อธิบายอาชีวปาริสุทธิศีล

อธิบายอาชีวปาริสุทธิศีล

บัดนี้ จะอรรถาธิบายในอาชีวปาริสุทธิศีล ซึ่งตรัสไว้ในลำดับแห่ง 🔎อินทรียสังวรศีล ต่อไปดังนี้
คำว่า ด้วยอำนาจแห่งการล่วงละเมิดซึ่งสิกขาบท ๖ ประการ ซึ่งทรงบัญญัติไว้เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ อธิบายว่า ด้วยอำนาจการล่วงละเมิดสิกขาบท ๖ ประการเหล่านี้ ซึ่งทรงบัญญัติไว้อย่างนี้

๑. ภิกษุมีความปรารถนาลามก อันความอยากครอบงำแล้ว ย่อมพูดอวดอุตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยิ่ง   กว่าธรรมของมนุษย์ อันไม่มีจริงอันไม่เป็นจริง เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติปาราชิก
๒. ภิกษุทำการชักสื่อ (ให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน) เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
๓. ภิกษุพูดตู่ว่า ภิกษุใดอยู่ในวัดของท่าน ภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์ ดังนี้ เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ เมื่อยังยืนยันอยู่ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๔. ภิกษุไม่ได้ต้องอาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเพื่อตนมาฉัน เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
๕. ภิกษุณีไม่ได้ต้องอาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเพื่อตนมาฉัน เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
๖. ภิกษุไม่ได้ต้องอาพาธ ขอแกงหรือข้าวสุกเพื่อตนมาฉัน เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติทุกกฏ

บาปธรรม ๕ อย่างในพระบาลี 
ในปาปธรรม ๕ อย่าง มีพระบาลี ดังต่อไปนี้ว่า :

๑. ในบาปธรรมเหล่านั้น การหลอกลวง เป็นอย่างไร ?
การสยิ้วหน้า* กิริยาสยิ้วหน้า กิริยาหลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง ด้วยกุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย ๔ หรือด้วยการพูดกระซิบ หรือการสยิ้วหน้า กิริยาสยิ้วหน้า การหลอกลวง กิริยาหลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง คือการวางท่า การตั้งท่า การแต่งท่าแห่งอิริยาบถทั้ง ๔ อันใด ของภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญ ผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า การหลอกลวง
(* สยิ้วหน้า ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดแสดงความไม่พอใจหรือเบื่อหน่าย)
๒. ในบาปธรรมเหล่านั้น การพูดเลาะเล็ม เป็นอย่างไร ?
การพูดทัก การพูดอวด การพูดเอาใจ การพูดยกยอ การพูดยกยอให้หนักขึ้น การพูดผูกมัด การพูดผูกมัดให้หนักขึ้น การพูดยกตน การพูดยกตนให้หนักขึ้น การพูดให้รักอย่างพร่ำเพรื่อ การพูดลดตนลง การพูดเหมือนแกงถั่ว การพูดรับเป็นพี่เลี้ยงเด็กแก่คนอื่น ๆ อันใด ของภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญ ผู้มีความปรารถนาลามกผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า การพูดเลาะเล็ม
๓. ในบาปธรรมเหล่านั้น การกระทำนิมิต เป็นอย่างไร ?
การกระทำกายและวาจาเป็นนิมิต การกระทำนิมิต คำพูดเป็นปัจจัย คำพูดเป็นนัย การพูดกระซิบ การพูดเลียบเคียง แก่คนอื่น ๆ อันใด ของภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญผู้มีความปรารถนาลามกผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า การกระทำนิมิต
๔. ในบาปธรรมเหล่านั้น การด่าแช่ง เป็นอย่างไร ?
การพูดด่า การพูดข่ม การพูดครหา การพูดสาด การพูดสาดหนักขึ้น การพูดติเตียน การพูดติเดียนหนักขึ้น การพูดให้ร้าย การพูดให้ร้ายหนักขึ้น การนำโทษไปโพนทะนา การพูดให้โทษลับหลัง แก่คนอื่น ๆ อันใด ของภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญ ผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า การด่าแช่ง
๕. ในบาปธรรมเหล่านั้น การแสวงหาลาภด้วยลาภ เป็นอย่างไร ?
ภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญ ผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นำเอาอามิสที่ได้แล้วจากตระกูลนี้ไปที่ตระกูลโน้น หรือนำเอาอามิสที่ได้แล้วที่ตระกูลโน้นมาที่ตระกูลนี้ การเสาะหา การซอกหา การแสวงหา กิริยาเสาะหา กิริยาซอกหา กิริยาแสวงหา ซึ่งอามิสเห็นปานฉะนี้ อันใด นี้เรียกว่าการแสวงหาลาภด้วยลาภ

