๒. วิสุทธิ ๗

วิสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์ อันหมายถึงความบริสุทธิ์จากกิเลส ที่เป็นไปทางกาย ทางใจ และทางปัญญา กล่าวโดยย่อได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไปโดยบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง

ความหมดจดจาก
กิเลส มี ๓ ระดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด ทั้งทางกายทางจิตและปัญญา ถ้าหมดจดจากกิเลสโดยศีล ก็หมดจดจากกิเลสอย่างหยาบ โดยสมาธิ ก็หมดจดจากกิเลสอย่างกลาง โดยปัญญา ก็หมดจดจากกิเลสอย่างละเอียด 

วิสุทธิเป็นธรรมที่ละเอียดมากและเป็นธรรมชนิดนำไปสู่แดนเกษม คือพระนิพพาน ผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้นต้องดำเนินไปด้วยวิสุทธิ คือ ต้องดำเนินไปด้วยความหมดจดจากกิเลส วิสุทธิ ๗ นี้มีการดำเนินไปที่เกี่ยวเนื่องกับญาณ ๑๖ ดังนั้นจึงแสดงตารางความสัมพันธ์กันของวิสุทธิ ๗ และญาณ ๑๖ ไว้ที่หน้าสุดท้าย

วิสุทธิมี ๗ คือ 
๑. สีลวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์แห่งศีล 
๒. จิตตวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์แห่งจิต 
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์แห่งความเห็นที่ถูกต้อง
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์ของญาณที่ข้ามพ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณว่าเป็นทางปฏิบัติถูกและทางปฏิบัติไม่ถูก 
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณในทางปฏิบัติถูก
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์ของความรู้ความเห็น


๑. สีลวิสุทธิ 

สีลวิสุทธิ หมายถึง ศีลเพื่อละกิเลส ไม่ใช่ศีลเพื่อบำรุงกิเลส เพราะว่าศีลนั้นกิเลสก็อาศัยเกิดได้ เช่นการรักษาศีลเพื่อต้องการได้บุญ อยากได้ไปเกิดอีก อยากร่ำรวย การรักษาศีลหรือทำบุญใดๆ ที่มีเจตนาที่เป็นไปเพื่อความสุข เพื่อความร่ำรวย ศีลอย่างนี้ก็ไม่ใช่ศีลเพื่อทำลายกิเลส ส่วนศีลบริสุทธิ์ที่จะเป็นสีลวิสุทธิต้องเป็น ศีลที่ประพฤติเพื่อปรารถนาพระนิพพาน 

ศีล หมายถึง ธรรมชาติใดที่ประกอบด้วยเจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น หรือของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ ที่ชื่อว่าศีล เพราะว่า เป็นความปกติ คือ เป็นปกติอย่างเรียบร้อย มีกิริยาทางกาย ทางวาจาที่ประกอบด้วยความสุภาพเรียบร้อย หรือหมายความว่า เป็นความรองรับ เป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลาย ศีลมีหลายประการ เช่น ศีล ๕ ,ศีล ๘ , ศีล ๑๐ ,ศีล ๒๒๗ ,ศีล ๓๑๑ เพราะถึงแม้ศีลจะต่างกันโดยประเภทแห่งเจตนาเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจากความทรงอยู่อย่างเรียบร้อยและความรองรับกุศลธรรมนั้นเอง 

ศีลมีจำแนกไว้หลายหมวดหลายนัย ในที่นี้จะแสดงเพียงหมวดเดียวคือ ศีล ๔ อย่าง หมวด ๔ คือ
- ปาติโมกขสังวรศีล
- อินทรียสังวรศีล 
- อาชีวปาริสุทธิศีล
- ปัจจยสันนิสสิตศีล 

๑.๑ ปาติโมกข สังวรศีล คือ ศีลที่สำรวม ระวังไม่ล่วงละเมิดทางกายทางวาจา ความระวังนี้เองคือการสังวร บุคคลผู้ประกอบด้วยศีล ๕ , ๘ , ๑๐ , ๒๒๗ , ๓๑๑ ย่อมยังความถึงพร้อมในการสังวร บุคคลที่ไม่มีความสำรวมระวังในการอยู่ ในการไป ในการอาศัย ย่อมทำให้ทุกข์เกิดขึ้นได้ การสำรวมในการโคจรที่ดี มี ๓ อย่าง คือ อุปนิสสยโคจร อารักขโคจร อุปนิพันธโคจร

