สฬายตนะของท่านก็ยังมีอยู่ ผัสสะของท่านก็ยังมีอยู่ จักขุสัมผัสสชาสุขเวทนา จักขุสัมผัสสชาทุกขเวทนามีอยู่เหมือนกับคนธรรมดาทุกอย่าง เหมือนกันหมดมา แตกต่างจากปุถุชนอยู่ตรงที่ว่าปัจจุบันเหตุท่านไม่มีแล้ว ไม่ต่ออีกแล้ว ตัณหาอุปาทานกรรมภวะท่านไม่มีแล้ว แตกต่างกันตรงนี้ ห่างไกลวิบากธรรมนอกนั้นเหมือนกันหมด เพราะพระอรหันต์ในชาตินี้ท่านก็มีอวิชชาสังขารอันเป็นอดีตเหตุมาทุกองค์นั่นแหละ ถ้าไม่มี ท่านก็ไม่มาเกิดเป็นคนในชาตินี้ ท่านก็มีอวิชาสังขารเป็น อดีตเหตุมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งส่งผลได้แก่วิบากในปัจจุบัน ได้แก่วิญญาณเอย นามรูปเอย สฬายตนะเอย ผัสสะเอย เวทนาเอย เหมือนกับปุถุชนทุกอย่างหมด แตกต่างกับปุถุชนตรงที่ว่า ท่านไม่ได้ก่อปัจจุบันเหตุเพื่อผลในอนาคต
ปัจจุบันเหตุที่ท่านไม่มีคืออะไร ? คือตัณหาอุปาทานกับกรรมภวะไม่มี ท่านไม่ได้ก่อขึ้น
ปัจจุบันเหตุ ๓ อันท่านไม่มี ส่วนปุถุชนมี ปุถุชนนั้นพอจักขุสัมผัสสชาสุขเวทนานั้น พอถึงแค่สุขเวทนา ไม่ถึงเพียงแค่นี้ แล่นปรี๊ดถึงตัณหาเลย พระอรหันต์พอกำหนดแค่เวทนาก็อยู่แค่เวทนาไม่ได้แล่นถึงตัณหา
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่าพระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์เหมือนกับปถุชนเสวยทุกอย่าง แต่ท่านมีชรังอุเบกขา ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ทั้งหลาย อุเบกขาที่เป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ เรียกว่าชรังอุเบกขา อาการที่รู้เท่าทันความเป็นจริงไม่ให้เกิดนันทิราคะ เพราะเหตุนั้นความเพลินเพราะเหตุที่เสวยอิฏฐารมณ์หรือเกิดความดิ้นรนอยากจะให้พ้นไปเพื่อจะแยกเอาอารมณ์ดีใน ขณะที่เสวยอนิฏฐารมณ์ หรือเกิดความเมามัวตามไปเพราะเหตุที่เสวยมัฏชัฎตารมณ์ คืออุเบกขาเวทนาที่ได้รับเสวยมัฎชัฏตารมณ์เข้ามาท่านไม่มีสิ่งเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นเวทนาที่เกิดกับพระอรหันต์เจ้าจึงไม่มีราคะเป็นอนุสัยตามนอนเนื่อง เมื่อไม่มีราคะเป็นอนุสัยตามนอนเนื่อง เวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาก็มีไม่ได้ มันหมดเพียงแค่นั้น และไม่เกิดปฏิคะความนอนเนื่องในทุกขเวทนา เหตุนั้นตัณหาก็เกิดขึ้นไม่ได้ ในการที่จะดิ้นรนเพื่อจะให้พ้นจากทุกขเวทนานั้น ไม่เกิดอวิชชาตามนอนเนื่องในขณะที่รับมัฏชัฎตารมณ์ เพราะเหตุนั้นตัณหาก็ไม่เกิดขึ้นในอารมณ์อันนั้น
เพราะเหตุที่พระอรหันต์ปัจจุบันเหตุ ๓ ไม่มี, ชาติ ชรา มรณะ โศกะ อันเป็นอนาคตผลของท่านจึงไม่เกิดกับท่าน ท่านจึงปฏิญาณตนได้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่จะพึงทำสิ้นแล้ว ไม่มีอีกแล้ว นี้เป็นที่สุด ชาติ อื่น ๆ จากชาตินี้ของเราไม่มี ปฏิญาณได้อย่างนี้
คราวนี้อีกมติหนึ่งคือท่านผดันตะปรมะทัตตะ ท่านผดันตะปรมะทัตตะกล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นไปได้ชั่วขณะ จิตดวงเดียวเป็นไปได้ทั้ง ๑๒ องค์ ชั่วขณะอารมณ์เดียว เป็นไปได้ครบทั้ง ๑๒ องค์ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ? ท่านให้ความอธิบายว่าเปรียบเหมือนเราเกิดโลภะในอารมณ์ โมหะมาคู่กับโลภะ โลภะนั้นมาเดี่ยวไม่ได้ ต้องมากับเพื่อนของเขาคือโมหะ เพราะฉะนั้นโมหะอันนั้นชื่อว่าอวิชาในขณะนั้น โลภะชื่อว่าตัณหาในขณะนั้น จิตในดวงที่เกิดโลภ โลภะมูลจิตดวงนั้นชื่อว่าวิญญาณ ขณะจิตดวงนั้นชื่อว่าวิญญาณ สังขาร ได้แก่เจตสิกที่สัมปยุตต์กับโลภะมูลจิตดวงนั้นชื่อว่าสังขาร ในขณะนั้น และนามรูป นามก็ได้แก่เวทนา สัญญาที่สัมปยุตค์กับโลภะมูลจิตดวงนั้นเองอีกนั่นแหละ
