ธรรมเป็นเหตุให้ปาริสุทธิศีล ๕ สำเร็จ

ธรรมเป็นเหตุให้ปาริสุทธิศีล ๕ สำเร็จ

🔅 ๑. ศรัทธาเป็นเหตุให้ปาติโมกขสังวรศีลสำเร็จ 
ในศีล ๕ อย่างดังที่พรรณนามาแล้วนี้ ปาติโมกขสังวรศีล อันโยคีบุคคลพึงให้สำเร็จด้วยศรัทธา จริงอยู่ ปาติโมกขสังวรศีลนั้น ชื่อว่า มีศรัทธาเป็นเหตุให้สำเร็จ เพราะการบัญญัติสิกขาบทเป็นสิ่งที่เกินวิสัยของพระสาวก ก็ในข้อนี้ มีการทรงห้ามการขอบัญญัติสิกขาบทเป็นตัวอย่าง เพราะเหตุนั้น อันโยคีบุคคลพึงสมาทานเอาสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้แล้วอย่างไม่ให้มีเศษเหลือ ไม่กระทำความอาลัยแม้ในชีวิต พึงทำปาติโมกขสังวรศีลนี้ให้สำเร็จเป็นอย่างดีด้วยศรัทธาเถิด สมด้วยพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า :- พวกเธอจงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก มีความเคารพศีล ตามรักษาศีล ในกาลทุกเมื่อ เหมือนนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง เหมือนมารดารักษาบุตรที่รัก เหมือนคนตาเอกรักษาหน่วยตาข้างเดียว ฉะนั้นเถิด แม้ตรัสไว้อย่างอื่นอีกว่า “มหาสมุทรมีความดำรงอยู่เป็นธรรมดา ไม่ไหลล้นฝั่งไป แม้ฉันใด ปหาราทะ สาวกทั้งหลายของเราก็เหมือนอย่างนั้น ไม่ล่วงข้ามสิกขาบท ที่เราบัญญัติไว้แล้วสำหรับสาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต” ก็แหละในอรรถกถาธิบายนี้ นักศึกษาจึงเล่าเรื่องทั้งหลายของพวกพระเถระที่ถูกพวกโจรมัดไว้ในดงประกอบด้วย ดังนี้

เรื่องพระเถระผู้ถูกโจรมัด
ได้ยินว่า โจรทั้งหลายมัดพระเถระด้วยเครือหญ้านาง ให้นอนอยู่ในดงชื่อมหาวัตตนี พระเถระได้เจริญวิปัสสนาตลอด ๗ วัน ทั้ง ๆ ที่นอนอยู่นั่นเทียว ได้บรรลุพระอนาคามิผลแล้ว ถึงซึ่งมรณภาพไปในดงนั่นเอง แล้วไปบังเกิดในพรหมโลก ยังมีพระเถระรูปอื่น ๆ อีก ในตัมพปัณณทวีป (ประเทศลังกา) ถูกพวกโจร เอาเถาหัวด้วนมัดให้นอนอยู่เมื่อไฟป่าลามมา ท่านก็หาได้ตัดเถาวัลย์ไม่ เริ่มเจริญวิปัสสนาได้สำเร็จเป็น 🔎พระอรหันต์สมสีสี ปรินิพพานแล้ว พระอภยเถระผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ทีฆนิกาย พร้อมด้วยภิกษุห้าร้อยรูปมาเห็นเข้า ได้ทำฌาปนกิจศพของพระเถระนั้นแล้วให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้มีศรัทธาแม้อื่น เมื่อจะชำระปาติโมกขสังวรศีลให้บริสุทธิ์ จึงยอมสละแม้กระทั่งชีวิตโดยแท้ ไม่พึงทำลายปาติโมกขสังวรศีล อันพระโลกนาถเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว

🔅 ๒. สติเป็นเหตุให้อินทรียสังวรศีลสำเร็จ 
อนึ่ง ปาติโมกขสังวรศีล อันโยคีบุคคลพึงให้สำเร็จด้วย ศรัทธา ฉันใด อินทรียสังวรศีล อันโยคีบุคคลก็พึงให้สำเร็จด้วย สติ ฉันนั้น จริงอยู่ อินทรียสังวรศีลนั้นชื่อว่า มีสติเป็นเหตุให้สำเร็จ เพราะอินทรีย์ทั้งหลายที่ตั้งมั่นอยู่ด้วยสติแล้ว เป็นสภาพอันบาปธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นจะพึงรั่วไหลเข้าไปมิได้ เพราะเหตุนั้น อันโยคีบุคคลพึงระลึกถึง🔎พระอาทิตตปริยายสูตรโดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุทั้งหลายจักขุนทรีย์ อินทรีย์คือ จักษุถูกทิ่มแทงแล้วด้วยซี่เหล็กที่เผาอย่างร้อนลุกโซนมีแสงโชติช่วงอยู่ยังนับว่าประเสริฐ ส่วนการยึดถือนิมิต โดยอนุพยัญชนะในรูปทั้งหลายอันจะพึงรู้ด้วยจักษุ ไม่ประเสริฐเลย ๆ " ดังนี้แล้ว เมื่อวิญญาณเกิดทางจักษุทวารเป็นต้น ในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นพึงกั้นความยึดถือซึ่งนิมิตเป็นต้น ที่บาปธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้น จะพึงรั่วไหลเข้าไป พึงทำอินทรียสังวรศีลนี้ให้สำเร็จเป็นอย่างดีด้วย สติ อันไม่หลงลืมเถิด ก็แหละ เมื่ออินทรียสังวรศีลนี้อันภิกษุไม่ทำให้สำเร็จแล้วด้วยประการดังกล่าวมา แม้ปาติโมกขสังวรศีลก็พลอยเป็นอันตั้งอยู่ไม่นานดำรงอยู่ไม่นานไปด้วย เหมือนข้าวกล้าที่เขาไม่ได้จัดการล้อมรั้ว ฉะนั้น อนึ่ง ภิกษุผู้ไม่ทำให้อินทรียสังวรศีลสำเร็จนี้ ย่อมจะถูกพวกโจรคือกิเลสปล้นเอาได้ เหมือนบ้านที่เปิดประตูทิ้งไว้ย่อมจะถูกพวกโจรขโมยเอาได้ฉะนั้น อนึ่ง ราคะย่อมจะรั่วไหลไปสู่จิตของภิกษุนั้นได้ เหมือนฝนรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉะนั้น สมด้วยพระพุทธวจนะที่ตรัสไว้ว่า :- จงรักษาอินทรีย์ ที่รูป, เสียง, กลิ่น, รสและผัสสะ ทั้งหลาย เพราะว่า ทวารเหล่านี้ถูกเปิดทิ้งไว้ไม่รักษา ย่อมจะถูกโจรคือกิเลสปล้นเอา เหมือนพวกโจรปล้นบ้าน ฉะนั้น ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมจะรั่วไหลไปสู่จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว ฉันนั้นๆ

แต่เมื่ออินทรียสังวรศีลนั้นอันภิกษุทำให้สำเร็จแล้วแม้ปาติโมกขสังวรศีลก็พลอยเป็นอันตั้งอยู่ได้นานดำรงอยู่ได้นานไปด้วย เปรียบเหมือนข้าวกล้าที่เขาจัดการล้อมรั้วดีแล้วฉะนั้น อนึ่ง ภิกษุผู้ทำให้อินทรียสังวรศีลสำเร็จแล้วนี้ ย่อมจะไม่ถูกพวกโจร คือกิเลสปล้นเอาได้ เปรียบเหมือนบ้านที่ปิดประตูดีแล้ว พวกโจรทั้งหลายก็ขโมยไม่ได้ ฉะนั้น อนึ่ง ราคะย่อมจะรั่วไหลไปสู่จิตของภิกษุนั้นไม่ได้ เหมือนฝนรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ฉะนั้น สมด้วยพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า :- จงรักษาอินทรีย์ ที่รูป, เสียง, กลิ่น, รสและผัสสะ ทั้งหลาย เพราะว่า ทวารเหล่านี้ที่ปิดแล้วระวังดีแล้ว อันพวกโจรคือกิเลส ปล้นไม่ได้ เหมือนพวกโจรปล้นบ้านที่ปิดประตูดีแล้วไม่ได้ ฉะนั้น ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด ราคะย่อมรั่วไหลเข้าไปสู่จิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น