อธิบายความพระบาลี 
ก็แหละ อรรถาธิบายความแห่งพระบาลีนี้ นักศึกษาพึงทราบดังจะบรรยายต่อไปนี้ :

๑.ในกุหนนิเทศ

พึงทราบอรรถาธิบายในกุหนนิเทศเป็นประการแรกดังนี้
คำว่า ผู้อิงอาศัยลาภ
สักการะและความสรรเสริญ คือผู้อิงอาศัยคือปรารถนาลาภสักการะและชื่อเสียง
คำว่า ผู้มีความปรารถนาลามก คือมีความใคร่ที่จะแสดงถึงคุณอันไม่มีอยู่
คำว่า ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว คือผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว คือเข้าประทุษร้ายแล้ว

ต่อแต่นี้ไป โดยเหตุที่กุหนวัตถุ ๓ อย่างมาในคัมภีร์มหานิเทศ โดยแยกเป็นกุหนวัตถุคือการเสพปัจจัย, กุหนวัตถุคือการกระซิบและกุหนวัตถุคือการอาศัยอิริยาบถ ฉะนั้น เพื่อที่จะแสดงกุหนวัตถุแม้ ๓ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงปรารภคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ปฐจยปฏิเสวนสงขาเตน วา ที่แปลว่า ด้วยกุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย ๔ หรือการทำให้พิศวงด้วยการปฏิเสธ เพราะเป็นผู้อาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาลามก เมื่อถูกคหบดีทั้งหลายนิมนต์ด้วยปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ตนมีความต้องการปัจจัยนั้นอยู่ และด้วยหยั่งรู้ถึงคหบดีเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา ตั้งมั่นในตนแล้ว เมื่อเขาพูดว่า “โอ! พระผู้เป็นเจ้ามักน้อย ไม่ต้องการที่จะรับปัจจัยอะไร ๆ ถ้าหากว่า พระผู้เป็นเจ้าจะพึงรับปัจจัยอะไร ๆ แม้สักเล็กน้อยก็จะพึงเป็นอันเราทั้งหลายได้ดีแล้วหนอ” ดังนี้แล้ว จึงพากันน้อมปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้นที่ประณีต ๆ มาด้วยอุบายวิธีมีประการต่าง ๆ เธอจึงรับโดยทำให้รู้ความประสงค์ที่จะอนุเคราะห์เขาเหล่านั้นเท่านั้น ตั้งแต่นั้น ก็เป็นเหตุให้เขาน้อมนำมาด้วยปัจจัยทั้งหลายแม้เป็นเล่มเกวียน ๆ การทำให้พิศวงทำนองนี้ นักศึกษาพึงทราบว่าเป็นกุหนวัตถุ คือการแสร้งเสพปัจจัยประการหนึ่ง ในบรรดากุหนวัตถุ ๓ ประการนั้น สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในคัมภีร์มหานิเทศ

(ประการที่ ๑) กุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย
กุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย เป็นอย่างไร ?
ในศาสนานี้ คหบดีทั้งหลายนิมนต์ภิกษุด้วยจีวร, บิณฑบาต, เสนาสนะและคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้นเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว มีความต้องการจีวร, บิณฑบาต, เสนาสนะและคิลานปัจจยเภสัช บริขารอยู่ เพราะอาศัยความอยากได้ให้ยิ่งขึ้น จึงบอกปัดจีวร บอกปัดบิณฑบาต บอกปัดเสนาสนะ บอกปัดคิลานปัจจยเภสัชบริขาร เธอพรรณนาอย่างนี้ว่า “ประโยชน์
อะไรของสมณะด้วยจีวรที่มีค่ามากการที่สมณะพึงเก็บเอาผ้าที่เขาทิ้งแล้ว จากป่าช้าบ้าง จากกองหยากเยื่อบ้าง จากร้านตลาดบ้าง มาทำผ้าสังฆาฏิครอง นี้เป็นการสมควร ประโยชน์อะไรของสมณะกับบิณฑบาตที่มีค่ามาก การที่สมณะพึ่งสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยคำข้าวที่ทำให้เป็นก้อน ซึ่งได้มาด้วยภิกขาจารวัตร นี้เป็น การสมควร, ประโยชน์ อะไรของสมณะกับเสนาสนะที่มีค่ามาก การที่สมณะพึงอยู่โคนต้นไม้พึงอยู่ป่าช้าหรือ จึงอยู่กลางแจ้ง นี้เป็นการสมควร, ประโยชน์อะไรของสมณะกับคิลานปัจจยเภสัชบริขารอันมีค่ามาก การที่สมณะพึงทำยาด้วยน้ำมูตรเน่าหรือด้วยชิ้นส่วนแห่งผลสมอ นี้เป็นการสมควร”

