ธุดงค์ ๑๓ ประการ

🔅ปริจเฉทที่ ๒ ธุตังคนิเทศ

อารัมภพจนกถา
โดยที่โยคีบุคคลสมาทานเอาศีลแล้วจะต้องทำการสมาทานเอาธุดงค์ต่อไปทั้งนี้เพื่อที่จะทำคุณทั้งหลายมีความเป็นผู้มักน้อยและความสันโดษเป็นต้น อันเป็นเครื่องผ่องแผ้วของศีล ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วในสีลนิเทศให้สมบูรณ์ แหละเมื่อโยคีบุคคลทำการสมาทานเอาธุดงค์เช่นนี้แล้ว ศีลของท่านซึ่งถูกชำระล้างมลทินแล้วด้วยน้ำคือคุณ มีความเป็นผู้มักน้อย, ความสันโดษ, ความขัดเกลากิเลส, ความสงัด, ความไม่สั่งสมกิเลส, การปรารภความเพียรและความเป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นต้น ก็จักเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ด้วยดี กับทั้งพรตทั้งหลายของท่านก็จักสมบูรณ์ด้วย

อันโยคืบุคคลผู้มีมารยาททั้งปวงบริสุทธิ์แล้วด้วยคุณคือศีลและพรตอันหาโทษมิได้เช่นนี้ ดำรงตนอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่าแก่ ๓ ประการ (คือความสันโดษในจีวร, ความสันโดษในบิณฑบาต, ความสันโดษในเสนาสนะตามมีตามได้) แล้ว จักเป็นบุคคลสมควรเพื่อจะบรรลุอริยวงศ์ประการที่ ๔ ซึ่งได้แก่ความเป็นผู้ยินดีในภาวนา (สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา) เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเริ่มแสดงธุดงคกถา ณ บัดนี้


🙏 ธุตังคกถา 🙏

ธุดงค์ ๑๓ ประการ
ก็แหละ พระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาตธุดงค์ไว้สำหรับกุลบุตรทั้งหลายผู้สละโลกามิสแล้ว ผู้ไม่เสียดายอาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้ปรารถนาจะทำข้อปฏิบัติอันสมควรแก่นิพพานให้ถึงพร้อม รวมเป็น ๑๓ ประการ คือ

หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต

๑. ปังสุกูลิกังคธุดงค์
๒. เตจีวริกังคธุดงค์
หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต
๓. ปิณฑบาติกังคธุดงค์
๔. สปทานจาริกังคธุดงค์
๕. เอกาสนิกังคธุดงค์
๖. ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์
หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต
๘. อารัญญิกังคธุดงค์
๙. รุกขมูลกังคธุดงค์
๑๐. อัพโภกาสิกังคธุดงค์
๑๑. โสสานิกังคธุดงค์
๑๒. ยถาสันถติกังคธุดงค์
หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต
๑๓. เนสัชชิกังคธุดงค์

วินิจฉัยธุดงค์โดยอาการ ๑๐ อย่าง
นักศึกษาพึงศึกษาให้เข้าใจข้อวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น (โดยอาการ ๑๐ อย่างเหล่านี้ คือ)
๑. โดยอรรถวิเคราะห์
๒. โดยลักษณะเป็นต้น
๓. โดยสมาทาน
๔. โดยกรรมวิธี
๕. โดยประเภท
๖. โดยความแตก(ขาด)
๗. โดยอานิสงส์
๘. โดยเป็นกุสลติกะ
๙. โดยแยกออกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น
๑๐. โดยย่อและโดยพิสดาร

วินิจฉัยโดยอรรถวิเคราะห์
ในอาการ ๑๐ อย่างนั้น จะวินิจฉัยโดยอรรถวิเคราะห์เป็นประการแรกดังนี้:

๑. ปังสุกูลิกังคะ
ผ้าใดเป็นเหมือนผ้าที่สะสมด้วยขี้ฝุ่น ณ ที่นั้น ๆ โดยที่ฟุ้งตลบไป เพราะเหตุวางทิ้งไว้บนขี้ฝุ่น ณ ที่ใดที่หนึ่ง เช่น ถนน, ป่าช้าและกองขยะมูลฝอยเป็นต้น ผ้านั้นชื่อว่าผ้าบังสุกุล อีกนัยหนึ่ง ผ้าใดถึงซึ่งภาวะที่น่าเกลียด คือ ถึงซึ่งภาวะที่น่าสยะแสยง เหมือนขี้ฝุ่น ผ้านั้นชื่อว่าผ้าบังสุกุล การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลอันได้อรรถวิเคราะห์อย่างนี้ ชื่อว่า ปังสุกุล แปลว่าการทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล, การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลนั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า ปังสุกูลิโก แปลว่า ผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ชื่อว่า ปังสุกูลิกังคะ เหตุ เรียกว่า องค์ เพราะฉะนั้น นักศึกษาจึงเข้าใจว่าภิกษุนั้นเป็นผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ด้วยเจตนาเป็นเหตุสมาทานอันใด คำว่า องค์ นี้เป็นชื่อของเจตนาเป็นเหตุสมาทานอันนั้น