    ๑.๑.๑ อุปนิสสยโคจร คือ การโคจรซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ ได้แก่ 
            - พิจารณาว่า ทำแล้วย่อมได้ฟังพุทธวจนะที่ยังไม่เคยฟัง 
            - พิจารณาว่า ทำแล้วย่อมทำพุทธวจนะที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง 
            - พิจารณาว่า ทำแล้วย่อมสิ้นความสงสัย 
            - พิจารณาว่า ย่อมทำทฤษฎีให้ถูกต้อง 
            - พิจารณาว่า ย่อมทำจิตใจให้ผ่องใส
            - พิจารณาว่า กัลยาณมิตรย่อมยังให้เจริญด้วยศรัทธา
            - พิจารณาในศีล
            - พิจารณาในสุตะ คือการฟังการศึกษาเล่าเรียน 
            - พิจารณาในจาคะ คือการบริจาค
 
            - พิจารณาในปัญญา 

การงานต่างๆ ของบุคคลที่พิจารณาในข้อปฏิบัติ 
๑๐ ประการนี้ จะเป็นการช่วยทำให้การรักษาศีลในขั้นปาติโมกขสังวรศีลเป็นไปได้สะดวกดี เพราะพิจารณาในทุกๆ เรื่องก่อนว่าสิ่งใดกระทำแล้วเป็นไปเพื่อละกิเลสจึงกระทำ สิ่งใดกระทำแล้วเป็นการบำรุงกิเลสก็งดเว้นเสีย

    ๑.๑.๒ อารักขโคจร คือ การไปในที่ต่างๆ ก็ให้กำหนดไม่ให้
มองสอดส่าย สังวรระวัง เดินอย่างสำรวม ไม่เหลียวดูสิ่งล่อตาล่อใจต่างๆ ไม่ดูสตรี ไม่ดูบุรุษ อย่างนี้คือมีความอารักขาดูแลตนในการไปในที่ต่างๆ 

    ๑.๑.๓ อุปนิพันธโคจร คือ การโคจรไปในที่ต่างๆ โดยสำรวม ระวังผูกจิตไว้ โดยการกำหนดสติปัฏฐาน ๔ 

๑.๒ อินทรียสังวรศีล คือ ศีลที่สำรวมในอินทรีย์ ๖ คือการมีสติสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จากพระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า 
มหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักขุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้นชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ...ดม
กลิ่นด้วยฆานะ...ลิ้มรสด้วยชิวหา...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้เเจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะเธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล.

อธิบายโดยสรุปได้ดังนี้ คำว่า เห็นรูปด้วยจักษุนั้นโดยแท้จริงแล้วคือเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ จักษุนั้นเห็นรูปไม่ได้เพราะไม่มีจิต จิตก็เห็นรูปไม่ได้เพราะไม่จักษุ แต่เพราะทวารกับอารมณ์กระทบกัน บุคคลจึงเห็นรูปได้ด้วยจิตที่เกิดขึ้นที่จักษุนั้นเอง การไม่ยึดถือซึ่งนิมิต คือ การไม่ยึดถือนิมิตเครื่องหมายว่าเป็นหญิงเป็นชาย หรือความสวยงามซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่าย ให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น การไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ คือ ไม่ยึดถือในกิริยาอาการต่างๆ เช่นเห็นว่า ยิ้มสวย เวลายิ้มมีลักยิ้มที่แก้ม กิริยาที่หัวเราะก็น่ารัก เป็นต้นซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่าย ให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น

อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ อภิชฌา คือโลภะ โทมนัส คือ โทสะ เมื่อมีการสำรวมอินทรีย์ในทวารทั้งหลายแล้วอกุศลธรรมอันลามกก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อบุคคลมีสติในการสำรวมสังวรระวังอยู่ ก็จะสามารถกั้นอกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการเห็น การได้ยิน เป็นต้นได้ บุคคลที่ไม่สำรวมอินทรีย์ก็เหมือนคนที่มุงหลังคาไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดถูกตัวเสมอ คล้ายกับกิเลสที่รั่วไหลเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อมรั่วรดจิตใจเสมอ ตนก็จะต้องเช็ดน้ำตาเรื่อยไป ถ้าหากว่าผู้ที่มีการสำรวมอินทรีย์ก็เหมือนกับคนที่มุงหลังคาดีแล้ว ฝนย่อมไม่รั่วลงมารดตัว ตนก็ไม่ต้องเช็ดน้ำฝน นี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีการสำรวมอินทรีย์แล้วกิเลสก็ไม่รั่วเข้ารดใจ เมื่อเห็นหรือได้ยินแล้ว อกุศลธรรมต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น



๑.๓ อาชีวปาริสุทธิศีล คือ ศีลที่เกี่ยวกับการหาเลี้ยงชีพโดยบริสุทธิ์เป็นการประกอบอาชีพโดย สัมมาอาชีวะ สำหรับฆารวาสคือการเว้นมิจฉาชีวะต่างๆ สำหรับพระภิกษุ สามเณร คือเว้นจากการประจบประแจง การเป็นทูตให้แก่ญาติโยม เป็นต้น

๑.๔ ปัจจยสันนิสสิต ศีล คือ ศีลที่อาศัย การบริโภค ปัจจัย ๔ อันบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา ดังพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอาทิว่า “ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร เพียงเพื่อกำจัดเสียซึ่งความเย็น...” ความแยบคายในการใช้สอยในการบริโภคนั้นมีความสำคัญเพราะจะได้ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น ไม่หลงใหลได้ปลื้มกับทรัพย์ภายนอกเกินควร ใช้สอยอย่างรู้คุณค่าและประโยชน์ที่ตรงชัดที่จะได้รับมิใช่ใช้สอยเพื่อประกาศฐานะยศฐาบรรดาศักดิ์ ส่วนในด้านของภิกษุก็ได้แก่ ก่อนที่จะ รับประเคนอะไรก็ต้องพิจารณาก่อนว่าควรรับไหมรับมาเพื่ออะไร ถ้าเป็นอาหารบิณฑบาตเมื่อเวลาจะฉันก็ต้องพิจารณาว่า ฉันเพื่ออะไร ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นต้น

อินทรียสังวร กับปาติโมกขสังวร ต่างกันอย่างไร ? ถ้ามีปาติโมกขสังวร ไม่ต้องมีอินทรียสังวรได้ไหม ?
อินทรียสังวรเป็นการสังวรในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น แต่ปาติโมกขสังวรนั้นเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อไม่ให้ไปรับรูป เสียง เป็นต้น เช่นข้อห้ามในศีล คือ ไม่ให้ดูฟังการฟ้อนรำขับร้อง แต่เมื่อเวลาเห็นได้ยินแล้วถ้าไม่มีอินทรียสังวรกำกับไว้ก่อน กิเลสก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

ฉะนั้นถ้ามีปาติโมกขสังวรแล้วก็ควรปฏิบัติควบคู่กับอินทรียสังวร
ด้วย จะทำให้ผู้ปฏิบัติทำลายความชอบใจและความไม่ชอบใจได้ อินทรียสังวรสามารถชำระกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง ละอภิชฌา(โลภ)และโทมนัส(โทสะ) ที่เกิดทางใจได้ และสามารถทำลายกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานได้ มีทิฏฐิ เป็นต้น ส่วนปาติโมกขสังวรศีล ทำลายได้แต่กิเลสอย่างหยาบ คือกิเลสทางกายกับวาจา

เหตุที่ทำให้ ศีลทั้ง ๔ อย่าง สำเร็จสรุปได้ดังนี้

ศีล เหตุที่ทำให้สำเร็จ 
๑. ปาติโมกขสังวรศีล สำเร็จได้ด้วยศรัทธา ตัวอย่างเช่น พระเถระที่ถูกโจรมัดด้วยเถาหญ้านาง (ท่านมีศรัทธาในการรักษาศีลข้อห้ามตัดทำลายของเขียว แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ยอม) ท่านนอนเจริญวิปัสสนาอยู่อย่างนั้นตลอด ๗ วัน ได้บรรลุพระอนาคามีผล แล้วมรณภาพในดงนั่นเอง

