พระไตรปิฎก คือคัมภีร์ที่ประมวลเอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาจารึกไว้ จึงกล่าวได้ว่า พระไตรปิฎก คือที่จารึกไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
“ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป” (มหาปรินิพพานสูตร)
คำสอน คำกล่าว และข้อปฏิบัติใดๆ จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสูงสุด
เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษา เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้ ประการสำคัญการธำรงพระไตรปิฎก ก็คือการธำรงพระพุทธศาสนา ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้นพระพุทธศาสนา พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องถึงกับพูดกันว่า “อักษรตัวหนึ่งๆ อันเป็นพระปริยัติศาสน์ของพระศาสดา มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” (ญาโณทยปกรณ์)
เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อย ก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นบาปมาก ท่านให้ความสำคัญถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น พระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน
คัมภีร์ที่นิพนธ์หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา ท่านได้เห็นว่าพระในสมัยนั้น บางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป จึงเรียบเรียงคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น เพื่อแก้ความเข้าใจที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไปดังกล่าว แต่ก็เป็นการยกเอาพุทธพจน์มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราว หรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน รวมความก็คือ ประเทศพุทธศาสนาเถรวาททั้งหมดมีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด จะตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ส่วนพระสูตรต่างๆของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน หลายบทเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล ในวงวิชาการทั่วโลก
นอกจากพระไตรปิฎกอันเป็นมาตรฐานชั้นสูงสุดแล้ว ยังมีคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า อรรถกถา คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถาเรียกว่า ฎีกา และอนุฎีกา ส่วนคำสอนหรือคำอธิบายของพระอาจารย์รุ่นหลัง เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ คือ มติส่วนตัว คัมภีร์เหล่านี้ทรงความสำคัญลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ
ย่อความจากผลงานของ : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)