ชื่อว่านามรูปนั้นได้แก่วิญญัติรูปที่โลภะมูลจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ชื่อว่ารูป สฬายตนะ ก็ได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในขณะที่โลภะมูลจิตเป็นไปในขณะนั้น นี่เป็นสฬายตนะ ผัสสะก็ได้แก่ผัสสะในขณะนั้นอีกเหมือนกัน เพราะว่าในขณะจิตทุกดวงมีผัสสะเวทนาอีกเหมือนกัน ได้แก่สุขเวทนา ความพอใจรู้สึกว่าสบาย สุขเวทนาในขณะนั้น และตัณหาก็คือตัวโลภะนั่นเอง ที่ได้กล่าวมาแล้ว อุปาทานคือความยึดถือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภในขณะนั้น ภวะก็ได้แก่การ ประกอบกรรมบ้าง วจีกรรมบ้าง เช่น อาการเข้าไปลักอย่างนี้เป็นภวะ เข้าไปลักเพราะอำนาจโลภ ยื่นมือไปลักอย่างนี้
ในขณะนั้นก็เหมือนกันชราคืออาการที่ดวงจิตขณะนั้นแปรไปชื่อว่าชรา มรณะคือขณะจิตดวงนั้นดับไปชื่อว่ามรณะ เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เป็นไปได้ในอารมณ์เดียว ขณะเดียวครบทั้ง ๑๒ องค์ นี้อธิบายตามนัยของท่านผดันตะว่าอย่างนี้
แต่ว่าอาจารย์แห่งนิกายเสาตันติกะค้านว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าหากว่าปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ดวงจะพึงเป็นไปในดวงจิตดวงเดียวแล้ว เหตุกับผลก็มาอยู่ด้วยกัน ต้องมีขณะหนึ่งเป็นเหตุ ขณะหนึ่งเป็นผล ถ้าอย่างนั้นเหตุกับผลก็อันเดียวกันนะ เราจะเอาอะไรไปแยกว่าอันนี้เป็นเหตุอันนี้ผล อันนี้เป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม อันนี้เป็นปฏิจจสมุปบณธรรมเล่า ? ธรรมดาเราจะรู้ว่าเหตุผลอย่างน้อยต้องมี ๒ ขณะ ขณะหนึ่งที่เป็นเหตุ ขณะหนึ่งที่เป็นผล ก็เมื่อกล่าวว่า ๑๒ ดวงจับกลุ่มอยู่ในขณะเดียวแล้ว อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล แยกไม่ออก เพราะฉะนั้นการที่กล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นไปได้ในอารมณ์เดียว
นิกายเสาตันติกะไม่เห็นด้วย จึงได้คัดค้านอย่างนี้ แต่โดยสรุปแล้วปฏิจจสมุปบาทท่านแสดงไว้ ดังมีพุทธภาษิตกล่าวว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดที่พวกเธอได้เห็นปฏิจจสมุปบาท
ด้วยปัญญาตามเป็นจริงชื่อว่าเห็นธรรม โย ธมมํ ปสฺสติ โส มํ ปสสติ"
คำว่า “ธมมํ” ในที่นี้ อีกนัยหนึ่งท่านหมายถึงอริยสัจจ์ อีกนัยหนึ่งท่านหมายถึงปฏิจจสมุปปาณธรรม เห็นปฏิจจสมุปบาทชื่อว่าเห็นธรรม เห็นธรรมก็ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทธรรม เห็นอันเดียวกันด้วยเป็นอย่างนั้น แล้วก็ตรัสไว้ว่า ปฏิจจสมุปบาทนี่แหละเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ที่กล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทนี่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือเป็นอย่างไร ?
