คำว่า "ปัณณธรรม" นี้แหละในสมัยโบราณได้พัฒนาการมานานในรูปของคำว่าปัจจยุคปัณณธรรม คำนี้แหละมาจากในพระสูตรว่าปฏิจจสมุปปัณณธรรม มาถึงยุคพัฒนาทางอภิธรรม ศัพท์นี้ พระอาจารย์ก็ได้เขียนขึ้นว่าเป็นปัจจยุคปัณณธรรม คำที่เกิดจากปัจจัยคำนี้ ด้านในพระสูตรเรียกว่าปัณณธรรม เพราะฉะนั้นในปัฏฐานที่ท่านกล่าวว่าเป็นปัจจยธรรม ๑ ปัจจยะสมุปปัณณธรรม หรือปัจจยุคปัณณธรรม ๑ อันนี้มีแล้วในพระสูตร คือในคำว่าปาณธรรมกับปัณณธรรม
ทั้ง ๒ คำนี้แตกต่างกันอย่างไร ?
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่าอะไรที่เป็นปาณธรรม ธรรมอันอาศัยการเกิด ? ทำไมจึงเป็นธรรมอันอาศัยการเกิด ? เพราะว่าตามพุทธมติ สรรพสิ่งในโลกนี้ที่เป็นไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลยที่จะยืนอยู่ได้โดยเอกเทศ โดยตัวของมันเอง พุทธมติค้านเรื่องสมบูรณภาพนิยมไม่ว่าสมบูรณภาพนิยมนั้นจะปรากฏในรูปของวิญญาณ อันเป็นทิพย์ก็ดี หรือปรากฏในรูปของพระเจ้าอันเป็นทิพยสภาวะ เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ไม่ปรากฏ ก็ดี พระพุทธศาสนาคัดค้านทั้งสิ้น เพราะถือว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนแต่อิงอาศัยกันเกิดทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้โดด ๆ เดี่ยว ๆ โดยไม่ต้องแอบอิงอีกสิ่งหนึ่งสัมพันธ์กันเกิด
ทั้งนี้เราจะพูดง่าย ๆ ว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องสัมพันธภาพนิยมก่อนไอสไตน์ตั้งสองพันกว่าปี ไอสไตน์เพิ่งจะมาค้นพบหลักทฤษฎีสัมพันธภาพนิยมในชั่วระยะเพียงไม่นานมานี้เอง แต่ว่าพระพุทธศาสานั้น ได้เข้าถึงหลักแห่งสัมพันธภาพนิยมตั้งสองพันกว่าปีมาแล้ว เพราะมองว่าสรรพสิ่งที่เป็นโลก โลกธรรมทั้งหมดนี้สัมพันธ์กันทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นธาตุแท้ของบริสุทธิ์เป็นอยู่ด้วยตัวมันเองไม่มีเลย หลักการอันนี้ในวิทยาศาสตร์สมัยก่อนหน้าไอสไตน์ไม่มีใครเชื่อ เพราะว่าวิทยาศาสตร์สมัยก่อนนั้นเชื่อว่าธาตุแท้มีอยู่ในโลกที่เป็นอันติมะ (ความจริงสุดท้าย ความจริงสูงสุด) ไม่สามารถจะย่อยได้อีกแล้ว ไม่สามารถกระจายได้อีกแล้ว เป็นธาตุแท้ทั้งหมดเพียงแค่นี้
วิทยาศาสตร์ในสมัยก่อนนั้นสอนอย่างนี้ ก็คล้ายกันกับไวเสสิกะในสัททัสสนะของอินเดีย ลัทธิไวเสสิกะสอนว่าปรมาณูนี้เป็นอสังขตะ เราไม่สามารถจะแยกปรมาณูออก ปรมาณูนั้นเป็นอันติมะชิ้นสุดท้ายของสสาร ไม่สามารถจะแยกย่อยสลายปรมาณูไปได้อีกแล้ว ไวเสสิกะสอนอย่างนี้ ซึ่งลัทธินี้มีอายุก่อนนักวิทยาศาสตร์จะค้นพบหลักปรมาณูตั้งหลายพันปีที่เดียว อันนี้เราต้องชมเชยความก้าวหน้าในทางความคิดของนักปราชญ์อินเดียในสมัยโบราณเป็นอย่างมาก ที่มีความก้าวหน้าถึงขั้นรู้จักปรมาณู รู้จักความเที่ยงแท้ของปรมาณู แต่พอพระพุทธเจ้าอุบัติ พระพุทธเจ้าก็สอนว่า แม้แต่ปรมาณูที่พวกท่านนึกว่าเป็นอันติมะนั้นก็ยังไม่ใช่อันติมะ แต่ยังแยกได้อีก มันไม่ใช่มีด้วยลำพังตัวมันเอง มันต้องแอบอิงปัจจัยอีกหลาย ๆ สิ่งปรุงมันขึ้นมา เพราะฉะนั้นการที่ลัทธิไวเสสิกะจะถือว่าปรมาณูเป็นอันติมะนั้นเป็นโมฆะไปเสียแล้ว พระพุทธองค์ไม่ทรงรับรองในทิฎฐิของไวเสสิกะ ไม่ถือว่ามีสิ่งอันสมบูรณ์ในเอกภพ ถ้าหากว่าสิ่งสมบูรณ์ในเอกภพจะพึงมี สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ของในเอกภพแต่เป็นของนอกเอกภพออกไป นั่นคือโลกุตตรธรรมหรือพระนิพพาน
