อธิบายปาติโมกขสังวรศีล

🔅ธิบายปาติโมกขสังวรศีล 

ในปาติโมกขสังวรศีลเป็นต้นนั้น มีกถาวินิจฉัยพร้อมทั้งการพรรณนาตามลำดับ บทจำเดิมตั้งแต่ต้น ดังต่อไปนี้ 

บทว่า อิธ หมายความว่า ในศาสนานี้ บทว่า ภิกขุ ได้แก่ กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา ที่ได้โวหารว่าอย่างนั้น เพราะเป็นผู้เห็นภัยในสงสารอย่างหนึ่ง เพราะเป็นผู้ใช้ผ้าที่ถูกทำลายแล้วเป็นต้นอย่างหนึ่ง บทว่า ปาติโมกข ในคำว่า สำรวมแล้วด้วยสังวร คือปาติโมกข์นี้ ได้แก่ศีลอันเป็นสิกขาบท จริงอยู่ ศีลอันเป็นสิกขาบทนั้นเรียกว่า ปาติโมกข เพราะคุ้มครองรักษาภิกษุนั้น คือปลดเปลื้องภิกษุผู้รักษาศีลนั้นให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย มีทุกข์ในอบายเป็นต้น ความระวัง ชื่อว่า ความสังวร ความสังวรนี้ เป็นชื่อของการไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทางกายและเกิดทางวาจา ความสังวรคือปาติโมกข์ ชื่อว่า ปาติโมกขสังวร เป็นผู้สำรวมด้วยสังวรคือปาติโมกข์นั้น ชื่อว่า ปาติโมกขส์วรวุโต อธิบายว่า ผู้สำรวม คือผู้เข้าถึง ได้แก่ผู้ประกอบด้วยสังวร คือปาติโมกข์ บทว่า วิหรติ หมายความว่า ยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ (คืออยู่ด้วยอิริยาบถ ๔) อรรถาธิบายของบทว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร เป็นต้น พึงทราบโดยนัยอันมาแล้วในพระบาลีนั่นเทียว จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังต่อไปนี้

พระบาลีแสดงอาจารและโคจร

บทว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร ไขความว่า อาจารมีอยู่ อนาจารมีอยู่
อนาจาร 
ในอาจารและอนาจารนั้น อนาจาร เป็นอย่างไร ?
ความล่วงละเมิดที่เกิดทางกาย ความล่วงละเมิดที่เกิดทางวาจา ความล่วงละเมิดที่เกิดทั้งทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่า อนาจาร แม้ความทุศีลทุก ๆ อย่าง ก็ชื่อว่าอนาจาร ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพ คือด้วยการให้ไม้ไผ่บ้าง ด้วยการให้ใบไม้บ้าง ด้วยการให้ดอกไม้, ผลไม้, แป้งเครื่องสนานและไม้สีฟันบ้าง ด้วยความเป็นผู้ประจบสอพลอบ้าง ด้วยความเป็นผู้เหมือนแกงถั่วบ้าง (คือพูดจริงบ้างไม่จริงบ้าง สุก ๆ ดิบ ๆ เหมือนแกงถั่ว) ด้วยความเป็นผู้รับเลี้ยงเด็กบ้าง ด้วยรับส่งหนังสือด้วยกำลังแข้งบ้าง หรือด้วยมิจฉาอาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงครหา อย่างใดอย่างหนึ่ง การสำเร็จความเลี้ยงชีพนี้ เรียกว่า อนาจาร

อาจาร ในอาจารและอนาจารนั้น อาจาร เป็นอย่างไร ?
ความไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทั้งทางกายและทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิดนี้ เรียกว่า อาจาร แม้สังวรคือศีลทั้งหมดก็เรียกว่า อาจาร ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมไม่สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพ คือด้วยการให้ไม้ไผ่บ้าง ด้วยการให้ใบไม้บ้าง ด้วยการให้ดอกไม้, ผลไม้, แป้งเครื่องสนานและไม้สีฟันบ้าง ด้วยความเป็นผู้ประจบสอพลอบ้างด้วยความเป็นผู้เหมือนแกงถั่วบ้าง ด้วยความเป็นผู้รับเลี้ยงเด็กบ้าง ด้วยรับส่งหนังสือด้วยกำลังแข้งบ้างหรือด้วยมิจฉาอาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงครหาอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง การไม่สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพนี้ เรียกว่า อาจาร

บทว่า อโคจร ไขความว่า โคจรมีอยู่ อโคจรมีอยู่
อโคจร 
ในโคจรและอโคจรนั้น อโคจร เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นที่โคจรบ้าง มีหญิงหม้าย, สาวเทือ, บัณเฑาะก์, ภิกษุณีและร้านสุราเป็นที่โคจรบ้าง เป็นผู้อยู่คลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กับพวกเดียรถีย์ และสาวกของพวกเดียรถีย์ ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ อันไม่สมควร แหละหรือ ย่อมต้องเสพคบหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ซึ่งตระกูลทั้งหลายเห็นปานฉะนี้ คือ ตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ตระกูลที่ไม่เลื่อมใส ตระกูลที่มิได้เตรียมตั้งเครื่องดื่มไว้ ตระกูลที่ด่าที่บริภาษ ตระกูลที่ไม่ใคร่ประโยชน์ ตระกูลที่ไม่ใคร่ความเกื้อกูล ตระกูลที่ไม่ใคร่ความผาสุก ตระกูลที่ไม่ใคร่ความเกษมจากโยคธรรม แก่ภิกษุภิกษุณีอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย พฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า อโคจร

