๑. ปังสุกูลิกงคกถา

๑. ปังสุกูลิกงคกถา

ทีนี้จักพรรณนาถึงการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก(ขาด) และอานิสงส์แห่งธุดงค์แต่ละประการ ๆ ต่อไป จะพรรณนาปังสุกูลกังคธุดงค์ เป็นประการแรก ดังนี้ :-

๑. คำว่า ผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง หมายเอาผู้ทรงจำนิกายอันหนึ่ง ในนิกายทั้ง ๕ มีทีฆนิกายเป็นต้น
๒. เรื่องของพระเถระสองพี่น้องนี้ มีอยู่ในอรรถกถารถวินีตสูตร ในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย พระเถระผู้พี่ ท่านสมาทานเอาธุดงค์ด้วยตนเองเพราะท่านสันโดษ ไม่ประสงค์ที่จะให้ใคร ๆ ทราบการปฏิบัติของท่าน

การสมาทาน
ในคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ คหปติทานจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธผ้าจีวรที่คหบดีถวาย ดังนี้อย่างหนึ่ง ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ปังสุกูลิกังคธุดงค์ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำใดคำหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานอันเป็นประการแรกในปังสุกูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันโยคีบุคคลนั้น เมื่อได้สมาทานเอาธุดงค์อย่างนี้แล้ว พึงเอาผ้าชนิดใดชนิดหนึ่งในบรรดาผ้า ๒๓ ชนิด เหล่านี้คือ
ผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้า,
ผ้าที่ตกอยู่ในตลาด,
ผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามถนน,
ผ้าที่เขาทิ้งไว้ ณ กองขยะมูลฝอย,
ผ้าเช็ดครรภ์,
ผ้าที่เขาใช้อาบน้ำมนต์,
ผ้าที่เขาทิ้งไว้ที่ท่า,
ผ้าที่คนเขาไปป่าช้าแล้วกลับมาทิ้งไว้,
ผ้าที่ถูกไฟไหม้,
ผ้าที่โคขย้ำ,
ผ้าที่ปลวกกัด,
ผ้าที่หนูกัด,
ผ้าที่ขาดกลาง,
ผ้าที่ขาดชาย,
ผ้าที่เขาเอามาทำธง,
ผ้าที่เขาวงล้อมจอมปลวก,
ผ้าของสมณะ,
ผ้าที่เขาทิ้งไว้ ณ ที่อภิเษก,
ผ้าที่เกิดด้วยฤทธิ์,
ผ้าที่ตกอยู่ในทาง,
ผ้าที่ลมพัดไป,
ผ้าที่เทวดาถวาย,
ผ้าที่คลื่นซัดขึ้นบก,

ครั้นแล้วจึงฉีกส่วนที่ทุรพลใช้ไม่ได้ทิ้งเสีย เอาส่วนที่ยังแน่นหนาถาวรอยู่มาซักให้สะอาดแล้วทำเป็นจีวร เปลื้องผ้าคหบดีจีวรชุดเก่าออกแล้ว จึงใช้ผ้าชุดบังสุกุลจีวรแทนต่อไปเถิด


