ประเด็นเรื่องความรักกับคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น เราๆท่านๆอาจได้ยินได้ฟังกัน หรือจำกันได้ติดหู ในประโยคที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ซึ่งเป็นข้อความบางส่วนจากพระพุทธพจน์ในวิสาขาสูตร จากสำนวนที่ค่อนข้างรวบรัดตัดตอนนี้ทำให้บางครั้งอาจเกิดทัศนคติต่อความรักในเชิงลบ หรือมองว่าความรักเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งทัศนคติดังกล่าวนี้ ถูกต้องเพียงบางส่วน บทความนี้จึงมุ่งหวังให้เกิดความกระจ่างในประเด็นเรื่องของความรัก ในทัศนะของพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นตามแนวทางที่ครูอาจารย์ได้เคยชี้แนะเอาไว้แล้ว
ความรักที่เกิดจากตัณหา ราคะ ย่อมเป็นความเกิดพร้อมของเหตุแห่งทุกข์ ความรักด้วยแรงจูงของกิเลสนั้น ท่านมีศัพท์เฉพาะว่า “สิเนหะ” (เสน่หา ในภาษาไทย) “เปมะ” หรือ “ปิย” เป็นต้น นอกจากนี้คำว่า “หึง” นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินว่าแผลงมาจากบาลีว่า “หิงสะ” ที่แปลว่า เบียดเบียน (ตรงข้ามกับ อหิงสา ไม่เบียดเบียน) ความรักใดที่มาพร้อมกับความหึงหวง ความรักนั้นย่อมมีมูลเหตุมาจากกิเลส ส่วนความรักแบบเมตตา กรุณา เป็นความเกิดพร้อมของเหตุแห่งสุข อาจกล่าวได้ว่า เป็นด้านดีของความรัก
ประเด็นเรื่องความรักนี้ จริงๆแล้วไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก แต่ที่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของการใช้คำศัพท์ ทั้ง ตัณหา ราคะ สิเนหะ กับ เมตตา กรุณา ภาษาไทยเราเรียกคลุมๆกันไปหมดว่า เป็นความรัก ทั้งๆที่อย่างหนึ่งเป็นอกุศลธรรม อีกอย่างหนึ่งเป็นกุศลธรรม ดังนั้น จึงควรสังเกตความแตกต่าง และแยกออกจากกันให้ชัดเจน โดย แบ่งเป็นความรัก ๒ แบบ
แบบที่ ๑ ความรักด้วยตัณหา : คือ ความรักเพราะอยากได้ มีความเห็นแก่ตัวเป็นสมุทฐาน มองผู้นั้นเป็นเครื่องสนองความสุข สนองความต้องการของตนเอง เมื่อผิดหวังไม่ได้ดังใจตนก็เกิดความรู้สึกกระทบกระทั่งรุนแรง หรือถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความต้องการให้แก่ตนได้ ความรักก็อาจเปลี่ยนเป็นความเบื่อหน่าย รังเกียจ ความรักแบบนี้แท้จริงแล้วคือการคิดจะได้จะเอาจากผู้อื่น ไม่ใช่ความดีงามอะไร ผู้ที่มีความรักด้วยกิเลสตัณหามากย่อมเป็นการสะสมเหตุแห่งความทุกข์ทางใจเอาไว้มากด้วย
แบบที่ ๒ ความรักอันประเสริฐ : คือ ความรักด้วยพรหมวิหาร ๔ อยู่ในฝ่ายของฉันทะ เป็นกุศลธรรมล้วนๆ เป็นความรักที่ทำให้การให้กลายเป็นความสุข เป็นความรักเพื่อตัวเขา โดยไม่ต้องเอาตัวเราเข้าไปรอรับผลตอบแทนใดๆ เพราะความที่ไม่ต้องมีตัวเราเข้าไปรับกระทบใดๆนี่แหละ ผู้มีความรักอย่างประเสริฐจึงมีความสุข ความเบิกบานในจิตใจอย่างยิ่ง ยามเขาปกติก็บันเทิงอยู่ด้วยเมตตาอยากให้เขามีความสุข เมื่อเขาทุกข์ร้อนก็ชุ่มด้วยกรุณาอยากให้พ้นจากความทุกข์ เมื่อเขาเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นก็พลอยยินดีด้วยมุทิตาจิต แม้ยามพ้นวิสัยที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรได้ ก็วางใจสงบด้วยอุเบกขา ผู้ที่มีความรักด้วยเมตตากรุณามากย่อมเป็นการสะสมเหตุแห่งความสุขทางใจเอาไว้มากด้วย