อาศัยเหตุนั้น เธอจึงครองจีวรปอน ๆ ฉันบิณฑบาตเลว ๆ เสพ
เสนาสนะอย่างมัวหมอง เสพคิลานปัจจยเภสัชบริขารอย่างถูก ๆ คหบดีทั้งหลายจึงรู้จักเธอนั้นทำนองนี้ว่า “สมณะนี้ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร มีวาทะ กำจัดกิเลส” จึงนิมนต์เธอด้วยจีวร, บิณฑบาต, เสนาสนะและ
คิลานปัจจยเภสัชบริขาร เธอจึงสาธยาย ดังนี้ว่า “กุลบุตร ผู้มีศรัทธาย่อมจะประสบบุญเป็นอันมาก เพราะความพร้อมหน้าแห่งวัตถุ ๓ ประการ คือ
กุลบุตรผู้มีศรัทธา 
ประสบบุญเป็นอันมาก เพราะความพร้อมหน้าแห่งศรัทธา ๑
กุลบุตรผู้มีศรัทธาประสบ
บุญเป็นอันมาก เพราะความพร้อมหน้าแห่งเครื่องไทยธรรม ๑
กุลบุตรผู้มีศรัทธาประสบ
บุญเป็นอันมาก เพราะความพร้อมหน้าแห่งทักขิเณยยบุคคลทั้งหลาย ๑
ท่านทั้งหลาย
มีศรัทธานี้อยู่แล้ว เครื่องไทยธรรมก็มีอยู่ และอาตมาก็ เป็นปฏิคาหกด้วย ถ้าอาตมาจักไม่รับ ท่านทั้งหลายจักเป็นผู้เสื่อมจากบุญไปเสียด้วยอาการอย่างนี้ อาตมาไม่
ต้องการด้วยปัจจัยนี้ แต่ที่รับไว้ก็เพื่อจะอนุเคราะห์ท่านทั้งหลายเท่านั้น” อาศัยเหตุนั้นเธอจึงรับจีวรบ้าง บิณฑบาตบ้าง เสนาสนะบ้าง คิลานปัจจยเภสัชบริขารบ้างไว้อย่างละมาก ๆ การสยิ้วหน้า กิริยาสยิวหน้า การหลอกลวง กิริยาหลอกลวงภาวะที่หลอกลวง เห็นปานฉะนี้อันใด นี้เรียกว่า กุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย

(
ประการที่ ๒) กุหนวัตถุคือการพูดกระซิบ
อนึ่ง การทำให้เกิดพิศวงด้วยประการนั้น ๆ ด้วยวาจาที่แสดงถึงการได้บรรลุอุตริมนุสสธรรมของภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกนั่นแล นักศึกษาพึงทราบว่า กุหนวัตถุคือการพูดกระซิบ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :-
กุหนวัตถุคือการพูดกระซิบ เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว มีความต้องการความสรรเสริญ สำคัญว่า คนจักสรรเสริญเราด้วยอาการอย่างนี้ แล้วจึงพูดถ้อยคำอิงอาศัยอริยธรรม คือพูดว่า “ภิกษุใดครองจีวร เห็นปานฉะนี้ ภิกษุนั้นเป็นสมณะผู้มีศักดิ์ใหญ่” พูดว่า “ภิกษุใดใช้บาตร ใช้ถาดโลหะ ใช้กระบอกกรองน้ำ ใช้ผ้ากรองน้ำ ใช้กุญแจ สวมรองเท้า คาดประคตใช้สายโยกชนิดนี้ ๆ ภิกษุนั้นเป็นสมณะผู้มีศักดิ์ใหญ่” พูดว่า “พระอุปัชฌายะ พระอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมพระอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมพระอาจารย์ ภิกษุผู้เป็นมิตร เป็นเพื่อน เห็นเป็นเพื่อน คบเป็นสหาย เห็นปานฉะนี้ ๆ ของภิกษุใด, ภิกษุใดอยู่ในวิหาร ในโรงยาว ในปราสาท ในเรือนโล้น ในคูหา ในที่เร้น ในกระท่อม ในเรือนยอด ในป้อม ในโรงกลม ในศาลายาว ในโรงประชุม ในมณฑป และในรุกขมูลชนิดนี้ ๆ ภิกษุนั้น เป็นสมณะผู้มีศักดิ์ใหญ่”
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกนั้น ตีหน้ายู่ยี่อย่างยิ่ง สยิ้วหน้าอย่างหนัก หลอกลวงอย่างเจนจัด พูดเลาะเล็มอย่างคล่องแคล่ว ชอบสรรเสริญด้วยปาก ย่อมพูดถ้อยคำอันลึกซึ้ง เร้นลับ ละเอียด ปิดบัง ชั้นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง เช่นนั้นว่า สมณะนี้ได้วิหารสมาบัติอันสงบเห็นปานฉะนี้ การสยิ้วหน้า กิริยาสยิ้วหน้า การหลอกลวง กิริยาหลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานฉะนี้อันใด นี้เรียกว่า กุหนวัตถุคือการพูดกระซิบ

