กิจ คือ หน้าที่ในอริยสัจ ๔ ข้อใดมีหน้าที่อย่างไร รวมเรียกว่า ไตรปริวัฏ ทวาทสาการ แปลว่า ๓ รอบ ๑๒ อาการ หมายถึง ญาณ ๓ ในอริยสัจ ๔ ผู้รู้อริยสัจ ๔ ที่เรียกว่ารู้จริง รู้แล้วพ้นทุกข์ได้ ต้องรู้ประกอบด้วยญาณ ๓ อาการ ๑๒ นี้ ที่คนสามัญรู้นั้นเป็นความจำ ไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง ยังปฏิบัติตามที่รู้ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณา ตรัสเทศนาโพธิปักขิยธรรม ปฏิจจสมุปบาทและอริยสัจ ๔ ธรรมทั้ง ๓ นี้มีอรรถเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ประดุจดังดุมเกวียน กำเกวียน และกงเกวียน จึงได้ชื่อว่า พระธรรมจักร
(ตารางแผนญาณ ๓หรือรอบ ๓ อาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔)
| สัจจญาณ | กิจจญาณ | กตญาณ |
ทุกข์ | ยอมรับว่าความทุกข์แห่งชีวิตมีอยู่จริง ชีวิตคลุกเคล้าไปด้วยความทุกข์จริง | รู้ว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่กำหนดความรู้ คือ ควรทำความเข้าใจ (ปริญเญยยธรรม) | รู้ว่าได้กำหนดรู้แล้วหรือทำความเข้าใจแล้ว |
สมุทัย | ยอมรับว่าสมุทัยคือตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง | รู้ว่าสมุทัยคือตัณหา เป็นสิ่งควรละ (ปหาตัพพธรรม) | รู้ว่าละได้แล้ว |
นิโรธ | ยอมรับว่านิโรธคือความทุกข์มีอยู่จริง ความทุกข์สามารถดับได้จริง โดยผ่านทางการดับตัณหา | รู้ว่านิโรธควรทำให้แจ้งขึ้นในใจ (สัจฉิกาตัพพธรรม) | รู้ว่าได้ทำให้แจ้งแล้ว |
มรรค | ยอมรับว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็นทางนำไปสู่ความดับทุกข์จริง | รู้ว่ามรรคเป็นสิ่งที่ควรอบรมบำเพ็ญให้เกิดมี (ภาเวตัพพธรรม) | รู้ว่าได้เจริญอบรมให้เต็มที่แล้ว |
พระธรรมจักรแบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ
๑.ปฏิเวธญาณธรรมจักร ได้แก่ พระญาณอันตรัสรู้อริยสัจ ๔ มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ ประหารข้าศึก คือ กิเลสเสียได้ เป็นสมุจเฉทปหาน ขาดจากสันดานแห่งพระองค์แล้ว และนำมาซึ่งอริยผล
๒.เทศนาญาณธรรมจักร ได้แก่ พระญาณอันอบรมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาอริยสัจ มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ ยังสาวกทั้งหลาย มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นประธานให้ได้สำเร็จอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน
ญาณธรรมจักรซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเทศนาอริยสัจ มีปริวัฏฏ์ ๓ ประการนั้นได้แก่
๑.สัจจญาณ คือ พระปรีชาญาณอันตรัสรู้ซึ่งอริยสัจด้วยพระองค์เอง จะมีบุคคลผู้หนึ่ง ผู้ใดเป็นครูอาจารย์ของพระองค์นั้นหามิได้
๒.กิจจญาณ คือ พระปรีชาญาณอันแทงตลอดในกิจแห่งอริยสัจ ๔ ตรัสรู้แจ้งว่าทุกขสัจนี้ สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงกำหนดรู้ สมุทัยสัจนี้สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงละเสีย นิโรธสัจคือพระนิพพานนั้น สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงกระทำให้แจ้งในขันธสันดาน มรรคสัจอันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงซึ่งการดับทุกข์นั้น สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงเจริญไว้ในสันดาน
๓.กตญาณ คือ พระปรีชาญาณอันรู้แจ้งกิจแห่งอริยสัจ ๔ อันกระทำเสร็จแล้ว และรู้ว่าตนได้กำหนดรู้ทุกขสัจเป็นอารมณ์อยู่แล้ว รู้ว่าสมุทัยสัจคือตัณหานั้น ได้ละขาดจากสันดานแล้ว รู้ว่านิโรธสัจคือพระนิพพานนั้นตนได้กระทำประจักษ์แจ้งในสันดานแล้ว รู้ว่ามรรคสัจอันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์นั้น ตนได้เจริญบริบูรณ์แล้ว
อริยสัจ ๔ เป็นแก่นสำคัญของพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า จักรคือธรรมที่พระองค์หมุนไปแล้วนี้ใครๆ จะหมุนกลับไม่ได้ ใครหมุนกลับก็เป็นการหมุนไปสู่ทางที่ผิด พระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ จึงเป็นความจริงสากลอันมีรากฐานอยู่ที่เหตุผล และเป็นความจริงอันจำเป็นที่สุด
เหตุผลสำคัญในการแทงตลอดอริยสัจ ๔ คือ การละตัณหาได้ การที่จะละตัณหาได้ต้องอาศัยการเดินตามมรรคมีองค์ ๘ เมื่อมรรคมีองค์ ๘ บริบูรณ์ เป็นมรรคสมังคี คือ การรวมตัวกันอย่างสมส่วน ทำหน้าที่ทำลายตัณหา อุปาทาน และอวิชชาให้พินาศ การเห็นแจ้งในนิพพานก็เกิดขึ้นความทุกข์ในสังสารวัฏก็สิ้นไป
อริยสัจ ๔ เป็นความจริงที่ยั่งยืนอยู่คู่กับชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลมาจนบัดนี้ และจะยั่งยืนต่อไปในอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อใดที่มนุษย์สามารถปฏิบัติจนเกิดภาวนามยปัญญาได้ เมื่อนั้นก็สามารถจะรู้เข้าใจ แทงตลอดในอริยสัจได้
🙏 กิจในอริยสัจ ๔