๑.๑๙ นิพพาน มีอัตตาไหม เป็นอัตตาไหม?

บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ใช้คำเรียกให้สั้นที่สุดว่าธรรม ยืดออกไปหน่อยว่าสภาวะ หรือสภาวธรรม ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ตามธรรมดาของมัน ถ้าเป็นสังขารหรือสังขตธรรม ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อพูดถึงนิพพาน ที่เป็นวิสังขาร หรืออสังขตธรรม นิพพานก็มีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของนิพพาน เช่นว่าเป็นภาวะบริสุทธิ์ ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ เป็นต้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้แล้วมากมาย เมื่อนิพพานมีภาวะของนิพพานอย่างนั้น เป็นธรรมดาเช่นนั้นอยู่แล้ว จะมีอัตตามาแทรกมาซ้อนมาครอบมาครอง มาสั่งบังคับบัญชานิพพานอย่างนั้นอย่างนี้อีก ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้  ขอให้ดูตัวอย่างในพุทธภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี่เป็นการใช้ในภาษาสมมติ (สมมติสัจจะ) ในความจริงแท้ (ปรมัตถสัจจะ) เราก็เรียนรู้กันว่าตัวเราแท้ๆนั้นไม่มีจริง ยอมรับกันแค่ตามสมมติ

นิพพานจะเป็นอัตตา จะเป็นตัวเราได้ ก็คือมีความยึดถือ ได้แก่อุปาทาน นี่ก็ขัดกับสภาวธรรมเอง เพราะจะประจักษ์แจ้งนิพพานได้ ต้องหมดสิ้นอุปาทานแล้ว พระอรหันต์จึงไม่มีความสำคัญหมายว่านิพพานของเรา

หลักพระพุทธศาสนาบอกชัดเจนว่าการถือว่ามีว่าเป็นอัตตา เป็นกิเลสที่เรียกว่า “อัตตวาทุปาทาน” หมายถึง การยึดวาทะถ้อยคำที่ส่อแสดงความคิดความเข้าใจว่ามีว่าเป็นอัตตา ขอให้สังเกตว่าประกอบด้วยศัพท์คำว่า “อัตตา+วาทะ+อุปาทาน” เพราะเมื่ออัตตาไม่มีจริง จะไปยึดอัตตาที่ไหน ก็เป็นแต่เพียงการยึดในวาทะว่ามีอัตตาเท่านั้น เป็นคำศัพท์ที่เรียกได้ว่าเคร่งครัด การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่ามีอัตตา ถ้ายังยึดว่าอะไรเป็นอัตตา ก็คือยืนยันว่ายังไม่รู้จักนิพพาน

สรุปด้วยพุทธพจน์ว่า “เรามองไม่เห็นความยึดถือวาทะว่ามีว่าเป็นอัตตา อย่างใด ที่เมื่อยึดติดถือมั่นเข้าแล้ว จะไม่ก่อให้เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส” (อลคัททูปมสูตร)


วิกิ

ผลการค้นหา