(ประการที่ ๓) กุหนวัตถุคืออิริยาบถ
อนึ่ง การทำให้พิศวงด้วยอิริยาบถที่กระทำเพื่อประสงค์สรรเสริญของภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกนั่นแล นักศึกษาพึงทราบว่า กุหนวัตถุที่อาศัยอิริยาบถเหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :-
กุหนวัตถุคืออิริยาบถ เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว มีความประสงค์ความสรรเสริญ สำคัญว่า คนจักสรรเสริญเราด้วยอาการอย่างนี้ แล้วประจงเดิน ประจงยืน ประจงนั่ง ประจงนอน ตั้งใจแล้วจึงเดิน ตั้งใจแล้วจึงยืน ตั้งใจแล้วจึงนั่ง ตั้งใจแล้วจึงนอน เดินทำเป็นเหมือนคนมีจิตตั้งมั่น นั่งทำเป็นเหมือนคนมีจิตตั้งมั่น นอนทำเป็นเหมือนคนมีจิตตั้งมั่น ทำเป็นเหมือนเข้าฌานต่อหน้าคน การสยิ้วหน้า กิริยาสยิ้วหน้า การหลอกลวง กิริยาหลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง คือการวางท่า การตั้งท่า การแต่งท่า แห่งอิริยาบถ เห็นปานฉะนี้ นี้เรียกว่า กุหนวัตถุคืออิริยาบถ


อธิบายศัพท์พระบาลี
ในบทเหล่านั้น
บทว่า ปจฺจยปฏิเสวนสงฺขาเตน แปลว่า ด้วยกุหนวัตถุที่
บัณฑิตกล่าวอย่างนี้ว่า การเสพปัจจัย อีกนัยหนึ่ง แปลว่า ด้วยกุหนวัตถุคือการเสพปัจจัย
บทว่า สามนฺตชปฺปิเตน แปลว่า ด้วยการพูดกระซิบ (พูดใกล้หู)
บทว่า 
อิริยาปถสฺส วา แปลว่า หรือ...แห่งอิริยาบถ ๔
บทว่า อฏฺฐปนา ความว่า การ
วางท่าไว้แต่ต้น หรือวางท่าไว้ด้วยความเอื้อเฟื้อ
บทว่า ฐปนา ได้แก่ อาการตั้งท่า
บทว่า สณฺฐปนา ได้แก่ การแต่งท่า อธิบายว่า การทำภาพให้เกิดความเลื่อมใส
บทว่า ภากุฏิกา คือการกระทำความสยิ้วหน้าโดยแสดงถึงภาวะแห่งผู้เคร่งเครียดด้วยความเพียร อธิบายว่า เป็นผู้มีหน้ายู่ยี่ การกระทำความสยิ้วหน้าเป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้นภิกษุนั้น ชื่อว่า ภากุฏิโก แปลว่า ผู้มีความสยิ้วหน้าเป็นปกติ ภาวะแห่งภิกษุผู้มีการกระทำความสยิ้วหน้าเป็นปกติ
ชื่อว่า ภากุฏิยํ แปลว่า ภาวะแห่ง
ภิกษุผู้มีการกระทำความสยิ้วหน้าเป็นปกติ
บทว่า กุหนา แปลว่า การหลอกลวง
คือการทำให้พิศวง กิริยาเป็นไปแห่งการหลอกลวง
ชื่อว่า กุหายนา แปลว่า กิริยาที่
หลอกลวง ภาวะแห่งบุคคลผู้หลอกลวง
ชื่อว่า กุหิตตฺตํ แปลว่า ภาวะของบุคคลผู้
หลอกลวง