คือว่าคำว่า "ปฏิจจะ" ห้ามเสียซึ่งสสตะทิฏฐิ
คำว่า "อุปาทะ" ห้ามเสียซึ่งอุจเฉททิฏฐิ
คำว่า "ปฏิจจสมุปบาท" แปลว่าความเกิดขึ้นพร้อมกัน
ความที่ธรรมอันมีปัจจัยประชุมกันชื่อว่าปฏิจจะจึงดับเสียได้ซึ่งสสตะทิฎฐิ เพราะสสตะทิฏฐินั้นคือสสตะทิฏฐิที่เห็นว่าเที่ยงได้ก็เพราะมองไม่เห็นปัจจัยที่มาปรุงแต่งในภาวะนั้น จึงหลงผิดเอาว่าภาวะนี้เที่ยง แต่เมื่อใดเราเห็นว่าภาวะนี้มันก็สำเร็จมาจากปัจจัย ความรู้สึกว่าเที่ยงในภาวะนั้นก็ไม่มี สิ่งใดเกิดจากปัจจัย สิ่งนั้นก็ไม่มีสาระในตัวมันเอง สิ่งใดไม่มีสาระในตัวมันเอง สิ่งนั้นก็แปรผันได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเพียงลำพังปฏิจจะอันเดียวดับได้ซึ่งสสตะทิฎฐิแล้ว
ส่วนอุปาทะดับซึ่งอุจเฉททิฏฐินั้นเพราะอุจเฉททิฏฐิมองแต่ข้างดับ ไม่เห็นข้างเกิด อุปาทะแปลว่าความเกิดขึ้น ความเกิดขึ้นชื่อว่าอุปาทะ การที่เกิดสสตะทิฎฐิเห็นแต่ข้างเกิด ไม่เห็นข้างดับ จึงเกิดสสตะทิฏฐิได้ เห็นแต่ข้างเกิดข้างเดียว ข้างดับมองไม่เห็นจึงเลยมองเห็นว่าเที่ยงแล้ว พรหมโลกนี้เที่ยง อาตมันเที่ยง ตัวตนเที่ยง เห็นแต่เกิดเรื่อยไปไม่เห็นดับ จึงได้เกิดสสตะทิฎฐิ
คนที่เกิดอุจเฉททิฏฐิก็เพราะเห็นแต่ตับ ไม่เห็นเกิด เห็นมันดับเรื่อยไป ๆ ก็หายไป ๆ ก็วูบไป ๆ ก็ว่างไป ๆ ก็หมด เกิดอุจเฉททิฎฐิขึ้นมา ขาดสูญอื่นทุกสิ่ง นี่เห็นแต่ข้างดับไม่เห็นข้างเกิด เพราะฉะนั้นอุปาทะจึงห้ามเสียซึ่งอุจเฉททิฏฐิ ปฏิจจสมุปปาณธรรมจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาตามนัยนี้ คือห้ามทั้งสสตะทิฏฐิกับอุจเฉททิฏฐิ แสดงธรรมเป็นท่ามกลางว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี อาการที่แสดงอย่างนี้แหละเป็นมัชฌิมาปฎิปทา
พระองค์ได้ตรัสในสังยุตตนิกายว่า
"ดูก่อนกัจจายนะ เมื่อใดแลมาพิจารณาเห็นโลกสมุทัย ความเกิดขึ้นของโลกย่อมมีปัจจัยอย่างนี้ ๆ เป็นลำดับไป เมื่อนั้นย่อมละได้ละเสียซึ่งอัตถิตาความมีอยู่ได้ คือสสตะทิฏฐิ เมื่อใดมามองเห็นว่าทุกสิ่งทั้งหลายย่อมดับไป เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นก็ย่อมดับเสียได้ซึ่งนัตถิตา ความเห็นว่าขาดสูญ จะช่วยความมีอยู่อีกเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ช่วยความไม่มีอยู่อีกเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยท่ามกลาง"
แสดงโดยท่ามกลางเป็นไฉน ?