๒. เตจีวริกังคะ
โดยนัยอย่างเดียวกันนั้น การทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ ๑ ผ้าอุตตราสงค์ ๑ ผ้าอันตรวาสก ๑ เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า เตจีวริโก แปลว่าผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืนเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืนเป็นปกติชื่อว่า เตจีวริยังคะ

๓. ปิณฑปาติกังคะ
การตกลงแห่งก้อนอามิสคือภิกษาหาร ได้แก่การตกลงในบาตรแห่งก้อนข้าวที่ผู้อื่นเขาถวาย ชื่อว่า ปิณฑบาต ภิกษุใดแสวงหาบิณฑบาตนั้น คือเข้าไปสู่ตระกูลนั้น ๆ แสวงหาอยู่ ภิกษุนั้นชื่อว่า ปิณฑปาติโก แปลว่า ผู้แสวงหาซึ่งบิณฑบาตอีกอย่างหนึ่ง การเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมของภิกษุนี้ เหตุนั้น ภิกษุนี้ชื่อว่า ปิณฑปาตี แปลว่า ผู้มีอันเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม บทว่า ปติตํ แปลว่า การเที่ยวไป บทว่า ปิณฺฑปาตี กับบทว่า ปิณฺฑปาติโก ความเหมือนกัน, องค์แห่งภิกษุผู้แสวงหาซึ่งบิณฑบาต หรือองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม ชื่อว่า ปิณฑปาติกังคะ

๔. สปทานจาริกังคะ
การขาดตอนเรียกว่า ทานะ กิจใดที่ปราศจากการขาดตอนคือไม่ขาดตอนกิจนั้นเรียกว่า อปทานะ กิจใดเป็นไปกับด้วยการไม่ขาดตอน ได้แก่เว้นการขาดระยะ คือ ไปตามลำดับเรือน กิจนั้นชื่อว่า สปทานะ การเที่ยวไป (บิณฑบาต) อย่างไม่ขาดตอน (คือไปตามลำดับเรือน) นี้ เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า สปทานจารี แปลว่า ผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติ บทว่า สปทานจารี กับบทว่า สปทานจาริโก ความเหมือนกัน, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติ ชื่อว่า สปทานจาริกังคะ

๕. เอกาสนิกังคะ
การฉันในที่นั่งอันเดียว ชื่อว่า เอกาสนะ การฉันในที่นั่งอันเดียวนั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า เอกาสนิโก แปลว่า ผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกตินั้น ชื่อว่า เอกาสนิกังคะ

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ
บิณฑบาตเฉพาะแต่ในบาตรอย่างเดียวเท่านั้น เพราะห้ามภาชนะอันที่สองเสียชื่อว่า ปัตตปิณโฑ แปลว่า บิณฑบาตในบาตร บิณฑบาตในบาตรเป็นปกติของภิกษุนี้เพราะในขณะหยิบเอาบิณฑบาตในบาตรก็ทำความสำนึกว่าเป็นบิณฑบาตในบาตร เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า ปัตตปิณฑิโก แปลว่า ผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ องค์แห่งภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ปัตตปิณฑิกังคะ

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ
คำว่า ขลุ เป็นศัพท์นิบาตลงในความปฏิเสธ ภัตตาหารที่ได้มาหลังจากที่ตนห้ามแล้ว ชื่อว่า ปัจฉาภัตตัง การฉันปัจฉาภัตนั้น ชื่อว่า ปัจฉาภัตตโภชนัง การฉันปัจฉาภัตเป็นปกติของภิกษุนี้ เพราะรู้อยู่ว่าเป็นปัจฉาภัตในขณะฉันปัจฉาภัต เหตุนั้น ภิกษุนี้ ชื่อว่า ปัจฉาภัตติโก แปลว่า ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ ภิกษุผู้มิใช่ปัจฉาภัตติโก ชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติโก แปลว่า ผู้มิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ (ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม) คำนี้เป็นชื่อของโภชนะที่มากเกินไป ซึ่งท่านห้ามไว้ด้วยอำนาจแห่งการสมาทาน ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาพรรณนาไว้ว่า คำว่า ขลุ ได้แก่นกประเภทหนึ่ง นกขลุนั้นเอาปากคาบผลไม้แล้ว ครั้นผลไม้นั้นล่วงไปจากปากแล้วก็ไม่ยอมกินผลไม้อื่นอีก ภิกษุนี้มีปฏิปทาเหมือนนกขลุนั้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ขลุปัจฉาภัตติโก แปลว่ามิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัต เป็นปกตินั้นชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติกังคะ

๘. อารัญญิกังคะ
การอยู่ในป่าเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า อารัญญิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ชื่อว่า อารัญญิกังคะ

