๒.๕.๑ หมวดปัญญา : สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ

สัมมาทิฏฐิ : ความเห็นชอบ, ความเข้าใจถูกต้อง

“ข้อที่ภิกษุจักทำลายอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งซึ่งนิพพานได้ ด้วยทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นั่นเพราะเหตุใด? ก็เพราะตั้งทิฏฐิไว้ชอบแล้ว” (สุกสูตร)

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือ กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย” (เอกธัมมบาลี ทุติยวรรค)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นสักข้อหนึ่งที่มีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐิ, โทษทั้งหลาย มีมิจฉาทิฏฐิ เป็นอย่างยิ่ง” (เอกธัมมบาลี ตติยวรรค)

สัมมาทิฏฐิ เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นตัวนำ ในการดำเนินตามมรรคาแห่งมัชฌิมาปฏิปทา และเป็นตัวยืนที่มีบทบาทอยู่ตลอดเวลาทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ ไปจนถึงปลายสุดของมรรคา การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้นตามลำดับในระหว่างมรรคานี้ ส่องความในตัวว่าสัมมาทิฏฐิในลำดับหรือในขั้นตอนต่างๆของการปฏิบัตินั้น ย่อมมีความแตกต่างกันโดยคุณภาพไปตามลำดับ

สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ในธรรม ที่สำคัญ เช่น อริยสัจ ๔, กุศลมูลและอกุศลมูล, ไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการเรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ

สัมมาทิฏฐิ ๒ ระดับ

๑.๑) โลกิยสัมมาทิฏฐิ : ความเห็นของระดับโลกีย์ คือ ยังเนื่องในโลก ได้แก่ ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ถูกต้องตามหลักแห่งความดี เชื่อกรรมและผลของกรรม เป็นไปตามคลองธรรม สอดคล้องกับศีลธรรม โลกียสัมมาทิฏฐิ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไปตามกาลสมัย แต่ก็ต้องมีความสอดคล้องกับหลักกรรม หรือสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ โลกิยสัมมาทิฏฐินี้ จึงอาจเชื่อมต่อให้ก้าวไปยังโลกุตรสัมมาทิฏฐิได้

๑.๒) โลกุตรสัมมาทิฏฐิ : ความเห็นของระดับโลกุตระ คือเหนือโลก ไม่ขึ้นต่อโลก ได้แก่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง รู้เข้าใจสภาวะของธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นสัจธรรมที่ไม่ขึ้นต่อกาลสมัย (อกาลิโก) ปรโตโฆสะ (ปัจจัยภายนอก เช่น กัลยาณมิตร) ที่ดี สามารถชักจูงให้เกิด โลกียสัมมาทิฏฐิ แต่ในขั้นบรรลุมรรคผล คือ โลกุตรสัมมาทิฏฐิ ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการของตนเองร่วมเข้ามาด้วยเป็นสำคัญ ในการพิจารณาให้เกิดปัญญา ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงด้วยการรับฟังแล้วเชื่อตามคนอื่นด้วยศรัทธา เพราะต้องเป็นการรู้จักที่ตัวสภาวะเอง ต้องเอาธรรมชาตินั่นเองเป็นข้อพิจารณาโดยตรง ซึ่งกัลยาณมิตร อาจช่วยได้เพียงสนับสนุน โลกุตรสัมมาทิฏฐิ เป็นการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองแท้ๆ ซึ่งมีสภาวะและธรรมดา เสมอเหมือนกันทุกถิ่นฐานทุกกาลสมัย จำเป็นสำหรับปรีชาญาณและความหลุดพ้น ถึงขั้นเป็นมรรคเป็นผล ทำให้เป็นอริยบุคคล สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบุคลิคภาพอย่างที่เรียกว่า ถอนรากถอนโคน

สัมมาสังกัปปะ : ความดำริชอบ หรือ ความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง

สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ส่งผลให้เกิด สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด หรือเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เกิดสัมมาทิฏฐิต่อไป หรือยิ่งขึ้นไปอีก องค์ประกอบทั้งสองร่วมกับโยนิโสมนสิการจึงส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในแง่ของหน้าที่หลัก สัมมาทิฏฐิ แก้ โมหะ สัมมาสังกัปปะ แก้ โลภะ โทสะ

สัมมาสังกัปปะตรงข้ามกับความดำริผิดที่เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ
๑. กามวิตก คือ ความดำริที่เกี่ยวข้องกับกาม ในทางแสวงหาหรือหมกมุ่นพัวพันติดข้อง ความคิดในทางเห็นแก่ตัว (จัดเป็นฝ่ายโลภะ)
๒. พยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ประกอบด้วยความขัดเคือง เคียดแค้น ชิงชัง (จัดเป็นฝ่าย โทสะ)
๓. วิหิงสาวิตก คือ ความดำริในทางที่จะเบียดเบียน ทำร้าย ทำลาย กระทบกระทั่งรุกรานผู้อื่น อยากทำให้เขาประสบความทุกข์ความเดือดร้อน (จัดเป็นฝ่าย โทสะ)

ความดำริ หรือแนวคิดแบบนี้ เป็นเรื่องปรกติของปุถุชน เพราะตามธรรมดาเมื่อปุถุชนรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเกิดความรู้สึกคือ ชอบ หรือ ไม่ชอบ จากนั้นความดำรินึกคิดต่างๆก็จะดำเนินไปตามแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบนั้น ด้วยเหตุนี้ ความคิดของปุถุชนโดยปกติจึงเป็นความคิดเห็นที่เอนเอียง มีความชอบใจ (กามวิตก) ไม่ชอบใจ (พยาบาทวิตก และ วิหิงสาวิตก) ของตนเข้าไปเคลือบแฝง ทำให้ไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเองล้วนๆ

ความดำริที่เอนเอียงเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะการขาดโยนิโสมนสิการ ในภาวะจิตที่มีโยนิโสมนสิการ จึงมีความดำริตริตรึกนึกคิด ซึ่งปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ปราศจากความเอนเอียง เรียกว่า
สัมมาสังกัปปะ มี ๓ อย่าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก คือ ความดำริที่เป็นกุศล ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ปราศจากความเห็นแก่ตัว
๒. อพยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ไม่มีความรู้สึกกระทบกระทั่ง ขัดเคือง ชิงชัง, มีเมตตา
๓. อวิหิงสาวิตก คือ ความดำริที่ไม่มีการเบียดเบียน การคิดทำร้าย ข่มเหง ทำลาย, มีกรุณา

สัมมาสังกัปปะ นอกจากเกื้อกูลต่อ สัมมาทิฏฐิแล้ว ในด้านศีล ยังทำให้ พรหมวิหาร (จัดเป็นคุณธรรมที่เป็นรากฐานอยู่ในจิตใจ) และ สังคหวัตถุ (จัดเป็นขั้นแสดงออกทางสังคม หรือขั้นปฏิบัติการ) เจริญขึ้นด้วย ยกตัวอย่างด้านเมตตา (ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข)

ข้อควรสังเกตสำคัญอย่างหนึ่งของเมตตา ก็คือ สมบัติ (ความสำเร็จ) และวิบัติ (ความล้มเหลว ผิดพลาดคลาดเคลื่อน) ของเมตตา สมบัติของเมตตา คือ ระงับพยาบาท วิบัติของเมตตา คือ การเกิดสิเนหะ (เสน่หา ความรักใคร่เยื่อใยเฉพาะบุคคล เช่น ความรักอย่างบุตร ภริยา เป็นต้น) เป็นเหตุให้เกิดความลำเอียง ทำให้ช่วยเหลือกันในทางที่ผิดได้ ซึ่งเป็นความวิบัติของเมตตามากกว่า หาใช่เมตตาไม่