พระนิพพานเป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับโลก ไม่เป็นโลก แต่ถ้าหากว่าเป็นโลกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแก่นโลกหรือเป็นพฤติการณ์ของโลกล้วนแต่ไม่เป็นสิ่งสมบูรณ์ทั้งสิ้น เพราะอะไร ? เพราะโลกเป็นปฏิจจสมุปบาทแอบอิงอาศัยปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นมา ไม่มีภาวะโดดเดี่ยวที่เป็นอยู่ได้โดยตัวมันเอง ถ้าสิ่งใดที่จะเรียกว่าเป็นภาวะโดดเดี่ยวเป็นอยู่ได้ในตัวมันเองนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่โลก สิ่งนั้นต้องตรงกันข้ามโลก คือ โลกุตตระ คือพระนิพพานนั้นเอง นิพพานนั้นดับโลก เพราะฉะนั้นจึงดับในสิ่งที่เป็นปฏิจจสมุปบาท สิ่งอันใดเป็นโลก อันนั้นก็เป็นปฏิจจสมุปบาท อันนี้พุทธภาษิตก็มีเป็นอันมากในพระสูตรที่ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าโลก โลกเป็นไฉน ? ธรรมชาติใดย่อมแปรเปลี่ยนไปได้ ธรรมชาดนั้นชื่อว่าโลก" เพราะฉะนั้นไม่ว่าเป็นปรมาณูก็ตาม ไม่ว่าเป็นพลังงานอะไรต่าง ๆ ก็ตามถ้าเป็นโลกแล้วมันแปรเปลี่ยนไปได้ทั้งนั้น มันแปรปรวนไปได้ทั้งนั้น แล้วแต่ปัจจัยของมัน เพราะสรรพสิ่งที่ปรากฏแก่เรานั้นเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม
คราวนี้เมื่อเรามาพูดถึงปฏิจจสมุปปาณธรรม ก็ทำให้นึกถึงปาฐกถาของศาสตราจารย์ชาวเยอรมันที่เคยมาพูดที่นี้ วันนั้นผมไม่ได้มาฟังหรอก ฟังจากข้อเขียนที่ภายหลังที่มาพูดแปลออกมาแล้ว ศาสตราจารย์บอนชมิดท์ ชาวเยอรมันที่มาพูดบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทในคืนตรัสรู้หรอก มาตรัสรู้หลังจากวันตรัสรู้แล้ว อ้างอิงพระสูตรบ้าง หลักฐานต่าง ๆ มาอ้างบ้าง น่าเสียดาย วันนั้นผมเองก็ไม่ได้มาฟังด้วย คือข้อเสนอของศาสตราจารย์บอนชมิดท์นั้นผิดพลาดจากข้อเท็จจริงทีเดียว อาจจะเกิดจากตัวท่านเองไม่ได้ค้นคว้าหรืออาจจะลืมไป ความจริงหลักฐานในพระสูตรแสดงไว้ชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทในวันตรัสรู้ แสดงไว้ชัดเจน ยกตัวอย่างในสิขายตนะสูตร แห่งบาลีติกนิบาตอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่ชื่อว่า โลกกับสมุทัยนั้นเป็นไฉน ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั้นแล สังขารจึงมี เพราะสังขารนั้นแล วิญญาณจึงมี" แสดงเป็นลำดับ แสดงเป็นปฏิจจสมุปบาท โลกกับสมุทัย คือเหตุเกิดของโลกนั้นได้แก่ปฏิจจสมุปบาท และในประการตรงกันข้ามก็ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่ว่าโลกนิโรธนั้นเป็นไฉนเล่า ? ก็แยกเป็นนิเทศว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารดับ, สังขารดับ วิญญาณดับ, วิญญาณดับ นามรูปดับ, นามรูปดับ สฬายตนะ สฬายตนะดับ ผัสสะดับ. ผัสสะดับ เวทนาดับ เวทนาดับ ตัณหาดับ, ตัณาราดับ อุปาทานดับ, อุปาทานดับ ภพดับ, ถ้าพบดับแล้ว ชาติชรามรณะโสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสะ และกองทุกข์กองมหึมาก็ดับสลายไปด้วย นี้แล ชื่อว่าโลกนิโรธ เพราะฉะนั้นหลักฐานในอังคุตรนิกายอันหนึ่ง หลักฐานอีกอันหนึ่งในบาลีสังยุตตนิกายนิทานวรรค ทรงแสดงบอกว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ตถาคตยังเป็นโพธิสัตว์อยู่นั้น ได้มนสิการว่า เพราะอะไรหนอ โสกะปริเทวะจึงมี ? ทุกขโทมนัสอุปายาสจึงมี ? ครั้นคิดค้นแล้วก็ปรากฏว่า เพราะชาตินั่นเอง โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสจึงมี คิดค้นต่อไปอีกว่า เพราะอะไรหนอ ชาติจึงมี ? ก็ได้พบความจริงว่า เพราะภพนั่นเองชาติจึงมี อย่างนี้เป็นรูปของปฏิโลม คิดย้อนขึ้น ทั้งอนุโลม ทั้งปฏิโลม ทั้งปฏิโลม ทั้งอนุโลม ตถาคตจึงพบว่า ถ้าหากว่าอวิชชาดับแล้ว ของพวกนี้ก็ดับเป็นทิวแถวกันหมดทีเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ตถาคตได้มารู้แจ้งแล้วในปฏิจจสมุปบาท จึงกล้าปฏิญาณตนว่าเป็นสัมมาสัมพทธะ อันยังธรรมจักรให้หมุนไป ซึ่งเทวดามารพรหมสมณพราหมณ์ ไม่มีคนใดคนหนึ่งที่สามารถยังธรรมจักรนี้หมุนกลับไปได้”
นี่ พุทธภาษิตในอาคตะสถานเป็นอันมาก มีปรากฏมากมาย ไม่ทราบว่าท่านศาสตราจารย์เยอรมันไม่ได้ดูหรืออย่างไรก็ไม่รู้ มากล่าวตู่บอกว่า พระพุทธเจ้านะไม่ได้ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทในวันตรัสรู้ ตรัสรู้แต่อริยสัจจ์ อริยสัจจ์นั่นแหละคือปฏิจจสมุปบาท แต่ว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นถูกอริยสัจจ์ครอบปฏิจจสมุปบาท ครอบอย่างไร ? ทุกขอริยสัจจกับสมุทัยอริยสัจจ์นั้นได้แก่ปฏิจจสมุปบาท สายสมุทยวาระ คือสายโลกกับสมุทัย
เหตุเกิดของโลกได้แก่อะไร ? ได้แก่ อวิชชา ตัณหาอุปาทานเป็นลำดับ เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทสายสมุทวาระ ก็คือทุกขอริยสัจจ์กับสมุทัยอริยสัจจ์ ปฏิจจสมุปบาทสายนิโรธวาระ อวิชชาดับ สังขารดับ เป็นลำดับนั้น ก็ได้แก่นิโรธอริยสัจจ์นั่นเอง โลกนิโรธนั้นเอง และอันใดเป็นโลกนิโรธ อันนั้นก็เป็นมรรคด้วย คือการที่ปฏิบัติเพื่อความดับอันนั้นแลเป็นมรรคสัจจ์ เพราะเหตุนั้น ปฏิจจสมุปบาทนั้นอยู่ในอริยสัจจ์นั่นเอง ไม่ใช่หนีไปไหนเลย
พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์ในยามสุดท้ายแห่งราตรีหรือในอาสวักขยะญาณ อันเป็นเหตุให้ได้อาสวักขยะญาณ ญาณนั้นแลตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทอันใด อริยสัจจ์ก็อันนั้น อริยสัจจ์อันใด ปฏิจจสมุปบาทก็อันนั้นเอง ไม่ได้ต่างไปจากไหนเลย เรามาเข้าใจผิดมาแยกเอาเองต่างหากว่าปฏิจจสมุปบาทก็ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจจ์ก็ส่วนอริยสัจจ์ ในบาลีอุทานวรรคมีเค้าความอันหนึ่งที่ชวนให้นึกว่าพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทหลังตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ คือว่าในบาลีอันนั้นเล่าว่า พระพุทธเจ้าหลังวันวิสาขปุณณมีแล้วได้ทรงพิจารณาธรรมะแล้วในขณะที่พิจารณานั้น ได้ทรงยกเอาปฏิจจสมุปบาทขึ้นพิจารณา ข้อนี้เองที่ท่านบอนชมิดท์ที่เอามาอ้างบอกว่า