๒. อินทรียสังวรศีล สำเร็จได้ด้วยสติ ถ้ามีสติในอินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บาปอกุศลทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล สำเร็จได้ด้วยวิริยะ เพราะวิริยะที่ปรารภธรรมโดยชอบแล้วก็เป็นการประหาณมิจฉาอาชีวะได้

๔. ปัจจยสันนิสสิตศีล สำเร็จได้ด้วยปัญญา ผู้มีปัญญาจึงจะสามารถมองเห็นโทษและอานิสงส์ของปัจจัยทั้งหลายได้



๒. จิตตวิสุทธิ

จิตตวิสุทธิคือ ความบริสุทธิ์แห่งจิต การชำระ จิตใจให้ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง คือ นิวรณ์ จิตตวิสุทธิมี ๒ อย่าง คือ

๑. สมถสมาธิ ได้แก่ สมาธิ ๒ อย่าง คือ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เพราะเป็นสมาธิที่มีความบริสุทธิ์เป็นพิเศษ ชำระจิตใจของพระโยคีให้ปราศจากมลทินคือ นิวรณ์ ๕ จัดเป็นจิตตวิสุทธิโดยตรง อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่อยู่ในมหากุศลหรือมหากิริยา ที่มี สมถกรรมฐานเป็นอารมณ์ ส่วนอัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่อยู่ในมหัคคตฌาน ๙ มีบัญญัติปรมัตถ์ ที่เนื่องด้วยสมถกรรมฐาน ๓๐ เป็นอารมณ์

๒. วิปัสสนาสมาธิ ได้แก่ ขณิกสมาธิสมาธิชั่วขณะที่อยู่ในมหากุศล หรือมหากิริยา จัดเป็นจิตตวิสุทธิโดยอ้อม จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เจริญวิปัสสนาล้วนๆ มีการพิจารณา อารมณ์ โดยรูปนาม โดยความเป็นไตรลักษณ์ โดยอริยสัจจ์ ๔ เป็นต้น

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ

ทิฏฐิวิสุทธิ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก หรือปัญญาที่รู้ถูกเข้าใจถูก คือ ความรู้ความเข้าใจนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง เป็นเหตุให้ข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เป็นญาณที่สามารถรู้รูปนามได้โดย
๑. ลักษณะ คือ รู้ลักษณะ เฉพาะตนของรูปนาม
๒. รส คือ รู้หน้าที่หรือกิจของรูปนาม
๓. ปัจจุปัฏฐาน คือ รู้ผลหรืออาการปรากฏของรูปนาม
๔. ปทัฏฐาน คือ รู้เหตุที่ใกล้ชิดของรูปนาม

ทิฏฐิวิสุทธิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ที่มีรูปนาม เป็นอารมณ์ การกำหนดรู้ แม้จะไม่ครบทั้ง ๔ข้างต้น เพียงแต่รู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ได้ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิเมื่อว่าโดยญาณ ๑๖ จัดเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

คำถาม-ตอบ เพื่อให้รู้จักรูปนาม
๑. จะเข้าใจนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง ได้อย่างไร ?
การที่จะ
พิจารณาจนเห็นว่านามรูปนี้ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่ของตน เป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ต้องเป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจในสภาพธรรมของรูปและนามจริงๆ

๒. จะเอาปัญญาจากไหนมาเข้าใจ ?
ต้องเป็นทิฏฐิขั้นวิสุทธิที่
เข้าใจถูกรู้ถูกในรูปนาม