ส่วนเมตตาที่แท้จริงนั้น เป็นธรรมที่เอื้อต่อการรักษาความเที่ยงธรรม ทำให้มีภาวะจิตที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ที่จะเอนเอียงเข้าหา หรือเกลียดชังคิดร้าย มีปรารถนาดีต่อทุกคนสม่ำเสมอกัน จึงช่วยให้พิจารณาตัดสินและกระทำการต่างๆไปตามเหตุผล โดยมุ่งประโยชน์สุขที่แก่จริงแก่คนทั้งหลาย  เมตตาที่แท้จริง จะเป็นไปในแบบที่ว่า “พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงมีพระทัยเสมอกัน ทั้งต่อนายขมังธนู (ที่รับจ้างมาลอบสังหารพระองค์) ต่อพระเทวทัต ต่อโจรองคุลีมาล ต่อช้างธนบาล (ที่พระเทวทัตปล่อยมาเพื่อฆ่าพระองค์) และต่อพระราหุล ทั่วทุกคน” (อุปาลีเถราปทาน)

(ท่านกล่าวว่า ควรแยกขั้นคุณธรรมในจิตใจกับขั้นปฏิบัติการให้ออก มีเมตตาเสมอกันไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเสมอกันในทุกกรณี แต่เลือกปฏิบัติไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยใจเป็นธรรม)

ประโยชน์หนึ่งของเมตตา จะเห็นได้ในกรณีของการถกเถียง การแย้งทางเหตุผล ทำให้ต่างฝ่ายยอมพิจารณาเหตุผลของกันและกัน ช่วยให้คู่โต้บรรลุถึงเหตุผลที่ถูกต้องได้ ในกรณีที่มิจฉาสังกัปปะเกิดขึ้น เมื่อจะแก้ไขโดยวิธีการแห่งปัญญา ก็ต้องไม่ใช้วิธีดึงดัน หรือมัวฟุ้งซ่านกลัดกลุ้ม แต่ต้องใช้โยนิโสมนสิการ พิจารณาให้เห็นคุณโทษของมันดังพุทธพจน์

“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิกาล เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดเกิดขึ้นว่า, ถ้ากระไร เราพึงแยกความดำริออกเป็น ๒ ฝ่าย ดังนี้แล้ว จึงได้แยกกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก ออกเป็นฝ่ายหนึ่ง และแยกเนกขัมมวิตก อพยายาทวิตก และอวิหิงสาวิตก ออกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง

“เมื่อเกิดมีกามวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดว่า เราเกิดกามวิตกขึ้นแล้ว กามวิตกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง ทำให้ปัญญาดับ จัดเป็นพวกสิ่งบีบคั้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

“เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้ กามวิตกนั้นก็สลายตัวไป เราจึงละ จึงบรรเทา กามวิตก ที่เกิดขึ้นมาให้หมดสิ้นไปได้ทั้งนั้น (พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ก็ทำนองเดียวกัน)

“ภิกษุ ยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงความดำริใดๆมาก ใจของเธอก็ยิ่งน้อมไปทางความดำรินั้นๆ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงกามวิตกมาก เธอก็ละทิ้งเนกขัมมวิตกเสีย ทำแต่กามวิตกให้มาก จิตของเธอนั้น ก็น้อมไปทางกามวิตก ฯลฯ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงเนกขัมมวิตกมาก เธอก็ละทิ้งกามวิตกเสีย ทำแต่เนกขัมมวิตกให้มาก จิตของเธอนั้น ก็น้อมไปทางเนกขัมมวิตก ฯลฯ” (เทวธาวิตักกสูตร)

การปฏิบัติธรรมช่วงแรกตามองค์มรรค ๒ ข้อต้นนี้ สรุปได้ด้วยพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินปฏิปทาอันไม่ผิดพลาด และเป็นอันได้เริ่มก่อต้นกำเนิดของความสิ้นอาสวะแล้ว ธรรม ๔ อย่างนั้น คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก สัมมาทิฏฐิ” (ทิฏฐิสูตร)



วิกิ

ผลการค้นหา