ก็แหละ พระธรรมเทศนานี้ นับเป็นพระธรรมเทศนาชั้นอุกฤษฎ์อย่างยิ่ง ขึ้นชื่อว่าจิตนี้นั้นเป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นอันโยคีบุคคลพึงบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้วด้วยมนสิการถึงอสุภกัมมัฏฐาน แล้วจึงทำให้อินทรียสังวรศีลสำเร็จ เหมือนอย่างพระวังคีสเถระผู้บวชไม่นานเถิด

เรื่องพระวังคีสเถระ
ผู้บวชไม่นาน
ได้ยินว่า เมื่อพระวังคีสเถระผู้บวชแล้วไม่นาน กำลังเดินบิณฑบาตไปนั้นความกำหนัดเกิดขึ้นแก่ท่านเพราะได้เห็นสตรีคนหนึ่ง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียนพระอานนท์เถระว่า กระผมถูกไฟคือกามราคะเผาเข้าแล้ว จิตของกระผมถูกเผาจนเกรียม สาธุ ท่านผู้โคตมโคตร ขอท่านได้กรุณาโปรดบอกอุบายเครื่องดับไฟให้ด้วย

พระอานันทเถระได้กล่าวแนะนำว่า 
จิตของเธอถูกเผาเกรียมเพราะสัญญาวิปลาสเธอจงเว้นสุภนิมิตอันประกอบด้วยความกำหนัดเสีย จงอบรมจิตด้วยอสุภกัมมัฏฐาน ทำให้ตั้งมั่นด้วยดี มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เธอจงพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายโดยเป็นอื่น โดยเป็นทุกข์ และโดยมิใช่ตน จงทำความกำหนัดอันยิ่งใหญ่ให้ดับไปเสีย จงอย่าได้มีความเร่าร้อนต่อไปเลย พระวังคีสเถระบรรเทาความกำหนัดได้แล้ว ก็เที่ยวบิณฑบาตต่อไป

อีกประการหนึ่ง อันภิกษุผู้บำเพ็ญอินทรียสังวรศีล จึงเป็นเหมือนพระจิตตคุตตเถระ ผู้อยู่ในถ้ำใหญ่ชื่อกรัณฑกะ และพระมหามิตตเถระผู้อยู่ในมหาวิหารชื่อโจรกะ

เรื่องพระจิตตคุตตเถระผู้อยู่ในถ้ำ
ได้ยินว่า ในถ้ำใหญ่กรัณฑกะ ได้มีจิตรกรรมเกี่ยวกับเรื่องเสด็จออกทรงผนวชของพระพุทธเจ้าทั้งหลายถึง ๗ พระองค์ เป็นสิ่งที่น่าจับใจ ภิกษุเป็นจำนวนมากพากันเที่ยวจาริกชมเสนาสนะ มองเห็นจิตรกรรมแล้ว เรียนพระเถระว่า “จิตรกรรมเป็นสิ่งที่น่าจับใจมาก ขอรับ” พระเถระพูดว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ฉันอยู่ในถ้ำเกินกว่าหกสิบปีมาแล้ว ไม่ทราบดอกว่ามีจิตรกรรมหรือไม่มี อาศัยพวกเธอผู้มีตาจึงทราบในวันนี้เดี๋ยวนี้เอง” ได้ยินว่า พระเถระถึงจะอยู่ตลอดกาลเท่านั้น ก็ไม่เคยลืมตาขึ้นมองดูถ้ำเลย อนึ่ง ตรงที่ปากถ้ำของพระเถระนั้น ได้มีต้นกากะทิงใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แม้ต้นไม้นั้นพระเถระก็ไม่เคยมองขึ้นดูเลย ครั้นเห็นเกสรร่วงลงมาที่พื้นดินตามลำดับปี จึงทราบว่าต้นไม้นั้นบาน