โคจร ในโคจรและอโคจรนั้น โคจร เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้ไม่มีหญิงแพศยาเป็นที่โคจร เป็นผู้ไม่มีหญิงหม้าย, สาวเทือ, บัณเฑาะก์, ภิกษุณีและร้านสุราเป็นที่โคจร เป็นผู้ไม่คลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กับพวกเดียรถีย์ และสาวกของพวกเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์ อันไม่สมควร แหละหรือ ย่อมต้องเสพคบหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ซึ่งตระกูลทั้งหลายเห็นปานฉะนี้ คือ ตระกูลมีศรัทธา ตระกูลเลื่อมใส ตระกูลเตรียมตั้งเครื่องดื่มไว้ ตระกูลรุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ ตระกูลฟุ้งตลบไปด้วยกลิ่นฤาษี ตระกูลใคร่ประโยชน์ ตระกูลใคร่ความเกื้อกูล ตระกูลใคร่ความผาสุก ตระกูลใคร่ความเกษมจากโยคธรรม แก่ภิกษุภิกษุณีอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายพฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า โคจร

ภิกษุเป็นผู้ประกอบแล้ว ประกอบพร้อมแล้ว เข้าไปแล้ว เข้าไปพร้อมแล้ว เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว มาตามพร้อมแล้ว ด้วยอาจารนี้และด้วยโคจรนี้ ด้วยประการดังอรรถาธิบายมา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อาจารโคจร สมุปนโน แปลว่า ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจารและโคจร ฉะนี้ อีกประการหนึ่ง ในอธิการแห่ง ปาติโมกขสังวรศีล นี้ นักศึกษาพึงทราบ อาจารและโคจร แม้โดยนัยดังจะพรรณนาต่อไปนี้

อนาจารทางกาย
ก็แหละ อนาจาร มี ๒ ประการ คือ อนาจารทางกาย ๑ อนาจารทางวาจา ๑

ใน ๒ ประการนั้น อนาจารทางกาย เป็นอย่างไร ?
คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ แม้เข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์ก็ไม่ทำความเคารพ ยืนเบียดบ้าง นั่งเบียดบ้าง ซึ่งภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ยืนข้างหน้าบ้าง นั่งข้างหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง กวักมือพูดบ้าง เมื่อภิกษุทั้งหลายชั้นเถระเดินไม่สวมรองเท้า ก็เดินสวมรองเท้า เมื่อภิกษุทั้งหลายชั้นเถระเดินจงกรมอยู่ ณ ที่จงกรม ไพล่ไปเดินบนที่จงกรมสูง เมื่อภิกษุทั้งหลายชั้นเถระเดินจงกรมอยู่ที่พื้นดิน ไพล่ไปเดินจงกรมเสียบนที่จงกรม ยืนแทรกบ้าง นั่งแทรกบ้าง ซึ่งภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ย่อมกีดกันแม้พวกภิกษุใหม่ด้วยอาสนะ แม้อยู่ในเรือนไฟ ไม่อาปุจฉาภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ก็ใส่ฟืน ปิดประตู แม้ ณ ที่ท่าน้ำ ก็ลงเบียดภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ลงไปข้างหน้าเสียบ้าง สรงเบียดบ้าง สรงอยู่ข้างหน้าบ้าง ขึ้นเบียดบ้าง ขึ้นไปข้างหน้าบ้าง แม้เมื่อเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินเบียดภิกษุทั้งหลายชั้นเถระบ้าง เดินไปข้างหน้าบ้าง และเดินแซงไปข้างหน้า ๆ ของภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ แม้ ณ ห้องลับและห้องปิดบังสำหรับตระกูลทั้งหลายที่กุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายพากันนั่งเล่นเช่นนั้น เธอก็จู่โจมเข้าไปลูบคลำศีรษะเด็กบ้าง อันว่าพฤติการณ์เช่นนี้ เรียกว่า อนาจารทางกาย

อนาจารทางวาจา
ในอนาจาร ๒ ประการนั้น อนาจารทางวาจา เป็นอย่างไร ?
คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ แม้ไปสู่ที่ประชุมสงฆ์แล้วก็ไม่ทำความเคารพ ไม่อาปุจฉาภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ พูดธรรม วิสัชนาปัญหา แสดงพระปาติโมกข์ ยืนพูดบ้าง กวักมือพูดบ้าง แม้เข้าไปสู่ละแวกบ้านแล้ว ย่อมพล่ามพูดกับสตรีบ้าง กับกุมารีบ้าง อย่างนี้ว่า “คุณโยมผู้มีชื่ออย่างนี้ มีนามสกุลอย่างนี้ มีอะไรไหม ? มีข้าวยาคูไหม ? มีข้าวสวยไหม ? มีของเคี้ยวไหม ? อาตมาจักดื่มอะไร ? จักเคี้ยวอะไร ? จักฉันอะไร ? คุณโยมจักถวายอะไรแก่อาตมาหรือ ?” อันว่าพฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า อนาจารทางวาจา

