๑.๓ อายตนะ ๖

อายตนะ ๖ : ช่องทางเสพเสวยโลก

อายตนะภายใน ๖
(อินทรีย์) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายนอก ๖ (อารมณ์) คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ธรรมมารมณ์ (สิ่งที่ใจคิด)

การเสพเสวยโลกนั้น เราต้องรู้ตามความเป็นจริงคือ สิ่งทั้งหลายในโลกทั้งภายในและภายนอก เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ การยึดติดทั้งทางชอบและชัง (ชอบใจ ติดใจ / เกลียดชัง หลีกหนี) เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วก็จะละความยึดติดในสิ่งทั้งปวงได้ เมื่อไม่ยึดติดถือมั่นแล้วก็จะเป็นอิสระ เข้าสู่ภาวะที่อยู่ดีมีสุขทางจิตใจได้โดยสมบูรณ์ นี่คือหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดบางประการ ในเบื้องต้นควรศึกษาหลักวิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข ดังนี้

(ทำความเข้าใจ อายตนะ เพิ่มเติม ใน 🔎สัพพสังคหะ หมวดที่ ๓ อายตนะ ๑๒)


วิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข ๔

หลักการเพียรพยายามให้ได้ผลในการละทุกข์ละสุข, การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความทุกข์และความสุข ซึ่งเป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนา ที่แสดงว่า ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง จะมีผลจนสามารถเสวยสุขที่ไร้ทุกข์ได้
๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ
๒. ไม่สละความสุขที่ชอบธรรม
๓. ไม่สยบหมกหมุ่น (แม้)ในสุขที่ชอบธรรมนั้น
๔. เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป (อาจพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป)

ความสุขอย่างที่เข้าใจกันในโลก ก็เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ จึงย่อมมีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัวในแง่ที่ว่า จะต้องแปรปรวนไป ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจให้ความพึงพอใจได้โดยสมบูรณ์ ผู้ที่ฝากความหวังในความสุขไว้กับสิ่งทั้งหลายอย่างขาดสติ ย่อมเท่ากับทำตัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความไม่สมบูรณ์ของสิ่งเหล่านั้น ผู้หาความสุขที่ฉลาด เมื่อยังยินดีที่จะหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้อยู่ จึงต้องมีชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันความจริง แสวงหาและเสวยความสุขอย่างมีสติปัญญา โดยให้ความแปรปรวนของมันก่อโทษน้อยที่สุด



วิกิ

ผลการค้นหา