๓. จะมีทิฏฐิวิสุทธิได้อย่างไร ?
ต้องได้มาจากการพิจารณารูป
นาม

๔. การพิจารณานามรูปนั้นพิจารณาอย่างไร ?
ต้องพิจารณาตาม
แนวมหาสติปัฏฐาน ๔ แต่ก่อนที่ผู้ปฏิบัติจะเจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ จะต้องศึกษารูปและนามให้เข้าใจให้ดีก่อน จึงจะสามารถกำหนดได้ ถ้ายังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนามก็กำหนดไม่ถูก เช่น ต้องรู้ว่าลมหายใจเป็นรูป จิตที่กำหนดระลึกรู้ลมหายใจเป็นนาม หรือการพิจารณาอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จะต้องพิจารณาอิริยาบถเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ? เมื่อพิจารณาได้ถูกต้องแล้วก็จะพบว่า เพราะจิตเป็นปัจจัยทำให้อิริยาบถเป็นไปได้ และอิริยาบถจะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องด้วยกายที่เกี่ยวกับธาตุ ๔ เมื่อจิตคิดจะเดิน ธาตุ ๔ นี้ก็ทำงาน เมื่อจิตคิดจะนั่งธาตุ ๔ ก็ทำงาน เมื่อจิตคิดจะยืนธาตุ ๔ ก็ทำงาน เพราะว่าธาตุ ๔ ทำงานปรุงแต่งต่างกัน อิริยาบถก็เป็นไปต่างกัน และธาตุ ๔ ก็เกิดขึ้นได้ด้วยเจตนาที่เข้าปรุงแต่งจิต เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาได้อย่างนี้ก็จะทราบว่าจิตนี้สามารถจะเป็นปัจจัยให้ธาตุทั้ง ๔ เป็นไปได้ตามเจตนา ที่ปรุงแต่งจิตนั่นเอง เวลาจะเดิน ธาตุทั้ง ๔ ก็จะทำงานโดยธาตุเบา คือ ธาตุลมกับธาตุไฟจะมีกำลัง ส่วนธาตุหนักคือธาตุดินกับธาตุน้ำจะอ่อนกำลัง ทำให้เท้ายกขึ้นแล้วเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยกำลังของธาตุไฟกับธาตุลม เมื่อวางเท้าลงธาตุไฟกับธาตุลมก็จะอ่อนกำลัง แต่ธาตุดินกับธาตุน้ำก็มีกำลังทำให้หย่อนเท้าเหยียบลงพื้นไว้ได้ เป็นต้น

ต้องกำหนดรู้ว่าธาตุทั้ง ๔ เป็นรูป จิตและเจตสิกที่พิจารณาธาตุ ๔ เป็นนาม ฉะนั้นทิฏฐิวิสุทธิต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐานและพิจารณารูปนามได้ถูกต้อง จนปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคลตัวตน เราเขา ได้จริงๆ ปัญญาในทิฏฐิวิสุทธินี้เป็นปัญญาขั้นภาวนาไม่ใช่ปัญญาขั้นการศึกษา แต่ต้องปฏิบัติพิจารณารูปนามจนทำลายความเข้าใจผิดความสำคัญผิดว่าเป็นเราออกไปจากจิตใจให้ได้

๕. อะไรเป็นเครื่องปิดบังความเป็นจริงของรูปนาม? เครื่องปิดกั้นความจริงของนามรูป มีหลายประการดังนี้
    ๕.๑ ฆนสัญญา หมายถึง ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของรูปนามนั้นปิดบังอนัตตา ทำให้เราเห็นว่ารูปนามนั้นเป็นก้อนเป็นแท่ง เช่นเห็นว่ารูปก็มีรูปเดียว นามก็มีนามเดียว ทั้งรูปทั้งนามก็คือตัวตนของเรานี้เอง เมื่อถูกความเป็นกลุ่มก้อนปิดบังไว้เช่นนี้ความรู้สึกว่าไม่ใช่เราก็ไม่เกิดขึ้น 


    ๕.๒ สันตติ หมายถึง ความสืบต่อ จึงทำให้เห็นติดกันทำให้ปิดบังอนิจจัง คือความไม่เที่ยงไว้ ทำให้เห็นเป็นของเที่ยงเพราะความสืบต่อที่รวดเร็วจนไม่เห็นความขาดช่วงขาดตอนของรูป ของนาม