ส่วน อาจาร นักศึกษาพึงทราบด้วยสามารถข้อความอันตรงกันข้ามกับอนาจาร นั้นเถิด

อาจารตามนัยแห่งอรรถกถา
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีความคารวะ มีความเคารพ สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ นั่งสบงห่มจีวรเรียบร้อย มีการเดินหน้าถอยหลัง มีการเหลียวไป แลมา มีการเหยียด อันน่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลงประมาณชั่วแอก มีอิริยาบถเรียบร้อย รักษาทวารในอินทรีย์ ๖ รู้จักประมาณในโภชนะ หมั่นประกอบความเพียร ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร มีปกติทำความเคารพในอาภิสมาจาริกศีลทั้งหลาย เป็นผู้มากด้วยการทำความเคารพในบุคคลผู้อยู่ในฐานะแห่งความเคารพ พฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า อาจาร

นักศึกษาพึงทราบ อาจาร อันเป็นประการแรก ด้วยประการดังพรรณนามานี้

โคจร ๓ อย่าง ส่วน โคจร มี ๓ อย่าง คือ อุปนิสสยโคจร ๑ อารักขโคจร ๑ อุปนิพันธโคจร ๑

ในโคจร ๓ อย่างนั้น อุปนิสสยโคจร เป็นอย่างไร ?
กัลยาณมิตร ซึ่งประกอบด้วยคุณคือกถาวัตถุ ๑๐ ที่ภิกษุพึ่งพิงแล้ว ย่อมได้ฟังพุทธวจนะที่ยังไม่เคยฟัง ย่อมทำพุทธวจนะที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ย่อมสิ้นความสงสัย ย่อมทำทฤษฎีให้ถูกต้อง ย่อมทำจิตใจให้เลื่อมใส” แหละหรือ กัลยาณมิตรผู้ที่ภิกษุศึกษาสำเหนียกตามอยู่ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา, ศีล, สุตะ, จาคะและปัญญา กัลยาณมิตรนี้ เรียกว่า อุปนิสสยโคจร

อารักขโคจร เป็นอย่างไร ?
ภิกษุในศาสนานี้ เข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน ทอดสายตาลงมองดูประมาณชั่วแอก เดินไปอย่างสำรวม ไม่เหลียวดูพลช้าง ไม่เหลียวดูพลม้า ไม่เหลียวดูพลรถ ไม่เหลียวดูพลเดินเท้า ไม่เหลียวดูสตรี ไม่เหลียวดูบุรุษ ไม่แหงนขึ้นข้างบนไม่เหลียวลงข้างล่าง ไม่เดินมองทิศใหญ่ทิศน้อย พฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้เรียกว่า อารักขโคจร

อุปนิพันธโคจร เป็นอย่างไร?
คือ สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นที่ผูกจิตไว้ สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :- ภิกษุทั้งหลาย ก็โคจรของภิกษุได้แก่อะไร ? ได้แก่วิสัยอันเป็นสมบัติของพุทธบิดาของตน คือ สติปัฏฐาน ๔ นี้เรียกว่า อุปนิพันธโคจร 

ภิกษุเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว เข้าไปแล้ว เข้าไปพร้อมแล้ว เข้าถึงแล้ว 
เข้าถึงพร้อมแล้ว มาตามพร้อมแล้ว ด้วยอาจารนี้และด้วยโคจรนี้ ด้วยประการดังอรรถาธิบายมา แม้ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อาจารโคจรสมุปนโน แปลว่า ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจารและโคจร ฉะนี้ 

คำว่า มีปกติมองเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย คือมีปกติเห็นภัยในโทษ
ทั้งหลายมีประมาณเล็กน้อย อันต่างด้วยโทษ เช่น การต้องอาบัติเสขิยวัตรโดยไม่ได้จงใจและเกิดอกุศลจิตเป็นต้น

คำว่า สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ความว่า ศีลอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะพึงศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ศีลนั้นทั้งหมดเธอถือเอามาศึกษาสำเหนียกอยู่โดยความเคารพ

นักศึกษาพึงทราบว่า ปาติโมกขสังวรศีล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วในบทว่า ปาติโมกขสวรวโต ที่แปลว่า ผู้สำรวมด้วยสังวรคือปาติโมกข์นี้ และด้วยเทศนาบุคคลาธิษฐานมีประมาณเท่านี้ ส่วนบทว่า อาจารโคจรสมุปนโน ที่แปลว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร เป็นต้น พระผู้มีพระภาคตรัสไว้เพื่อทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติโดยประการที่ศีลนั้นทั้งหมดจะสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติ





วิกิ

ผลการค้นหา