พระราชาทรงสดับคุณสมบัติของพระเถระแล้ว มีพระราชประสงค์เพื่อจะทรงนมัสการ จึงได้ทรงส่งราชบุรุษไปนิมนต์ถึง ๓ ครั้ง ครั้นพระเถระไม่มา จึงทรงรับสั่งให้ผูกกันของสตรีผู้มีลูกอ่อนทั้งหลายในบ้านนั้น แล้วประทับตราพระราชลัญจกรไว้ได้มีพระราชโองการว่า “ทารกทั้งหลายอย่าได้ดื่มน้ำนม ตลอดเวลาที่พระเถระยังไม่มา” พระเถระจึงได้มาสู่หมู่บ้านใหญ่ เพราะความเอ็นดูแก่ทารกทั้งหลาย พระราชาทรงทราบแล้ว ทรงรับสั่งให้พาไปในพระราชวังว่า “พนาย พวกเธอจงพาพระเถระเข้าไปฉันจักรับศีล” ครั้นทรงนมัสการทรงให้ฉันเสร็จแล้ว ทรงมีพระราชดำรัสว่า “พระคุณเจ้าวันนี้ยังไม่มีโอกาส พรุ่งนี้หม่อมฉันจึงจักรับศีล” ครั้นแล้วทรงรับบาตรพระเถระเสด็จตามส่งไปหน่อยหนึ่งแล้วพร้อมด้วยพระราชเทวีทรงนมัสการแล้วเสด็จกลับ พระราชาจะทรงไหว้ก็ช่าง พระราชเทวีจะทรงไหว้ก็ช่าง พระเถระคงถวายพระพรว่า “ขอพระมหาราชาจงทรงพระเกษมสำราญเถิด” เป็นทำนองนี้ล่วงไปถึง ๗ วัน พวกภิกษุจึงเรียนถามว่า “ท่านขอรับ เมื่อพระราชาทรงไหว้อยู่ก็ดี เมื่อพระราชเทวีทรงไหว้อยู่ก็ดี ทำไมท่านจึงถวายพระพรเพียงอย่างเดียวว่า ขอพระมหาราชาจงทรงพระเกษมสำราญเถิด” พระเถระตอบว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ฉันไม่ได้ทำความกำหนดแยกว่า พระราชาหรือพระราชเทวี” โดยล่วงไปได้หนึ่งสัปดาห์ พระราชาทรงดำริว่า การที่พระเถระอยู่ ณ ที่นี้ เป็นความลำบาก” จึงทรงพระกรุณาโปรดปล่อยไปพระเถระไปถึงถ้ำใหญ่กรัณฑกะ ได้ขึ้นสู่ที่จงกรมในส่วนแห่งราตรี เทวดาที่สิงอยู่ต้นกากะทิงได้ยืนถือประทีปด้ามให้อยู่ ครั้งนั้นกัมมัฏฐานของท่านได้ปรากฏบริสุทธิ์ยิ่งนัก พระเถระดีใจว่า “วันนี้ทำไหมหนอ กัมมัฏฐานของเราจึงปรากฏชัดเสียเหลือเกิน” แล้วทำภูเขาให้สะเทือนสะท้านไปทั้งลูก ได้บรรลุพระอรหัตแล้วในลำดับแห่งมัชฌิมยาม เพราะฉะนั้น แม้กุลบุตรอื่น ๆ ผู้ใคร่ต่อประโยชน์ของตน ไม่พึงเป็นผู้มีหน่วยตาล่อกแลก เหมือนลิงในป่าเหมือนมฤคาตกใจตื่นในวนา และเหมือนทารกาอ่อนสะดุ้งกลัว พึงทอดจักษุ จึงแลดูชั่วแอก อย่าพึ่งไปสู่อำนาจของจิตอันมีปกติหลุกหลิกเหมือนลิงในป่า