อรรถาธิบายชนิดของผ้า
ในบรรดาผ้า ๒๓ ชนิดนั้น
คำว่า โสสานิกะ ได้แก่ผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้า
คำว่า ปาปณิกะ ได้แก่ผ้าที่ตกอยู่ที่ประตูตลาด
คำว่า รถยโจฬะ ได้แก่ผ้าที่ผู้ต้องการบุญทั้งหลายทิ้งไว้ที่ถนนรถ โดยทางช่องหน้าต่าง
คำว่า สังการโจฬะ ได้แก่ผ้าที่คนเขาทิ้งไว้ ณ ที่เทขยะมูลฝอย
คำว่า โสตถิยะ ได้แก่ผ้าที่เขาใช้เช็ดมลทินแห่งครรภ์แล้วทิ้งไว้ ได้ยินมาว่า มารดาของท่านติสสะอำมาตย์ ได้ให้คนเอาผ้ามีราคาเรือนร้อยมาเช็ดมลทินแห่งครรภ์ แล้วให้เอาไปทิ้งไว้ ณ ถนนชื่อตาลเวพิมัคคา* (ถนนชื่อนี้ มีอยู่ในตำบลบ้านชื่อมหาคามในสมัยนั้น ณ ประเทศลังกา) ด้วยมีความประสงค์ว่า ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติทั้งหลายจักได้เอาไปทำจีวร ภิกษุทั้งหลายก็พากันเก็บเอาเพื่อปะผ้าตรงที่ชำรุดนั่นเทียว
คำว่า นหานโจฬะ ได้แก่ผ้าซึ่งคนทั้งหลายอันพวกหมอผีคลุมให้รดน้ำมนต์เปียกทั่วทั้งตัวทิ้งไว้แล้วหลีกหนีไป ด้วยถือว่าเป็นผ้ากาศกัณณี
คำว่า ติตถโจฬะ ได้แก่ผ้าเก่า ๆ ที่เขาทิ้งไว้ที่ท่าอาบน้ำ
คำว่า คตปัจจาคตะ ได้แก่ผ้าที่พวกมนุษย์ใช้ไปป่าช้า ครั้นกลับมาอาบน้ำแล้วทิ้งไว้
คำว่า อัคคิทัฑฒะ ได้แก่ผ้าที่ถูกไฟไหม้ไปแถบหนึ่ง จริงอยู่ ผ้าที่ถูกไฟไหม้แล้วเช่นนั้น พวกมนุษย์ย่อม
ทิ้งเสีย
ตั้งแต่คำว่า โคขายิตะ เป็นต้นไป ความปรากฏชัดอยู่แล้ว จริงอยู่ ผ้าที่โคขย้ำแล้วเป็นต้นนั้นมนุษย์ทั้งหลายย่อมทิ้งเสียเหมือนกัน
คำว่า ธชาหฎะ ได้แก่ผ้าที่คนเขาเมื่อจะขึ้นเรือเอามาผูกทำเป็นธงขึ้นไว้ ในเมื่อล่วงเลยทัศนวิสัยของคนเหล่านั้นไปแล้ว จะเอาธงนั้นมาก็สมควร แม้ผ้าที่เขาเอามาผูกทำเป็นธงปักไว้ในยุทธภูมิในเมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายผ่านพ้นไปแล้ว จะเก็บเอาธงนั้นมาก็สมควร
คำว่า ถูปจีวระได้แก่ผ้าที่เขาใช้ทำพลีกรรมเอาไปวงล้อมจอมปลวกไว้
คำว่า สมณจีวระ ได้แก่ผ้าอันเป็นสมบัติของภิกษุ
คำว่า อาภิเสกิกะ ได้แก่ผ้าที่เขาทิ้งไว้ ณ สถานที่อภิเษกของพระราชา
คำว่า อิทธิมยะ ได้แก่ผ้าของเอหิภิกขุ
คำว่า ปันถกะ ได้แก่ผ้าที่ตกอยู่ในระหว่างทาง ก็แหละ ผ้าใดที่พลัดตกไปด้วยความเผลอสติของพวกเจ้าของแล้ว ผ้าเช่นนั้นต้องรอไปสักพักหนึ่งแล้วจึงค่อยเก็บเอา 
คำว่า วาตาหฏะ ได้แก่ผ้าที่ลมพัดไปตกในไกลที่ ก็แหละ ผ้าเช่นนั้นเมื่อไม่เห็นเจ้าของ จะเก็บเอาไป
ก็สมควร 
คำว่า เทวทัตติยะ ได้แก่ผ้าที่เทวดาทั้งหลายถวาย เหมือนอย่างถวายแก่พระอนุรุทธเถระ* (เรื่องเทวดาถวายผ้าทิพย์แก่พระอนุรุทธเถระ ปรากฏใน ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔)
คำว่า สามททิยะ ได้แก่ผ้าที่คลื่นสมุทรทั้งหลายซัดขึ้นไว้บนบก

ก็แหละ ผ้าใดที่ทายกเขาถวายแก่สงฆ์ด้วย คำว่า สํฆสฺส เทม ดังนี้ก็ดี หรือผ้าที่ภิกษุทั้งหลายเที่ยวขอได้มาก็ดี ผ้านั้นจัดเป็นผ้าบังสุกุลไม่ได้ แม้ในประเภทผ้าที่ภิกษุด้วยกันถวาย ผ้าใดที่ภิกษุถวายโดยให้รับเอาด้วยส่วนแห่งพรรษาก็ดี หรือที่เป็นผ้าเกิดขึ้นประจำเสนาสนะก็ดี ผ้านั้นก็จัดเป็นผ้าบังสุกุลไม่ได้เช่นกัน เฉพาะผ้าที่ภิกษุถวายโดยไม่ให้รับเอาด้วยส่วนแห่งพรรษาเท่านั้น จึงนับเป็นผ้าบังสุกุล แม้ในบรรดาผ้าที่ภิกษุด้วยกันถวายนั้น ผ้าใดที่พวกทายกทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุ แล้วภิกษุนั้นจึงเอามาถวายโดยวางลงในมือของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล ผ้านั้นจัดเป็นผ้าบริสุทธิ์ฝ่ายเดียว ผ้าใดที่พวกทายกถวายโดยวางไว้ในมือของภิกษุแล้วภิกษุนั้นจึงเอาไปทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล แม้ผ้านั้นก็จัดเป็นผ้าบริสุทธิ์ฝ่ายเดียว ผ้าใดที่พวกทายกทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุด้วยแม้ภิกษุนั้นก็เอาไปถวายโดยทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเหมือนอย่างนั้นด้วย ผ้านั้นจัดเป็นผ้าบริสุทธิ์สองฝ่าย ผ้าใดที่ภิกษุได้มาโดยทายกวางไว้ในมือ แล้วภิกษุนั้นก็วางไว้ในมือของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลอีกทอดหนึ่ง ผ้านั้นไม่จัดเป็นผ้าอย่างอุกฤษฎ์ อันภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ครั้นทราบความแตกต่างกันของผ้าบังสุกุลนี้ฉะนี้แล้วจึงใช้สอยจีวรตามควรนั่นเถิดว่าด้วยกรรมวิธีในปังสุกูลิกังคธุดงค์ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ ประเภทแห่งปังสุกูลกังคธุดงค์นี้ดังนี้ ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ มี ๓ ประเภท คือ ชั้นอุกฤษฎ์ ๑ ชั้นกลาง ๑ ชั้นต่ำ ๑