๒. ในลปนานิเทศ

ใน ลปนานิเทศ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :-
การที่ภิกษุเห็นคนทั้งหลายพากันมาวัด แล้วรีบทักก่อนอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พากันมาเพื่อต้องการอะไรหรือ ? เพื่อจะนิมนต์ภิกษุทั้งหลายหรือ ? ถ้าเช่นนั้นเชิญกลับไปได้ อาตมาจะพาภิกษุทั้งหลายไปภายหลัง” ดังนี้ ชื่อว่า อาลปนา ที่แปลว่า การพูดทักก่อน อีกประการหนึ่ง การที่ภิกษุพูดเสนอตนเข้าไป ชักเข้าหาตนอย่างนี้ว่า “อาตมาชื่อติสสะ พระราชาทรงเลื่อมใสในอาตมา มหาอำมาตย์ของพระราชาโน้นและมหาอำมาตย์ของพระราชาโน้น ก็เลื่อมใสในอาตมา” ดังนี้ก็ชื่อว่า อาลปนา เมื่อภิกษุถูกถามแล้วพูดมีประการดังกล่าวมาแล้วนั่นแล ชื่อว่า ลปนา แปลว่า การพูดอวด การที่ภิกษุกลัวในอันที่คหบดีทั้งหลายจะหน่ายแหนง จึงพูดเอาใจให้โอกาสเสียเรื่อย ๆ ชื่อว่า สลฺลปนา แปลว่า การพูดเอาใจ การที่ภิกษุพูดยกให้สูงขึ้นอย่างนี้ว่า “ท่านกุฏุมพีก็ใหญ่ ท่านนายเรือใหญ่ ท่านทานบดีใหญ่” ดังนี้ชื่อว่า อุลฺลปนา แปลว่า การพูดยกยอ การพูดยกให้สูงขึ้นโดยส่วนอย่างสิ้นเชิง ชื่อว่า สมุลฺลปนา แปลว่า การยกยอให้หนักขึ้น การพูดผูกมัด คือพูดผูกพัน ให้หนัก ๆ ขึ้นอย่างนี้ว่า “อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย เมื่อก่อน ในกาลเช่นนี้พวกท่านย่อมถวายนวทาน (ให้สิ่งของแรกเกิดขึ้นใหม่ ๆ) แต่บัดนี้ ทำไมจึง ไม่ถวายเล่า” ทั้งนี้จนกว่าอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายจะกล่าวรับรองซึ่งคำมีอาทิว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พวกกระผมจักถวายอยู่ แต่ยังไม่ได้โอกาส” ดังนี้ ชื่อว่า อุนฺนหนา แปลว่า การพูดผูกมัด

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นอ้อยในมือแล้วถามว่า “เอามาจากไหน อุบาสก ?” 
เมื่อเขาตอบว่า “เอามาจากไร่อ้อย ขอรับ” จึงถามต่อไปว่า “อ้อยที่ไร่นั้นหวานไหม ?” เมื่อเขาตอบว่า “ต้องเคี้ยวดูจึงจะทราบขอรับ” ภิกษุพูดต่อไปว่า “อุบาสก การที่ภิกษุจะพูดว่า ท่านทั้งหลายจงถวายอ้อยแก่ภิกษุ ดังนี้ หาสมควรไม่” การพูดผูกพันแม้ของภิกษุผู้ปฏิเสธอยู่เห็นปานฉะนี้นั้นชื่อว่า อุนฺนหนา การพูดผูกมัดบ่อย ๆ โดยส่วนอย่างสิ้นเชิง ชื่อว่า สมุนฺนหนา แปลว่า พูดผูกมัดหนักขึ้น

บทว่า อุกฺกาจนา ความว่า การพูดยกตนอย่างนี้ว่า “ตระกูลนี้รู้จักแต่อาตมา
เท่านั้น ถ้าไทยธรรมเกิดขึ้นในตระกูลนี้ เขาก็ถวายแต่อาตมาเท่านั้น” ดังนี้
ชื่อว่า 
อุกกาจนา แปลว่า การพูดยกตน อธิบายว่า พูดเชิดตน ก็แหละ ในบทนี้ นักศึกษาจึงนำเอาเรื่องของนางเตลกันทริกามาเล่าประกอบด้วย อนึ่ง การพูดยกตนบ่อย ๆ โดยส่วนอย่างสิ้นเชิง
ชื่อว่า สมุกฺกาจนา แปลว่า การพูดยกตนให้หนักขึ้น 
การพูดให้เป็นที่รักอย่างพร่ำเพรื่อไปอย่างเดียว โดยไม่แลเหลียวถึงความสมควรแก่สัจจะสมควรแก่ธรรมหรือไม่
ชื่อว่า อนุปิยภาณิตา แปลว่า การพูดให้รักอย่างพร่ำเพรื่อ 
ความประพฤติตนต่ำ คือประพฤติตั้งตนไว้ต่ำ
ชื่อว่า จาฏกมยตา การพูดลดตนเอง