    ๕.๓ อิริยาบถปิดบังทุกข์ เพราะเหตุที่ไม่ได้พิจารณาอิริยาบถจึงไม่เห็นว่ารูปนามนั้นเป็นทุกข์ เพราะอิริยาบถที่เปลี่ยนไปเช่น จากอิริยาบถเดิน เปลี่ยนเป็นนั่งในขณะที่นั่งใหม่ๆ ก็จะรู้สึกสุขสบาย แต่พอนั่งไปนานๆ ก็ทุกข์อีกต้องเปลี่ยนอิริยาบถอีก อันที่จริงในขณะที่นั่งใหม่ๆ ตอนนั้นก็ทุกข์เหมือนกันแต่ทุกข์เกิดน้อยเพราะเพิ่งเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ๆ แต่พออยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ ทุกข์ก็มากขึ้นๆ จะเห็นได้ว่าอิริยาบถนั้นปิดบังทุกข์ไว้ ทำให้เห็นว่าเป็นสุข แท้ที่จริงแล้วตอนที่สุขนั้นนั่นก็เป็นทุกข์เหมือนกันเพราะสภาพเช่นนี้ก็จะไม่คงอยู่ต้องมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงนี้เองคือสภาพของทุกข์จริงๆ คือ มีสภาพที่ทนอยู่ในไม่ได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ที่จะเห็นอนัตตา ว่ารูปนามนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะต้องเข้าใจในอุบายที่จะทำลายฆนสัญญาให้กระจายออกมาเสียก่อนจึงจะเห็นอนัตตาได้

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ

กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ คือ ญาณ(ปัญญา) ที่ข้ามพ้นจากความสงสัย เช่น สงสัยใน ชาตินี้ ชาติหน้า สงสัยว่าตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณานามรูป ทำให้เข้าใจได้ถูกต้องว่นามรูปนี้มีอยู่จริง แต่สัตว์บุคคลนั้นไม่มีในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก มีแต่รูปกับนามเท่านั้น แล้วรูปนามนี้มาจากไหน ใครเป็นคนสร้างรูปนามนี้ คำตอบในเรื่องนี้ก็ต้องเจริญปัญญาให้ถึงขั้นกังขาวิตรณวิสุทธิ จึงจะหมดความสงสัยได้

การปฏิบัติ คือ การกำหนดรูปนามต่อมาจากทิฏฐิวิสุทธิ กำหนดต่อไปอยู่เนืองๆ ก็จะทราบว่า รูปนามนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร รูปใดเกิดขึ้นก็จะรู้ว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร นามใดเกิดขึ้นก็จะรู้ได้ว่า นามนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร ปัญญาความรู้ในขั้นกังขาวิตรณวิสุทธินี้จะรู้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความแตกฉานในปริยัติ ก็สามารถรู้ปัจจัยได้มาก เช่นรู้โดยวัฏฏะว่า รูปนามขันธ์ ๕ มาจากกรรม กิเลส วิบาก หรือรู้ไปตามนัยของปฏิจจสมุปบาท คือปัจจัยให้เกิดรูปนามในปฏิสนธิ ได้แก่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

ผู้ปฏิบัติในขั้นกังขาวิตรณวิสุทธิแล้วจะรู้เหตุปัจจัยของธรรมว่าธรรมนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ จิตแต่ละดวงเกิดขึ้น เช่น โทสะจิตเกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นเพราะเห็นรูปแล้วปรุงแต่งว่ารูปที่เห็นนั้นไม่ชอบใจโทสะก็เกิดขึ้น โทสะที่เกิดขึ้นแล้วนั้นก็ดับไปสิ้นไปเมื่อสิ้นเหตุสิ้นปัจจัยแล้วโทสะดวงใหม่ก็สามารถเกิดขึ้นอีกเมื่อมีเหตุปัจจัย เมื่อเหตุดับธรรมนั้นๆ ก็ดับ

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความรู้ในหนทาง ทั้งทางถูกและทางผิด เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งสังขาร และมีอุปกิเลส ๑๐ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ปัญญาที่กำหนดวินิจฉัยลักษณะว่าวิปัสสนูปกิเลส เหล่านี้ไม่ใช่มรรค เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งตัณหามานะ ทิฏฐิ โดยแท้ แต่วิปัสสนาญาณที่ดำเนินไปตามวิถีซึ่งพ้นจากวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ แล้ว เป็นปัญญาที่รู้หนทางที่ถูกต้อง การเห็นตามความเป็นจริงทั้ง ๒ นี้ เป็นมรรค ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะรู้เห็นทางพ้นทุกข์และมิใช่ทางพ้นทุกข์

