๒.๕.๓.๑ ระดับของสมาธิ

ในชั้นอรรถกถาท่านจัดแยกสมาธิออกเป็น ๓ ระดับ คือ

ระดับขั้นของสมาธิ
ระดับที่ ๑ ขณิกสมาธิ
: สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ให้จิตใจสงบสบายได้พักชั่วคราว และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้

ระดับที่ ๒ อุปจารสมาธิ : สมาธิจวนจะแน่วแน่ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งฌาน จัดเป็นขั้นสูงสุดของกามาวจรสมาธิ มีที่กำหนดชัดเจนคือ ในอุปจารสมาธิ นิวรณ์ก็ถูกละได้ระดับหนึ่งแล้ว และองค์ฌานก็เริ่มเกิดคล้ายกับอัปปนาสมาธิ มีข้อแตกต่างเพียงว่า องค์ฌานยังไม่มีกำลังดีพอ ได้นิมิตพักหนึ่ง ก็ตกภวังค์พักหนึ่ง ขึ้นตกๆเหมือนเด็กตั้งไข่ เขาพยุงลุก ก็คอยล้ม ส่วนในอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายมีกำลังดีแล้ว จิตตัดภวังค์แล้วคราวเดียว ก็ตั้งอยู่ได้ทั้งคืนทั้งวัน เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ยืนขึ้นแล้วก็ยืนได้ตลอดวัน

ระดับที่ ๓ อัปปนาสมาธิ : สมาธิแน่วแน่ หรือ สมาธิที่แนบสนิท นิวรณ์ ๕ สงบระงับไปด้วยกำลังของสมาธิ เป็นสมาธิระดับสูงสุด ซึ่งมีในฌานทั้งหลาย (ฌานทุกลำดับจัดเป็นอัปปนาสมาธิ) ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ต้องการของการเจริญสมาธิ เกิดขึ้นได้ด้วยการรักษาอุปจารสมาธิที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอไม่ให้เสื่อมหายไปเสีย จนในที่สุด ก็เกิดเป็นอัปปนาสมาธิ บรรลุปฐมฌาน เป็นขั้นเริ่มแรกของรูปาวจรสมาธิ

ระดับขั้นของฌาน

🙏รูปฌาน ๔

ระดับที่ ๑ ปฐมฌาน มีองค์ประกอบ คือ วิตก (การจรดจิตลงไปในอารมณ์, ตรึก) วิจาร (การเอาจิตผูกพันอยู่กับอารมณ์, ตรอง) ปีติ (ความยินดีในการได้อารมณ์ที่ต้องการ อรรถกถาจารย์ ท่านจัดเป็นสังขารขันธ์) สุข (ความสุขในการได้เสวยรสอารมณ์ที่ต้องการ อรรถกถาจารย์ ท่านจัดเป็นเวทนาขันธ์) เอกัคคตา (ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว)
ระดับที่ ๒ ทุติยฌาน มีองค์ประกอบ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ระดับที่ ๓ ตติยฌาน มีองค์ประกอบ คือ สุข เอกัคคตา
ระดับที่ ๔ จตุตถฌาน มีองค์ประกอบ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อาจมีความสงสัยเกิดขึ้นว่า เหตุใดในฌานระดับที่สูงขึ้นองค์ประกอบที่ดูน่าพึงพอใจอย่าง ปีติ และสุข จึงหายไป เหลือเพียง อุเบกขา ข้อนี้ขอให้พิจารณาทำความเข้าใจไปตามลำดับ

ในปฐมฌาน : การฟุ้งขึ้นของ นิวรณ์ ๕ เป็นอาพาธของปฐมฌาน
ในทุติยฌาน : ละวิตก วิจาร เพราะเป็นภาระของจิต เป็นโทมนัสอย่างละเอียด เป็นอาพาธของทุติยฌาน
ในตติยฌาน : ละปีติ ความยินดี เพราะเป็นสภาพที่ทำใจให้กำเริบ พะวงในการเสวยสุขอันยอดเยี่ยมนั้น เป็นอาพาธของ ตติยฌาน
จตุตถฌาน : ละความกำหนัดยินดีในสุข ละความคำนึงแห่งใจว่าเรากำลังเสวยสุข เพราะถือเป็นส่วนหยาบ เป็นปัจจัยแห่งรูปราคะ เป็นอาพาธของจตุตถฌาน