บทว่า มุคฺคสูปฺยตา แปลว่า ความเป็นผู้เช่นกับแกงถั่ว อธิบายว่า เมื่อเขาแกงถั่วอยู่ 
ถั่วบางเมล็ดเท่านั้นจะไม่สุก ส่วนที่เหลือสุกหมด ฉันใด ในถ้อยคำของบุคคลใด มีความจริงเป็นบางคำเท่านั้น ส่วนคำที่เหลือเป็นคำพล่อย ๆ บุคคลนี้เรียกว่า มุคฺคสูโปฺย แปลว่า คนเหมือนแกงถั่ว ฉันนั้น ภาวะแห่งบุคคลผู้เหมือนแกงถั่วนั้นชื่อว่า มุคฺคสูปฺยตา แปลว่า ความเป็นคนพูดเหมือนแกงถั่ว บทว่า ปาริภฏฺยตา แปลว่า ความเป็นผู้รับเป็นพี่เลี้ยง อธิบายว่า ภิกษุใดเลี้ยง คืออุ้มเด็กในตระกูลทั้งหลายด้วยสะเอวบ้าง ด้วยคอบ้าง เหมือนอย่างหญิงพี่เลี้ยง การงานของภิกษุผู้เลี้ยงเด็กนั้นชื่อว่า ปาริภฏฺยํ ภาวะของการงานของภิกษุผู้เลี้ยงเด็ก ชื่อว่า ปาริภฏฺยตา แปลว่า ภาวะแห่งการงานของภิกษุผู้เลี้ยงเด็ก


๓. ในเนมิตติกตานิเทศ

ใน เนมิตติกตานิเทศ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ : การกระทำทางกายและทางวาจาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้คนอื่น ๆ หยั่งรู้ในอันจะถวายปัจจัย ชื่อว่า นิมิตฺต การเห็นคนทั้งหลายถือของเคี้ยวเดินผ่านไปแล้วกระทำนิมิตโดยนัยมีอาทิว่า “พวกท่านได้ของเคี้ยวอะไร” ดังนี้ ชื่อว่า นิมิตฺตกมฺม แปลว่า การกระทำนิมิต การพูดประกอบด้วยปัจจัย ชื่อว่า โอภาส แปลว่า การประกาศความปรารถนาของตน การที่ภิกษุเห็นพวกเด็กเลี้ยงโคแล้วถามว่า ลูกโคเหล่านี้เป็นลูกโคนมหรือลูกโคเปรียง เมื่อเขาตอบว่า ลูกโคนม ขอรับ ดังนี้แล้ว จึงสั่งให้เด็กเหล่านั้น บอกแก่บิดามารดาให้ถวายน้ำนม โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ลูกโคเหล่านี้จะไม่ใช่ลูกโคนม ถ้าเป็นลูกโคนมพวกภิกษุก็จะได้น้ำนมกันบ้าง ดังนี้ชื่อว่า โอภาสกมฺม แปลว่า การกระทำโอภาส การพูดกระซิบใกล้ ๆ ชื่อว่า สามนฺตชปฺปา ก็แหละในบทนี้ นักศึกษาควรนำเรื่อง กุลูปกภิกษุ มาเล่าประกอบด้วย