การแยกออกเป็นสองแบบนั้น ไม่ใช่ว่าความรักแต่ละกรณีจะจัดลงในแบบใดแบบหนึ่งได้โดยสิ้นเชิง ปกติแล้วก็มักจะประกอบด้วยส่วนผสมทั้งสองด้านนี้เจือปนกันอยู่ เช่น ความรักของพ่อแม่ ก็มักจะมีส่วนของความรักอันประเสริฐด้วยพรหมวิหารมาก ความรักของหนุ่มสาว ก็มักจะมีส่วนของความรักด้วยตัณหามาก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พึงทราบว่าผลสำเร็จที่เป็นอุดมคติของความรักอันประเสริฐ หรือการเจริญพรหมวิหารธรรม คือ มีความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งปวงอย่างเสมอกัน โดยไม่แบ่งแยกหมู่คณะ มิตร ศัตรู ดี เลว ดังพุทธพจน์
“มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น”
อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ความรักแบบหนุ่มสาว ที่ว่าเป็นความรักเพราะอยากได้ ประกอบด้วยกิเลสตัณหามาก นำมาซึ่งความทุกข์นั้น …มันก็นำมาซึ่งความสุข เป็นเหตุแห่งความสุขด้วยมิใช่หรือ?
ข้อนี้ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นว่า กามสุข (สุขจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) มันก็เป็นเหตุแห่งความสุขตามเหตุปัจจัยปกติของมัน เช่น รูปที่น่ารัก อาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ ธรรมชาติงดงาม เป็นต้น มันก็ให้ความสุขตามระดับของมันเช่นนั้น ไม่ว่าเราจะยือถือมันไว้ด้วยกิเลสตัณหาหรือไม่ก็ตาม (พระอรหันต์ยามว่างจากภาระกิจที่พึงกระทำก็ยังนิยมเข้าฌานเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันเป็นสุขที่เหนือกว่าสุขจากกามคุณ ๕ แม้ท่านไม่มี รูปราคะ และอรูปราคะแล้ว) ที่ว่าความรักของหนุ่มสาวก็นำมาซึ่งความสุขได้นั้น จึงเป็นความจริงในแง่ด้านหนึ่ง เพราะกามคุณ ๕ ก็ย่อมเป็นเหตุแห่งสุขตามระดับของมัน (กามสุข < ฌานสุข < นิพพานสุข) ประเด็นคือกิเลสตัณหานั้น เป็นส่วนโทษเป็นเหตุแห่งทุกข์ ความรักใดๆก็ตามที่เคยประกอบด้วยกิเลสตัณหามาก ผู้ฉลาดควรที่จะค่อยๆแทนที่ด้วยความรักแบบ เมตตา กรุณา เพื่อให้การเข้าไปเกี่ยวข้องกับสัตว์บุคคลทั้งหลาย เป็นทั้งเหตุแห่งสุขตามปกติธรรมดาของมันและเป็นเหตุแห่งสุขด้วยกุศลธรรมความปรารถนาดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ในขณะที่เป็นเหตุแห่งทุกข์เพียงเล็กน้อยตามระดับของกิเลสตัณหาที่เบาบางลง หรือแม้กระทั่งไปจนถึงเป้าหมายในอุดมคติคือ ปลอดกิเลส ปลอดทุกข์ มีแต่ความสุข
ในภาพรวมของเนื้อหา จะนำเสนอเรื่องราวความรักของบุคคลสำคัญในสมัยพุทธกาล ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา โดยจัดเป็นคู่ๆ เพื่อให้สามารถมองเห็นความแตกต่าง และเปรียบเทียบลักษณะของ “ความรัก” ที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ได้โดยสะดวก
