๑.๒๖ ปริญญา

ปริญญา การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยครบถ้วนหรือรอบด้าน แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ

ขั้นที่ ๑. ญาตปริญญา : กำหนดรู้ขั้นรู้จัก รู้จักลักษณะของสิ่งนั้น กำหนดรู้ตามสภาวะลักษณะ (ลักษณะที่เป็นภาวะของมันเอง) เช่น เวทนา คือ สิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์, สัญญา คือ สิ่งที่มีลักษณะกำหนดได้หมายรู้ เป็นต้น

ขั้นที่ ๒. ตีรณปริญญา : กำหนดรู้ขั้นหยั่งถึงไตรลักษณ์ คือ รู้ด้วยปัญญาที่หยั่งลึกซึ้งไปถึงสามัญลักษณะ (ลักษณะร่วมที่เสมอเหมือนกับสิ่งอื่น) ได้แก่ รู้ถึงการที่สิ่งนั้นๆ เป็นไปตามกฎธรรมดา พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รวมถึงเข้าใจว่าสังขารทั้งหลายมีสามัญลักษณะคือสภาวะที่มีที่เป็นตามเหตุปัจจัย

ขั้นที่ ๓ ปหานปริญญา : กำหนดรู้ถึงขั้นละได้, รู้ว่าจะทำอย่างไร คือ รู้ถึงขั้นที่ทำให้ถอนความยึดติด เป็นอิสระจากสิ่งนั้นๆได้ และปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆได้ถูกต้อง เช่น เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นๆเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็ละความยึดติดในสิ่งนั้นๆได้

พระโสดาบัน สามารถกำหนดรู้ในขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ และมีญาณกำหนดรู้ในขั้นที่ ๓ ได้บางส่วน เรียกว่า บรรลุมรรคผลในขั้นแรก ถัดจากนั้น ก็พิจารณามรรคผล พิจารณากิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน เพื่อพัฒนาตนเองในขั้นต่อๆไป นิพพานเป็นจุดหมายที่ทุกคนเข้าถึงได้ เมื่อมีฉันทะ เพียรพยายาม มีความพร้อมแล้ว ก็สามารถบรรลุนิพพานได้ ไม่มีข้อจำกัด ชาติชั้นวรรณะ ฐานะ เพศ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต

“เราไม่กล่าวว่ามีความแตกต่างอะไรเลย ระหว่างอุบาสกผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วตลอดร้อยปี คือ วิมุตติ กับ วิมุตติ เหมือนกัน” (คิลายนสูตร)

กระบวนธรรมฝ่ายก่อทุกข์ อาจเรียกชื่อตามองค์ธรรมที่เป็นตัวการสำคัญว่า กระบวนธรรมฝ่ายอวิชชา-ตัณหา ส่วนกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ ก็อาจเรียกชื่อตามองค์ธรรมที่สำคัญว่า กระบวนธรรมฝ่าย วิชชา-วิมุตติ ถ้าเรียกอย่างง่ายๆ ฝ่ายแรก คือ ไม่รู้ จึงติด ฝ่ายหลังเป็น พอรู้ ก็หลุด ในฝ่ายอวิชชา-ตัณหา องค์ธรรมที่เป็นขั้วต่อ นำไปสู่ชาติภพ คือ อุปาทาน ส่วนในฝ่ายวิชชา-วิมุตติ องค์ธรรมที่เป็นขั้วต่อ ซึ่งพาออกไป หรือเป็นจุดแยกออกจากสังสารวัฏฏ์ ได้แก่ นิพพิทา แปลว่า ความหน่าย ความหมดใคร่ หายอยาก หายติด, ความปรีชาหยั่งเห็นสังขารตามความเป็นจริง จึงเกิดความหน่ายในสังขารทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, ความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งที่ทำให้เบื่อหน่ายในสังสารวัฏหรือกองทุกข์, ปรีชาคำนึงถึงสังขารด้วยความหน่าย เพราะมีแต่ทุกข์และโทษมากมาย แต่ไม่ใช่การอยากทำลายตนเองเพราะเบื่อสังขารด้วยวิภวตัณหา พึงแยกนิพพิทา กับ วิภวตัณหา ให้ชัดเจน

อุปาทาน เกิดสืบเนื่องมาจากอวิชชา ความไม่รู้สภาวะ ส่วนนิพพิทา เกิดจากความรู้เข้าใจตามเป็นจริง (มีศัพท์เฉพาะว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ, นิพพิทาญาณ) การที่นิพพิทาจะเกิดขึ้น หรือการที่จะถอนทำลายอุปาทานได้นั้น เป็นเรื่องที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ คือ เมื่อรู้เข้าใจสภาวะแล้ว นิพพิทาก็เกิดเอง อุปาทานก็หมดไปเอง (พร้อมๆกัน) เป็นเรื่องของกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย หรือภาวะที่เป็นเองตามเหตุปัจจัยของมัน



วิกิ

ผลการค้นหา