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นปัญญาที่เกิดต่อมาจากกังขาวิตรณวิสุทธิ ถ้าวิสุทธิที่ ๔ ไม่มีแล้ว วิสุทธิที่ ๕ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิก็มีไม่ได้ ที่ผ่านมาในกังขาวิตรณวิสุทธินั้นเพียงรู้ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้รูปนามเกิด แต่ยังไม่เห็นความดับของรูปนามที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบันนั้นได้ เพราะว่าปัญญาในขั้นนี้ยังอ่อนอยู่ วิธีการปฏิบัติ คือ ต้องกำหนดรูป-นาม ต่อไปอีกเนืองๆ จนกระทั่งเห็นความดับของรูปนาม แต่ความดับของรูปนามที่ตนเห็นในตอนนี้ยังไม่ได้เห็นความดับของรูปนามจริงๆ เพียงแต่เห็นการเกิดใหม่ของรูปนามอยู่เนื่องๆ เห็นฝ่ายเกิดอยู่เนืองๆ จึงทำให้ทราบถึงความดับไปของรูปนามเก่าก่อนที่รูปนามใหม่จะเกิดขึ้น ปัญญาในขั้นนี้ยังมีกิเลสเกิดได้ คือเป็นอารมณ์ของวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ที่เกิดจากกำลังของสมาธิ กิเลสที่

จะเกิดขึ้นได้ในขณะนั้นเป็นกิเลสที่ละเอียดมากและกำลังปัญญายังอ่อนอยู่ จึงรู้ไม่เท่าทัน ปัญญาจึงไม่สามารถจะปรับอินทรีย์ให้เสมอกันได้ เพราะขณะนั้นกำลังสมาธิแรงกว่าปัญญา ทำให้เกิดมีแสงสว่าง มีความสุข มีความสงบเยือกเย็น เป็นต้น เกิดขึ้นได้ เหล่านี้เป็นสิ่งขัดขวางความก้าวหน้าของปัญญา ทำให้หลงติดอยู่ในทางที่ไม่ใช่หนทางแห่งมรรค 


๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความรู้ในข้อปฏิบัติที่ถูกในการเห็นแจ้ง อันเป็นเครื่องดำเนินไป สู่มัคคปฏิปทาโดยส่วนเดียว เป็นหนทางที่จะเดินไปในธรรมที่บริสุทธิ์คือพระนิพพาน มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิที่ ๕ นั้น เป็นปัญญาที่ชำระวิปัสสนูปกิเลสได้หมดสิ้น จะเห็นได้ว่าในวิสุทธิที่ ๕ นั้น ยังมีอุปกิเลสเข้าไปอาศัยเกิดในอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ผู้ปฏิบัติจึงต้อง ทำความเข้าใจอารมณ์ที่ถูกและอารมณ์ที่ไม่ถูก จึงจะชำระกิเลสที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลสได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจนเกิดปัญญาเข้าใจในข้อปฏิบัตินั้นว่าถูกต้องดี และปราศจากความเข้าใจผิดโดยประการทั้งปวงแล้ว จึงจะดำเนินเข้าสู่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิได้

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ

ญาณทัสสนวิสุทธิ คือความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค มรรคญาณทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรคญาณเป็นต้น ชื่อว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะชำระใจให้พ้นจากมลทิน คือ ตัวโมหะ ความหลง ญาณทัสสนวิสุทธินี้เป็นปัญญาที่เกิดต่อมาจากปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิที่เดินถูกทางแล้ว เรื่อยมาจนบรรลุพระนิพพาน 



🙏เมื่อรู้จักหนทางแห่งปัญญาคือวิสุทธิ ๗ แล้ว ผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติ 
ต้องดำเนินตามทางแห่งปัญญาในวิสุทธินั้นๆ ให้ได้ตามลำดับ เมื่อทราบถึงหนทางแห่งปัญญา ทราบการเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ก็ต้องปฏิบัติอยู่เสมอๆ เนืองๆ และในระหว่างการปฏิบัตินั้นก็ต้องสังเกตจิตใจ สังเกตอารมณ์ที่กำลังเจริญ ซึ่งผลของการปฏิบัติจะเกิดขึ้นอย่างถูกต้องนั้นก็มีสิ่งที่สังเกตได้ ได้แก่ ลักษณะ ๓ อนุปัสสนา ๓ ซึ่งจะได้ศึกษากันต่อไป



วิกิ

ผลการค้นหา