🙏 ๑) นางวิสาขา กับ พระโพธิสัตว์ในอุรคชาดก (วิสาขาสูตร)
นางวิสาขาเกิดในตระกูลเศรษฐี แคว้นอังคะ เมื่อพระบรมศาสดาเสร็จมาสู่เมือง ได้ตามผู้เป็นปู่ไปฟังธรรม และบรรลุเป็นโสดาบันบุคคล ในขณะที่มีอายุเพียง ๗ ขวบ กาลต่อมาท่านได้รับยกย่องว่าเป็นมหาอุบาสิกาผู้เลิศในด้านการถวายทาน เป็นผู้สร้างวัดบุพพาราม และเป็นผู้ริเริ่มการถวายผ้าอาบน้ำฝน
ครั้งหนึ่ง… นางวิสาขา ได้สูญเสียหลานอันเป็นที่รักยิ่งไป ด้วยเหตุเพราะหลานสาวผู้นี้เป็นเด็กหญิงที่มีความเพียบพร้อมทั้งกิริยามารยาทอันน่ารักน่าชมและคุณธรรมอันดีงาม เธอเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่พึงกระทำแก่ ภิกษุ ภิกษุณี เมื่อนางวิสาขาไม่อยู่บ้าน จึงเป็นที่รักที่พึงใจของนางวิสาขาอย่างยิ่ง เมื่อหลานสาวผู้นี้ป่วยจนถึงแก่อสัญกรรม ท่านจึงบังเกิดความโศกเศร้าเสียใจ ร้องให้น้ำตานองหน้าเข้ามากราบทูลพระพุทธเจ้า เพื่อประสงค์จะฟังธรรมเพื่อคลายความทุกข์โศก มีใจความตอนหนึ่งว่า
“ดูกรนางวิสาขา ท่านพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถีหรือ”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หม่อมฉันพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถี เจ้าค่ะ”
“ดูกรนางวิสาขา มนุษย์ในพระนครสาวัตถีมากเพียงไร ทำกาละ (ตาย) อยู่ทุกวันๆ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในพระนครสาวัตถี ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ๑ คนบ้าง ทำกาละอยู่ทุกวันๆ”
“ดูกรนางวิสาขา ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านพึงเป็นผู้มีผ้าเปียกหรือมีผมเปียกเป็นบางครั้งบางคราวหรือหนอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ใช่อย่างนั้น เจ้าค่ะ พอเพียงแล้วด้วยบุตรและหลานมากเพียงนั้นแก่หม่อมฉัน”
“ดูกรนางวิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒๐ … ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส” “ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักเมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไรและความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ในโลกไหนๆ”
ทั้งนี้ เมื่อนางวิสาขามีความรักอันประกอบด้วยกิเลสตัณหา หรืออาจเรียกว่า รักด้วยเสน่หาต่อหลาน ในขณะเดียวกันท่านย่อมมีความรักในลักษณะของกุศลธรรม คือ เมตตา กรุณา ต่อผู้เป็นหลานอยู่มากมายด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย จะเห็นว่าแม้แต่ผู้ที่มีคุณธรรมสูงถึงเพียงนี้ ยังมีความรักอันเจือด้วยกิเลสต่อหลานของตน (ในขณะเดียวกันท่านย่อมมีความรักด้วย เมตตา กรุณา ต่อผู้เป็นหลานอยู่มากมายเช่นกัน) ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ย่อมจะมีความรักด้วยเสน่หาเช่นนี้อยู่มากเช่นเดียวกัน หากแต่ความเข้าใจว่าความรักชนิดนี้เป็นของมีโทษ ความรักด้วยเมตตากรุณา เป็นของมีคุณประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ควรศึกษาเพื่อความผาสุขยิ่งในชีวิตและเพื่อประดับปัญญา
