๑.๑ มัชเฌนธรรมเทศนา

หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ธรรมที่เป็นกลาง

มัชเฌนธรรมเทศนา คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นกลางๆ ตามความจริงของธรรมชาติ คือตามสภาวะที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันเอง ตามเหตุปัจจัย ไม่ติดข้องในทิฏฐิ คือทฤษฎีหรือแนวคิดเอียงสุดทั้งหลาย ที่มนุษย์วาดให้เข้ากับความหมายรู้ที่ผิดพลาด และความยึดความอยากของตน ที่จะให้โลกและชีวิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามที่ตนปรุงแต่ง

พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นธาตุ เป็นธรรม เป็นสภาวะ อันมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ที่เป็นของมันอย่างนั้น เช่นนั้น ตามธรรมดาของมัน มิใช่มีเป็นสัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เราเขา ที่จะยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ครอบครอง บังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาอย่างไรๆได้ บรรดาสิ่งทั้งหลายที่รู้จักเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไปนั้น มีอยู่เป็นอยู่เป็นไปในรูปของส่วนประกอบต่างๆที่มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆของสิ่งทั้งหลายไม่มี (ปรมัตถสัจจะ) เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมด ก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ เมื่อจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ (สมมติสัจจะ) ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่างๆมาประชุมเข้าด้วยกัน นิยมเรียกว่า “สภาวธรรม” แปลว่า สิ่งที่มีภาวะของมันเอง


(ศัพท์คำว่า “ธรรม” มีหลายความหมาย อย่างเจาะจงหมายถึง พระธรรมคำสั่งสอน, หลักการ แบบแผน อย่างกว้างหมายถึง สภาพตามธรรมดาธรรมชาติ ซึ่งเป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้างที่สุด ครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง)



วิกิ

ผลการค้นหา