๙. รุกขมูลิกังคะ
การอยู่ ณ ที่โคนไม้ชื่อว่า รุกขมูล การอยู่ ณ ที่โคนไม้นั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า รุกขมูลิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ ณ ที่โคนไม้เป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ ณ ที่โคนไม้เป็นปกติ ชื่อว่า รุกขมูลกังคะ

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ
การอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า อัพโภกาสิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ชื่อว่า อัพโภกาสิกังคะ

๑๑. โสสานิกังคะ
การอยู่ในป่าช้าเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า โสสานิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ชื่อว่า โสสานิกังคะ

๑๒. ยถาสันถติกังคะ
เสนาสนะที่จัดแจงไว้อย่างไรนั่นเทียว ชื่อว่า ยถาสันถตะ คำนี้เป็นชื่อของเสนาสนะที่สงฆ์มอบให้แต่แรกด้วยคำว่า เสนาสนะนี้ถึงแก่ท่าน การอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้อย่างนั้น เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า ยถาสันถติโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ยถาสันถติกังคะ

๑๓. เนสัชชิกังคะ
การห้ามอิริยาบถนอนเสียแล้วอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า เนสัชซิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกตินั้น ชื่อว่า เนสัชชิกังคะ

อรรถาธิบายธุตั้งคะ
ก็แหละ ธุดงค์ทั้งหมดนั้นนั่นเที่ยวเป็น องค์ แห่งภิกษุผู้ซึ่งได้ชื่อว่า ธุระ เพราะเป็นผู้มีกิเลส (คือตัณหาและอุปาทาน) อันกำจัดแล้ว ด้วยเจตนาเป็นเครื่องสมาทานนั้น ๆ ฉะนั้นจึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง ญาณอันได้โวหารว่า ธุระ เพราะเป็นเครื่องกำจัดกิเลส เป็นเหตุแห่งการสมาทานเหล่านั้น ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง การสมาทานเหล่านั้น ชื่อว่า ธุระ เพราะเป็นเครื่องกำจัดซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึกด้วย เป็นเหตุแห่งสัมมาปฏิบัติด้วย เพราะฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตั้งคะ นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น โดยอรรถวิเคราะห์เป็นประการแรกเพียงเท่านี้

วินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้น
ก็แหละ ธุดงค์หมดทั้ง ๑๓ ประการนั่นแล มีเจตนาเครื่องสมาทานเป็นลักษณะข้อนี้สมดังที่ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่สมาทานได้แก่บุคคล เครื่องสมาทานได้แก่ธรรม คือจิตและเจตสิก เจตนาเป็นเครื่องสมาทานอันใด อันนั้นเป็นตัวธุดงค์ สิ่งที่ถูกห้ามได้แก่วัตถุ และธุดงค์ทั้งหมดนั่นแล” มีการกำจัดความละโมบเป็นรส มีการปราศจากความละโมบเป็นอาการปรากฏ มีอริยธรรมเช่นความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น เป็นปทัฏฐาน คือเป็นเหตุใกล้ นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการนี้ โดยลักษณะเป็นต้นเพียงเท่านี้

วินิจฉัยโดยการสมาทานเป็นต้น
ก็แหละ ในอาการ ๕ อย่างมีโดยการสมาทานและกรรมวิธีเป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ ธุดงค์ ๑๓ ประการนั่นแล
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระชนม์อยู่ ก็พึงสมาทานเอาในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั่นเทียว,
เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว จึงสมาทานเอาในสำนักของพระมหาสาวก,
เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพ,
เมื่อพระอรหันตขีณาสพไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระอนาคามี,
เมื่อพระอนาคามีไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระสกทาคามี,
เมื่อพระสกทาคามีไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระโสดาบัน,
เมื่อพระโสดาบันไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก ๓,
เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฎก ๓ ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก ๒,
เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฏก ๒ ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก ๑,
เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฎก ๑ ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง,
เมื่อท่านผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านอรรถกถาจารย์,
เมื่อท่านอรรถกถาจารย์ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงธุดงค์,
แม้เมื่อท่านผู้ทรงธุดงค์ก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็จงปัดกวาดลานพระเจดีย์ให้สะอาดแล้วนั่งยอง ทำเป็นเหมือนกล่าวสมาทานเอาอยู่ในสำนักของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเถิด

อีกประการหนึ่ง แม้จะสมาทานเอาด้วยตนเองก็ใช้ได้ในข้อนี้ บรรดาพระเถระสองพี่น้องที่วัดเจติยบรรพต จึงยกเอาเรื่องของพระเถระผู้พี่มาเป็นตัวอย่าง เพราะท่านเป็นผู้มีความมักน้อยในธุดงค์ ที่วินิจฉัยมาแล้วนี้ เป็นสาธารณกถาทั่วไปแก่ธุดงค์ทั้งปวง




วิกิ

ผลการค้นหา