ตัณหาเป็นทุกข์เพราะต้องแสวงหาวิ่งพล่านเพื่อจะแสวงหาอารมณ์เหมือนกับโจรต้องการเที่ยวไขว่คว้าสมบัติจึงเรียกว่า มีอาการเที่ยวแสวงหาเป็นทุกข์เป็นมูล อุปาทานมีอาการเที่ยวตามอารักขาเป็นมูล ทุกข์เพราะอารักขาเป็นมูล เพราะว่าเมื่อไขว่คว้าได้สมบัติเช่นนั้นแล้วก็ยึดถือว่าสมบัติเช่นนั้นเป็นของข้า ใครอื่นจะมาแย่งชิงต่อไปไม่ได้ มีความหวงแหนปรากฏขึ้น
คำว่า "อุปะ" ในภาษาบาลีแปลว่า กระชั้นชิด หรือจวนแจ หรือแปลว่าใกล้ชิด หรือแปลว่ากระชับแน่น
คำว่า "อาทานะ" แปลว่าถือเอาไว้ เหนี่ยวเอาไว้ ยึดเอาไว้ สนธิเข้าไปเป็นอุปาทานะ คืออาการที่เข้าไปเหนี่ยวรั้งอย่างกระชั้นชิด เหนี่ยวรั้งอย่างแน่นแฟ้น ชื่อว่าอุปาทาน
ท่านจึงได้กล่าวว่าตัณหามีทุกข์เพราะแสวงหาเป็นมูล อุปาทานมีทุกข์เพราะตามอารักขาอารมณ์อันตัวได้มานั้นเป็นมูล ตัณหานั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความมักน้อย อุปาทานนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความสันโดษ เป็นปฏิปักขธรรมกัน ถ้าเราถามว่าอะไรเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัณหา ? ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัณหาคือความมักน้อย ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุปาทานนั้นคือความสันโดษ องคธรรมทั้งสอง ความจริงก็เป็นโลภะอันเดียว แต่ท่านแยกให้เห็นว่าอันไหนอ่อน อันไหนแรง ตัณหาอ่อนกว่าอุปาทาน อุปาทานถึงกับเหนียวรั้งหวงแหนตัณหาเพียงแต่แส่เพื่อจะแสวงหาเท่านั้นเอง
ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพในที่นี้มี ๒ นัย
กรรมภพ ๑ อุปติภพ ๑ ในที่นี้กรรมภพท่านแก้ว่า ได้แก่กุศลเจตนา กุศลธรรม อกุศลธรรม คล้ายกับสังขารนั่นแหล่ะ คือแก้เป็น ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขารเหมือนกัน แต่ว่าเป็นการกระทำที่เจือไปด้วย คือไม่ใช่เพียงแต่ว่าเป็นมโนกรรมอย่างเดียว ยังเป็นทั้งวจีกรรม กายกรรมได้ด้วยประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งท่านให้นัยว่า อวิชชากับสังขารนั้นเป็นอดีตเหตุ ส่วนกรรมภวะในที่นี้ได้แก่ปัจจุบันเหตุที่จะส่งผลให้เกิดอนาคตผล นี่ท่านแก้โดยแบ่งออกเป็น ๓ ว่า อวิชชาสังขารนั้นเป็นอดีตเหตุ ปัจจุบันผลคือวิญญาณ นาม รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา ทั้งหมด นี้เกิดมาจากอวิชชากับสังขาร ถึงเวทนา แล้วกรรมภวะในปัจจุบันจะเป็นเหตุ เป็นกรรมที่เราทำใหม่ เป็นสังขารอันใหม่ที่เราทำขึ้นในชาตินี้เพื่อจะให้ได้รับผล กล่าวคือชาติชราโศกะปริเทวะในอนาคต ผลในภายภาคหน้าอันหนึ่ง นี้อธิบายตามนัยนี้โดยกาล ๓ คือ อดีตกาล ปัจจุบันกาล อนาคตกาล คือนัยนี้แท้แล้ว กรรมภวะในที่นี้ ก็แก้อย่างเดียวกับสังขารนั้นเอง แต่ว่าเราทำความเข้าใจเสียว่าสังขารที่ว่ามานั้นเป็นอดีต ส่วนกรรมภวะนี้เป็นปัจจุบัน ทำความเข้าใจอย่างนี้ก็แล้วกันว่า กรรมภวะนั้นได้แก่ปัจจุบันที่จะเป็นเหตุ ให้ได้ผลในอนาคตต่อไป