เรื่องพระมหามิตตเถระ
ผู้อยู่ในมหาวิหาร
ฝ่ายมารดาของพระมหามิตตเถระ ได้เกิดเป็นโรคฝีมีพิษขึ้น แม้ธิดาของท่านก็บวชในสำนักของภิกษุณีทั้งหลาย ท่านจึงพูดกับธิดาว่า “แม่ ! ไปเถอะ จงไปสำนักของพี่ชายเรียนถึงภาวะที่แม่ไม่สบายแล้วนำเอายามา” นางได้ไปกราบเรียนพี่ชายแล้วพระเถระพูดว่า “ฉันไม่รู้ที่จะเก็บยาทั้งหลายมียารากไม้เป็นต้นมาปรุงให้เป็นเภสัชได้ ก็แต่ว่า ฉันจักบอกยาให้แก่เธอว่า “นับจำเดิมตั้งแต่บวชมา ฉันไม่เคยทำลาย
อินทรีย์ทั้งหลายแลดูรูปอันเป็นวิสภาคด้วยจิตอันประกอบด้วยโลภะเลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสบายจงมีแก่โยมมารดาของฉัน” เธอจงไปแล้วกล่าวคำนี้ พลางลูบร่างกายให้แก่โยมมารดาไปด้วย” ภิกษุณีนั้นไปเรียนข้อความนี้แก่มารดาแล้วได้กระทำตามพระเถระแนะนำทุกประการ ฝีของอุบาสิกาได้ฝ่อ อันตรธานหายไปเหมือนก้อนฟองน้ำในทันทีทันใดนั้นนั่นแล

มารดาของพระเถระนั้นลุกขึ้นมา เปล่งวาจาแสดง
ถึงความดีใจว่า “ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ทำไมจะไม่พึงทรงลูบศีรษะของภิกษุผู้เช่นบุตรของเราด้วยพระหัตถ์อันวิจิตรไปด้วยลายตาข่ายเล่า” เพราะฉะนั้น แม้บุคคลอื่นซึ่งถือตนว่าเป็นกุลบุตรบวชในศาสนาแล้ว จึงดำรงอยู่ในอินทรียสังวรศีลอันประเสริฐเหมือนอย่างพระมหามิตตเถระนั่นเถิด

🔅 ๓. วิริยะเป็นเหตุให้อาชีวปาริสุทธิศีลสำเร็จ
อนึ่ง อินทรียสังวรศีล อันโยคีบุคคลพึงให้สำเร็จด้วยสติ ฉันใด อาชีวปาริสุทธิศีล อันโยคีบุคคลพึงให้สำเร็จด้วยวิริยะ ฉันนั้น จริงอยู่ อาชีวปาริสุทธิศีลนั้นชื่อว่า มีวีริยะเป็นเหตุให้สำเร็จ เพราะวีริยะที่ปรารภโดยชอบแล้วเป็นการประหานมิจฉาอาชีวะ เพราะฉะนั้น อันภิกษุพึงละอเนสนาคือการแสวงหาอันไม่สมควรอันไม่เหมาะสมแล้ว เสพอยู่ซึ่งปัจจัยทั้งหลายอันเกิดขึ้นโดยความบริสุทธิ์เท่านั้น หลีกเว้นอยู่ซึ่งปัจจัยทั้งหลายอันเกิดขึ้นโดยไม่บริสุทธิ์ เหมือนหลีกเว้นอสรพิษทั้งหลาย จึงทำอาชีวปาริสุทธิศีลนี้ให้สำเร็จด้วยวิริยะ ด้วยการแสวงหาโดยชอบมีการเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้นเถิด