เรื่องกุลูปกภิกษุ

ได้ยินว่า ภิกษุกุลูปกะใคร่จะฉันอาหาร จึงเข้าไปในบ้านแล้วนั่งอยู่ หญิงแม่บ้านเห็นเธอแล้วไม่ประสงค์จะถวายจึงพูดว่า “ข้าวสารไม่มี” ดังนี้แล้วพลางเดินไปเรือนคนคุ้นเคยกัน ทำเป็นเสมือนจะไปเอาข้าวสารมา ฝ่ายภิกษุเข้าไปในห้องเห็นอ้อยลำหนึ่งพิงอยู่ที่ซอกประตู เห็นน้ำอ้อยงบอยู่ที่ภาชนะ เห็นปลาเค็มผ่าแบะอยู่ในกระเช้า เห็นข้าวสารอยู่ในโอ่ง เห็นเปรียงอยู่ในหม้อ แล้วจึงออกมานั่งรออยู่ หญิงแม่บ้านกลับมาถึงพูดว่า “ข้าวสารหาไม่ได้” ภิกษุพูดเปรยขึ้นว่า “อุบาสิกา อาตมาได้เห็นลางมาก่อนแล้วว่า วันนี้ภิกษาหารจักไม่สำเร็จ” หญิงแม่บ้านพูดว่า “เห็นลางอะไรเจ้าคะ” ภิกษุพูดต่อไปว่า “อาตมาได้เห็นงูเหมือนอ้อยที่พิงไว้ที่ซอกประตู คิดว่าจะตีมัน มองไปได้เห็นแผ่นหินเหมือนก้อนน้ำอ้อยงบที่เก็บไว้ในภาชนะ เห็นพังพานที่ถูกตีด้วยก้อนดินแล้วแผ่ออกเหมือนปลาเค็มที่แผ่แบะเก็บไว้ในกระเช้า ได้เห็นเขี้ยวของมันเมื่องูทำท่าจะขบก้อนดินนั้น เหมือนข้าวสารที่อยู่ในโอ่ง แต่นั้นได้เห็นน้ำลายเจือพิษกำลังไหลออกมาจากปากของมัน ซึ่งมีความโกรธจัด เหมือนเปรียงที่ใส่ไว้ในหม้อ” หญิงแม่บ้านคิดว่า “เราไม่อาจลวงภิกษุหัวโล้นได้แล้ว” จึงจำถวายอ้อยแล้วหุงข้าว ได้ถวายสิ่งทั้งปวงพร้อมด้วยเปรียง น้ำอ้อยงบและปลาทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

การพูดกระซิบใกล้ ๆ ด้วยประการดังกล่าวมา นักศึกษาพึงทราบว่า การพูดกระซิบ การพูดอ้อมไปอ้อมมาโดยประการที่จะได้มาซึ่งปัจจัยนั้น ชื่อว่า ปริกถา แปลว่า การพูดเลียบเคียง ด้วยประการฉะนี้


๔. ในนิปเปสิกตานิเทศ

ใน นิปเปสิกตานิเทศ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :- การด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ
ชื่อว่า อกฺโกสนา การพูดข่ม
ชื่อว่า 
วมฺภนา การพูดยกโทษโดยนัยมีอาทิว่า เป็นผู้ไม่ศรัทธา เป็นผู้ไม่เลื่อมใส
ชื่อว่า 
ครหณา การพูดสาดด้วยวาจาว่า ท่านทั้งหลายอย่ามาพูดอย่างนี้ ณ ที่นี้
ชื่อว่า 
อุกฺเขปนา การพูดสาดอันประกอบด้วยวัตถุประกอบด้วยเหตุโดยส่วนอย่างสิ้นเชิง
ชื่อว่า 
สมุกฺเขปนา อีกนัยหนึ่ง เห็นคนไม่ให้ทานแล้วพูดยกขึ้นอย่างนี้ว่า โอ ! ท่านทานบดี ดังนี้
ชื่อว่า อุกเขปนา การพูดยกให้ดีขึ้นไปอีกอย่างนี้ว่า ท่านมหาทานบดี
ชื่อว่า 
สมุกฺเขปนา การพูดติเตียนอย่างนี้ว่า ชีวิตของคนนี้เขาชอบบริโภคพืชอย่างไรละ 
ชื่อว่า ขีปนา การพูดติเตียนหนักยิ่งขึ้นว่า ผู้ใดให้คำพูดว่าไม่มีแม้แก่คนทั้งปวงตลอดกาลเป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายจะพูดปฏิเสธบุคคลผู้นี้ว่า ไม่ใช่ทายกได้อย่างไร ดังนี้
ชื่อว่า 
สํขิปนา การพูดให้เขาถึงแก่ความไม่เป็นทายก หรือให้ถึงแก่ความเป็นโทษ
ชื่อว่า 
ปาปนา การพูดให้เขาถึงแก่ความไม่เป็นทายก หรือให้ถึงแก่ความเป็นโทษโดยส่วนอย่างสิ้นเชิง
ชื่อว่า สมฺปาปนา การนำความเสียหายจากเรือนโน้นมาสู่เรือนนี้ จาก
บ้านโน้นสู่บ้านนี้ จากตำบลโน้นสู่ตำบลนี้ โดยหมายความว่า เขาจักให้แก่เราแม้เพราะกลัวต่อความเสียหายด้วยอาการอย่างนี้
ชื่อว่า อวณฺณหาริกา ต่อหน้าพูดดี ลับหลัง
พูดเสีย
ชื่อว่า ปรปิฏฺฐิมํสิกตา จริงอยู่ การพูดเช่นนี้จะมีได้ก็แต่แก่คนที่ไม่อาจอยู่สู่หน้า สำหรับคนอยู่ลับหลังแล้วทำเป็นเหมือนจะกินเนื้อเอาทีเดียว

เพราะฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ปรปิฎฐิมํสิกตา คำว่า นี้เรียกว่าการด่าแช่ง ความว่าโดยที่ภิกษุนี้ย่อมกวาดล้างคุณความดีของผู้อื่นให้พังพินาศไป ดุจกวาดล้างด้วยไม้ไผ่ อีกอย่างหนึ่ง โดยที่วาจานี้เป็นสิ่งที่บดป่นในคุณความดีของผู้อื่นแสวงหาลาภ เหมือนคนบดไม้หอม แสวงหาของหอม ฉะนั้น จึงเรียกว่า นิปฺเปสิกตา


๕. ในนิเทศแสวงหาลาภด้วยลาภ

ใน นิเทศแสวงหาลาภด้วยลาภ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :- 
บทว่า นิชิคีสนตา แปลว่า แสวงหา
บทว่า อิโต ลทฺธํ แปลว่า ได้จากเรือนนี้
บทว่า อมุตฺร แปลว่า ณ เรือนโน้น
บทว่า เอฏฺฐิ แปลว่า เสาะหา
บทว่า 
คเวฏฺฐิ แปลว่า แสวงหา
บทว่า ปริเยฏฺฐิ แปลว่า แสวงหาบ่อย ๆ อนึ่ง ในอธิการนี้
นักศึกษาจึงเล่าเรื่องภิกษุผู้ให้ภิกษาที่ได้มาแล้ว ๆ ตั้งแต่แรก ๆ แก่พวกเด็ก ๆ ในตระกูล ณ ที่นั้นแล้ว ในที่สุดก็ได้ข้าวยาคูเลือน้ำนมไป มาประกอบด้วย
บทว่า เอสนา ที่แปลว่า กิริยาที่แสวงหา เป็นต้น เป็นไวพจน์ของบทว่า เอฏฐิ ที่แปลว่า เสาะหา นั่นเอง เพราะฉะนั้นคำว่า เสาะหา ได้แก่กิริยาที่เสาะหา คำว่า แสวงหา ได้แก่กิริยาที่แสวงหา คำว่า แสวงหาบ่อย ๆ ได้แก่กิริยาที่ แสวงหาบ่อย ๆ นักศึกษาพึงทราบการเข้าประโยค ณ ที่นี้ ด้วยประการฉะนี้นั่นเทียว

อรรถาธิบายแห่งกุหนนิเทศเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้
บัดนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า ด้วย อาทิ ศัพท์ ในคำว่า แห่งบาปธรรมทั้งหลาย มี อาทิ อย่างนี้นั้น ได้แก่การถือเอาบาปธรรมทั้งหลายเป็นอเนกประการ ที่พระผู้มี พระภาคตรัสไว้ใน 🔎พรหมชาลสูตร โดยนัยมีอาทิว่า “ก็แหละ อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกหนึ่ง ฉันโภชนะทั้งหลายที่เขาถวายด้วยศรัทธาแล้วย่อมสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพ ด้วยดิรัจฉานวิชา เห็นปานฉะนี้ คือ ทำนายองค์อวัยวะ ทำนายลาง ทำนายอุบาทว์ ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า บูชาไฟ บังหวนควัน”

มิจฉาอาชีพที่เป็นไปโดยอำนาจการล่วงละเมิดสิกขาบท ๕ ประการ ที่ทรงบัญญัติไว้เพราะอาชีวะเป็นเหตุเหล่านี้ และมิจฉาอาชีพที่เป็นไปด้วยอำนาจบาปธรรมทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า การหลอกลวง การพูดเลาะเล็ม การกระทำนิมิต การด่าแช่ง การแสวงหาลาภด้วยลาภ นี้อันใด การงดเว้นจากมิจฉาอาชีพแม้ทุก ประการนั้น อันใด อันนี้ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีล ด้วยประการฉะนี้

อรรถวิเคราะห์แห่งถ้อยคำในบทอาชีวปาริสุทธินั้น ดังนี้ :- 
ภิกษุทั้งหลายอาศัยการงานนั้นเป็นอยู่ เหตุนั้นการงานนั้น ชื่อว่า อาชีว

อาชีวะนั้นคืออะไร ? คือการพยายามแสวงหาปัจจัย ๔, ความบริสุทธิ์ชื่อว่า ปาริสุทธิความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิ์ ฉะนี้






วิกิ

ผลการค้นหา