อุเบกขา ในที่นี้ใช้ใน ๒ ความหมาย คือ ในความหมายของพรหมวิหาร คือ ความมีใจเป็นกลาง ดูอย่างสงบ ซึ่งมีในฌานทุกชั้น โดยจะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ และในความหมายของ อทุกขมสุขเวทนา คือ ไม่ใช่ทั้งสุขและทุกข์ เป็นสภาวะละเอียดประณีต เป็นปัจจัยสนับสนุนสติให้บริสุทธิ์ (ไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนา ในความหมายของ ความสุขอย่างอ่อนๆ ความทุกข์อย่างอ่อนๆ หรือความรู้สึกเฉยๆ)

การที่จตุตถฌาน มีองค์ประกอบหลัก คือ อุเบกขา และเอกัคคตา ไม่ได้หมายความว่าพ้นจากภาวะที่เป็นสุข ตรงกันข้ามจตุตถฌานเป็นภาวะที่เป็นสุขประณีตอย่างยิ่ง เนื่องจากห่างไกลจากเสี้ยนหนามทางใจต่างๆ แม้อย่างละเอียด ส่วนทุกข์ทางกายนั้นดับไปตั้งแต่เข้าปฐมฌาน 

(สมาธิขั้นที่สูงถึงขั้นจตุตถฌานขึ้นไป แม้ไม่มีสุขเป็นองค์ธรรมแต่ก็จัดเป็นสุขที่ประณีตสูงขึ้นไปตามลำดับ พบได้ในพระสูตรหลายบท เช่น พหุเวทนียสูตร, ปัญจกังคสูตร, นอกจากนี้ ผู้สนใจศึกษาและตรวจสอบเพิ่มเติมจาก นิพพานสูตร, อรรถกถามหาวิภังค์ ปฐมภาค ; วิสุทธิมรรค ; หนังสือพุทธธรรม  เป็นต้น)


🙏
อรูปฌาน ๔

ระดับที่ ๑ อากาสานัญจายตนะ ฌานที่กำหนดอากาส คือ ที่ว่าง อันอนันต์
ระดับที่ ๒ วิญญาณัญจายตนะ ฌานที่กำหนดวิญญาณ (อันแผ่ไปในที่ว่าง) อันอนันต์
ระดับที่ ๓ อากิญจัญญายตนะ ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใดๆ
ระดับที่ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ฌานที่เลิกกำหนดสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (ไม่มีสัญญาหยาบ มีสัญญาละเอียด)

วิธีปฏิบัติขั้น อรูปฌาน คือ เมื่อเจริญสมาธิถึงขั้นจตุตถฌานแล้ว ก็ปล่อยกรรมฐานที่ยึดเป็นอารมณ์ออก มายึดอารมณ์ของอรูปฌาน แต่ละลำดับแทน อรูปฌานทั้งหลายมีองค์ฌานเพียง ๒ อย่างเหมือนจตุตถฌาน คือ มีอุเบกขา และเอกัคคตา แต่มีข้อพิเศษคือสมาธิในอรูปฌานประณีตลึกซึ้งห่างไกลจากสิ่งรบกวนมากกว่ากันตามลำดับขั้น

ปุถุชนบำเพ็ญสมถะสำเร็จ สูงสุดได้เท่านี้ ส่วนพระอนาคามี และพระอรหันต์ มีกำลังสมาธิ และปัญญา รวมถึงจิตที่น้อมดิ่งไปสู่นิพพาน สามารถเข้าถึงภาวะที่ประณีตสูงสุดอีกขั้นหนึ่ง นับเป็นขั้นที่ ๙ คือ สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือ นิโรธสมาบัติ เป็นภาวะที่สัญญาและเวทนาหยุดการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นความสุขขั้นสูงสุด ถือเป็นภาวะที่ใกล้เคียงนิพพานมากที่สุด แต่ไม่ควรเข้าใจผิดว่าเมื่อเข้าสมาบัตินี้แล้วก็ตรัสรู้หรือบรรลุอรหัตตผลต่อไปภายในสมาบัตินั้นเลย พึงเข้าใจว่าเป็นปัจจัยเกื้อกูล อบรมสมาธิไว้ให้พร้อมสำหรับการบรรลุอาสวักขยญาณในลำดับต่อไป