ในปัจจัย ๒ อย่างนั้น สำหรับภิกษุผู้ไม่ได้ถือธุดงค์ ปัจจัยทั้งหลายที่เกิดจากสงฆ์จากคณะและจากสำนักของคฤหัสถ์ทั้งหลายผู้เลื่อมใสโดยคุณทั้งหลายของภิกษุนั้นมีการแสดงธรรมเป็นต้น ชื่อว่า ปัจจัยอันเกิดขึ้นโดยความบริสุทธิ์ ส่วนปัจจัยที่เกิดจากการบิณฑบาตเป็นต้น ชื่อว่า เกิดขึ้นโดยความบริสุทธิ์อย่างยิ่งนั่นเทียว สำหรับภิกษุผู้ถือธุดงค์ ปัจจัยทั้งหลายที่เกิดจากการเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้น และที่เกิดจากสำนักของผู้เลื่อมใสในธุดงค์คุณของภิกษุนั้นโดยอนุโลมแก่ธุดงคนิยม ชื่อว่า ปัจจัยอันเกิดขึ้นโดยความบริสุทธิ์ อนึ่ง เมื่อสมอดองด้วยมูตรเน่าและมธุรเภสัช ๔ อย่าง เกิดขึ้นเพื่อบำบัดพยาธิชนิดหนึ่ง ภิกษุนั้นคิดว่า “แม้เพื่อนพรหมจรรย์อื่น ๆ จักฉันมธุรเภสัช ๔” ดังนี้แล้ว จึงฉันแต่ชิ้นแห่งสมอเท่านั้น การสมาทานธุดงค์ของเธอจัดว่าเป็นการสมควร จริงอยู่ ภิกษุนี้เรียกได้ว่าเป็นภิกษุผู้ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ชั้นอุดม อนึ่ง ในบรรดาปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้นนี้นั้น สำหรับภิกษุผู้ชำระอาชีวะให้บริสุทธิ์รูปใดรูปหนึ่ง นิมิต, โอภาส, ปริกถาและวิญญัติ ย่อมไม่ควรในจีวรและบิณฑบาต ส่วนภิกษุผู้ไม่ถือธุดงค์ นิมิต, โอภาสและปริกถาย่อมควร ในเสนาสนะ, ในนิมิต, โอภาสและปริกถานั้น มีอรรถาธิบายดังนี้

เมื่อภิกษุกำลังทำการปราบพื้น
เป็นต้น เพื่อสร้างเสนาสนะมีพวกคฤหัสถ์ถามว่าจะสร้างอะไร ขอรับ ใครจะเป็นผู้สร้าง ? ให้คำตอบว่า ยังไม่มีใคร ดังนี้ก็ดี หรือแม้การกระทำนิมิตอย่างอื่นใดเห็นปานฉะนี้ ชื่อว่า นิมิต ภิกษุถามว่า “อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พวกท่านอยู่ที่ไหน ?” เมื่อเขาบอกว่า “พวกกระผมอยู่ที่ปราสาท ขอรับ” ภิกษุพูดว่า “อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ก็ปราสาทย่อมไม่สมควรแก่ภิกษุทั้งหลาย” ดังนี้ก็ดี ก็หรือแม้การกระทำโอภาสอย่างอื่นใดเห็นปานฉะนี้ ชื่อว่า โอภาส การพูดว่า “เสนาสนะของภิกษุสงฆ์คับแคบ” ดังนี้ก็ดี แหละหรือแม้การกล่าวโดยปริยายอย่างอื่นใดเห็นปานฉะนี้ ชื่อว่า ปริกถา ในปัจจยเภสัชสมควรแม้ทุก ๆ ประการ แต่ครั้นโรคหายแล้วจะฉันเภสัชที่เกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนั้น ย่อมไม่ควร ในอธิการแห่งเภสัชนี้นั้น อาจารย์ผู้ทรงพระวินัยทั้งหลายกล่าวไว้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงประทานประตูไว้ให้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงสมควร” ส่วนพวกอาจารย์ผู้ชำนาญพระสูตรกล่าวไว้อย่างเด็ดขาดว่า “ถึงแม้จะไม่เป็นอาบัติก็จริง แต่ทำอาชีวะให้เสียหาย เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควร” ก็แหละ ภิกษุใด ไม่ยอมกระทำนิมิต,โอภาส,ปริกถาและวิญญัติ ทั้ง ๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแล้ว อาศัยคุณมีความมักน้อยเป็นต้นเท่านั้น แม้ถึงความจะสิ้นชีวิตปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า ก็คงเสพปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยเว้นจากการแสวงหาโดยไม่สมควรมีโอภาสเป็นต้นนั่นเทียว ภิกษุนี้ เรียกได้ว่า ผู้มีความประพฤติขัดเกลาชั้นยอด แม้ทำนองเดียวกับพระสารีปุตตเถระ

