๑.๙ กิเลส

กิเลส แปลว่า สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง, สิ่งเกาะติด สิ่งเปรอะเปื้อน สิ่งสกปรก

จุดมุ่งหมายของการศึกษาเรื่องกิเลส คือ เพื่อให้มีความเข้าใจ รู้เท่าทัน ถึงคุณ โทษ ของกิเลส เพื่อเลือกที่จะใช้ประโยชน์จากกิเลสนั้น (ใช้กิเลสเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง อกุศล เปลี่ยนเป็น กุศล) หรือเลือกที่จะละกิเลสนั้นตามสมควร โดยไม่ถูกกิเลสทำให้จิตเศร้าหมอง เรียกว่า เป็นนายของกิเลส ซึ่งจะพัฒนาขึ้นตามระดับของปัญญา

อนึ่ง คำว่าละกิเลสนั้น ถ้าพูดในแง่ของผลสำเร็จเช่น พระอนาคามีละสังโยชน์ได้ ๕ ข้อ หมายถึงว่า เข้าถึงภาวะที่กิเลส ๕ ข้อนั้นไม่เกิดขึ้นอีก หรืออาจใช้คำว่า ปลอดกิเลส พระอรหันต์จึงได้ชื่อว่า ปลอดกิเลสโดยสมบูรณ์

กิเลสในชื่อต่างๆ
กิเลสทั้งหมดนั้นล้วนแต่รวมลงได้ใน ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งสิ้น การที่แยกออกมาเป็นชื่อต่างๆ เพื่อจำแนกให้เห็นชัดในลักษณะอาการของกิเลสนั้นๆแต่ละแง่ด้าน เช่น อาสวะ อนุสัย ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สังโยชน์ นิวรณ์ อุปกิเลส เป็นต้น

อาสวะ ๔  :สิ่งที่ไหลซ่านไปทั่ว, สิ่งที่หมักหมมหรือหมักดอง ไม่ว่าจะรับรู้อะไรทางอายตนะใด หรือจะคิดนึกสิ่งใด อาสวะเหล่านี้ก็เที่ยวกำซาบซ่านไปแสดงอิทธิพลอาบย้อมมอมมัวสิ่งที่รับรู้เข้ามาและความนึกคิดนั้นๆ ทำให้ไม่ได้ความรู้ความคิดที่บริสุทธิ์ และเป็นเหตุก่อทุกข์ก่อปัญหาเรื่อยไป อาสวะต่างๆเหล่านี้ จึงเป็นที่มาแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนทุกคน
    กามาสวะ    : ความใฝ่ในการสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕
    ภวาสวะ    : ความใฝ่ในความมีอยู่คงอยู่ของตัว ตลอดจนการที่จะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และดำรงอยู่ในภาวะที่อยากเป็นนั้นยั่งยืนตลอดไป
    ทิฏฐาสวะ    : ความเห็น ความเชื่อถือ แนวคิด ที่สั่งสมอบรมมา และยึดถือเชิดชูไว้ (หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ)
    อวิชชาสวะ    : ความหลง ความไม่เข้าใจ สิ่งทั้งหลายตามสภาวะโดยธรรมชาติของมันเอง, ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่รู้เห็นตามที่คิดว่ามันเป็น

อนุสัย ๗ :กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน บางอาจารย์ท่านว่ามุ่งแสดงถึงกิเลสประณีตที่ตกตะกอนนอนก้นอยู่ในจิตใจ ถ้าไม่ถูกกระตุ้นก็จะเหมือนกับว่าจะไม่ปรากฏโทษภัย แต่แท้จริงกิเลสยังคงนอนก้นอยู่ เช่น เด็กทารกกิเลสบางอย่างก็ยังไม่ฟุ้งขึ้น แต่ก็มีอนุสัยอยู่เป็นปกติ เหมือนไฟสุมภายในขอนไม้ ที่ยังไม่ลุกโพลงขึ้นมา
    กามราคะ    : ความกำหนัดในกาม
    ปฏิฆะ    : ความขัดใจ หงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ
    ทิฏฐิ     : ความเห็นผิด
    วิจิกิจฉา     : ความลังเล สงสัย
    มานะ     : ความถือตัว
    ภวราคะ     : ความกำหนัดในภพ ความอยากเป็น อยากยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน
    อวิชชา     : ความไม่รู้จริง คือ โมหะ

อนุสัย ๗ นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังโยชน์ ๗



ตัณหา ๓
นุษย์มีความอยากที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือ ความอยากมีอยู่เป็นอยู่ หรืออยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งหมายถึงความอยากให้ตัวตนในความรู้สึกนั้นคงอยู่ยั่งยืนต่อไป ความอยากเป็นอยู่นี้สัมพันธ์กับความอยากได้ คือ อยากอยู่เพื่อเสวยสิ่งที่จะให้สุขเวทนาสนองความต้องการของตนต่อไป จึงกล่าวได้ว่า ที่อยากเป็นอยู่ ก็เพราะอยากได้ เมื่ออยากได้ ความอยากเป็นอยู่ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น
    กามตัณหา     : อยากได้สิ่งสนองความต้องการทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕
    ภวตัณหา     : อยากเป็นอยู่
    วิภวตัณหา     : อยากให้ดับสูญ
(ความอยากไม่ใช่เป็นตัณหาไปเสียทั้งหมด ความอยากที่เป็นกุศลก็มี เรียกว่า ฉันทะ)

อุปาทาน ๔
ความยึดติดถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส
    กามุปาทาน     : ความยึดมั่นในกาม, จะต้องเอาต้องเสพต้องครอบครองสิ่งนั้นให้ได้
    ทิฏฐุปาทาน     : ความยึดมั่นในทิฏฐิต่างๆ, ต้องอย่างนี้ถึงจะดี ได้อย่างนี้ถึงจะเป็นสุข
    สีลัพพตุปาทาน     : ความยึดติดถือมั่นในศีลและพรตอย่างผิดๆ, ประพฤติปฏิบัติศีลพรตในแง่ที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้นั้น เช่น คุณวิเศษบางอย่าง โดยไม่เข้าใจความหมายและเหตุผลของศีลนั้น
    อัตตวาทุปาทาน     : ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา (เพราะอัตตาไม่มีจริง เมื่อพูดอย่างเคร่งครัดจึงต้องเติม วาทะ เข้าไป, ท่านจึงมักย้ำว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา หรือทำลายอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในอัตตา วาทะว่ามีอัตตา ความเห็นว่ามีอัตตา หรือภาพอัตตาที่สร้างขึ้นมายึดถือไว้)

นิวรณ์ ๕
ธรรมที่ขวางกันการเจริญจิตเจริญปัญญา, สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในกุศลธรรม
    กามฉันทะ     ความพอใจติดใคร่กาม / เปรียบเหมือนคนเป็นหนี้
    พยาบาท     ความผูกใจโกรธ หงุดหงิด ขัดใจ / เปรียบเหมือนคนไข้หนัก
    ถีนมิทธะ     ถีน : ความหดหู่ , มิทธะ : ความง่วงซึม / เปรียบเหมือนคนติดในเรือนจำ
    อุทธัจจะกุกกุจจะ     อุธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน, กุกกุจจะ : กระวนกระวายใจ / เปรียบเหมือนคนเป็นทาส
    วิจิกิจฉา     ความลังเลสงสัย คลางแคลงใจในกุศลธรรมทั้งหลาย / เปรียบเหมือนคนเดินทางกันดารมีภัยน่าหวาดเสียว)



วิกิ

ผลการค้นหา