๓.๖ ข้อเสีย หรือจุดบกพร่องของกามสุข

ความเอร็ดอร่อยสนุกสนานหวานชื่นที่คนปรารถนา กามอำนวยให้เพียงชั่วครู่ยามในเวลาที่เสพ ไม่มีความจิรังยั่งยืน ไม่ให้ความสุขที่เต็มอิ่มแท้จริง เมื่อเสพนานเข้าก็เกิดความเบื่อหน่าย ต้องเปลี่ยนอารมณ์อยู่เรื่อยๆ ดังพุทธพจน์

“ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ไม่มีในโลก” (รัฐปาลสูตร)

ในเวลาที่ไม่ได้เสพ รวมถึงเมื่อกามสุขจางคลายหายลับล่วงผ่านไปแล้ว กลับเหลือความเจ็บปวดชอกช้ำ เสียดายหวนหาอาลัยทุกข์ทรมานประทับลงอย่างแน่นแฟ้น ความลำบากทุกข์ยากในการแสวงหา ระวังรักษากามวัตถุไว้เสพเสวย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการวิวาท แย่งชิง จนไปถึงสงครามเข่นฆ่ากัน ครั้นประกอบการทุจริตแล้ว ตายไปก็ยังได้รับโทษ คือ ความทรมานในอบาย ทั้งนี้ก็เพราะสาเหตุจากกาม



ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา คำว่า “กาม” โดยปกติจะใช้ในความหมายกว้าง คือหมายถึง ความอยากในสิ่งเสพทางประสาทสัมผัสทางกาย ๕ ประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้ใช้ในความหมายแคบดังที่ใช้ใน ศีล ๕ ข้อ ๓ อันเจาะจงเฉพาะการเสพเมถุน ท่านที่บรรลุความสุขประณีตอย่างสูงแล้ว หลายท่านก็ยังดำเนินชีวิตโดยเสพเสวยสุขควบกันไปทั้งสองอย่าง (เสพเสวยกามอย่างรู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง) จึงมีทางเลือกในการเสวยความสุขมากขึ้น เมื่อประสบความทุกข์ก็มีทางบรรเทาพิษภัยของกิเลสโดยไม่ต้องถูกบีบบังคับให้พึ่งกามสุขเพียงอย่างเดียว คือ มีความสุขฝ่ายนิรามิสเป็นทางเลือกและทางออก (นิสสรณะ)

ผู้ปฏิบัติถูกต้องต่อกามสุข ย่อมก้าวหน้าไปสู่สุขที่ประณีตได้ง่ายขึ้น
เพราะกามสุขที่บริหารจัดการได้ดี ก็จะเป็นฐานที่ค้ำจุนสนับสนุนในการพัฒนาตนให้ก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไป เมื่อประสบสุขประณีตแล้ว สุขประณีตนั้นก็กลับเป็นเครื่องช่วยควบคุมการแสวงหาและการเสพกามสุข ให้อยู่ในขอบเขตแห่งความถูกต้องดีงามยิ่งขึ้นไปอีก เพราะบุคคลผู้นั้น มีหลักประกันในด้านความสุขสำหรับตนเองแล้ว และเห็นคุณค่าของสุขประณีตที่สูงกว่า ครั้นบุคคลนั้นบรรลุภูมิธรรมสูงยิ่งขึ้นไปอีก ประสบสุขประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ในที่สุดก็จะไม่วกเวียนมาหากามสุขอันเป็นสุขระดับล่างอีกเลย




วิกิ

ผลการค้นหา