เรื่องพระสารีปุตตเถระผู้ต้องอาพาธ

ได้ยินว่า สมัยหนึ่งท่านพระสารีปุตตเถระนั้นจะเพิ่มพูนความสงัด จึงพร้อมกับท่านพระมหาโมคคัลลานเถระไปพักอยู่ในป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่ง ท่านพระสารีปุตตเถระนั้นได้เกิดอาพาธลมเสียดท้องขึ้น มันได้ทำความทุกข์อย่างหนักให้เกิดแก่ท่าน พระมหาโมคคัลลานเถระไปยังที่อุปัฏฐากของท่านในเวลาเย็น เห็นพระเถระนอนอยู่ สอบถามซึ่งพฤติการณ์นั้นแล้วเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ครั้งก่อนท่านหายด้วยเภสัชอะไร” พระเถระสารีปุตตะเรียนบอกว่า “ท่าน เมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ มารดาของผมได้ให้ข้าวปายาสหุงด้วยน้ำนมล้วน ๆ ประสมกับเนยใสน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด ผมได้หายโรคเพราะข้าวปายาสนั้น” ฝ่ายท่านพระมหาโมคคัลลานเถระนั้นเรียนว่า “เอาเถอะท่าน ถ้าบุญของกระผมหรือบุญของท่านมีอยู่ พรุ่งนี้เราจักต้องได้อย่างแน่นอน” ก็แหละ ยังมีเทวดาที่สิงอยู่บนต้นไม้ท้ายที่จงกรม ได้ยินพระเถระทั้งสองสนทนากันเช่นนั้น จึงคิดว่า “พรุ่งนี้เราจะบันดาลให้ข้าวปายาสเกิดขึ้นแก่พระผู้เป็นเจ้า” ทันใดนั้นได้ไปยังตระกูลอุปัฏฐากของพระเถระ เข้าสิงร่างกายบุตรคนโต บันดาลให้เกิดความดิ้นรนอยู่ ลำดับนั้นเทวดาจึงได้กล่าวกะพวกญาติ ๆ ของบุตรคนโตนั้น ซึ่งมาประชุมกันหมายจะเยียวยารักษาว่า “ถ้าพวกท่านรับจะจัดข้าวปายาสเห็นปานฉะนี้ถวายแด่พระเถระในวันพรุ่งนี้ ฉันจึงจักปล่อยมัน”

พวกญาติเหล่านั้นรับว่า “แม้ถึงท่านไม่บอก พวกเรา
ก็ถวายภักษาหารแก่พระเถระทั้งหลายเป็นการประจำอยู่แล้ว” ครั้นถึงวันที่สองได้พากันจัดข้าวปายาสเห็นปานดังนั้นไปถวายแล้ว พระมหาโมคคัลลานะมาถึงแต่เช้าตรู่เรียนว่า “ท่านขอรับ นิมนต์คอยอยู่ ณ ที่นี้แหละ จนกว่ากระผมไปบิณฑบาตกลับมา” แล้วก็เข้าไปบ้าน พวกมนุษย์เหล่านั้นรับบาตรของพระเถระใส่ให้เต็มด้วยข้าวปายาส มีประการดังกล่าวแล้วจึงถวายไป พระเถระแสดงอาการที่จะไป พวกมนุษย์เหล่านั้นเรียนว่า “นิมนต์ท่านฉันเถิด ขอรับ พวกกระผมจักถวายข้าวปายาสแม้อื่นอีก” ครั้นให้พระเถระฉันเสร็จแล้ว ได้ถวายไปอีกจนเต็มบาตร พระเถระไปแล้วน้อมข้าวปายาสเข้าไปพร้อมกับพูดว่า “ท่านสารีปุตตะนิมนต์ฉันเสียเถอะ” ฝ่ายพระสารีปุตตเถระเห็นข้าวปายาสนั้นแล้วพิเคราะห์ดูว่า “ข้าวปายาสเป็นที่น่าพึงใจยิ่งนักเกิดขึ้นมาได้อย่างไรหนอ”