ความสำคัญของฌานสมาบัตินั้นพึงเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่าเป็น วิขัมภนนิโรธ (ดับนิวรณ์ด้วยการข่มไว้ด้วยกำลังสมาธิ), ทิฏฐธรรมนิพพาน (นิพพานเห็นทันตา), สันทิฏฐิกนิพพาน (นิพพานที่ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง) เป็นนิพพานโดยปริยาย (โดยอ้อม) กล่าวคือ เป็นการดับกิเลสเหมือนกัน แต่เป็นการดับกิเลสเพียงข่มไว้ได้เท่านั้น เมื่อออกจากฌาน กิเลสก็เกิดได้อีก จึงไม่ใช่นิพพานที่แท้จริง เพราะนิพพานที่แท้จริงนั้นดับกิเลสได้โดยเด็ดขาดแล้ว กิเลสไม่เกิดขึ้นได้อีก ส่วนนิโรธสมาบัติเป็นภาวะที่ถือว่าใกล้เคียงอนุปาทิเสสนิพพานมากที่สุดท่านจัดเป็นนิพพานโดยนิปริยาย (โดยตรง) แต่ก็เป็นของชั่วคราวเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะของสมาธินั้นเป็นของชั่วคราว แต่ก็เป็นฐานของปัญญา และเปิดโลกทัศน์ให้แก่ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสความสุขอันเกิดจากความสงบ ซึ่งเอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าในทางปัญญาอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า นิพพานนี้เป็นสุข, ภิกษุถามท่านว่า นิพพานนี้ไม่มีเวทนาจะเป็นสุขได้อย่างไร ท่านกล่าวตอบว่า “นิพพานนี้ไม่มีเวทนานั่นแหละเป็นสุข ดูก่อนอาวุโส กามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันน่าปรารถนา น่าใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูก่อนอาวุโส สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ นี้เรียกว่า กามสุข

“ภิกษุเมื่อบรรลุปฐมฌานอยู่ สัญญาอันสหรคตด้วยกามฟุ้งซ่านขึ้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข ฉันใดก็ฉันนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้

“ภิกษุเมื่อบรรลุทุติยฌาน เพราะวิตกวิจารสงบไป เมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยวิตกฟุ้งซ่านขึ้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข ฉันใดก็ฉันนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้ (ในฌานและอรูปฌานลำดับถัดๆไปก็แนวเดียวกันนี้ คือ สัญญาของฌานลำดับก่อนหน้าอาจฟุ้งขึ้นมาเบียดเบียนให้ภาวะอันสุขสงบปราณีตนั้นต้องพร่องไป เมื่อสัญญาดังกล่าวที่ฟุ้งขึ้นสงบไปก็เป็นสุข)

“ภิกษุเมื่อบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนะฟุ้งซ่านขึ้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข ฉันใดก็ฉันนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้

“ภิกษุเมื่อบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลายของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ดูกรอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้” (นิพพานสูตร,)


อภิญญา
อรรถกถาได้อธิบายวิธีการเจริญอภิญญาอย่างพิสดาร ซึ่งพอสรุปได้ความว่า ให้เจริญสมาบัติทั้ง ๘ แต่จำกัดว่าต้องเป็นสมาบัติที่ได้ในกสิณ ครั้นแล้วฝึกสมาบัตินั้นให้คล่องแคล่วโดยทำนองต่างๆเป็นการเตรียมจิตให้พร้อม พอถึงเวลาใช้งานก็เข้าฌานเพียงแค่จตุตถฌาน แล้วน้อมเอาจิตนั้นไปใช้เพื่ออภิญญาตามความต้องการ อย่างไรก็ตามโลกิยอภิญญา เช่น การเดินน้ำ ดำดิน เหาะเหิน เป็นของที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนมาก ไม่อาจสำเร็จได้โดยง่ายเลย ประการสำคัญพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่อารยฤทธิ์ อาจเกิดโทษ และไม่ทำให้หลุดพ้น ไม่ใช่สาระของพระพุทธศาสนา เป็นของมีมาก่อนพุทธกาล มิใช่เครื่องแสดงความประเสริฐของบุคคลหรือของพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้พระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าส่วนมากจึงเป็นพระปัญญาวิมุต และอีกมากมายหลายท่านแม้เป็นอุภโตภาควิมุต ก็มิได้ทำอภิญญา ๕ เหล่านั้นให้เกิดขึ้น



วิกิ

ผลการค้นหา