ส่วนอุปติภพนั้นมีนัย ๒ อย่างที่เราอาจไม่เข้าใจว่าอุปติภพชาติที่แตกต่างกันอย่างไร อุปติภพไม่เป็นปัจจัยให้แก่ชาติ เพราะฉะนั้นคำว่าภวะปัจจยาชาตินั้นต้องทำความเข้าใจว่ากรรมภวะเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยให้เป็นชาติได้ แต่อุปติภวะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติได้เลย ต้องแยกกัน ถ้าเหมาว่าทำกรรมภวะและอุปติภวะเป็นปัจจยาชาติแล้วผิด กรรมภวะเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดชาติได้ อุปติภพไม่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติเลยเพราะว่า อุปติภพนั้นเป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นกิเลส กรรมภวะเป็นกิเลสสวัฏฏ
อวิชชา ๑ ภวตัณหา ๑ และกรรมภวะนี้อีก ๑ สังขารอีก ๑ เป็นพวกกิเลสวัฏฏ
อุปติภวะไม่เป็นกิเลสวัฏฏ เพราะเป็นหลักธรรม
อุปติภวะได้แก่อะไร ? ได้แก่ภพ ๙ มีกามภวะ ๑ รูปาภวะ ๑ อรูปาภวะ ๑ สัญญาภวะ ๑ อสัญญาภวะ ๑ เนวสัญญานาสัญญาภวะ ๑ เอกะโวการภวะ ๑ จตุโวการภวะ ๑ ปัญจโวการะภวะ ๑
สิริรวมเป็น ๙ ด้วยกัน
ท่านมีปัญหาว่า อุปติภพกับชาติแตกต่างกันอย่างไร ? ถ้าแก้ว่าอุปติภาพแปลว่าที่เกิดแล้วละก็กับอุปติชาติ นี้จะแตกต่างกันอย่างไร ? แตกต่างกันสิ่ ! แต่ว่าคล้ายกันนิดเดียวเท่านั้นเอง
"อุปติ" แปลว่า ที่เกิด "ชาติ" แปลว่าความเกิด ต่างกันแค่นี้ ที่เกิด กับ ความเกิด มันต่างกัน อุปติภพนั้นเป็นที่เกิด ชาติคือความเกิดขึ้น อาการที่ขันธ์ปรากฏขึ้นชื่อว่าชาติ อาการที่อัตตภาพปรากฏขึ้นแล้วชื่อว่าชาติเป็นอุปติ นั่นเป็นที่เกิด ต่างกันอย่างนี้
ท่านผู้ฟังบางท่านอาจมีความเข้าใจว่าอุปติภพ คือที่เกิด ชาติ คือความเกิด แล้วก็เห็นข้อแตกต่างกันระหว่างคำ อุปติ กับ ชาติ นั้นแตกต่างกันอย่างไร ? เมื่อมีชาติแล้ว ต้องมี ชรา มรณะ ตามมา
ชราคืออะไร ? คือความแปรปรวนไปแห่งอัตตภาพอันเกิดแต่ชาติ ชื่อว่า ชรา โศกะปริเทวะทุกข์ก็ตามมา
โศกะนั้นคืออะไร ? ธรรมชาติของโศกะคือความตรมเตรียมใจ เป็นไปในทางนามธรรม ไม่เป็นไปในทางรูปธรรม โศกะคือความตรมเตรียมใจ อาการที่ตรมเตรียมใจเพราะเหตุที่เสื่อมญาติบ้าง เสื่อมทรัพย์บ้าง เสื่อมยศฐาบรรดาศักดิบ้าง อาการตรมเตรียมใจชื่อว่าโศกะ
ปริเทวะเหล่านี้คืออะไร ? เพราะว่าเรามักจะพูดกันเสมอว่า โสกะปริเทวะ ปริเทวะคืออาการบ่นเพ้อแสดงมาทางวาจา โศกเศร้ากระทั้งบนเพ้อมาทางวาจา และบ่นเพ้อคร่ำครวญที่เดียวว่า "โธ ! เป็นทุกข์จริง ช้ำอกช้ำใจต้องลำบากลำบนจริง" อาการปนเพ้ออย่างนี้คือปริเทวะ ถ้าลำพัง เพียงว่าตรมเตรียมใจทุกข์ทนหม่นหมองอยู่เฉย ๆ ไม่แสดงอาการทางวาจา ก็ยังไม่เป็นปริเทวะ ต่อเมื่อไรบ่นเพ้อออกมา ถอนใจฮืดฮาดรำพึงรำพันออกมาเป็นปริเทวะ