มีทัศนคติหนึ่งในสังคม ที่พบบ่อยแต่ไม่สู้จะถูกต้องนัก กล่าวคือ แม้แต่ความรักที่เจือด้วยกิเลสตัณหา ก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดี (สุดโต่งไปคนละทางกับกลุ่มที่มองว่าความรักนั้นไม่ดีทั้งหมด) ยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติเช่นว่า ถ้าผู้ที่เป็นที่รักล่วงลับจากไป แล้วเราไม่โศกเศร้าเสียใจ อาจถูกมองว่าเป็นคนมีจิตใจหยาบไม่มีเมตตากรุณา ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ถ้ามีเมตตากรุณาแท้ๆโดยไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มีความยึดติดเสน่หาในตัวบุคคลผู้นั้นเจือปน จะไม่โศกเศร้าเสียใจเลย
ด้วยปรารถนาจะให้ความกระจ่าง 🔎คัมภีร์วิสุทธิมรรคจึงได้แสดงวิบัติ (ความผิดพลาด) ของพรหมวิหารธรรมแต่ละข้อไว้ ดังนี้
เมตตา : มีราคะ และสิเนหะเป็นวิบัติ
กรุณา : มีความรู้สึกพลอยโศกเศร้าเป็นวิบัติ
มุทิตา : มีความรู้สึกพลอยยินดีด้วยกิเลสตนเป็นวิบัติ
อุเบกขา : มีความเฉยโง่เป็นวิบัติ
ดังจะเห็นตัวอย่างเพิ่มเติมจากพระสูตรบทถัดไป
พ่อค้าผู้หนึ่ง บุตรได้ตายลงมีความโศกเศร้ายิ่ง พระบรมศาสดาได้ตรัสต่อพ่อค้าผู้นั้นว่า
“ชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกทำลายเป็นธรรมดา ย่อมจะแตกทำลายไป ชื่อว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา ย่อมจะพินาศไป ก็แหละสิ่งที่มีการแตกและการพินาศไปนั้น จะมีแก่คนผู้เดียวเท่านั้นก็หามิได้ จะมีในหมู่บ้านเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ ชื่อว่าสภาวธรรม คือ ความไม่ตายย่อมไม่มีในภพทั้งสาม ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ แม้สังขารอย่างหนึ่งซึ่งสามารถดำรงอยู่โดยภาวะนั้นเท่านั้น ชื่อว่าเที่ยงยั่งยืนย่อมไม่มี สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา สังขารทั้งหลายมีการแตกสลายไปเป็นธรรมดา แม้โบราณบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อบุตรตายแล้ว คิดว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา พินาศไปแล้ว จึงไม่เศร้าโศกเลย”
และได้ทรงแสดงเรื่องในอดีตเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ความโดยย่อดังนี้
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ทำอาชีพกสิกรรม ครอบครัวประกอบด้วย ภรรยา บุตร ธิดา ลูกสะใภ้ และคนรับใช้ พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่บุคคลดังกล่าวเรื่อง ศีล ความไม่ประมาท และมรณานุสติ ชนเหล่านั้นรับไปปฏิบัติเป็นอันดีเรื่อยมา กาลล่วงมาวันหนึ่ง บุตรของพระโพธิสัตว์ถูกงูพิษกัดเสียชีวิตลง เมื่อทุกคนทราบข่าว ก็มิได้ร้องให้คร่ำครวญ เพราะเป็นผู้เจริญมรณานุสติไว้ดีแล้ว ท้าวสักกะเห็นดังนี้ก็บังเกิดความสนใจใคร่รู้ จึงเสด็จลงมาตรัสถาม
เขาคงจะเป็นบุตรผู้ไม่เป็นที่รักของท่าน?
