๒.๕ มรรค ๘ : ทางแห่งการเป็นอยู่ด้วยปัญญา

มรรค ๘ เรียกอย่างสั้นว่า การเป็นอยู่ด้วยปัญญา ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจจึงเป็นแกนนำของความประพฤติปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ มรรค ๘ จึงมีสัมมาทิฏฐิเป็นองค์ประกอบข้อแรก ดังพุทธพจน์ “ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำอย่างไร? ด้วยสัมมาทิฏฐิ จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ …ฯลฯ… รู้จึกมิจฉาสมาธิ ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ รู้จักสัมมาสมาธิ ว่าเป็นสัมมาสมาธิ

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้าอย่างไร? เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้” (มหาจัตตารีสกสูตร)

มรรค ๘ แบ่งเป็น ๓ หมวด
🔅 ๑ หมวดศีล (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ)
🔅 ๒ หมวดสมาธิ (สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ)
🔅 ๓ หมวดปัญญา (สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ)

(ส่วนในระดับชาวบ้าน ท่านใช้บุญกิริยาวัตถุ ๓  (ดูความหมายในข้อ ทาน ศีล ภาวนา โดยภาวนาเน้นไปที่การเจริญเมตตา หรือใช้ กุศลกรรมบถ ๑๐ แทนบุญกิริยาวัตถุ ๓ ก็ได้)








มรรค ๘ : สาระโดยย่อ

๑. สัมมาทิฏฐิ : ความเห็นชอบ, ความเข้าใจถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ เป็นจุดเริ่มต้น ทั้งยังเป็นแกนหลักที่มีบทบาทอยู่ตลอดเวลาทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ ไปจนถึงปลายสุดของมรรคา การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้นตามลำดับในระหว่างมรรคานี้ ส่องความในตัวว่าสัมมาทิฏฐิในลำดับหรือในขั้นตอนต่างๆของการปฏิบัตินั้น ย่อมมีความแตกต่างกันโดยคุณภาพไปตามลำดับ สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ในธรรม ที่สำคัญ เช่น อริยสัจ ๔, กุศลมูลและอกุศลมูล, ไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี) เรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ

๒. สัมมาสังกัปปะ : ความดำริชอบ หรือ ความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ส่งผลให้เกิด สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด หรือเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เกิดสัมมาทิฏฐิต่อไป หรือยิ่งขึ้นไปอีก องค์ประกอบทั้งสองร่วมกับโยนิโสมนสิการจึงส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันในแง่ของหน้าที่หลัก สัมมาทิฏฐิ แก้ โมหะ สัมมาสังกัปปะ แก้ โลภะ โทสะ

๓. สัมมาวาจา : เจรจาชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ, ส่อเสียด, หยาบคาย, เพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันตะ : กระทำชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการเบียดเบียน และตัดรอนชีวิตผู้อื่น, เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, ไม่เสพสิ่งเสพติดที่เป็นเหตุให้เกิดความประมาท

๕. สัมมาอาชีวะ : เลี้ยงชีพชอบ กล่าวคือ ละมิจฉาอาชีวะ การหลอกลวง การประจบ การบีบบังคับขู่เข็ญ, อาชีพที่ไม่ควรประกอบ ๕ อย่าง คือ ขายอาวุธ, ค้ามนุษย์, ค้าสัตว์มีชีวิต (เพื่อนำไปฆ่า), ค้ายาเสพติด, ขายยาพิษ นอกจากนี้การเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ ยังหมายรวมถึง การทำหน้าที่ หรือการดำรงตนอย่างถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เป็นผู้สมควรแก่การได้ปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิตด้วย เช่น พระสงฆ์, เด็ก, คนชรา ย่อมมีสัมมาอาชีวะที่ควรแก่ตน

๖. สัมมาวายามะ : ความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม และทำกุศลธรรมให้เจริญขึ้น

๗. สัมมาสติ : การระลึกได้, การไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และเดินก้าวหน้าต่อไปอยู่เสมอ

๘. สัมมาสมาธิ : สมาธิที่ใช้ถูกทางเพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เพื่อเป็นฐานให้ปัญญารู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง

“ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคา ไหลหลั่ง ลาดเอน เบนไปสู่มหาสมุทร ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอยู่ ทำให้มากอยู่ ซึ่งมรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้โน้มน้อม ลาดเอน เบนไปสู่นิพพาน ฉันนั้น” (คังคาสมุทนินนสูตร)



วิกิ

ผลการค้นหา