ครั้นเห็นมูลเหตุเกิดของข้าวปายาสนั้นแล้วจึงพูดว่า “ท่านโมคคัลลานะ 
เอาไปเสียเถิด บิณฑบาต ไม่ควรแก่อันจะบริโภค” ฝ่ายท่านพระมหาโมคคัลลานเถระแม้แต่จะคิดว่า “พระสารีปุตตะไม่ยอมฉันบิณฑบาตที่คนอย่างเรานำมาถวายก็ไม่มี” ด้วยคำพูดเพียงคำเดียวเท่านั้น ก็รีบคว้าจับบาตรที่ขอบปากไปเทคว่ำลง ณ ส่วนข้างหนึ่ง อาพาธของพระเถระได้หายไปพร้อมกับข้าวปายาสจรดพื้นดิน จำเดิมแต่นั้นมาตลอดเวลา ๔๕ พรรษา อาพาธก็มิได้เกิดขึ้นอีกเลย ด้วยเหตุนั้น พระสารีปุตตเถระจึงกล่าวกับพระมหาโมคคัลลานเถระว่า “ท่านโมคคัลลานะ ข้าวปายาสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยวจีวิญญัติ เป็นสิ่งไม่สมควรเพื่อจะฉัน ถึงแม้ไส้จะไหลออกมาเที่ยวเพ่นพ่านอยู่ที่พื้นดินก็ตาม” แหละได้เปล่งคำอุทานดังนี้ว่า :- “ถ้าเราจะพึงฉันข้าวมธุปายาส อันเกิดขึ้นเพราะเปล่งวจีวิญญัติไซร้ อาชีวะของเราก็จะพึงถูกบัณฑิตครหา แม้ว่าไส้ของเราจะไหลออกมาเที่ยวเพ่นพ่านอยู่ข้างนอกก็ตาม เรายอมเอาชีวิตเข้าแลก จะไม่พึงทำลายอาชีวะเป็นอันขาด เราทำจิตของเราให้รื่นรมย์ เราหลีกเว้นอเนสนาคือการแสวงหาอันไม่สมควร และเราจักไม่กระทำอเนสนาที่พระพุทธองค์ทรงรังเกียจแล้ว”

อนึ่ง ในอธิการแห่งอาชีวปาริสุทธิศีลนี้ นักศึกษาจึงเล่าเรื่องของพระอัมพขาทุกมหาติสสเถระซึ่งอยู่ประจำ ณ จิรคุมพวิหารประกอบด้วย นักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบาย แม้ในทุก ๆ บท ดังที่ได้อรรถาธิบายมานี้ “นักพรตผู้มีวิจารณญาณ บวชแล้วด้วยศรัทธา แม้แต่คิดก็อย่าให้เกิดในอเนสนา พึงชำระอาชีวะให้บริสุทธิ์เถิด”

🔅 ๔. ปัญญาเป็นเหตุให้ปัจจยสันนิสสิตศีลสำเร็จ
อนึ่ง อาชีวปาริสุทธิศีล อันโยคีบุคคลพึงให้สำเร็จด้วย วิริยะ ฉันใด ปัจจยสันนิสสตศีล อันโยคีบุคคลพึงให้สำเร็จด้วย ปัญญา ฉันนั้น จริงอยู่ ปัจจยสันนิสสิตศีลนั้น ชื่อว่ามีปัญญาเป็นเหตุให้สำเร็จ เพราะผู้มีปัญญาจึงจะสามารถมองเห็นโทษและอานิสงส์ของปัจจัยทั้งหลายได้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงละความกำหนัดยินดีในปัจจัยแล้ว พึงพิจารณาปัจจัยทั้งหลายอันเกิดขึ้นโดยธรรมสม่ำเสมอ ด้วยวิธีดังที่ได้พรรณนามาแล้วจึงบริโภค จึงทำปัจจยสันนิสสตศีลนี้ให้สำเร็จด้วยปัญญาเถิด การพิจารณาปัจจัยทั้งหลายในปัจจยสันนิสสตศีลนั้นมี ๒ อย่าง คือ
    พิจารณาในเวลารับ ๑
    พิจารณาในเวลาบริโภค ๑

อธิบายว่า ปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้นที่ซึ่ง
ได้พิจารณาด้วยสามารถแห่งความเป็นธาตุหรือความเป็นของปฏิกูลแม้ในเวลารับแล้วเก็บไว้ เมื่อภิกษุบริโภคเลยจากเวลารับนั้นไป การบริโภคก็หาโทษมิได้เลย การบริโภคแม้ในเวลาบริโภคก็หาโทษมิได้เหมือนกัน



วิกิ

ผลการค้นหา