๑. ความหมายของอริยสัจ ๔
๒. ความสำคัญของอริยสัจ ๔
๓. องค์แห่งอริยสัจ ๔
๔. กิจในอริยสัจ ๔
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ ประการ บรรพชิตไม่พึงเสพที่สุด ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย) เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๒. อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความเดือดร้อนแก่ตน) เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด ๒ ประการนี้ที่ตถาคตได้ตรัสรู้ อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้ อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นอย่างไร คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา
๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ
๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ
๘. สัมมาสมาธิ
นี้คือมัชฌิมาปฏิปทานั้นที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาที่ก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขอริยสัจ คือ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความเจ็บก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ความประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขสมุทยอริยสัจ คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา
๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ
๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘นี้ทุกขอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขอริยสัจนี้ ควรกำหนดรู้’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้วแสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขอริยสัจนี้เราได้กำหนดรู้แล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้วแสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขสมุทย-อริยสัจ นี้ควรละ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้วแสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขสมุทย-อริยสัจ นี้เราละได้แล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า‘นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้วแสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ควรทำให้แจ้ง’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้วแสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขนิโรธอริยสัจนี้เราได้ทำให้แจ้งแล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ควรเจริญ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้วแสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขนิโรธคามินี-ปฏิปทาอริยสัจนี้เราได้เจริญแล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย ญาณทัสสนะ(ความรู้เห็น) ตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ ประการนี้ มีวน ๓ รอบ มี ๑๒ อาการอย่างนี้ยังไม่หมดจดดีตราบใด เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ตราบนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดญาณทัสสนะตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ ประการนี้ มีวน ๓ รอบ มี ๑๒ อาการอย่างนี้หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้นเราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า ‘ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์มีใจยินดี ต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณะอยู่ ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ทวยเทพชั้นภุมมะกระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยมพระผู้มีพระภาคทรงให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณพราหมณ์ เทวดา มารพรหม หรือใครๆ ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้”
ทวยเทพชั้นจาตุมหาราชสดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้วได้กระจายข่าวต่อไปว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยมพระผู้มีพระภาคทรงให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้”
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ สดับเสียงของทวยเทพชั้นจาตุมหาราชแล้วได้กระจายข่าวต่อไป ฯลฯ
ทวยเทพชั้นยามา ฯลฯ
ทวยเทพชั้นดุสิต ฯลฯ
ทวยเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ
ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ
ทวยเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมสดับเสียงของทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้วก็กระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยมพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้”
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้ ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างอันเจิดจ้าหาประมาณมิได้ก็ปรากฏในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” ดังนั้น คำว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” นี้จึงได้เป็นชื่อของพระโกณฑัญญะนั่นแล