๒.๖ ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์

พระพุทธเจ้าตรัสถึงปราโมทย์ (ความเบิกบานใจ) นี้บ่อยมาก สามารถตั้งเป็นจุดกำหนดได้เลยว่า เมื่อใดพระพุทธเจ้าตรัสแสดงความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมาตามลำดับ พอการปฏิบัตินั้นเข้าทางถูกต้องดี ก็จะมาถึงจุดร่วมที่เดียวกันว่า “เกิดปราโมทย์” เช่น

เมื่อตั้งใจปฏิบัติดี รักษาศีลได้ถูกต้อง ไม่มีความเดือดร้อนใจ ก็เกิดปราโมทย์
ยกหลักธรรมคำสอนที่ได้เล่าเรียนมาพิจารณาเกิดความเข้าใจ ก็เกิดปราโมทย์
ดำเนินชีวิตดีงาม มีความมั่นใจว่า แม้ถึงคราวจะตาย ก็ต้องไปเกิดดีแน่ ก็เกิดปราโมทย์
ระลึกถึงพระพุทธคุณ มีความเลื่อมใสลึกซึ้ง แล้วเพียรพยายามปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปโดยไม่ประมาท ก็เกิดปราโมทย์

อย่างไรก็ตาม ปราโมทย์ ปีติ สุข ไม่ใช่ว่าจะเป็นของดีทุกกรณี บางทีระคนอยู่กับเรื่องบาปอกุศล เช่นที่เกี่ยวกับอามิส และเกิดจากกิเลส จึงไม่ใช่ความเจริญก้าวหน้าในธรรมเสมอไป, ที่พึงประสงค์นั้น จะต้องไม่พึ่งพาหรือขึ้นต่ออามิส และไม่ต้องอาศัยกิเลส แต่เป็นอิสระ ทำให้จิตที่เป็นกุศลมีกำลังเข้มแข็ง (คัมภีร์อภิธรรม อธิบายว่า โลภะ เป็นเหตุให้เกิดโสมนัสจิตได้ เช่น ใกล้สิ้นเดือนก็รู้สึกปีติยินดีที่จะได้เงินเดือนไปจับจ่ายใช้สอยตามต้องการ เป็นต้น ทั้งนี้ ความสุขที่เกิดจากโลภะจิตเช่นนี้ ในระดับคฤหัสท่านไม่ได้ให้ปฏิเสธแต่แนะให้ไม่หมกมุ่นจนเกิดพอดี)

ถ้าใครปฏิบัติธรรมได้ผล ก็จะเกิดปราโมทย์ ส่วนถ้าเดินไม่ถูกทาง อาจจะเกิดภาวะตรงข้าม คือ ความเครียด เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวรบกวน ตัวกีดขวาง จิตใจไม่ดี ไม่ปลอดโปร่ง เลยพัฒนาไม่ไป หรือเอาดีไม่ได้



วิกิ

ผลการค้นหา