๑. วิขัมภนวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยอำนาจสมาธิ ข่มกิเลสไว้ ได้แก่สมาบัติ ๘ แต่บางครั้งท่านผ่อนลงมาถึงอุปจารสมาธิด้วย
๒. ตทังควิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยองค์ธรรมจำเพาะ คือ พ้นจากความเห็นผิดด้วยอาศัยวิปัสสนาญาณที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น พิจารณาความไม่เที่ยงทำให้พ้นจากความสำคัญหมายว่าเป็นของเที่ยง ตามความหมายที่ผ่อนลงมาใช้ได้กับความดีความชั่วทั่วๆไป เช่น น้อมใจไปทางทาน ทำให้พ้นจากความโลภ, น้อมใจไปทางเมตตา ทำให้พ้นจากพยาบาท เป็นต้น
๓. สมุจเฉทวิมุตติ : ความหลุดพ้นเด็ดขาด คือการทำลายกิเลสที่ผูกรัดไว้ ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นมรรค
๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยสงบระงับราบคาบไป ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นผล
๕. นิสสรณวิมุตติ : ความหลุดพ้นที่เป็นภาวะหลุดรอดปลอดโปร่ง ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นนิพพาน
วิมุตติ ๒ อย่างแรกเป็นโลกิยวิมุตติ (ชั่วคราว), วิมุตติ ๓ อย่างหลังเป็นโลกุตรวิมุตติ (ถาวร) ว่าโดยสาระแท้ๆ วิมุตติ ๕ นี้ก็คือ สมถะ วิปัสสนา มรรค ผล และนิพพาน ตามลำดับ