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เขาเป็นบุตรที่รักยิ่งของข้าพเจ้า บุตรละทิ้งร่างกายตนเหมือนงูลอกคราบ เมื่อเขาตายแล้วเขาย่อมไม่รับรู้ถึงความเสียใจของญาติ เพราะฉะนั้นการโศกเศร้าเสียใจจึงไม่มีประโยชน์ เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ภรรยาพระโพธิสัตว์กล่าวว่า ดิฉันไม่ได้เชิญให้เขามาเกิด เมื่อจะไปก็มิได้อนุญาต การโศกเศร้าจะมีประโยชน์อะไร เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ลูกสาวกล่าวว่า เมื่อพี่ชายตายแล้วดิฉันร้องให้เสียใจก็จะผ่ายผอม ญาติมิตรก็จะเสียใจยิ่งขึ้น ดิฉันจึงไม่โศกเศร้า เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ภรรยาของผู้ตายกล่าวว่า บุคคลร้องให้ถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเปรียบเสมือนเด็กร้องให้ขอพระจันทร์ในอากาศ จะพึงมีประโยชน์อันใด เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา คนรับใช้ของพระโพธิสัตว์กล่าวว่า ลูกเจ้านายของดิฉัน เป็นผู้เสมือนบุตรที่ดิฉันให้เจริญเติบโตในอก หม้อน้ำที่แตกแล้วเชื่อมให้สนิทอีกไม่ได้ ฉันใด การที่บุคคลมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ ฉันนั้น จะพึงมีประโยชน์อันใด เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา
ชนทั้ง ๕ เมื่อทราบข่าวการตายของบุตร มิได้มีอาการโศกเศร้า เป็นเพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่มีความรักต่อผู้ตายหรือ? โปรดพิจารณาข้อความที่พระโพธิสัตว์ตรัสตอบท้าวสักกะว่า เขาเป็นบุตรที่รักยิ่งของข้าพเจ้า แสดงว่าความรักที่ไม่ได้เป็นเหตุแห่งทุกข์มีอยู่ นั่นคือ ความรักด้วยเมตตา กรุณา มิใช้รักด้วย ตัณหา ราคะ สิเนหะ (อุรคชาดก)
🙏 ๒) พระสารีบุตร และพระอานนท์ (อุปปติสสะสูตร)
บทนี้เป็นภาษิตของพระสารีบุตรเถระเจ้า ซึ่งได้กล่าวแก่พระอานนท์และพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง โดยพระสารีบุตรได้กล่าวว่าความเศร้าโศก เสียใจ ร่ำให้ จะไม่เกิดแก่ตัวท่าน เพราะเหตุของการที่สิ่งใดๆในโลกเกิดความแปรผันไป ท่านพระอานนท์จึงถามว่า แม้ความแปรผันไปของพระบรมศาสดา ความเศร้าโศก เสียใจ ก็จะไม่บังเกิดขึ้นแก่ท่านหรือ พระสารีบุตรได้กล่าวตอบ ดังนี้
“ท่านผู้มีอายุ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสไม่พึงเกิดขึ้นแก่ผมเพราะความแปรผันเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดา แต่ผมมีความคิดว่า ‘ท่านผู้เจริญพระศาสดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีฤทธานุภาพมาก อันตรธานไปแล้ว ถ้าพระองค์พึงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย‘”
พระอานนท์ได้ฟังก็กล่าวยอมรับ เพราะเหตุที่พระสารีบุตรได้ถอนกิเลสทั้งหลายหมดสิ้นแล้ว
“จริงอย่างนั้น ท่านพระสารีบุตรได้ถอนอหังการ มมังการ และมานานุสัย หมดสิ้นมานานแล้ว เพราะฉะนั้น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงไม่เกิดขึ้นแก่ท่านพระสารีบุตร เพราะความแปรผันเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดา”
ถ้าจะพิจารณาว่า พระสารีบุตร มีความรัก ความปรารถนาดี ต่อพระพุทธเจ้าหรือไม่? พระสารีบุตร ท่านย่อมมีความรักและความปรารถนาดีต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง พิจารณาได้จากพระสูตรหลายๆบทที่ท่านกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ เช่น สาริปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖ ว่าด้วยพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ และในพระสูตรอื่นอีกหลายแห่ง แต่การที่ท่านไม่มีความโศกเศร้าเพราะเหตุแห่งความแปรผันของพระศาสดา ก็เพราะท่านไม่ได้มีความรักชนิดที่เจือด้วยกิเลสตัณหาในพระบรมศาสดา ต่างจากพระอานนท์ซึ่งสมัยนั้นท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล ดังจะได้พิจารณาต่อไป