อุปายาสคืออะไร ? คือความคับแค้นอย่างเหลือทน หนักกว่าโศกะ หนักกว่าปริเทวะ คับแค้นอย่างเหลือกลั้นเหลือทนที่เดียว อาการคับแค้นอย่างหนัก คนที่ฆ่าตัวตายได้ก็เพราะอำนาจอุปายาส ถ้าลำพังเพียงโศกะ ลำพังเพียงปริเทวะไม่ถึงกับฆ่าตัวตาย แต่ถ้าทุกข์ถึงขั้นอุปายาสแล้วอาจฆ่าตัวตายได้ อาจฆ่าผู้อื่นได้ ทุกขอุปายาสคับแค้นใจอย่างเหลือทน คล้าย ๆ ว่าทุกข์กระทั่งใจมันจะฟังออกมาข้างนอกอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำอะไรเสียบ้างต้องอกแตกตายแน่ อาการอย่างนี้เป็นอุปายาส เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า โสกะปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาสตามมาเป็นพรวน ทุกขขันธสสะ ปรากฎออกมาที่เดียว อาการกองทุกข์กองเบ้อเร่อเต็มแปร้ออกมาที่เดียว เพราะเหตุที่ว่ามีอวิชชาเป็นปัจจัยตามลำดับ ดังที่แสดงมานี้ อาการอันนี้แปร้ออกมา นี่ว่ากันตามนัยแห่งพระบาลีทั้งอรรถกถาด้วย ที่ได้นำมาแสดงอย่างนี้
คราวนี้ในสมัยที่พระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว ความคิดความอ่านของบรรดาพระอาจารย์ทั้งหลายที่พยายามอรรถาธิบายพุทธมติให้แตกต่างกันออกไปตามนัยแห่งอาจารย์แต่ละสำนัก ๆ นั้น นัยของปฏิจจสมุปปาณธรรมก็มีผู้มีความหมายแตกต่างกัน ดังจะได้นำมาแสดงต่อไปนี้
ในนิกายสราวาสติวาท นิกายนี้เป็นนิกายสำคัญ เขามีอภิธรรม ๗ ปกรณ์เหมือนกัน แต่ว่าเรียกชื่อแตกต่างกับอภิธรรมฝ่ายบาลีและสารัตถะในอภิธรรมก็แตกต่างกันบ้าง คือมีอภิธรรมสารีปกตาธรรม ญาณะปรกะฐานะภิธรรมและปกรณะปกรณาภิธรรม ธรรมาสกันธาภิธรรม และสังมีติปรญายภิธรรม นิกายนี้ได้นิยามความหมายของปฏิจจสมุปปาณธรรมกับปฏิจจสมุปบัณ ธรรมคล้ายกันบ้าง ท่านผะดันตะสวาประเถระได้นิยามว่าอวิชชาเท่านั้นที่ควรจะเรียกว่าเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม ชรา มรณะ โศกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส เรียกว่าปฏิจจสมุปบัณธรรม ส่วนอีก ๑๐ องค์ที่เหลือตั้งแต่วิญญาณ กระทั่งถึงชาติทั้งหมดเป็นทั้ง ปฏิจจสมุปปาณธรรมด้วย เป็นทั้งปฏิจจสมุปบัณธรรมด้วย นี้เป็น
มติที่ ๑ ของอาจารย์ผะดันตะสวาประเถระ
ท่านอาจารย์ผะดันตะสวาประเถระได้อรรถาธิบายตีความคำว่า ปฏิจจสมุปปาณธรรมกับปฏิจจสมุปบัณธรรมแตกต่างกันอย่างนี้ ปฏิจจสมุปปาณธรรมคืออวิชาอันเดียว ควรเรียกว่าปฏิจจสมุปปาณธรรม ส่วนชรามรณะโศกะปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาสนั้นเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรม เพราะว่าชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาสนั้นเป็นวิบาก ตัววิบากจะเกณฑ์ให้เป็นปฏิจจสมุปบุณธรรมไม่ได้ ชราไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดอะไรขึ้นในอนาคตกาลข้างหน้า เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ โสกะไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ทุกขโทมนัสอุปายาสไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ แต่มันเองเป็นเพียงแต่ผลที่มาจากเหตุ มันจะเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลในอนาคตไม่ได้ เพราะฉะนั้นเหตุผลท่านก็น่าฟังที่กล่าวว่าเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมถ่ายเดียว ไม่เป็นปฏิจจสมุปบัณธรรม เป็นวิญญาณกระทั่งถึงชาติ, วิญญาณ นาม รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภวะ ชาติ ๑๐ อันนี้ เป็นทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรม เป็นทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรมด้วยเป็นอย่างนี้เพราะว่าวิญญาณเป็นทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรม ในขณะเดียวกัน วิญญาณก็เป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมของสังขาร แล้ววิญญาณก็เป็นปฏิจจสมุจจสมุปบัณธรรมของนามรูป ในขณะเดียวกันนามรูปก็เป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมของวิญญาณ นามรูปเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมของสฬายตนะ ปฏิจจสมุปบัณธรรมของนามรูป สฬายตนะเป็น ปฏิจจสมุปบัณธรรมในขณะเดียวกัน ผัสสะก็เป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมของสฬายตนะ
นี่แหละมันวนเวียนกันอย่างนี้ ตั้งแต่วิญญาณถึงชาติต่างเป็น ปฏิจจาสมุปปาณธรรมและปฏิจจสมุปบัณธรรมได้ เพราะเหตุนั้นท่านจึงแสดงว่า องค์ ๑๐ ที่อยู่ท่ามกลางนี้เป็นทั้งปฏิจจสมุปาณธรรมด้วย เป็นทั้งปฏิจจสมุปบัณธรรมด้วย ส่วนชรา โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัสอุปายาสนั้น เป็นผลถ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุได้ จึงเป็นปฏิจจาสมุปบัณธรรม นี้เป็นมติที่ ๑ ว่าอย่างนั้น
มติที่ ๒ เป็นของท่านผดันตะศรีโฆษะ
ท่านผู้นี้ได้ให้ความหมายว่า อวิชชากับสังขารเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม ส่วนชาติกับชรามรณะนั้นเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรม องค์ธรรมที่เหลือก็เป็นทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรมด้วย เป็นทั้งปฏิจจสมุปปบัณธรรมอีกด้วย นี้เป็นมติที่แตกต่างจากมติแรก
แต่ถ้าเราจับเหตุว่าอดีตเหตุ คืออวิชชากับสังขารเป็นอดีต ปัจจุบันผลคือวิญญาณ นาม รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นปัจจุบันผล ปัจจุบันเหตุ ๓ คือ ตัณหา อุปาทานกับกรรมภวะ เป็นปัจจุบันเหตุ ๓ อันจะให้เกิดผล กล่าวคือ ชรา โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส เป็นอนาคต ผลอีกข้างหน้า ถ้าอย่างนี้แล้วก็เห็นได้ชัด เห็นได้ชัดอย่างไร ? เห็นได้ชัดในข้อที่ว่าวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ กับเวทนาเป็นปัจจุบันผล คือถ้าหากว่าไม่จัดเป็นปัจจุบันผลแล้ว พระอรหันต์ที่ท่านละอวิชชาได้ ท่านก็ยังมีวิญญาณปวัตติวิญญาณท่านยังเป็นไปอยู่ นามรูปท่านก็ยังมีอยู่ (อ่านหน้าต่อไป)