นี่แหละพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ปฏิจจสมุปบาทหลังตรัสรู้ ข้อนี้เอง แต่บาลีเนื้อความอุทานวรรคข้อนั้นเป็นเพียงแต่แสดงว่า พระองค์นำปฏิจจสมุปบาทขึ้นมาพิจารณาเป็นปัจจเวกขณญาณ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมาทำให้มีขึ้นหลังวันตรัสรู้ ไม่ใช่เลย เพียงแต่ทรงมนสิการว่า อวิชามี สังขารมี วิญญาณมี เป็นลำดับ มนสิการ ท่านใช้ศัพท์ว่า "กาโร มนสิการ" ไม่ได้ใช้คำว่า "อภิสัมโพธิ" คือเข้าไปทำให้แจ้ง หรือเข้าไปแทงให้ทะลุ เปล่าเลย เพราะทำให้แจ้งตั้งแต่ในอาสวักขยญาณ ราตรีสุดท้ายแห่งวันตรัสรู้แล้ว ไม่ต้องมาทำให้แจ้งกันบ่อยๆ อีกแล้ว เป็นเพียงแต่ยกขึ้นมาพิจารณาทบทวนอีกที
นี่แหละที่ทำให้ท่านโปรเฟสเซอร์ชาวเยอรมันเข้าใจผิดไปคว้าเอาตอนนี้บอกว่า นี่แหละพระพุทธเจ้ามารู้ปฏิจจสมุปบาทหลังวันตรัสรู้ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายที่ฟังปาฐกถาวันนั้นแล้วโปรดทำความเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องตามที่ว่ามานด้วยว่า พระพุทธเจ้านั้นตรัสรู้อริยสัจจ์กับปฏิจจสมุปบาทเหมือนกัน อันเดียวกัน ปฏิจจสมุปบาทสงเคราะห์เข้าในอริยสัจจ์ ๔ ให้เข้าใจอย่างนี้ด้วย จะได้ไม่หลงผิดต่อไป เมื่อเรารู้ว่าปฏิจจสมุปบาทได้แก่ธรรมที่อิงอาศัยกันเกิดแล้ว คำว่า "อิมัสมิง สติ อิทัง โหติ" ข้อนี้สำคัญที่สุด อธิบายปฏิจจสมุปบาทอย่างย่อที่สุด เรียกว่าหัวใจปฏิจจสมุปบาทก็ว่าได้
อิมัสมิง สติ อิทั้งโหติ เพราะสิ่งอันนี้มี สิ่งอันนั้นจึงมี อันหนึ่ง
อิมัสสปาทา อิทะมุปัชชติ เพราะสิ่งอันนี้เกิด สิ่งอันนั้นจึงเกิด
อิดัง นโหติ เพราะสิ่งอันนี้ไม่มี สิ่งอันนั้นก็ไม่มี
อิมัสสะ นิโรธา อิทั้ง นิรุชชตีติ เพราะสิ่งอันนี้ดับ สิ่งอันนั้นจึงดับ
นี่เป็นลูกโซ่กันเลย เป็นสายโซ่ที่เดียว ที่กล่าวว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผลนั้น นอกจากจะเป็นเหตุผลในแง่คำสั่งสอน เหตุผลในแง่เผยแพร่ เหตุผลในแง่ตรรกะ เหตุผลในแง่อะไรร้อยแปดอะไรก็ตาม แต่ว่าเหตุผลอันเป็นแก่นสารสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นสาระสำคัญในพุทธศาสนานั้นก็คืออันนี้ เหตุผลอันนี้ อิมัสมิงสติ สิ่งนี้มี อิทัง โหติ สิ่งนั้นก็มี เพราะอันนี้มี อันนั้นก็มี อันนี้มีอันนั้นมี อันนี้คืออะไร? อวิชชา สังขารมี อิมัสมิงสติ เปรียบว่าอวิชชา อิทัง โหติ เปรียบว่าสังขาร เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันก็มี อิมัสสุปาทา สิ่งนี้เกิด อิทะมุปัชชติ สิ่งอันนั้นมันจึงเกิดได้ อวิชชา เกิดแล้วสังขารมันจึงเกิดขึ้นมาได้ ถ้าหากว่าอวิชชาไม่เกิดแล้ว สังขารอันนั้นก็ไม่เกิด
อันหนึ่ง อิมัสมิง อัสสติ ถ้าอันนี้ไม่มีแล้ว อิทัง โหติ อันโน้นก็ไม่มี อวิชชาถ้าไม่มีแล้ว สังขารก็มีไม่ได้ อิมัสสะ นิโรธา อิทั้ง นิรุชชตีติ เพราะอันนี้มันดับ อันนั้นก็พลอยดับไปด้วย เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็พลอยดับไปด้วย อันนี้เป็นหลักเหตุผล หรือหลักหัวใจย่อ ๆ ของปฏิจจสมุปบาท แสดงอย่างนี้ เป็นหลักย่อ ๆ (อ่านหน้าต่อไป)
หน้า๑ หน้า๒ หน้า๓ หน้า๔ หน้า๕ หน้า๖ หน้า๗