๓.๘ นิพพานสุข และบทลงท้าย

ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องหมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ในที่ใดๆ ภาวะใดๆ มีความสุข ก็ย่อมบัญญัติภาวะนั้นๆเข้าเป็นความสุข ความสุขสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือ “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือเป็นความสุขที่สูงสุด โดยมีลักษณะที่พอจะปรากฏออกมาให้พูดถึงได้ ก็คือ

เป็นสุขตลอดเวลา : ไม่ต้องหา เป็นคุณสมบัติประจำของชีวิต มีอยู่กับตัว
เป็นสุขอิสระ : ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ ตรงข้ามกับกามสุขที่เป็นสุขแบบพึ่งพาอาศัยสิ่งเสพอย่างเต็มที่
เป็นสุขล้วน : บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีทุกข์แฝงหรือค้างคาเหลืออยู่เลย

เมื่อมองที่ตัวสภาวะตามกฏไตรลักษณ์ (มองขั้นปรมัตถสัจจะ) สุขที่ยังเป็นเวทนา หรือสุขที่ยังอาศัยการเสวยอารมณ์ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะสุขเวทนาเป็นสังขารธรรม จึงย่อมมีความสิ้น สลาย จางหาย แปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา ดังทรงแสดงในพระสูตร

“พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา … พระดำรัสที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงอะไร”

“ดีละ ดีละ ภิกษุ เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ สมจริงดังคำที่เรากล่าวว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’

“คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลไม่เที่ยง ฯลฯ มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความแตกไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความดับไปเป็นธรรมดา ฯลฯ คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลมีความแปรผันเป็นธรรมดา” (รโหคตสูตร)

นิพพานเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับความสุขจากกามและฌาน เพราะในขณะที่ภาวะของกามและฌานสมาบัติ ยังเป็นภาวะแห่งการเข้าหา ยังต้องขึ้นต่ออารมณ์ แต่นิพพานเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง

ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออารมณ์นี้ เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เพราะไม่เคยประสบ ตัวอย่างที่จะเทียบก็ไม่มี แต่กระนั้นก็อาจพูดให้เห็นเค้าว่า ตามปกติ คนทั่วไปก็มีความสุขพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากความสุขจากการเสพรสอารมณ์ ได้แก่ ภาวะที่จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบาน ไม่มีความกังวลใจใดๆ เช่น ทำงานสำคัญเสร็จ, หายจากการป่วยหนัก, พ้นจากการเป็นหนี้ เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะจิตเช่นนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความสุขอยู่แล้วในตัว

ผู้ใดสามารถปล่อยวาง ละความติดใจพัวพันในภาวะเลิศล้ำของฌานสมาบัติได้ คือถอนความติดในกามมาได้ขั้นหนึ่งแล้ว ยังถอนความติดในฌานสมาบัติได้อีก ไม่มีความเกี่ยวเกาะติดพันใดๆเลย เขาก็จะถึงภาวะหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ นี้คือภาวะที่เรียกว่า นิพพาน ซึ่งเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง เบิกบาน แม้นิพพานจะเป็นสุข และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข แต่ผู้บรรลุนิพพานไม่ติดในความสุข ไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดเพลินนิพพาน ไม่ถือว่านี่คือนิพพานของเราด้วย แต่ถึงจะเป็นเช่นนี้ ผู้ประจักษ์แจ้งนิพพานแล้ว กลับเป็นผู้มีสิทธิหรือพร้อมที่จะเสวยความสุขชนิดก่อนๆทั้งหมดได้อย่างดีที่สุด โดยไม่มีพิษภัยอีกด้วย ทั้งนี้ ธรรมดาปรากฏเป็นของมันเองว่า ผู้ที่บรรลุนิพพานแล้วไม่เสพกามสุข เพราะไม่นึกอยากเสพ เขาได้ประสบสิ่งอื่นที่ดีกว่าจนไม่เห็นกามคุณนั้นมีคุณค่าที่เขาจะเกี่ยวข้องเสพเสวยแล้ว

การทำบุญหรือทำความดีในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา ว่าตามหลักแท้แล้ว ท่านไม่สอนให้มุ่งหาผลตอบแทนเป็นกามสุข เช่น ลาภ ยศ การไปเกิดในสวรรค์ เป็นต้น แต่ท่านสนับสนุนให้ทำความดีเพื่อขัดเกลาจิตใจตนเอง เพื่อลดละกิเลส ทำลายความสั่งสมก่อตัวของตัณหาเชื้อทุกข์ ทำให้ผู้ทำความดีนั้นประสบสุขประณีตที่ลึกซึ้งภายใน ซึ่งจะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ พัฒนาชีวิตก้าวสูงขึ้นไปในความสุขที่แท้จริงยั่งยืน โดยมีนิพพานสุขเป็นจุดหมายสุดท้าย ท่านจึงกล่าวแสดงภาวะของนิพพานอยู่บ่อยครั้งว่า คือ ความเป็นสุขที่ยอดเยี่ยม สุขยิ่งกว่านิพพานสุขไม่มี ตัวอย่างจากพระสูตรบางตอน เช่น

“กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ต้องมองนิพพานว่าเป็นสุข จึงจะเป็นทรรศนะที่ถูกต้อง ดังพุทธพจน์

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นไปไม่ได้, ข้อที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้, ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้” (นิพพานสูตร)

พระอรหันต์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ท่านเองก็ร่าเริงใจได้หมด แล้วก็พาคนอื่นให้รื่นรมย์ไปด้วย นี่เป็นเรื่องของความสามารถในการพัฒนาการมีความสุข การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าถูกทางแล้ว ความสุขก็จะเลื่อนขั้นพัฒนาไป

“ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม ไม่ว่าที่ดอน ท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้ เป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์” (คาถาธรรมบท อรหันตวรรค)

จะพูดว่า พระพุทธศาสนาคือระบบการพัฒนาความสุขก็ได้ จะพูดว่า กระบวนการกำจัดทุกข์ก็ได้ ทั้งหมดก็เป็นแง่ความหมายที่มาโยงถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระพุทธศาสนา จึงเป็นระบบการพัฒนาความสุข และเป็นศาสนาแห่งความสุข ตามนัยที่ได้กล่าวมาฉะนี้แล


จบการย่อความหนังสือพุทธธรรม ฉบับปรับขยาย


วิกิ

ผลการค้นหา