กล่าวคืออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารโดยลำดับ นี้เป็นสายสมุทัยวาร แล้วประการตรงกันข้าม อวิชชาดับ สังขารดับ วิญญาณดับ นี้เป็นสายนิโรธวารเป็นลำดับ เมื่อเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ทิฎฐิอันเป็นส่วนสุดทั้งสองคืออัตถิตากับนัตถิตาของผู้นั้นย่อมไม่เกิด นี้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
เพราะฉะนั้นมัชฌิมาปฏิปทามี ๒ นัย นัยหนึ่งหมายถึงมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ หมายถึงภาเวตปะธรรม คือตัวที่จะต้องเข้าไปอบรมให้มีที่เดียว ส่วนมัชฌิมาปฏิปทาตามนัยปฏิจจสมุปบาทนั้นคล้ายกับว่าเป็นทางทฤษฎี
มรรค ๘ ทางปฏิบัติกับทางทฤษฎีต่างกันอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทเป็นมัชฌิมาปฏิปทาในทางทฤษฎี ส่วนมรรคมีองค์ ๘ เป็นมัชฌิมาปฏิปทาในทางปฏิบัติ นี่ฉีกให้เห็นข้อแตกต่างกันอย่างนี้ แล้วเราก็จะเข้าใจความหมาย ผู้ที่เห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นชื่อว่าได้ธรรมฐิติญาณ ปุพเพ โช สุสิม ธมฺมฐิติญาน ภวา ปชฺชานิพพานาญาเนติ ตรัสว่า
"ดูก่อน สุสิมะ ธรรมฐีติญาณย่อมเกิด นิพพานญาณย่อมเกิดตามมาภายหลัง"
นี้ทรงแสดงไว้ในสังยุตตนิกาย ธรรมฐีติญาณ คือญาณความรู้ในปฏิจจสมุปบาทนี้แหละชื่อว่าธรรมฐีติญาณ เพราะถ้ารู้ปฏิจจสมุปบาทแล้ว ความรู้ในไตรลักษณ์ญาณก็ปรากฏ เมื่อเห็นทุกสิ่งว่าอวิชชาเป็นปัจจัยเป็นลำดับแล้ว เราก็เห็นว่า อ้อ ! นี่เป็น อนิจจัง นี่เป็นทุกขัง และเป็นอนัตตา ที่เป็นอนัตตาเพราะไม่มี หาสภาวะคงที่ไม่ได้ มองไปก็เป็นลูกโซ่ เพราะอันนี้มีอันนั้นจึงเกิด อันนี้ไม่มี อันนั้นก็ไม่มี อันนั้นดับเหตุ อันนี้จึงจะดับ เห็นเป็นอย่างนี้ไป เมื่อเห็นเป็นอย่างนี้ไปแล้ว อัตตานุทิฏฐิจะเกิดได้อย่างไร ? เกิดไม่ได้ !
วิปลาสธรรมคือความเป็นสุขวิปลาส ความเห็นว่างาม หรือความนิจวิปลาส ความเห็นว่าเที่ยงแท้จะมีได้อย่างไร ? เพราะเห็นว่าอันนี้จึงมี เกี่ยวพันกันอย่างนี้ วิปลาสคืออัตตวิปลาส ๑ สุขวิปลาส ๑ นิจวิปลาส ๑ เกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าอาการที่เราไม่เห็นสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่มีตาม ให้เห็นอย่างเดียวว่าอันนี้เกิดเรื่อย ๆ ไป เราจึงถือว่ามีแก่นสารใช่ไหม ? ถ้าเมื่อใดเรามาพิจารณาตามนัยปฏิจจสมุปบาทดังได้รู้อยู่แล้ว ความเป็นแก่นสารในสิ่งทั้งปวงนั้นก็หายวูบไปจากใจเรา เมื่อหายวูบไปจากใจเราอะไรเกิดขึ้นเล่า ? ก็ไตรลักษณ์ญาณ วิปัสสนาญาณ ความเป็นจริงได้ปรากฏขึ้นแล้วว่านี้เป็นอนิจจังจริง ทุกขังจริง อนัตตาจริง ความยึดถือก็ปล่อยไป เพราะฉะนั้นญาณกำหนดรู้ปฏิจจสมุปบาทจึงชื่อว่าธรรมฐิติญาณ เมื่อกำหนดรู้ธรรมฐีติญาณเกิดแล้ว นิพพานญาณจึงเกิด ญาณกำหนดรู้ในนิพพานจึงเกิดตามมา จึงได้นิพพานเป็นอารมณ์ได้
พูดง่ายๆ ว่าธรรมฐีติญาณนั้นคือวิปัสสนาญาณนั้นเอง วิปัสสนาญานใดก็คือญาณที่กำหนดในปฏิจจสมุปบาทนั้นเอง เป็นไปในปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าทำอะไรๆ ก็ตามจะหนีพ้นจากปฏิจจสมุปบาทไม่มี ขันธ์ ๕ ก็อยู่ในปฏิจจสมุปบาท เราบอกว่ากำหนดขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นั่นแหละกำหนดในปฏิจจสมุปบาทละ กำหนดขันธ์ ๕ กำหนดอารมณ์นั้นแหละ กำหนดปฏิจจสมุปบาทอีก อะไรบ้างที่จะไม่กระทบปฏิจจสมุปบาทในโลกนี้ไม่มีเลย โลกคือปฏิจจาสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือโลก อันเดียวกันนั้นเอง
เรื่องปฏิจจสมุปบาทตามนัยนานาทัศนะก็จบลงโดยย่อเพียงเท่านี้
หน้า๑ หน้า๒ หน้า๓ หน้า๔ หน้า๕ หน้า๖ หน้า๗