หลังจากที่พระบรมศาสดาทรงปลงอายุสังขาร และจะปรินิพพานในไม่ช้า พระอานนท์เถระเจ้าได้เกิดความโศกเศร้าอย่างรุนแรง จนต้องปลีกตัวออกไปร้องไห้ เนื้อความในพระไตรปิฎก ส่วนหนึ่งบันทึกไว้ ดังนี้
“ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคลมีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถามพวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน พวกภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านอานนท์นั้น เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่าเรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย …”
จะเห็นว่าในเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า ท่านพระอานนท์เสียใจเนื่องจากตัวท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล (ขณะนั้นท่านดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล) ยังจำเป็นต้องศึกษาให้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่พระบรมศาสดากำลังจะปรินิพพานแล้ว ในกรณีนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระอานนท์ท่านปล่อยให้ความยึดติดด้วยกิเลสส่วนตัว มามีอิทธิพลต่อจิตใจ กล่าวคือ ท่านเกรงว่าเมื่อไม่มีพระบรมศาสดาชี้แนะแล้ว ตัวท่านจะเจริญขึ้นในธรรมได้อย่างไร ในที่นี้เทียบเข้ากันได้กับความรักแบบที่ ๑ คือ ความรักเพราะอยากได้บางสิ่งบางอย่างเพื่อตัวเอง
ทั้งนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาล่วงเกินหรือลบหลู่คุณธรรมของพระอานนท์ ตรงกันข้ามข้าพเจ้านับถือท่านเป็นอย่างยิ่งที่นอกจากมีความสามารถด้านต่างๆเป็นเลิศแล้ว (พระอานนท์ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ถึง ๕ ด้าน คือ มีสติเป็นเลิศ, มีความทรงจำเป็นเลิศ, มีความเพียรเป็นเลิศ, พหูสูต, ยอดพระพุทธอุปัฏฐาก) ยังถือเป็นผู้เสียสละตัวเองเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างหาผู้ใดจะเทียบได้ยาก พระบรมศาสดาเมื่อทราบว่าพระอานนท์มีความเศร้าโศกเสียใจ ได้ตรัสกับพระอานนท์ ดังนี้
“ดูกรอานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านาน เธอได้กระทำบุญไว้แล้ว อานนท์ จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน ฯ” (มหาปรินิพพานสูตร)
🙏 ๓) พระวักกลิ และภิกษุณีมารดาพระกุมารกัสสปะ
ประวัติของพระวักกลิ และพระกุมารกัสสปะ เป็นตัวอย่างของการมีความรักอย่างยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งนอกจากเป็นเหตุแห่งทุกข์แล้ว ในกรณีนี้ยังเป็นเหตุขัดขวางการเจริญขึ้นของกุศลธรรมด้วย ต่อเมื่อได้ปลดเปลื้องความยึดติดเสน่หาแล้ว ความเจริญในธรรมก็ก้าวรุดหน้าไปได้
พระวักกลิ
พระวักกลิเมื่อครั้งเป็นทารก เป็นผู้มีโรคภัยเบียดเบียนมาก มารดาจึงได้นำท่านมาถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อได้พึ่งพระพุทธคุณ ทารกวักกลิก็หายจากการเป็นผู้มีโรคภัยมาก จึงเป็นผู้ที่มีความใฝ่ใจ ลุ่มหลง ในพระบรมศาสดาอย่างมาก เมื่อพระองค์ทรงห่างไปเพียงครู่เดียวก็กระวนกระวาย เมื่อบวชเป็นภิกษุแล้ว พระวักกลิจึงเฝ้าติดตามพระพุทธเจ้าไปทุกหนแห่ง พระวักกลิเที่ยวติดตามชื่นชมรูปโฉมเรื่อยไป จนถึงวันหนึ่งพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
“ดูก่อนวักกลิ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการที่เธอต้องมาดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ วักกลิเอย ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ก็วักกลิเห็นธรรมอยู่ ก็ชื่อว่าเห็นเรา”
