภาชนะนั้น ๆ, ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ และประมาณในอาหาร, ไม่มีความลำบากเพราะการรักษาเครื่องใช้ เช่นถาดเป็นต้น, ไม่มีความเป็นผู้ฉันลอกแลก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณ มีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม เลิกละความลอกแลกในภาชนะนานาชนิดเสีย มีตาทอดลงแต่ในบาตร ย่อมเป็นเสมือนขุดอยู่ซึ่งรากเหง้าแห่งตัณหาในรส ภิกษุผู้มีใจงดงาม รักษาไว้ซึ่งความสันโดษเสมือนดังรูปร่างของตน พึงสามารถที่จะฉันอาหารเช่นนี้ได้ ภิกษุอื่นใครเล่าที่จะพึงเป็นผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ ว่าด้วยอานิสงส์ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้