ในปังสุกูลิกภิกษุ ๓ ประเภทนั้นปังสุกูลิกภิกษุผู้รับเอาเฉพาะผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้าเท่านั้น จัดเป็นชั้นอุกฤษฎ์ ปังสุกูลิกภิกษุผู้รับเอาผ้าที่ทายกถวายทอดไว้ด้วยความประสงค์ว่า บรรพชิตทั้งหลายจักเก็บเอาไปดังนี้ จัดเป็นชั้นกลาง ปังสุกูลิกภิกษุผู้รับเอาผ้าที่ทายกถวายโดยวางทอดไว้ ณ ที่ใกล้เท้า จัดเป็นชั้นต่ำ ฉะนี้ ว่าด้วยประเภทในปังสุกูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ในบรรดาปังสุกูลิกภิกษุ ๓ ประเภทนั้น ในขณะที่ปังสุกูลิกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยินดีต่อผ้าที่พวกคฤหัสถ์ถวายตามความพอใจตามความเห็นของเขานั่นเที่ยว ธุดงค์ย่อมแตก (ขาด) คือ หายจากสภาพธุดงค์ทันที ว่าด้วยความแตกในปังสุกูลิกังคธุดงค์ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังต่อไปนี้ คือ โดยที่มีพระพุทธพจน์อยู่ว่า การบวชอาศัยบังสุกุลจีวร ดังนี้ ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ปัจจัยอันเป็นเครื่องอาศัย, เป็นการดำรงตนไว้ในอริยวงศ์ประการที่หนึ่ง (คือ ความสันโดษในจีวร), ไม่เป็นทุกข์ในการรักษา, ไม่มีพฤติการณ์เป็นที่เกาะอาศัยของผู้อื่น, ไม่หวาดกลัวด้วยโจรภัย, ไม่เป็นการบริโภคด้วยตัณหา, มีบริขารเหมาะสมแก่สมณสารูป, เป็นผู้มีปัจจัยเหมือนดังพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้ว่า ปัจจัยเหล่านั้น เป็นสิ่งเล็กน้อยด้วยหาได้ง่ายด้วย หาโทษมิได้ด้วย ดังนี้ เป็นผู้เป็นที่น่าเลื่อมใส, เป็นการสำเร็จผลแห่งคุณมีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้นให้เจริญ เป็นการเพิ่มพูนสัมมาปฏิบัติยิ่งขึ้น เป็นการวางไว้ซึ่งทิฏฐานคติแก่มวลชนในภายหลัง ภิกษุผู้สำรวม ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล เพื่อพิฆาตพญามารและเสนามาร ย่อมสง่างามเหมือนดังกษัตริย์ผู้ทรงสวมสอดเกราะแล้ว ย่อมทรงสง่างามในยุทธภูมิ ฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นครูแห่งโลกทรงเลิกใช้ผ้าอย่างดีมีผ้าที่ทำในแคว้นกาสีเป็นต้น แล้วมาทรงใช้ผ้าบังสุกุลจีวรอันใด ใครเล่าที่จะไม่ใช้ผ้าบังสุกุลจีวรอันนั้น

เพราะเหตุฉะนี้แหละ อันภิกษุผู้เห็นภัยในสังสารวัฏเมื่อระลึกถึงคำปฏิญญาณของตน (ที่ให้ไว้แก่อุปัชฌาย์ในเวลาอุปสมบท) พึงเป็นผู้ยินดีในการใช้ผ้าบังสุกุลจีวร อันเป็นเครื่องส่งเสริมการบำเพ็ญความเพียรนั่นเถิด ว่าด้วยอานิสงส์ในปังสุกูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในปังสุกูลิกังคธุดงค์ ประการแรกนี้ ยุติลงเพียงเท่านี้



วิกิ

ผลการค้นหา