แต่พระวักกลิไม่อาจเข้าใจได้ เนื่องจากมีความยึดติดในรูปโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างรุนแรง พระองค์เมื่อประสงค์จะเปลื้องความยึดติดของพระวักกลิ วันหนึ่ง จึงได้ตรัสขับไล่พระวักกลิไปเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้น… พระวักกลิบังเกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรงขึ้นไปบนภูเขาหมายจะปลิดชีวิตตนเอง เมื่อไปถึงยอดเขา พระบรมศาสดาได้เนรมิตกายปรากฎให้เห็นและแสดงธรรมเรื่องความเกิด ความเสื่อม แห่งขันธ์ทั้งหลาย พระวักกลิจึงได้บรรลุอรหัตตผล ณ ที่นั้น
ภิกษุณีมารดาพระกุมารกัสสปะ
พระกุมารกัสสปะ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะผู้แสดงธรรมอันวิจิตรไพเราะ เป็นบุตรของภิกษุณีผู้ซึ่งตั้งครรภ์ในขณะบวช เมื่อครรภ์แก่ถูกพระเทวทัตขับไล่ให้ลาสิกขา นางไม่ยอมเนื่องจากอ้างว่าเมื่อบวชแล้วนางมิได้ละเมิดวินัยร้ายแรงใด พระพุทธเจ้าจึงให้พระอุบาลีชำระความ โดยมีนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้ช่วย ความจึงกระจ่างว่านางตั้งครรภ์ก่อนบวชเป็นภิกษุณีจริงๆ
เมื่อคลอดบุตรแล้วเลี้ยงดูบุตรชั่วระยะเวลาหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ขอรับไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ประทานนามว่า กัสสปะ แต่เพราะพระองค์ทรงชุบเลี้ยงประดุจราชกุมาร จึงเรียกกันว่า “กุมารกัสสปะ” …ครั้นกุมารกัสสปะเจริญวัยขึ้นทราบความเป็นมาของตน แล้ว เกิดความสลดใจในชะตาชีวิตจึงออกบวช และบรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา ฝ่ายนางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะ ตั้งแต่วันที่พระเจ้าปเสนทิโกศลรับเอาบุตรไปชุบเลี้ยงก็เศร้าโศกเสียใจเพราะความพลัดพรากจากบุตรผู้เป็นที่รักเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี แม้ต่อมาจะทราบว่าบุตรชายของนางบวชแล้วก็ตาม แต่นางก็ยังมิได้เห็นหน้าพระลูกชายเลย จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง นางได้พบพระกุมารกัสสปะกำลังออกเดินรับบิณฑบาตอยู่ ด้วยความดีใจสุดจะยับยั้ง นางได้ร้องเรียกขึ้นว่า “ลูก ลูก” แล้ววิ่งเข้าไปหาด้วยปรารถนาจะกอดพระลูกชายด้วยความคิดถึง แต่เพราะรีบร้อนเกินไป จึงได้สะดุดล้มลงตรงหน้า
พระกุมารกัสสปะคิดว่า “ถ้าหากว่าเราพูดกับมารดาด้วยถ้อยคำอันไพเราะแล้ว นางก็ยิ่งเกิดความสิเนหารักใคร่ในตัวเรามากยิ่งขึ้น และจะเป็นเหตุทำให้นางเสื่อมเสียโอกาสบรรลุอมตธรรมได้ ควรที่เราจะกล่าวคำพูดที่ทำให้นางหมดอาลัยในตัวเรา นางก็จะได้บรรลุอมตธรรม” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวแก่นางว่า “ท่านมัวทำอะไรอยู่ จึงตัดไม่ได้แม้กระทั่งความรัก”ถ้อยคำของพระกุมารกัสสปะทำให้นางรู้สึกน้อยใจเสียใจเป็นอย่างยิ่งพลางคิดว่า “เราร้องไห้เพราะคิดถึงลูกชายนานถึง ๑๒ ปี เมื่อพบลูกชายแล้วกลับถูกลูกชายพูดจาตัดเยื่อใยให้ต้องช้ำใจอีก” ด้วยความน้อยใจเช่นนี้ จึงตัดรักตัดอาลัย หมดความสิเนหาในตัวลูกชายอย่างสิ้นเชิง แล้วนางก็ได้ตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุอรหัตผลในวันนั้นนั่นเอง
สรุป
การมีความรักด้วยกิเลสตัณหามากย่อมเป็นการพอกพูนเหตุแห่งทุกข์มาก อีกทั้งยังมักเป็นเหตุขัดขวางการเจริญขึ้นของกุศลธรรม ส่วนความรักด้วยเมตตา กรุณา ย่อมเป็นการพอกพูนเหตุแห่งความสุข ด้วยประโยชน์และโทษที่ตรงข้ามกันดังนี้ จึงควรพัฒนาจิตใจ ให้เบาบางจากความรักที่เจือด้วยทุกข์ มาสู่ความรักแบบบริสุทธิ์ ที่มีแต่ความสุขความเบิกบาน มากขึ้นไปตามลำดับ